24.5.51

In the Bedroom

In Bed with Apichatpong
All photos by Apichatpong Weerasethakul

เดิมทีว่าจะเอาภาพพวกนี้ลง Filmvirus 3
อภิชาติพงศ์ ตัวจริงกำลังเป็นกรรมการที่เมืองคานส์ แต่ถ้าใครอยากแอบดูห้องโรงแรมของ เจ้ย ระหว่างที่ตระเวนไปทั่วโลก ภาพพวกนี้คือห้องโรงแรมที่ จอนจู - โซล เกาหลี, ซานฟรานซิสโก –โคลัมบัส – ชิคาโก้ – มหาวิทยาลัย UCLA อเมริกา, นีซ ฝรั่งเศส



เฮ้อ อยากไปบ้างโว้ย

17.5.51

Once Upon A Time, Cinema

Dream of the Red Monkeys
หวานฝัน วันวานร

16.5.51

Filmvirus 6 ฉบับบาปติดเซ็กส์ (Sin Salon) aka Sex and Sin

Filmvirus 6 ฉบับบาปติดเซ็กส์ (Sin Salon) aka Sex and Sin
ในฐานะคนเคยทำหนังสือหนัง บางทีก็ชอบจินตนาการทำ FILMVIRUS เล่มใหม่ไปเรื่อยเปื่อย ถึงจะรู้แน่อยู่แก่ใจว่า ทำออกมาก็เสียเปล่า แก่ฟรี

เอ้า คิดเล่น ๆ เฉย ๆ น่ะ ถ้าทำ ฟิล์มไวรัส ออกมาอีก ยังมีหลายแนวที่น่าทำ ทั้งหนังกำลังภายในเอย หนังคาวบอยเอย แตกขนบหนังหนังแนวเมโลดราม่า สางสำแดง 2 หนังที่ผู้กำกับสร้างไม่เสร็จ หนังอนิเมชั่น หนังผู้กำกับหญิง หรือดาราหญิงจอมแสบ หรือตำราหนังอีกหลายแบบก็น่าแปล ผู้กำกับหลายคนก็ทั้งคั้ลต์ ทั้งคลาสสิค มีให้จับอีกเยอะ ตายไปกี่ชาติก็ทำไม่หมด แต่เอาเข้าจริงที่คนซื้อพอจะสนใจก็คงไม่พ้นคาวเลือดและคาวกาม
ลองสมมติดูว่าเราจับเรื่องเซ็กส์ และเรื่องบาปมาเป็นโจทย์ ยิ่งประเภทสามหาวให้สมชื่อ PORN POWER หรือ PINK SALON อาจพอมีลุ้น Filmvirus คาวบาปเล่มใหม่ก็น่าจะมีหนังของผู้กำกับวาบหวิวประมาณนี้ สาบานได้ว่าไม่ได้เพ้อให้หนังพวกนี้สร้างประโยชน์อะไรกับสังคม หรือกระทั่งว่ามันต้องเป็นหนังที่น่าปลาบปลื้มใจใคร

แน่แท้อย่างเดียว คือหนังพวกนี้พิสูจน์ว่าเนื้อหาสาระคุณภาพไม่ใช่ข้ออ้าง ที่อาจสำคัญกว่าคือการจริงใจต่อความหมกมุ่นของตัวเอง (ต่อให้เป็นด้านชั่ว ๆ ลามกตูดเป็ด) ไม่ใช่แค่ปั้นหนังออกมาให้ดูเหมือน ๆ กันไปหมด เหมือนปั๊มมาจากโรงงานของดาราหล่อ ๆ สวย ๆ ของคนนั้นคนนี้ หรือบริษัทโน่นนี่

Filmvirus เล่ม 6 ฉบับบาปติดเซ็กส์ (Sex and Sin)
กำหนดวางตลาด ตุลาคม 2562
เสนอ 6 ผู้กำกับฉาวโฉ่เกรดลงกระบะ

Jean Rollin

หนังของผู้กำกับชาวฝรั่งเศสคนนี้มีเครื่องล่อใจมากมาย ทั้งปราสาทโบราณ หลุมฝังศพร้าง แวมไพร์สาวยั่วสวาทที่คอยเดินนวยนาดไปมาเหมือนเดินแบบ นาน ๆ ทีจึงจะมีแนวเรื่องแบบโจรสลัด หรือฉากร่วมสมัย รวมแล้วก็ไม่รู้หาสาระอะไรได้หรือเปล่า แต่เพลินตาเพลินใจดี บางฉากจำลองฉากร่างผู้หญิงเปลือยเดินช้า ๆ กลางถนนยามค่ำคืนคล้ายภาพเขียนของ Paul Delvaux หรือ Magritte

Jean Rollin อาจเป็นคนฝรั่งเศสก็จริง แต่นอกจากเรื่องเชื้อชาติ ไม่มีใครนับเขาเป็นผู้กำกับหนังอาร์ต และโดยเนื้อเรื่องในหนังของเขาก็ไม่ต้องคิดหนักให้เมื่อยพี่ตุ้ม นอกจากท่าทีการเป็นขบถสังคมแบบเล็ก ๆ แต่ส่วนใหญ่เป็นข้ออ้างให้นักแสดงมีฉากทางเพศ ดูท่า Jean Rollin ชอบสร้างฉากบรรยากาศหลอน ๆ เหมือนหนังเงียบขาวดำเก่า ๆ หรือหนังของ Georges Franju (โดยเฉพาะเรื่อง Judex ที่พระเอกใส่หน้ากากหัวนกเหมือนอ้างอิงภาพเขียนแนวเซอร์เรียลลิสต์ของ Max Ernst)

ตอนนี้เอาเป็นว่ารออ่านของ Filmsick เขียนดีกว่า เขียนเสร็จยังเจ้าชาย?

Walerian Borowczyk
เมื่อก่อนดูหนังหมอนี่ที่โรงหนัง Scala Cinema ที่ลอนดอน (มีภาพลงใน Filmvirus เล่ม 2) เป็นโรงหนังอาร์ตเฮ้าส์โรงเดียวที่มีจอหนังใหญ่ยักษ์ มีชั้นเก้าอี้ยกระดับอัฒจรรย์เหมือนหอประชุมเล็กธรรมศาสตร์ (หอศรีบูรพา) แต่อีกอย่างที่โรงหนังแห่งนี้ดีที่สุด คือฉายหนังของผู้กำกับคนเดียวควบวันละ 2-3 เรื่อง เหมาะที่จะศึกษาแนวทางของผู้กำกับเฉพาะบุคคล ซื้อตั๋วใบเดียวนั่งแช่ไปทั้งวัน ดูหนังอย่าง Hitchcock, Fritz Lang, Ingmar Bergman วนซ้ำไปมา ได้ค้นพบหนังแปลก ๆ หลายเรื่องก็จากที่นี่ รวมทั้ง Celine and Julie Go Boating ของ Jacques Rivette, The Element of Crime ของ Lars Von Trier, Russ Meyer หรือ John Waters ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ชอบฉายหนังตลาดหน่อย ฉายตลอดวันตลอดคืน เป็นหนังพวก บรู๊ซ ลี, The Terminator, Alien ทั้ง 3 ภาค, The Fly ทั้งฉบับเก่าและฉบับใหม่ แต่ก่อนจะฉายเรื่องแรก คนฉายชอบเปิดเพลงของ Erik Satie กับ Miles Davis ทำให้ติดเพลงไปอีกต่อหนึ่ง

ตื่นตาตื่นใจมากกับหนังหมอนี่ หนังของ Walerian Borowczyk เป็นหนังโป๊ที่มีฉากโป๊สวย ๆ หลายฉาก เนื้อเรื่องก็ไม่เห็นมีอะไร มีแค่ตัวละครค้นพบอิสรภาพทางเพศของตัวเอง บางเรื่อง Behind Convent Walls ชอบฉายควบกับ Immoral Tales และ La Bête โดยเฉพาะเรื่องแรกนี่เล่นเปิดโปงสำนักนางชีเสียล่อนจ้อน ทำให้คนเคร่งครัดทางธรรมอย่างเราดูแล้วใจหายใจคว่ำ ตอนหลังที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ ได้ดูเรื่อง Blanche เรื่องนี้ก็ไม่เลว มี Michel Simon ที่เคยแสดงหนังคลาสสิคเรื่อง L'Atalante แสดงด้วย ตอนหลังเลยเอาไปฉายเองพร้อมกับเรื่อง Goto, Isle of Love ที่ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ซีคอนสแควร์

ไม่น่าเชื่อว่า Borowczyk เคยเป็นคนทำหนังอนิเมชั่นแนวนามธรรมมาก่อนที่จะทำหนังแนวเนื้อนมไข่ หนำซ้ำในยุค 70 เคยรุ่งเรืองสุด ๆ (ก่อนตกต่ำมาทำ Emmanuelle 5) เขาเคยติดอันดับผู้กำกับระดับ Top 10 ในระดับเดียวกับพวกระดับครูด้วย

เคยเห็นผลงานถ่ายภาพให้นิตยสาร Playboy (ประมาณต้นปี 2530) ของเขาด้วย เขาถ่ายภาพได้สวยมาก เสียดายที่ไม่ได้ซื้อเก็บไว้ เขาเพิ่งตายไปเมื่อ 2-3 ปีนี้เอง

Jess Franco
ตานี่ก็ใช่ย่อยเป็นคนทำหนังชาวสเปนที่เคยถ่ายหนังพร้อมกันทีเดียว 2-3 เรื่อง ผลงานหนังของเขามีมากมายหลายร้อยเรื่อง บางทีถ่ายหนังไปยังจำไม่ได้ว่าถ่ายเรื่องอะไรอยู่ กระทั่งดาราเองก็ไม่รู้ว่าได้เล่นหนังทีเดียวควบสอง แล้วจนกระทั่งทุกวันนี้ Jess Franco ก็ยังถ่ายหนังด้วยกล้องดิจิตอล ถ่ายหนังลงทุนราคาถูก ๆ อยู่เหมือนเดิม

เจส ฟรังโก หมกมุ่นกับเพศรสและการจับมัดทรมาน เขาไม่รู้สึกอายที่จะจับ Lina Romay เมียตัวเองมาถ่ายหนังแบบเจาะลึกเห็นทุกขุมขน หนังเขาเป็นหนังตลาดล่างหลากหลายแนว ทั้งแนวสยองขวัญตั้งแต่ขาวดำคลาสสิค หนังสายลับ หนังแนวคุกสาว หนังสาวเจ้าป่า หนังจำลองรายงานเพศศึกษาแบบเก๊ ๆ ที่ในเยอรมนีเรียกว่า School Report หนังที่สร้างจากนิยายของ มาร์กีส์ เดอ ซาด เจ้าตำรับ มาโซคิสม์ หนังผีแดร๊กคิวล่า บางทีก็สร้างเนื้อเรื่องซ้ำไปซ้ำมาเหมือนคนขี้ลืม เช่นถ่ายเรื่องของ มาร์กีส์ เดอ ซาด เรื่อง Eugenie de Sade ซ้ำไปมาอยู่นั่นแหละ ตั้ง 3 หรือ 4 เวอร์ชั่น

ดาราดังมากมายอย่าง Howard Vernon, Cristopher Lee, Jack Palance ผ่านมือเขามาเกือบหมด แล้วก็คุ้นดีด้วยว่าเอาอะไรแน่กับบทหนังไม่ได้ เพราะถ้าเห็นอะไรถูกใจ Jess Franco ก็ถ่ายเรื่อยเปื่อยนอกแนวหนังไปเฉย ๆ ถึงยังงั้นก็เถอะ เขาก็เป็นคนมีแฟนระดับ cult อยู่ทั่วโลก หลายประเทศต่างก็ออกดีวีดีของตัวเองออกมา ซึ่งบางเรื่องบางฉบับสั้นบ้างกุดบ้าง และเป็นฟิล์มคุณภาพห่วยเสียเยอะ

Jess Franco เป็นนักดนตรีแจ๊ส บางครั้งแต่งและเล่นเพลงประกอบหนังเอง อีกทั้งยังชอบปรากฏตัวเป็นคนโรคจิตในหนังของตัวเองอยู่บ่อย ๆ

มีหนังของเขาอยู่อย่างน้อย 4 เรื่องที่หลุดมาเป็นวีซีดีพากย์ไทยบ้านเรา และ 2 ใน 4 เรื่องที่ว่ามีฉากโป๊ที่ไม่โดนเซ็นเซอร์

Russ Meyer

หมอนี่หลงหน้าอกไซ้ส์ไจแอนท์ของผู้หญิงอย่างเอาเป็นเอาตาย ชอบพากย์บรรยายหนังของตัวเอง นอกจาก Faster Pussycat Kill Kill ที่อมตะคลาสสิค (สงสัยเป็นเพราะโชคดีไม่มีเสียงบรรยายของเขาตลอดเรื่อง) ดูเหมือนว่าหนังเรื่องหลัง ๆ จะทำให้บรรดาสาว ๆ กลายเป็น Boobie Girl การ์ตูนเพี้ยนที่ขยายนมหนองโพจนบ้านโป่งไปเลย สงสัยถ้าไม่ได้เห็นสาวจัมโบ้วิ่งบ้ะละหึ่ม ตามถนนหนทาง หรือฉากเซ็กส์ซูเปอร์ต๊องคงจะไม่ใช่ยี่ห้อของ Russ Meyer (รัส มายเย่อร์) ซะละมั้ง

Radley Metzger
หมอนี่เป็นคนอเมริกันก็จริง แต่ชอบนำเข้าหนังเซ็กส์ของยุโรปมาในอเมริกา บางทีก็รับจ๊อบตัดต่อหนังคนอื่นเสียใหม่ หรือตัดต่อหนังตัวอย่างของหนัง Ingmar Bergman ฉบับที่ฉายในอเมริกาด้วย

ผลงานกำกับของเขาก็เข้าท่า เรื่องดัง ๆ คงหนีไม่พ้นหนังเลสเบี้ยนในโรงเรียนประจำอย่าง Therese and Isabelle (ออกจะเชยไปหน่อยเรื่องนี้) แล้วก็ Camille 2000, The Image, Score แต่เรื่องที่แจ๋วที่สุดน่าจะเป็นหนังโป๊โครงเรื่อง+ดีไซน์ซับซ้อนเรื่อง The Lickerish Quartet แค่เฉพาะฉากก็สะแด่วปลาจาระเม็ดจริง ๆ แถมเล่าเรื่องประหลาดประมาณน้อง ๆ หนังแนวจิ๊กซอว์ Last Year at Marienbad อะไรประมาณนั้น (เว่อร์หน่อยน่า)

Tinto Brass

คนนี้เป็น Alfred Hitchcock อิตาเลี่ยนฉบับเนื้อนมไข่ที่พุ่งสายตาคนดูหนังไปที่นมและก้น ยิ่งก้นขนาด Super Ass เท่าไหร่ก็ยิ่งได้การ Tinto Brass มีชื่อกับหนังอื้อฉาวลงทุนยักษ์อย่าง Caligula หรือ Salon Kitty แต่งานที่น่าแสดงความภูมิใจมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง The Key ที่เอานิยายของ Junichiro Tanizaki มาแปลงเป็นฉากอิตาลี่ให้น่าสนใจมาก มีการตีความใหม่ ๆ ที่เข้าท่า (อ่าน T = Tanizaki ใน Bookvirus เล่ม 01) พล็อตหนังเรื่องอื่น ๆ ของเขาก็ไม่มีอะไรมาก ส่วนใหญ่แค่ปลดเปลื้องอารมณ์ใคร่ชองผู้ชายผู้หญิง ประเภทโยนบาปและความอายทิ้งไป ไม่คิดอะไร ชิลล์ ชิลล์ (ว่าไปหนังของ Tinto Brass นี้เกี่ยวกับบาปน้อยที่สุด)

หนังอย่าง Paprika, Miranda, All Ladies Do It, The Voyeur, P.O. Box Tinto Brass หรือ Frivolous Lola เป็นการทำหนังของชายแก่ร่างท้วมสูบซิการ์ที่ประกาศแก่แฟนหนังของเขาว่า มีเซ็กส์วันละนิด จิตแจ่มใส นอกจากรูปร่างใหญ่อ้วนท้วนคล้าย Hitchcock แล้ว อีกอย่างที่เหมือนกันคือชอบโผล่ตัวในหนังที่ปะยี่ห้อตัวเอง

มีหนังอย่างน้อย 2 เรื่องคือ Frivolous Lola และ All Ladies Do It ที่ออกแผ่นวีซีดีลงกระบะ แต่ถ้าค้นดูละเอียด ต้องเจอเรื่องอื่นเพิ่มแหง ๆ

ที่จริงก็ยังมีหนังแสบ ๆ ของคนอื่น ๆ อีก (อย่าง Doris Wishman เจ้าแม่หนังสายลับสาวนมยักษ์ Double Agent 43) แต่ที่มีผลงานต่อเนื่องชัดเจนมากและได้รับการยอมรับเป็นอมตะในทางต่ำ ๆ คงต้องเป็น 6 คนนี้ ส่วนผู้กำกับญี่ปุ่นที่ทำหนังแรง ๆ อย่าง Teruo Ishii, Masaru Konuma, Tatsumi Kumashiroน่าจะมีอีกมาก (มีหนังนินจาลามกบางเรื่องที่เคยออกแผ่นวีซีดีของร้านแมงป่อง เข้าท่ามาก ๆ) ถ้านึกไปเขียนไปเรื่อย เดี๋ยวมีไม่จบ ต้องทำฟิล์มไวรัส ไปตลอดชีวิต แล้วจะหาเรื่องเหนื่อยทำไมวะเนี่ย

For Paisit’s Fanclub 1



ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ 3 ภาพจากหลังกล้อง ดอกฟ้าในมือมาร
Behind the scenes of MYSTERIOUS OBJECT AT NOON

For Paisit’s Fanclub 2

For Paisit’s Fanclub 2
ภาพถ่ายโดย ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ

15.5.51

My Sassy Book (8) ไหมอีสาน ธุรการแบบไทย ๆ (ที่ไม่ใช่ธุระของชาติอื่น)

My Sassy Book (8) ไหมอีสาน ธุรการแบบไทย ๆ (ที่ไม่ใช่ธุระของชาติอื่น)

ไหมอีสาน
The Silk Project
แต่งโดย Geraldine Halls, พิมพ์ภาษาอังกฤษครั้งแรกปี 1965
แปลเป็นภาษาไทยโดย รัตนา
สำนักพิมพ์ศึกษิตสยาม 2511

“พวกเธอควรจะต้องหัดระแวงสงสัยในของขวัญที่เรานำมามอบให้ ต้องหัดระแวงผม ระแวงพวกฝรั่งทุกคนที่อยู่ที่นี่ พวกเรามีงานที่จะต้องทำ และคนที่ทำงานวุ่น ๆ ทุกคนมักจะเป็นโรคเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือโรคจำใจทำ”

หลายปีก่อน เดินไปร้านหนังสือท่าช้างใกล้ท่าเรือ เจอนิยายแปลเล่มนี้ พลิกอ่านข้างในเห็นเขียนเกี่ยวกับคนไทยและเมืองไทยด้วยมุมมองฝรั่ง ลองซื้อไปอ่านดูแล้วแน่ใจว่าเลือกไม่ผิด

เรื่องก็ง่าย ๆ ว่าด้วยกลุ่มฝรั่งหลายเผ่าพันธุ์ที่ถูกสหประชาชาติส่งมาพัฒนาชนบทในเมืองไทย โดยในเรื่องสมมติเป็นแดนบ้านนอกชื่อ ‘ถนัดนคร’ ว่ากันว่าอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ฯ สักเท่าไร แต่เส้นทางรถไฟก็ยังเข้าไปไม่ถึงตัวเมือง ต้องนั่งเรือข้ามฟากไปอีกที ที่นั่นและอำเภอใกล้เคียงเปิดเป็นโรงเรียนสอนการพัฒนาชนบท รวมทั้งมีโครงการส่งเสริมทำผ้าไหมด้วย

ดอกเตอร์ แครมม์ นักวิชาการชาวอเมริกันที่เป็นผู้บริหารสถาบันคนปัจจุบันนั้นเป็นคนที่มีวิชาความรู้เยอะ แต่ทำงานร่วมกับคนไทยไม่เป็น เขาชอบเน้นไปที่เรื่องยาก ๆ หรือทฤษฎีไกลตัวที่ใช้ในทางปฏิบัติกับวิถีไทยไม่ได้ ถึงเขาจะมีความตั้งใจดี แต่ข้อเสียสำคัญคือ ชอบมองว่ามีแต่วิธีทำงานของตัวเองเท่านั้นที่ถูกต้อง ลักษณะนิสัยของไทยที่เรื่อย ๆ เรียง ๆ รักสนุก ไม่ชอบวางแผนการอนาคตจึงมักถูก ดอกเตอร์ แครมม์ มองว่าไม่มีหัวสมอง

ดอกเตอร์ แครมม์ บ่นว่า “เรื่องปวดหัวเกี่ยวกับคนไทยก็คือ ถ้าลงบอกว่า เรามาช่วยกันคิดซิ ละก็ พวกเขาก็จะช่วยกันคิดเสร็จสรรพเสียเองทุกครั้ง แล้วผลที่ออกมา ถ้าไม่ผิดอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ก็มักจะออกมาห้าแต้มเสียทุกคราวไป”

กลุ่มคณะผู้บริการระดับสูงที่มีคนอินเดียหนึ่งคน และที่เหลือเป็นฝรั่งแทบทั้งหมด (มีคนไทยในองค์ประชุม ชื่อ สุพัฒน์ เพียงคนเดียว) ก็ทำงานกันไปตามแต่ที่ตนเองเห็นดี หรือไม่ก็พยายามสร้างภาพสวย ๆ ใส่ไปในรายงานประจำเดือน เว้นก็แต่ผู้ชายเพียงคนเดียว ชื่อ ลอว์เรนซ์ เฟรียร์ ที่เป็นคนอังกฤษซึ่งเคยทำงานในอินเดียมาก่อน หนุ่ม ลอว์เรนซ์ เป็นคนเพียงคนเดียวที่ขลุกกับคนไทยมากที่สุด พยายามจะเข้าใจคนไทย พร้อม ๆ กันนั้น เขาก็เป็นหัวแรงสำคัญที่ก่อตั้งโครงการไหมไทยประจำหมู่บ้านขึ้นมา และที่สำคัญโครงการนี้ทำท่าว่ารุ่งวันรุ่งคืนมากกว่าโครงการอื่นๆ ของชาวคณะ

ลอว์เรนซ์ ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะเขาเป็นคนตรงขวานผ่าซาก ชนิดที่ว่าคงมีคนเดียวที่กล้าประกาศออกไมโครโฟนเตือนทั้งคนฝรั่งและคนไทยให้ระวัง (ย้อนอ่านคำโปรยข้างบนสุด รวมทั้งอ่านย่อหน้าต่อไปนี้)

“ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงจะต้องมีขึ้นตามกาลเวลา เพราะทุก ๆ ครั้งที่เราคิดว่าได้ผลที่แท้จริงนั้น เราก็ต้องยอมเสียอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนด้วยทุก ๆ ก้าว เราควรจะต้องถามตัวเองเพื่อให้แน่ใจเสียก่อนว่า การที่เราเอามรดกตกทอดจากปู่ ย่า ตา ยาย ของเราเข้าเสี่ยงนั้น คุ้มค่ากับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นละหรือ”

ไม่ใช่ว่า ลอว์เรนซ์ มองเห็นแต่ด้านสวยหรูของคนไทย แต่เพราะเขามองว่าระบบเหลาะแหละของคนไทยที่แอบตอดเล็กตอดน้อยใต้โต๊ะบ้างนั้นอาจไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัส ถ้างานหลักยังเดินไปข้างหน้าก็ถือว่าได้การ คนไทยไม่ชอบการปะทะกันซึ่ง ๆ หน้าแบบฝรั่ง ถ้าคนไทยไม่พอใจก็เงียบไม่แสดงออก แล้วแอบทำ ขอแค่ไม่มากดดันกันเกินไป คนไทยก็จะยิ้มได้ตลอด การที่ ลอว์เรนซ์ เข้าใจคนไทยดีพอ เขาจึงเถียงกับ ดอกเตอร์ แครมม์ เมื่อ ดอกเตอร์ บ่นว่า คนไทยชอบโกงใบเสร็จรับเงิน

“ผมก็รู้ว่าเขาต้องเอาไปแน่” ลอเร็นซ์ ตอบอย่างแห้งแล้ง “ไม่เอาก็โง่เต็มทีละ แต่ว่ามันจะได้ประโยชน์อะไรล่ะถ้าเราจะขุดกันขึ้นมาว่าใส่หน้าเขา ทำอย่างนั้นยิ่งจะก่อให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์กันมากขึ้นเท่านั้น แล้วคุณก็ไม่มีทางจะทำอะไรได้ด้วย”
“เราก็ต้องหยุดยั้งไว้ไม่ให้เรื่องยังงี้เกิดขึ้นได้อีกน่ะซี”


“คุณทำได้งั้นรึ ? พวกเขาจะกลมกลิ้งหลบหลีกคุณสักแค่ไหนเขาก็ย่อมทำได้ คุณพูดภาษาของเขาก็ไม่ได้ อ่านใบอินวอยซ์ของเขาก็ไม่รู้เรื่อง นอกจากเสียว่าเขาอยากจะให้คุณเข้าใจเมื่อไรเขาก็แปลให้คุณฟัง นี่แน่ะครับ ดอกเตอร์แครมม์ พวกคนไทยน่ะมีความดีหลายอย่างอยู่ในตัวเหมือนกันนะ เขามีไหวพริบ มีความอุตสาหะ มีเหตุมีผลและรู้หลักรู้เกณฑ์ เขารู้ดีหรอกว่าเมื่อใดถึงเวลาที่ควรจะหยุด นอกจากเสียว่าเขาจะไม่ทำเพราะคุณไปบังคับให้เขาทำเท่านั้น.......... เราลองมาพิจารณาดูในแง่ของเขาบ้างซิ ว่าในที่สุดพวกเขานี่แหละต้องเป็นคนลงมือทำงานเอง พวกเราก็ได้แต่อยู่ห่างๆ คอยบอกเขาว่าควรจะทำนั่นทำนี่ ปัญหาของพวกเขามากมายก่ายกองนั้นพวกเรารู้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่เขารู้ และต่อให้คุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามแต่มันก็เป็นวิธีการที่ได้ผล ในส่วนตัวของผมนั้น ผมพร้อมที่จะไว้ใจเขาอยู่บ้างเหมือนกัน”

ท่ามกลางฉากหลังของเรื่องที่ทีมงานฝรั่งต่างขัดขากันเองเพื่อเอาหน้า แต่ตัวเรื่องฉากหน้าที่แท้จริงคือการเดินทางมาถึงของ โอลิเวีย สาวชาวออสเตรเลียที่ติดตาม นีล – สามีของเธอซึ่งกำลังจะมาประจำตำแหน่งระดับสูงที่ถนัดนคร โดยในระหว่างการเดินทางของเธอ ทำให้เธอสะดุดใจกับชนบทไทยที่สงบร่มรื่น คนไทยที่หน้าตาแจ่มใสยิ้มง่าย (แต่อ่านใจยาก) เธอก็เริ่มคิดได้ว่า นีล ไม่ใช่ผู้ชายคนเดิมที่เธอเคยรักอีกต่อไปแล้ว เขากลายเป็นคนไร้จุดยืนที่เลียแข้งเจ้านายเพื่อจะได้ยืนในตำแหน่งที่สูงขึ้น ส่วนชายแปลกหน้าที่เอาใจใส่กับความรู้สึกของคนทำงานอย่าง ลอว์เรนซ์ จึงกลายเป็นภาพเปรียบเทียบที่ทำให้เธอตระหนักได้ถึงความต้องการแท้ ๆ ในชีวิต

ย่อหน้าที่ผ่านมาคงไม่ทำให้เข้าใจผิดเห็นภาพเป็นนิยายพาฝันเกี่ยวกับเมืองไทย เพราะคนแต่งคือ Geraldine Halls ซึ่งคงใส่ประสบการณ์ส่วนตัวของเธอมาบ้างไม่มากก็น้อย (ในฐานะคนออสเตรเลียที่เคยแต่งงานกับคนอังกฤษ และเคยอาศัยที่อุบลราชธานี) ดูเธอเป็นนักเขียนที่ละเอียดอ่อนต่อตัวละครและมีทักษะการเขียนที่ดีทีเดียว แม้แต่ตัวละคร ลอว์เรนซ์ เอง ก็สารภาพกับ โอลิเวีย ว่าบางทีก็หงุดหงิดกับลักษณะเงียบ ๆ เก็บอารมณ์ของคนไทย ซึ่งทำให้บางครั้งเขาต้องทุ่มเทพลังทำงานหนักมากขึ้น ก็ถ้าคนไทยละเอียดอ่อนน้อยกว่านี้หัดโผงผางเอะอะบ้างคงดีกว่า แล้วบางทีเรื่องที่เขาเป็นปากเสียงกับฝรั่งด้วยกันเพื่อปกป้องคนไทย ก็ยิ่งทำให้เขาตกในฐานะลำบาก

แม้ตัวนิยายจะแค่ร่างภาพสเก๊ตช์นิสัยใจคอคนไทยแบบคร่าว ๆ ไม่ได้ระบายสีลึกซึ้งถึงนิสัยใจคอเฉพาะคน อีกทั้งบทพูดที่เอ่ยจากปากคนไทยก็มีเพียงไม่กี่ประโยค แต่นิยายก็แสดงท่าทีข้ามวัฒนธรรมที่ฝรั่งแต่ละคนมีต่อคนไทยได้ดี ยิ่งในด้านของความจริงใจที่จะอ่านใจคนฝรั่งด้วยกันเองนั้น ทำได้เห็นเหตุผล ข้ออ้างและความชอบธรรมที่รอบด้าน เพราะทุกตัวละครไม่มีใครเป็นคนชั่วหาดีไม่เจอ ทุกคนเพียงทำตามที่ตัวเห็นว่าดีมีประโยชน์ แม้อาจเพื่อประจบนายเอาตัวรอดบ้างก็ตามที รวมกระทั่งตัว สุพัฒน์ คนไทยคนเดียวที่ทำงานกับ ลอว์เรนซ์ มาตลอด ซึ่งเมื่อ ลอว์เรนซ์ ถูกบีบให้ออกจากงาน สุพัฒน์ ก็เลือกที่จะเห็นโครงการไหมพังพาบลงมา มากกว่าที่จะยอมเปลืองตัวถูกเด้งตามไปด้วย

ทั้งฉบับภาษาอังกฤษและฉบับแปลไทยท่าทางจะขาดตลาดไปนานมาก ๆ ไม่เห็นมีคนพูดถึงอีกเลย ตัว The Silk Project หรือ “ไหมอีสาน” อาจจะไม่ใช่วรรณกรรมที่มีคุณค่าระดับสูงก็จริงอยู่ แต่สำหรับคนไทยเองน่าสนใจดี ถ้าใครอยากจะย้อนมองตัวเองและสังคมไทยในยุคที่คูคลอง วัดวา แต่กาลก่อนคงเรียบง่าย ไม่มีเรื่องวอกแวกมากมาย เรื่องนี้ก็น่าลองหาอ่าน ตามห้องสมุดเก่า ๆ ยังพอเห็นมีอยู่บ้าง

12.5.51

My Sassy Book (7) Click เมื่อนักเขียนรวมพลังทำบุญ

My Sassy Book (7) Click นักเขียนรวมพลังทำบุญในงานศิลป์

(Note: เล่มนี้ที่จริงต้องเก็บไว้เขียนให้ ช่อการะเกด เดือนตุลาคม แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีความตั้งใจทำจนจบไหม เขียนหนังสือนี่มันเรื่องน่าเบื่อจริง ๆ)

ไม่บ่อยนักที่นักเขียนดังระดับนานาชาติ 10 คนจะร่วมใจมาเขียนนิยายเรื่องเดียวกันคนละ 1 ตอน

ถาม บ.ก. ของ ช่อการะเกดดูแล้วของไทยก็เคยมีเหมือนกัน ประเภทผลัดกันแต่งนิยายเรื่องเดียวกันเนี่ย ทำมาตั้งแต่สมัยนักเขียนรุ่นสุภาพบุรุษนั่นแน่ะ แต่นักเขียนรุ่นเว็บบล็อกนี้เราก็มีนะ เท่ไม่หยอก ที่ http://lonesome-cities.exteen.com/ นี่ไง หนำซ้ำยังไฮเทคตามยุคสมัย ไม่จำกัดแค่เป็นเรื่องสั้น แต่เป็นได้ทั้งหนังสั้น หรือภาพถ่าย ล่าสุดเห็นโยงใยกันไปถึง มาร์เกอริต ดูราส (Marguerite Duras) นั่นเลย

ใน Click นี้บรรดานักเขียนใจบุญเขาทำงานกันฟรีให้องค์กร Amnesty International นักเขียนที่คนไทยเราพอจะรู้จักก็คงเป็น Roddy Doyle นักเขียนชาวไอริชที่แต่งนิยายดัง ๆ เช่น Paddy Clarke Ha Ha Ha หลายเรื่องอย่าง The Commitments, The Van, The Snapper ถูกนำไปสร้างเป็นหนัง นอกจากนั้นก็มี Nick Hornby คนแต่งเรื่อง About A Boy ที่ ฮิว แกรนท์ แสดงจนโด่งดังน่ะแหละ อีกคนก็ Eoin Colfer เจ้าของวรรณกรรมเยาวชนที่ขายดีในบ้านเราอย่าง Artemis Fowl

ไม่รู้เขาเตี๊ยมเรื่องกันอีท่าไหน อ่านดูในเล่มก็ไม่เห็นบอกว่าทำงานกันยังไง เลยเดาเอาเองว่าคงคุยโครงเรื่องและตัวละครหลักคร่าว ๆ คือ สมมติตัวละครครอบครัวหนึ่งขึ้นมา มีพ่อ แม่ และลูกชาย ลูกสาวอย่างละคน มีตัวละครสำคัญเป็นคุณตาของเด็ก ๆ ชื่อ Gee เป็นช่างภาพที่ต้องเดินทางทั่วโลก

เปิดบทแรก คุณตา Gee ตาย ทิ้งมรดกให้หลานคนโปรดทั้งสอง แม็กกี้ ได้รับกล่องไม้ทำมือดีไซน์แปลก ๆ มีช่องขนาดเล็กซ่อนอยู่ในกล่องมากมาย ข้างในมีเปลือกหอยสะสมจากทะเลทั่วโลก คุณตา Gee กำชับไว้ในจดหมายขอให้ แม็กกี้ ตระเวนเอากลับไปคืนยังธรรมชาติ เพราะของแต่ละชิ้นมีเรื่องเล่าเฉพาะตัวที่ตา Gee อยากให้หลานได้เรียนรู้ ส่วน เจสัน พี่ชายของ แม็กกี้ ได้รับกล้องถ่ายภาพของตาไว้ดูต่างหน้า

หลังจากนักเขียนคนแรก Linda Sue Park ปูตัวละครไว้เสร็จ ก็เป็นหน้าที่ของนักเขียนคนอื่น ๆ ที่จะต่อเรื่องไปทางไหนก็ได้ บางคนสนใจเรื่องของลุงก็แต่งเรื่องการผจญภัยของลุงอย่างเดียว บางคนสนใจหลานสาวก็เน้นไปทางนั้น บางคนเพิ่มให้ เจสัน เป็นลูกเลี้ยง โตขึ้นเข้ากับครอบครัวไม่ได้ อยากจะเอากล้องไปขายทิ้ง บางคนเน้นแต่ตัวละครประกอบมากว่าตัวละครหลัก เรียกได้ว่ายิ่งเขียนกันตามใจฉันเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนที่มาต่อเรื่องรายต่อ ๆ ไปต้องหนักใจมากขึ้น แต่ก็เอาตัวรอดกันไปได้ทุกราย

ในเรื่องของความเป็นหนึ่งเดียวคงยากทีเดียวที่จะทำให้ออกมาดีสมบูรณ์แบบ เพราะตัวตนของนักเขียนแต่ละคนก็แรงกล้ากันทั้งนั้น แต่ในแง่ของรายละเอียด และเป็นกรณีศึกษาการแต่งเรื่องแล้ว ถือเป็นงานที่ควรอ่านมาก

ถ้าเขียนไหว อาจจะเขียนอย่างละเอียดลง ช่อการะเกด อีกที ตอนแรกคิดว่าเขียน ศิลปะส่องทางให้กัน ตอน Joseph Cornell ใน ช่อการะเกด 43 นั่นคงเป็นชิ้นสุดท้ายแล้ว หมดแรงจริง ๆ

น่ามีแปลเป็นไทยนะเล่มนี้ ซื้อเล่มปกแข็งได้ที่ร้านหนังสือ Kinokuniya

11.5.51

46 ปีแห่งความหลังเขาพระวิหาร

เขาพระวิหาร
46 ปีผ่านไปยังต้องเถียงกันเรื่องเดิม
(ข่าวสมัยโน้นกับสมัยนี้ ความจริงที่ตามหลอกหลอน)


10.5.51

บันทึกเกี่ยวกับคนทำหนังที่ตกสำรวจ

บันทึกเกี่ยวกับคนทำหนังที่ตกสำรวจ
ยิ่งเขียนหนังสือเท่าไหร่ แทนที่จะพัฒนาขึ้นกลับยิ่งสิ้นหวัง

Kira Muratova – เคยดูแต่ Brief Encounters เรื่องเดียวเมื่อหลายปีก่อนแล้วก็หาดูไม่ได้อีกเลย เร็ว ๆ นี้เพิ่งได้ดู The Asthenic Syndrome ที่บ้าบอยังกับต้นแบบของเรื่อง 4 เหมาะที่จะฉายมากในโปรแกรมต่อ ๆ ไปของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

คุณป้า Kira Muratova นี่แกแรงได้ขนาดนี้เชียว!

Jean Grémillon – เคยฉายฟิล์ม 16 มม. เรื่อง Lumière d'été กับ Le Ciel est à vous แต่ตอนนี้ไม่รู้ที่สถานทูตฝรั่งเศสยังมีฟิล์มอยู่ไหม

เมื่อ 2-3 วันก่อนดู The Sheltering Sky ของ Bernado Bertolucci เห็นมีอ้างอิงถึงหนังเรื่อง Remorques ของ Grémillon อยู่ทั้งตอนต้นและตอนจบเรื่อง จำได้ว่า Remorques ก็เป็นหนังที่ Jean-Marie Straub กับ Danièle Huillet ถือเป็นอิทธิพลสำคัญในการทำหนังยุคต่อมา


Jean Rouch – ถึงจะถูกเอ่ยชื่อบ่อย ๆ ในหนังสือประวัติศาสตร์หนังหรือตำราชาติพันธุ์วิทยา (เลือกหนังเรื่อง Jaguar ของเขาไว้ใน 151 Cinema) แต่ก็ยังหาดูหนังของ Jean Rouch ได้ยากอยู่ดี
จำได้ว่าเคยเจอตัวจริงของเขาที่สมาคมฝรั่งเศสของอังกฤษเมื่อราวปี 2530 หรือ 31 ตอนนั้นเขาเอาหนังเรื่องใหม่มาฉาย แต่ก็นะ พี่แกเล่นไม่มีคำบรรยายตลอดเรื่อง
ชอบหนังของพี่แกอีก 2 เรื่องคือ Moi, Un Noir และ Petit a Petit (เคยฉายที่ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ซีคอนสแควร์)
**********************************************************************************
Jacques Rozier เคยเอาฟิล์มเรื่อง Adieu Philippine ที่สมาคมฝรั่งเศสมาฉายดูเองที่บ้าน 2-3 รอบ หนังเรื่องนี้ได้บรรยากาศของวัยรุ่นยุค 60 ดี เหมือนดูหนังของ Truffaut กับ Godard ยุคแรก ๆ
หนังดูง่าย ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่มีออกดีวีดี

เคยฉายให้ ทศพร กลิ่นหอม เพื่อเขียนลง Filmvirus 2 แต่แล้วก็.....

*****************************************************************
Radio On by Chris Petit
Chris Petit – ดู Radio On ที่บริติช เคาน์ซิล สยามสแควร์ ชอบมากกว่าหนัง Road Movie ของ Wim Wenders เสียอีก แต่พอมาดูซ้ำมันสู้หนัง วิม เวนเดอร์ส ไม่ได้เลย แต่ก็ยังชอบมากอยู่ดี
ในเรื่องมี Sting เป็นดารารับเชิญด้วย แถมเปิดเรื่องด้วยเพลง Heroes ของ David Bowie

พักหลังเห็น Chris Petit หันมามีชื่อเสียงทางด้านเขียนนิยายและทำงานด้านวีดีโออาร์ต ประวัติเดิมเขาเป็นนักวิจารณ์หนังที่นิตยสารดังของอังกฤษ Time Out
********************************************************************************** Kaizo Hayashi
เคยดูหนังหมอนี่ 2 เรื่องน่าสนใจดี ชอบ To Sleep So As To Dream มากเป็นพิเศษ (อ่านบทความของ มโนธรรม ใน Filmvirus 1) เสียดายหลังจากดูที่ มูลนิธิญี่ปุ่น หรือศูนย์วัฒนธรรม ก็หาดูไม่ได้อีกเลย

จำได้ว่าตอนหลัง Kaizo Hayashi เคยกำกับหนังที่สร้างจากการ์ตูนเรื่อง Cat’s Eye ด้วย ตอนนั้นอยากดูเพราะชอบหนังสือการ์ตูน ตอนนี้ไม่รู้เขาเอามาพิมพ์ใหม่บ้างเปล่า
*********************************************************************************
Fernando Solanas ผู้กำกับอาร์เจนติน่าคนนี้มีลีลาเซอร์เรียลดี ฉากแฟนตาซีบางฉากทำให้นึกถึงหนัง Federico Fellini ฉบับหนังการเมือง หนังเด่น ๆ ก็เช่น The Voyage, Tangos, The South และ The Cloud เคยเลือก The Voyage ไว้ใน 151 Cinema
Gleb Panfilov หมอนี่เงียบไปเลยตอนนี้เลิกทำหนังใหญ่ไปนาน โผล่มาเมื่อ 2 ปีที่แล้วหันไปทำหนังทีวีมินิซีรี่ย์ซะแล้ว เมื่อราวปี 2530 ที่โรง NFT ลอนดอนฉายเทศกาลหนังของเขาทุกเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นหนังโดนแบนห้ามฉายสมัยก่อนยุคกอร์บาชอฟ เมียของ Panfilov ชื่อ Inna Churikova แสดงหนังให้เขาหลายเรื่อง จำได้ว่ายังซื้อโปสเตอร์หนังเรื่อง The Theme (Tema) มาด้วย

เคยเอาบทความของ Gleb Panfilov ที่เขียนถึง Andrey Tarkovsky มาแปลลงนิตยสาร หนังและวีดีโอ เมื่อหลายปีที่แล้ว
*******************************************************************************
Rolan Bykov เขาเป็นที่รู้จักในรัสเซียในฐานะนักแสดงจากเรื่อง The Overcoat (เสื้อคลุม) และ Letters from a Dead Man แต่เท่าที่ดูการกำกับจากหนังเรื่องเดียวคือ Scarecrow (Chuchelo) หนังรัสเซียปี 1983 ที่เกี่ยวกับเด็กนักเรียนที่โดนกลุ่มเพื่อนรังแก ดูเรื่องนี้แล้วอาจทำให้หนังดราม่าเกี่ยวกับนักเรียนทั่ว ๆ ไปกลายเป็นหนังเด็ก ๆ แม้จะดูหนังเรื่องนี้ในเทศกาลหนังโซเวียตที่ถูกแบนเมื่อ 20 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังลืมไม่ลง
********************************************************************************
Konstantin Lopushansky คนกำกับ Letters from a Dead Man (อ่านเพิ่มเติมใน Bookvirus 1) เคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้ Andrey Tarkovsky ขณะสร้าง Stalker

ตอนหลัง Lopushansky มาทำหนังเองเป็นหนังที่ประหลาดและทรงพลังมาก โดยเฉพาะ Letters from a Dead Man และ Ugly Swans ที่สร้างจากนิยายของ 2 พี่น้อง Strugatsky เช่นเดียวกับ Stalker

8.5.51

My Sassy Book (6) Jimmy Corrigan or The Smartest Kid on Earth เผ่าพันธุ์ที่รักไม่เป็น

My Sassy Book (6) Jimmy Corrigan or The Smartest Kid on Earth
เผ่าพันธุ์ที่รักไม่เป็น
A Graphic Novel Written by Chris Ware

เป็นไปได้ไหมที่หนังสือการ์ตูนจะละเมียดและซึมลึกถึงแกนใจที่อ้างว้าง
มีไหม การ์ตูนที่ถ่ายทอดความเป็นคนได้ครบมิติ
จริงดิ ช่องว่างระหว่างเฟรมที่ขันยอกทรวง

แล้วถ้าปรุงสไตล์พิเรนทร์ไม่เกรงใจคนอ่านเข้าไปด้วย ผลจะออกมาอีท่าไหน

แต่ก็นั่นแหละ ตราบใดที่เรื่องเหลือเชื่อยังหลงเหลือในโลก เช่น เหนือฟ้ายังมีฝน เหนือฝนยังมีสามีของฝน เหนือ “น้องฟ้า” ยังมีภราดร เหนือภราดรยังมีพ่อ-แม่ภราดร เหนือไอ้อีหัวโบราณที่ฟันธงว่าการ์ตูนมีแค่เรื่องเพ้อฝันแนวซูเปอร์ฮีโร่ ณ เมฆผงาดก้อนนั้นย่อมซ่อนการ์ตูนของ Chris Ware (คริส แวร์)

เราอาจจะเรียก Chris Ware ว่าเป็น Jean-Luc Godard แห่งวงการหนังสือการ์ตูน (นิยายภาพ) เช่นเดียวกับที่ Stockhausen หรือ Bob Dylan ปักลูกทอยแนวดนตรี หรือ James Joyce, Alain Robbe-Grillet กับ Raymond Queneau ทัดมาลาคานภาษา

Jimmy Corrigan or The Smartest Kid on Earth จัดเป็นผลงานชั้นครูของ Chris Ware อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ผลงานกึ่งประวัติศาสตร์ส่วนตัวเล่มนี้ มันคงไม่มีค่าเป็นผลงานระดับหัวกะทิที่แทบทุกคนซูฮก ถ้าคนอ่านทั่วไปไม่สามารถจูนใจเข้ากับตัวละครอย่าง Jimmy Corrigan (จิมมี่ คอร์ริแกน) เจ้าหนูจิ๋วแจ๋วเจาะโลกที่ไม่ยักจะเก่งสมชื่อ หรือได้แค่สักส่วนเสี้ยวของ ปิ่น ปรเมศร์

จิมมี่ คอร์ริแกน เด็กไม่เอาอ่าวขาดความมั่นใจในตัวเอง ผู้ถูกเลี้ยงดูโดยแม่ที่คอยโขกสับตามจิกอยู่ทุกเช้าค่ำ แม้จนเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เช่าอพาร์ตเมนต์ส่วนตัว ทำงานไปรษณีย์ มีชีวิตจำเจแถบชานเมืองมิชิแกน คุณแม่ที่บัดนี้อยู่ในบ้านพักคนชราก็ยังคอยทวงหาความรัก และเฝ้าขู่เข็ญ จิมมี่ เหมือนเด็ก 3 ขวบ

อายุ จิมมี่ อาจยังไม่ถึง 40 ก็จริง แต่รูปร่างหน้าตารูปร่างนั้นแก่ก่อนวัยหมือนคนอายุสัก 60 ด้วยเพราะเขินอายไม่กล้าปฏิเสธใคร วางตัวในสังคมก็ไม่ค่อยถูก พอเสร็จจากงานก็กลับบ้าน กินอาหารขยะ ดูทีวี แอบฝันถึง เพ็กกี้ สาวน้อยที่ทำงานในไปรษณีย์เดียวกัน ซ้ำเมื่อไรที่ทำใจเข้าไปจีบเป็นต้องโดนตอกกลับหน้าหงายทุกที

วันหนึ่งมีจดหมายส่งมาหา จิมมี่ ในซองมีข้อความเชิญชวนจากพ่อแท้ ๆ ที่เขาไม่เคยเจอหน้า ให้มารู้จักกันสักครั้ง

เพียงเท่านี้ จิมมี่ ที่ขี้ขลาดเป็นทุนก็ตื่นกลัวหัวหด อดจินตนาการไปต่างๆ นา ๆ ไม่ได้ถึงการเผชิญหน้าที่แฝงความน่าหวาดเสียวมากกว่ายินดี

การได้รู้จักกับชายแปลกหน้าที่มีคำนำหน้านามว่า “พ่อ” สร้างความอิหลักอิเหลื่อในชีวิตของ จิมมี่ อย่างมโหฬาร และนำไปสู่การผจญภัยครั้งใหญ่ซึ่งแสนกระอักกระอ่วนเกินคาดคิด

“ครอบครัว” ความหมายที่ครอบคลุมถึงสิ่งแปลกปลอม และสิ่งที่น่าใฝ่หา


การเผชิญหน้าครั้งใหญ่ระหว่าง จิมมี่ กับพ่อ ทำให้คนอ่านได้ย้อนอดีตไปถึงปัญหาต้นทางของตระกูล คอร์ริแกน 3 ชั่วคน คือ ตั้งแต่รุ่นทวดเมื่อสมัยร้อยกว่าปีก่อนตอนที่ชิคาโก้จัดเฉลิมฉลองงานเวิล์ดแฟร์ การที่ เจมส์ คอร์ริแกนรุ่นปู่ซึ่งตอนนั้นยังเป็นแค่เด็ก 9 ขวบ กลายเป็นเด็กกำพร้าแม่ และถูกพ่อเจ้าระเบียบทอดทิ้งให้จมอยู่กับความเงียบเหงา ขาดเพื่อนและสังคม กลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายหวาดระแวง ในขณะที่เขาหิวกระหายความรัก แต่ก็ไม่รู้วิธีแสดงออก

เนื้อเรื่องการ์ตูนของ Chris Ware อาจเป็นปัญหาสาหัสระดับสากล ทำให้คนอ่านนึกภาพโศกนาฏกรรมบีบน้ำตา แต่หากเทียบวิธีการใช้ภาพของ คริส แวร์ อย่างหยาบ ๆ อาจต้องเปรียบประมาณ Adaji Mitsuru (อดาจิ มิทสึรุ) ผู้แต่งการ์ตูน Miyuki, Touch, Rough และ H2 ที่เป็นเทพในการใช้ลายเส้น นิ่ง น้อย เงียบ คือเป็นลายเส้นเรียบง่ายระเบียบสะอาดตา ชัดเจนคมคาย ไม่มีเส้นรกรุงรัง กรอบเล็กและใหญ่บอกกล่าวเหตุการณ์เท่าที่จำเป็น แต่สำหรับ คริส แวร์ การเปิดที่ว่างใช้เฟรม แม่นยำในการเซ็ทฉากเชิงสถาปัตย์ การคุมโทนสีต่าง ๆ ให้ดูกลมกลืน ลักษณะขัดเขินผิดที่ผิดทางของตัวละครที่เปลี่ยนรายละเอียดแต่ละเฟรมเพียงน้อย ช่วยขยายภาพวังเวงระหว่าง จิมมี่ กับ ครอบครัว

ปัญหาการเข้าถึงคนอื่นถูกแสดงด้วยความเงียบ การสนทนาอิหลักอิเหลื่อ ท่าทีเก้กังอ้ำอึ้งชะงักงันของคนที่ไม่มีอะไรจะคุยกัน บทบาทของผู้มอบความรักความอบอุ่นที่มาผิดจังหวะ อารมณ์ขันที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ซึ่งทำให้ต้องยอมรับว่าเวลาส่วนใหญ่ของคนเรามักจะหมดไปกับการเป็นจำอวดในพิพิธภัณฑ์ชีวิต (ที่ไม่ควรจะเป็นเยี่ยงอย่างให้ใครได้ซื้อตั๋วเข้าชมเลยด้วยซ้ำ)

ภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป ร้านชำ บ้านช่องขนาดเล็ก สถานที่ประวัติศาสตร์ซึ่งบัดนี้ถูกแทนด้วยร้านแม็คโดนัลด์ แดรี่ควีน ห้างสรรพสินค้า และชีวิตยุคใหม่แบบตัวใครตัวมันชวนให้นึกถึงสัจธรรม และตัวตนที่ไร้ค่าของคนที่สามารถกลายเป็นคนขี้แพ้เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเผลอเกิดผิดที่ หรือเดินผิดทางแม้แต่นิดเดียว

ชีวิตในหนังเรื่องแรก ๆ ของ Aki Kaurismaki ก็ไม่พ้นจากนี้ไกลนัก เพราะนี่คือภาพชีวิตเวิ้งว้างธรรมดาของคนระดับตัวมดที่พยายามหาที่ยืนจุดเล็ก ๆ บนโลก นั่งตัวหดอยู่หน้าเฟอร์นิเจอร์โปรโมชั่นลดราคาและฉากหลังสีทึบ ไขว่คว้าหาคนเข้าใจสักคน แต่ลูกเต๋าชีวิตก็มักจะเด้งกลับมาที่เดิม แล้วถูกเหยียบย่ำให้ต่ำต้อยลงไปเรื่อย ๆ

Chris Ware กล้ามากที่เล่าเหตุการณ์ย้อนอดีต หรือโดดไปข้างหน้าอย่างไม่เกรงใจคนอ่าน หลายครั้งมันไม่ใช่เหตุการณ์จริงเสียด้วยซ้ำ แต่เป็นเพียงจินตนาการของ จิมมี่ เด็กช่างฝันไม่มีพิษมีภัยที่ฝันถึงพี่ชายในร่างม้า ซูเปอร์แมนนั้นหรือก็แค่คนในเสื้อฟ้าแดงที่ทำงานตอกบัตรและมีปัญหาส่วนตัวที่แก้ไม่ตก เพียงในการ์ตูนหน้าที่ 7 เจ้าหนู จิมมี่ ผมโหรงเหรงก็กลายร่างจากเด็กตัวจ้อย กลายมาเป็นชายผมหรอยตัวลีบหมดสมรรถภาพวัย 36 ปี ซึ่งรอวันเหี่ยวเฉาตาย และในอีกไม่กี่เฟรมถัดไป ตัวเขาก็กลายร่างเป็นหุ่นกระป๋องได้หน้าตาเฉย

เทคนิคประหลาดหลายอย่างถูกนำมาผสม ลักษณะของหนังสือพจนานุกรม ลักษณะของเล่นเด็กที่คนอ่านต้องตัดสมุดภาพมาประกอบเป็นตุ๊กตา หรืออาคารบ้านเรือน การสะดุดอารมณ์ (หรือช่วยเหลือ) คนอ่านด้วยด้วยคำสรุปอธิบายเรื่อง คำอธิบายศัพท์ และภาพวิวทิวทัศน์ที่เตรียมให้ตัดเป็นช่อง ๆ แบบของสะสม

การ์ตูน Jimmy Corrigan or The Smartest Kid on Earth ของ Chris Ware เขียนด้วยสไตล์ล้ำยุคกวนตีนสูตรสำเร็จให้กลับหัวกลับหางแบบที่ Jim Jarmusch, Quentin Tarantino และพี่น้องตระกูล Coen ทดลองกับหนังของพวกเขา หากแต่ Chris Ware ก็ไม่ได้ลืมหัวใจของความเป็นมนุษย์มนาแบบที่นักทำหนังชั้นยอดอย่าง Rob Nilsson, Jay Duplass, Joe Swanberg และ So Yong Kim ทำสำเร็จ

แต่ที่เด็ดกว่านั้น ชัยชนะของ Chris Ware คือประกาศเอกลักษณ์ของสื่อหนังสือการ์ตูนที่สร้างสไตล์ซึ่งเลียนแบบได้ยาก คุณสมบัติเฉพาะของตัวมันเองเนรมิตสิ่งใหม่ที่ภาษานิยายหรือภาพยนตร์ยากจะจำลองเนื้อเรื่องเดียวกันได้เทียบเท่า

Jimmy Corrigan or The Smartest Kid on Earth ของ Chris Ware เป็นหนังสือการ์ตูนเล่มสำคัญเช่นเดียวกับ Black Hole ของ Charles Burns เล่มที่เคยเล่าไปแล้ว และถึงแม้ทั้งสองเล่มจะมีสไตล์ภาพและแนวคิดที่แตกต่างกันอย่างสุดโต่ง แต่ก็โกเกินร้อยในธุรกรรมวังเวงของการมีชีวิตเยี่ยงคน