19.7.52

My Sassy BookVirus ตอน 18: How I Became a Nun (แต่งโดย César Aira)

My Sassy BookVirus ตอน 18: How I Became a Nun (แต่งโดย César Aira)

อ่านจบถึงได้รู้ How I Became a Nun ไม่มีตอนไหนเกี่ยวกับแม่ชีเลยสักนิด
แล้วเจ้าเด็กที่ชื่อ César Aira (ซึ่งคงไม่บังเอิญชื่อเดียวกับชื่อคนเขียน) ก็ไม่รู้ว่าเป็นเด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิงกันแน่ บัดเดี๋ยวเป็นเด็กชาย เผลอแผล็บเดียวบอกเป็นเด็กหญิงซะแล้ว เอาไงแน่เนี่ย

เอาเข้าจริงคงไม่สำคัญ เอาเป็นว่านี่มันเรื่องเด็กช่างจินตนาการที่ไม่รู้เกิดจริงหรือฝันเฟื่องกันแน่ เรื่องเล่าเป็นตอนสั้น ๆ ไม่ต่อเนื่องกันทีเดียว แต่ชะตาชีวิตเจ้าหนูเนี่ยมันไต่ตั้งแต่ระดับนุ่มนวลไปจนถึงตลกร้ายได้ยังไงไม่ทันตั้งตัว เริ่มจากความเชื่อว่าไอศครีมเป็นของอร่อยที่พ่อของเจ้าหนูฝังหัวมานมนาน จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องเลวร้ายใหญ่โต เหลือแต่เจ้าหนูกับแม่ฟังวิทยุอ้อยอิ่ง จินตนาการฟุ้งกระจายใต้ไอแดดและผงฝุ่น จนกระทั่งบทลงเอยที่พิลึกพิกล ดูท่าเหมือน โรแบร์โต้ โบลาณโญ่ (Roberto Bolaño) หมอนี่ชอบเขียนเรื่องเหมือนค้างคาอารมณ์ เหมือนเขียนไปคิดพล้อตไปหรือเปล่า แต่การบรรยายประหลาดดี จริงหรือเล่น อารมณ์ขันผนวกกับร้ายลึก เทียบกับอีกเรื่อง An Episode in the Life of a Landscape Painter อันนั้นเขียนเรียบเหมือนคล้าย ๆ บันทึก แต่พอบรรยายตอนจิตรกรขี่ม้าแล้วโดนฟ้าผ่าบรรยายได้ถึงภาพ แล้วตอนจบที่ประจันหน้ากับพวกโจรสลัดแล้วเข้าไปเขียนภาพ กลับหยุดเหตุการณ์ค้างไว้อย่างนั้น เป็นวินาทีที่ไฟกำลังปะทุถึงจุดสุดยอดพอดี

10.7.52

My Sassy BookVirus ตอน 17: The Beggar Maid (แต่งโดย Alice Munro)

My Sassy BookVirus ตอน 17: The Beggar Maid (แต่งโดย Alice Munro)

จะมีสักกี่เรื่องที่อ่านแล้ว heartbreaking นึกออกได้ตอนนี้ก็เรื่อง The Kiss ของ Anton Chekhov แล้วก็นิยาย 2 เรื่องของ Brian Morton เรื่อง A Window Across the River กับ Starting out in the Evening (อ้อ แล้วก็เรื่อง A Ghost at Noon ของ Alberto Moravia ที่โคตรเศร้า) เรียกได้ว่า Alice Munro นี่เข้าถึงใจด้านลึกของคนจริง ๆ ทั้งหญิงชาย (โดยเฉพาะผู้หญิง)

Alice Munro เธอแต่งเรื่องผู้หญิงได้ลึกทุกเพศวัย เด็ก เด็กสาว สาวรุ่น สาวใหญ่ หญิงสูงอายุ ว่า Joyce Carol Oates ละเมียดลึกซึ้งแล้ว แต่ อลิซ มุนโร ละเมียดในแบบสมจริง ไม่ตกแต่งสีสัน เหมือนดูหนังฝรั่งเศสของ Claude Sautet หรือ Maurice Pialat ที่เชือดเฉือนหัวใจได้ถึงเนื้อ ต้องกลืนน้ำลายเอื้อก ๆ ด้วยความคุ้น ๆ

คือ Alice Munro เธอเอาใจใส่ตัวละคร เพราะความจริงอาจโหดร้าย แต่ที่จริงเธอก็เห็นใจตัวละคร (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับเอาอกเอาใจตัวละคร) Joyce Carol Oates นั้นดูจะถนัดด้านปมสาววัยรุ่นที่เกี่ยวกับ sex อันตราย แล้วชอบโยงไปหาบรรยากาศอาชญากรรม บางทีก็ไปโน่น Gothic Horror ไปเลย แต่ อลิซ มุนโร ไม่ยักมีกลิ่นนั้น เธอโยงเข้าหาความจริงเรียบง่ายของชาวบ้านที่มีปัญหาชีวิตทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคนที่อยู่ในชนบทมาจากเมืองเล็ก ๆ ในแคนาดา หรือก้าวมาจากชนบทมาอยู่เมือง

เรื่อง The Beggar Maid นี่ดูจะพิเศษกว่าเรื่องอื่น ๆ (เพิ่งมารู้ตอนหลังที่อ่านจบนี่แหละว่ามันมีส่วนขยายที่มาของ Rose ตัวละครเอกด้วยในเล่มที่ชื่อ The Beggar Maid: Stories of Flo and Rose แต่เฉพาะใน Beggar นี่จะเป็นชีวิตช่วงที่สาว Rose เข้ามาทำงานในเมืองแล้วเจอหนุ่มฐานะดีชื่อ Patrick ฐานะของทั้งคู่ต่างกันมาก แต่เมื่อแรกพบในห้องสมุด ดูเหมือนว่า แพทริค จะมองเห็น โรส เป็นสาวในอุดมคติที่ไม่ใช่คนจริง ๆ เป็นเหมือนสาวในภาพ The Beggar Maid ตามตำนานโบราณ แล้วก็คอยเฝ้าเอาอกเอาใจเธอ จนทั้ง Rose และตัวใคร ๆ มองว่าเป็นชายหนุ่มใจอ่อนโยนน่าสงสาร จนมองไม่เห็นว่า แพททริคก็มีดาร์คไซด์และถูกกดดันจากอิทธิพลของครอบครัวตัวเอง ซึ่ง โรส เข้ากันไม่ได้เลย

ขนาด โรส เธอรู้ตัวว่าไม่ควรจะเออออห่อหมกเล่นด้วย เพราะเธอนิสัยแตกต่างกันมาก และไม่ใช่คนแบบที่ แพรทริค จะชอบจริง ๆ แต่เธอก็ปล่อยใจไปเป็นอุดมคติของภาพสาวที่ว่านั่นเข้าจนได้ อาจเป็นได้ด้วยความอ่อนแอ ความชอบการถูกดูแลทะนุถนอม ลึก ๆ ก็พอใจในการเป็น image ของ beggar maid หรือการต้องการยกระดับฐานะ การแคร์สายตาของเพื่อนฝูงคนรู้จัก ทำให้ดันทุรังอยู่ด้วยกันจนชีวิตคู่ของคนทั้งสองต้องมีปัญหากันไม่จบ
อลิซ มุนโร บรรยายความจริงที่น่ากลัวนั้นได้จริงจนน่าขนลุก ทำให้คนอ่านที่มีคู่แล้วหลายคนคงสะอึก โชคดีที่ข้าพเจ้าไม่คิดอยากหาห่วงผูกคอในตอนนี้เลยโล่งอกไป
ถ้าไม่งั้นต้องมาเจอตอนจบ ที่ความเกรี้ยวกราดอัปลักษณ์ของความรักกลายพันธุ์ที่ทนทุกข์มา ต้องกลายเป็นความชังพิกลพิการเข้าเส้นมันคงสุดทานทนเป็นแน่แท้ นั่นล่ะนรกแท้ ๆ เชียว นี่ล่ะที่ทำให้ขนาดอ่านไปตั้งแต่ปีที่แล้วยังลืมไม่ลง นั่งสยองถึงตอนนี้

9.7.52

My Sassy BookVirus ตอน 16: เงาฝันของผีเสื้อ (แต่งโดย เอื้อ อัญชลี)

My Sassy BookVirus ตอน 16: เงาฝันของผีเสื้อ ของ เอื้อ อัญชลี

อ่านเล่มนี้แล้วทำให้อดคิดไม่ได้ว่าห่างจากการแตะนิยายจีนมานานกว่า 20 ปี แทบลืมไปแล้วกับอารมณ์อ่านได้อ่านดี 10 เล่มจบภายในสองสามคืน มาคราวนี้ชื่อตัวละครจีนที่เคยจำได้ง่ายกลายเป็นยากเข็ญ อ่านไปพลางต้องเปิดเช็คดูชื่อพลาง พลางทอดถอนใจ โอ้ ชะตานี่หนอ ไหงเรามานั่งอ่านสามก๊ก นี่ตอนดูหนังสามก๊กฉบับอาหลิว ดูจนจบยังจำชื่อไม่ค่อยได้ แต่คราวนี้แตกฉานแน่แท้เรา

อีกอย่างที่ไม่คุ้นมานานมากคือ วลีเปรียบเปรยโบราณ เมื่อก่อนเคยนั่งจดสำนวนนิยายจีนกำลังภายในพวกนี้ลงสมุด แต่พอไปอ่านนิยายฝรั่ง ดูหนังอาร์ทที่ละเลียดกับตัวละคร ทำให้ไม่ชินลิ้นกับการตวัดแปรงพู่กันฉวับเดียวแบบนี้อีก มันต่างกันเหมือนอย่างหนึ่งเป็นการทำ “ใน-ออกนอก” แต่อีกอย่างเป็น “นอก-เข้าใน” ยิ่งนิยาย “เงาฝันของผีเสื้อ” นี่มันเป็นนิยายที่เด่นในเชิงโครงสร้างมากกว่าพวกหนังยุโรปหลายเรื่อง ที่เน้นเรื่องง่าย ๆ พื้น ๆ ชนิดซึมซับละเมียดตามตับไตไส้พุงตัวละคร

แต่พออ่านไปนาน ๆ ก็คุ้นชิน ที่น่าประทับใจมากคือ ตอนที่ จูหยวนจาง สำรอกอาหารที่กินเพราะนึกถึงหน้าตาดูแคลนของ หลอกว้านจง (ซึ่งกลายร่างจากพี่น้องร่วมสาบานกลายเป็นยืนคนละฟากฝั่งเพียงชั่วไม่กี่นาที) กับตอนที่ หลอกว้านจง ช็อคเรื่องข่าวร้ายของพี่ชายร่วมสาบานสองคน หรือตอนที่ หม่าหลง เสียเชิงกลยุทธ แล้วเดินจากไปอย่างคนหมดอาลัยตายอยาก ก็บรรยายได้ดีมากถึงอารมณ์

นิยายเรื่องนี้มันไม่ใช่แค่ตำนานกำเนิดสามก๊กนี่หว่า นี่มันแทบจะเป็นตำนานชาติจีนเลยนี่นะ แค่นั้นไม่พอยังรวบเอามาถึงไทยอีกด้วย เอื้อ อัญชลี แกเล่นโยงประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์สามก๊ก มาถึงตำนานอพยพชนชาติจีนให้อยู่ในเล่มหนาเกือบ 400 หน้า ที่อ่านเพลิน เผลอแผลบเดียว เดินหน้าเร็วปานสายฟ้ารุ่นเยาว์ หลายทีเลยแหละที่ อ้าว อะไรฟะ ภายในประโยคเดียว ตีทัพได้แล้ว ไปกันมาไง อ่านกันมาเป็นร้อย ๆ หน้า ผ่านไปอีกสองประโยค อ้าวตายเสียแล้ว

ตกลง หลอกว้างจง กับพรรคพวก นี่โม้เกือบหมดเลยใช่มั้ย เอื้อ อัญชลี เธอโม้ได้ใจจริง ๆ ตั้งแต่อ่านนิยายโม้ประวัติศาสตร์หนังจริง-ลวงเรื่อง Flicker ของ Theodore Roszak มาเนิ่นนาน ก็มีเรื่องนี้แหละที่แหลจนได้เรื่อง อย่างนี้ต้องซูฮกสถานเดียวครับท่าน

3.7.52

My Sassy BookVirus ตอน 16: Sloth (แต่งโดย Gilbert Hernandez)

My Sassy BookVirus ตอน 16: Sloth (แต่งโดย Gilbert Hernandez)

สุ่มซื้อ Sloth กับ Speak of the Devil โดย Gilbert Hernandez มาพร้อมกันเมื่อตอนปีที่แล้วตอนที่มันยังไม่ลดราคา เล่มหลังเลือกซื้อผิดอย่างมหันต์ แต่เล่มแรกนี่ฟลุ้คแท้ได้ทอง เป็นการ์ตูนที่ประหลาดดีมากไม่เคยเห็นการ์ตูนแบบนี้มาก่อน เล่าเรื่องได้ประหลาดยังกับดูหนังอาร์ต เสียดายเทคนิคการวาดหยาบกระด้างไปหน่อย

หนุ่มน้อย Miguel Serra เบื่อสภาพของตัวเองเสียเต็มประดา จนกระทั่งสามารถกำหนดให้ตัวเองกลายเป็นเจ้าชายนิทราหนีหายไปจากโลกความจริงได้ ช่วงที่เขาอยู่ในโคม่า เขายังรับรู้ได้ถึงสิ่งที่ตายาย หมอ หรือคนรอบข้างคุยกับเขา เพียงแต่เขาสุขใจที่ได้อยู่ในโลกเร้นลับเดียวดายเช่นนั้น

ผ่านไปปีนึงเต็ม ๆ Miguel สะดุ้งตื่นขึ้นจากโลกนิทราด้วยเสียงขลุกขลักบนหลังคา ภาพแรกหลังจากลืมตาคือภาพของมะนาวนับแสนที่ตกร่วงจากฟากฟ้า

ตายายพาเขากลับไปบ้าน หลานรักได้รับความดูแลเอาใจใส่อย่างดีเหมือนเดิม ต่างจากตัวพ่อแม่ของ Miguel ที่ขาดความรับผิดชอบทิ้งลูก ซึ่งตายายยังพร่ำบ่นถึงทุกวันนี้

Miguel กลับไปมีชีวิตเป็นปกติกับแฟนสาว-Lita และเพื่อนซี้ - Romano ซึ่งทั้งหมดเป็นสมาชิกของวงดนตรีสมัครเล่นในเมืองเล็ก ๆ แห่งนั้น Miguel เกือบเป็นปกติทุกอย่าง ยกเว้นการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้าแบบ Sloth (ชื่อเรื่อง)
จากนั้นก็มีตัวละครแปลก ๆ มากมายอย่างครูสาวใหญ่โรคประสาทของ Miguel เพื่อน ๆ ในเมืองที่เดี๋ยวดูเป็นอันธพาล เดี๋ยวดูเป็นมิตร แล้วก็มีกิจกรรมไปตามล่าพิสูจน์ตำนานผีในสวนมะนาวที่ลือลั่นของถิ่นนั้น



เรื่องมันชักประหลาดหนักเมื่อหลังจากไปพิสูจน์ผีเสร็จ Miguel กลับบ้านนอนแล้วมีทีท่าจะจิตหลุดกลับไปโคม่าอีก พอเช้ามากลับกลายเป็นว่าเขากลายมาเป็น Lita ที่ใช้ชีวิตกับตายายในบ้านหลังเดิม แล้วเธอกับกลุ่มสหายชายล้วนก็เป็นสาวกร็อคเกอร์หนุ่ม –Romeo X วัน ๆ ได้แต่เฝ้าฝันหาตั๋วคอนเสิร์ต ถึงขั้นอาจจะยอมทุกวิถีทางเพื่อทอดสะพานตัวเองกับเจ้านายบริษัทให้ได้ตั๋ว ที่พิลึกคือ เธอแอบชอบ Miguel อยู่ แต่เขาไม่เคยสนใจเธอเลย

พอ Miguel กับ Lita ได้เป็นแฟนกันจริง ๆ Romeo X ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของแพ็คสามนี้ไปแล้ว Lita คบหาพร้อมกันกับสองหนุ่ม Miguel คนที่เธอเคยเฝ้าฝันหา กับ Romeo X ที่ตัวจริงเป็นหนุ่มขี้อาย จนกระทั่งรักสามเศร้าเริ่มอับเฉา แล้วโลกของ Lita ก็เริ่มปริแตกแบบเดียวกับโลกของ Miguel ก่อนหน้านี้ แถมยังไปเชื่อมกันแบบประหลาดกับ Romano เพื่อนซี้

ใครว่าหนัง สัตว์ประหลาด! ของเจ้ย งงเต้ก น่าจะลองเรื่องนี้ มีการแบ่งภาคที่น่าทึ่งพอกัน ดูคลุมเครือพอประมาณ แต่พอจบแล้วคิดว่าเชื่อมโยงความฝันกับความจริงได้ดีมาก หายากมาก ๆ งานศิลปะระดับนี้

1.7.52

My Sassy BookVirus ตอน 15: Last Evenings on Earth (by Roberto Bolaño)

Last Evenings on Earth
แต่งโดย Roberto Bolaño

Roberto Bolaño มาแรงเหลือเกินในช่วงนี้ เห็นที่คิโนะสั่งมาขายตั้งหลายเรื่อง ทั้งเล่มเล็กเล่มใหญ่อย่าง The Savage Detectives และ 2466 เราก็เลยบ้าซื้อตามมาหลายเล่ม ที่อ่านไปจริง ๆ ก็เล่มรวมเรื่องสั้น Last Evenings on Earth อันนี้ อ่านไป 5 เรื่องตอนเมษา ที่จดจำได้จริง ๆ ก็คือเรื่องที่ขึ้นปกนี่แหละ


หมอนี่เป็นนักเขียนชาวชิลีที่ไปปักหลักในเม็กซิโก แล้วก็เดินทางไปยุโรป ดูแกจะมีความรู้ทางวรรณกรรมลาตินอเมริกันและวรรณกรรมยุโรปพอตัวทีเดียว ในเรื่อง Last Evenings นี่ก็ให้ตัวลูกชายอ่านบทกวีเซอร์เรียลลิสต์ฝรั่งเศสด้วย ลำพังโครงเรื่องก็คงประมาณ Road Movie ที่เก็บความพิพักพิพ่วนของคนต่างวัยคือสองพ่อลูก คนวัย 22 กับคนวัย 49 ที่อุปนิสัยต่างกันมาก พ่อมีทัศนคติแบบแมน ๆ ที่ลุย ๆ ท่องเที่ยวแสวงหาความสุข อยากหลีสาว ส่วนเจ้าลูกชาย ในเรื่องใช้ชื่อ B. กลับต่างกับพ่อมาก ช่างคิดช่างฝัน ไม่ยอมไปเที่ยวผู้หญิงอย่างพ่อ ชอบนั่ง ๆ นอน ๆ อ่านหนังสือ ว่ายน้ำ ไม่เร่งร้อนต้องเที่ยวเป็นเที่ยวแบบพ่อ

B ติดอกติดใจในประวัติชีวิตน่าเศร้าของกวีฝรั่งเศสคนที่ชื่อ Gui Rosey กวีหน้าตาอัปลักษณ์ที่หายตัวไปลึกลับ ระหว่างกำลังรอขอวีซ่าไปอเมริกากับเพื่อน ๆ

การเล่าเรื่องจะว่าธรรมดาก็ธรรมดา จะว่าประหลาดก็ประหลาด คงเป็นเพราะสไตล์หมอนี่เขียนแบบไม่มีเครื่องหมายคำพูด แค่มีว่าคำพูดลอยมา ตามด้วยใครพูด พ่อพูด ลูกพูด เล่าเรื่องไปแบบช้า ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นช้า ๆ มันก็เหมือนไอร้อน ความนัยที่สองคนเก็บไว้ไม่พูดออกมาค่อย ๆ ระอุขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้รู้สึกว่าเรื่องมันน่าตื่นเต้นระทึกใจแบบประหลาด ๆ เหมือนกับกำลังจะฉิบหายแล้วโว้ย จะเอาเรื่องแล้วว่ะ แต่ก็ยื้อไว้ให้ค้างคาอย่างได้จังหวะ ประมาณอารมณ์ลอย ๆ แบบ ambient music แบบหนัง Claire Denis ยุคหลัง ๆ มั้ง (หรือหนัง Olivier Assayas บางเรื่องก็ว่าได้)

ที่เด็ดสุดนี่ประโยคสุดท้าย เป็นประโยคที่ง่ายสั้น และเก๋าที่สุดในการจบเรื่องแบบที่ยากจะเห็นบ่อย ๆ มันเหมือนกับเพลงเก้าอี้ดนตรีที่วนลูปอลเวงแบบหนัง Emir Kusturica กำลังจะจบลงแล้ว ตะหงิด ๆ ว่า เพลงจบเมื่อไหร่ เอาวะ ถ้าจบนะ เก้าอี้ล้มระเนระนาด ความอลเวงสนั่นเมืองแหง ๆ แล้วมันก็คงจะเป็นอย่างงั้นจริง ๆ เพียงแต่เราต้องคิดต่อไปเอง ฮ้าไฮ้ โคตระโป้ง ๆ ชึ่ง