28.10.53

My Sassy Book ตอน 20: เรื่องสั้นจีน I Love Dollars

เผ็ด ร้อน แสบ เศร้า ซึม

I Love Dollars เรื่องสั้นขนาด 40 กว่าหน้าของนักเขียนจีนแผ่นดินใหญ่ Zhu Wen

ซื้อมาเพราะเห็นลดราคาถูก ๆ เนื้อเรื่องก็ไม่น่าจะชอบได้ พวกที่ออกแนว comedy หรือ satire หน่อย ๆ แต่แค่อ่านสามประโยค ทนไม่ไหว รีบอ่าน จนจบแทบไม่ทัน 

เรื่องนี้เราน่าเอามาแปล คนไทยน่าจะอ่านเพลิน สนุก มันให้อารมณ์ร่วมสมัยดี ฉบับแปลภาษาอังกฤษของเพนกวิน ปี 2007 แต่อ่านตอนนี้ก็ไม่เชย เรื่องมันนิดเดียว แต่ใช้ภาษาได้เปรี้ยวแทงถึงใจ

คนแต่งกลายไปเป็นผู้กำกับหนังเสียแล้ว หนึ่งในผู้กำกับจีนรุ่นที่ 6 รุ่นเดียวกับ เจี่ยจางเคอะ ในเรื่องมีฉากตัวละครไปดูหนังน้ำเน่าที่เขียนบทโดยคนชื่อเดียวกับคนแต่ง บรรยายได้แจ่มจริง

เขียนไว้ที่ - นิมิตวิกาล - http://twilightvirus.blogspot.com/2010/10/thomas-mao-zhu-wen.html

โปรแกรมภาพยนตร์ ‘ประพันธกรต้องตาย!’ และบล็อก "อ่านเอาตาย"


โปรแกรมภาพยนตร์ ‘ประพันธกรต้องตาย!’ “Death of the Authors”

http://twilightvirus.blogspot.com/2010/10/death-of-authors.html

บล็อกของนักอ่าน "อ่านเอาตาย" - http://thedeadreader.com/

20.10.53

My Sassy Book ตอน 19: A Fair Maiden

Joyce Carol Oates ความเข้มของนักเขียนเก่าแก่ลายครามคือไม่ต้องกลัวว่าต้องทำตัวให้เท่หรือดูนำสมัย แปลกใหม่อยู่เสมอ เธอคงยังชอบเขียนเรื่องของแรงดึงดูดระหว่างหญิงสาวและผู้ชายอยู่เหมือนเดิม คราวนี้บทผู้ชายหนุ่มลดรูปไปเป็นรอง กลายเป็นหญิงสาวกับคนแก่ที่มาเป็นบทนำ เนื้อเรื่องเธอก็ธรรมดาแบบที่ใครก็ต้องบอกคาดเดาได้ไม่กี่อย่าง แต่โครงสร้างของเรื่อง รายละเอียดของตัวละคร และภาษาของเธอโคตรชัวร์ บางอย่างประโยคบอกเล่าที่เหมือนธรรมดา บ่อยครั้งที่อ้างอิงถึงลักษณะแบบเทพนิยาย หรือโคลงกลอนโบราณ (ตามชื่อเรื่อง) มันทำให้คนอ่านแคร์กับตัวละครพวกนี้จริง ๆ เรารู้สึกเข้าใจผู้หญิงคนนี้มากพอ กระทั่งกับการตัดสินใจบื้อ ๆ ของนางเอก คนแต่งสามารถทำให้ตัวละครเด็กสาวที่มีเสน่ห์ แต่ยากจน จำต้องทำสิ่งที่ไม่ต้องการนั้นไม่ออกมาดูเป็นเรื่องที่ไม่มีที่มาที่ไป 

หนังสืออะไร

เมื่อวานสลับสับสนไปมาระหว่างทำหนังสือแบบ รับผิดชอบคนเดียว กับ มีเพื่อนช่วย ตกลงเราทำเองไม่มีคนช่วยแล้วใช่ไหมเนี่ย คิดไม่ถึงว่าพอมาถึงจุดนี้หนังสือที่อยากทำกว่า 20 ปี พอใกล้เคียงความจริง สัญญาลิขสิทธิ์มาถึงมือเตรียมเซ็นแล้ว กลับมีแต่ปัญหาที่คาดไม่ถึง ยังไม่ต้องคิดอีกว่าจะเอาเงินที่ไหนจ่าย ค่าอะไรก็แล้วแต่ ทำไปเพื่อใคร ทำทำไม ในเมื่อรู้ยอดขาย ขาดทุนแน่ งงตัวเองว่าพอมาใกล้ความจริง ความอยากทำมันลดฮวบลงไปได้ ทำไมเราต้องรับมือกับคนอ่านที่ไม่มีวันยินดียินร้าย ชีวิตน่าหดหู่ ถ้ามีเงิน เราน่าเอาไปแทงหวย หรือทำมาหากินอื่น ในเมื่อเงินสัก 30 บาท 50 บาท หรือค่าไปรษณีย์ ยังต้องเขียมมากตอนนี้ แบบนี้ La Maladie de la Mort (Malady of Death) ของ มาร์เกอริต ดูราส อาจจะกลายเป็นเราเสียเองที่ต้องตาย

ตอนนี้ทำต้นฉบับ Borges แทบไม่ไหว เพลียเหลือเกิน

19.10.53

มาหั่นคุณครูกันเถอะ

ครูตายแล้ว เธอถูกเด็กนักเรียนหญิงหั่นและจัดการกับซากศพแบบเดียวกับพวกกินเนื้อคน

ครูผู้นี้เป็นกวีผู้อ่อนไหวและอารมณ์โรแมนติกยิ่งนัก เธอเริ่มเขียนบทกวีเมื่ออายุยี่สิบ และบัดนี้อาชีพของเธอก็จบลงในวัยสามสิบห้าปี

พวกเขากำลังมาตรวจดูสถานที่ฆาตกรรม นักเรียนทุกคนถูกตั้งข้อสันนิษฐานว่ามีส่วนร่วม พวกเขาซักหัวหน้าชั้น
“เอาล่ะ เล่าให้ฟังตั้งแต่เริ่มซิ….”
เด็กหญิงผู้ออ่อนเยาว์กับใบหน้าที่ปราศจากความรู้สึกใด ๆ คว้าเท้าข้างหนึ่งไว้และเปล่งเสียงเย้ยหยัน
“นี่ไง”
“นั่นมันหมายความว่ายังไง เธอทำอะไรกับเท้าของเธออยู่ เข้าเรื่องเสียทีสิ”

“หนูหมายความว่า หนูเริ่มที่เท้าของครูค่ะ หนูถอดถุงเท้าแล้วกัดที่ส้นเท้าของครู”
“นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะ.....”

ผู้อำนวยการโรงเรียนตะลึงงัน เพราะแท้จริง สิ่งที่เหลือไว้ล้วนเป็นกระดูกที่ถูกแทะ กับข้อความบนซากอันน่าสะพรึงกลัววว่า “บทเรียนกายวิภาค”

บทกวีบทหนึ่งของครูผู้ถูกสังหารร่ายไว้ดังนี้

โอ้ เยาว์วัยผู้หวานชื่น
สิ่งหวังที่ทุ่มเทอย่างสิ้นหวังของฉัน

(บางส่วนจาก ความตายและการกลายร่างของครูคนหนึ่ง – มาเรีย โซลารี แต่ง - ลำน้ำ แปล)

18.10.53

A Country Doctor - หนังสั้นอนิเมชั่นญี่ปุ่นจากเรื่องสั้นของ Franz Kafka

ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ Franz Kafka 
A Country Doctor - หนังสั้นอนิเมชั่นญี่ปุ่นจาก Koji Yamamura Animation (2007)

ตัดตอนจาก “หมอชนบท” ของ Franz Kafka แปลโดย แดง ชารี

“ไม่” โรส กรีดเสียงขณะเผ่นเข้าไปในบ้าน พร้อมกับความสังหรณ์ใจที่ว่าโชคชะตาของหล่อนมันหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว ผมได้ยินโซ่ประตูลั่นกราวขณะหล่อนลงกลอน ผมได้ยินลูกกุญแจหมุนในรู ยิ่งกว่านั้น ผมยังเห็นอาการที่หล่อนดับไฟในห้องโถง และช่องบันไดทั่วทุกห้อง เพื่อทำให้หล่อนไม่ถูกค้นพบ

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ K = Kafka ในหนังสือ Bookvirus 01 – หนังวรรณกรรม)

Antonio Tabucchi หนึ่งในตัวเก็งรางวัล Nobel วรรณกรรม 2010


เคยจะแปลเรื่องสั้นเขาลง Bookvirus ด้วยเหมือนกัน

จากบทสัมภาษณ์ Antonio Tabucchi หนึ่งในตัวเก็งรางวัล Nobel วรรณกรรม 2010 ปีเดียวกับ Haruki Murakami

“ผมมักสนใจคนที่ทุกข์ทรมานและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ยิ่งมีข้อสงสัยมากก็ยิ่งดี คนที่เต็มไปด้วยความสงสัย บางครั้งจะพบว่าชีวิตกดดันและเหนื่อยล้ากว่าคนอื่น แต่พวกเขาก็มีชีวิตชีวากว่า พวกเขาไม่ใช่หุ่นยนต์ ผมชอบการนอนไม่หลับมากกว่าชอบยาชา ผมไม่สนใจคนที่มีชีวิตสมบูรณ์และเป็นสุข ในนิยายของผม ผมไม่ได้อยู่ฝ่ายที่มีอำนาจ ทว่าอยู่ฝ่ายคนที่เดือดร้อน นิยายเรื่องแรกของผมชื่อ Piazza d’ Italia นั้น ผมพยายามจะเขียนประวัติศาสตร์ที่ยังไม่มีการจารึกไว้ อันได้แก่ ประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยฝ่ายแพ้ ซึ่งในที่นี้คือ พวกอนาธิปไตยชาวทัสคาน หนังสือของผมเขียนเกี่ยวกับผู้แพ้ เกี่ยวกับประชาชนที่หลงทางและวุ่นอยู่กับการค้นหา


หน้าที่ของผมคือรบกวนผู้คนด้วยการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความสงสัย การรู้จักสงสัยนั้นสำคัญมากสำหรับมนุษย์ ถ้าเราไม่มีความสงสัยเลยก็จบเห่กัน! ตัวอย่างเช่นปัญญาชนย่อมตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักศาสนาที่ไม่ยอมรับข้อสงสัย เกี่ยวกับระบบการเมืองที่ใช้โดยไม่อนุญาตให้มีข้อสงสัย

ความสงสัยเปรียบเหมือนรอยเปื้อนบนเลื้อเชิ๊ต ผมชอบเสื้อเชิ๊ตที่มีรอยเปื้อน เพราะเวาลาได้เสื้อที่สะอาดเกินไปคือขาวเอี่ยมอ่อง ผมก็เริ่มสงสัยทันที มันเป็นงานของปัญญาชนและนักเขียนที่จะสงสัยความสมบูรณ์แบบ ความสมบูรณ์แบบเป็นที่มาของลัทธินักเผด็จการและแนวคิดแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ”

จาก ยูเนสโก คูริเย, บทสัมภาษณ์ Antonio Tabucchi แปลโดย เกษศิริ ยุวะหงษ์

15.10.53

เรื่องสั้นของ Mario Vargas Llosa

บางส่วนจากเรื่องสั้นของ Mario Vargas Llosa เจ้าของ Nobel สาขาวรรณกรรม 2010 
แปลโดย อามันดา

เมื่อมองจากข้างในร้านย้อนแสงออกไป เขาดูเหมือนเด็กรูปร่างบอบบางอ้อนแอ้นอย่างกับเป็นผู้หญิงไม่มีผิด พอเขาได้ยินเสียงผมเดินเข้าไปหา เขาก็หันขวับมามันที ทำให้เห็นแผลเป็นที่ใบหน้าอีกข้างหนึ่งของเขา มันเหมือนเป็นรอยฟกช้ำเป็นปื้นตั้งแต่มุมปากไปจนถึงหน้าผาก (มีคนบอกว่ามันเกิดจาการชกต่อยกันตอนที่เขาเป็นเด็ก แต่ ลิโอนิตัส ยืนยันว่ามันเป็นมาแต่กำเนิด ตอนที่เขากำลังจะคลอดออกมานั้นเกิดน้ำป่าไหลหลาก แม่ของเขาตกใจ เมื่อเห็นกระแสน้ำไหลทะลักเข้ามาทางประตูบ้าน จึงเกิดแผลเป็นที่ใบหน้าของเขา)

(อ่านประวัติของ Mario Vargas Llosa ได้ในหนังสือ Bookvirus 01- หนังวรรณกรรม)

8.10.53

Nobel Prize 2010 สาขาวรรณกรรม

Keenu Reeves (Speed, A Scanner Darkly), Barbara Hershey (The Entity, Portrait of a Lady), Peter Falk (สารวัตร Columbo, Wings of Desire) 3 ดาราดังจากหนัง Tune in Tomorrow (ชื่อไทยว่า – สื่อรักจุ้น จูนหัวใจให้ลงเอย) ที่สร้างจากนิยายดังเรื่อง Aunt Julia and the Scriptwriter ของ Mario Vargas Llosa นักเขียนเปรูที่ชนะรางวัลNobel Prize ปีล่าสุด

(รายละเอียดเกี่ยวกับ Mario Vargas Llosa จาก Bookvirus 01 หนังวรรณกรรม)


Krzysztof Kieslowski ผู้กำกับ Blue, White, Red เคยกล่าวชื่นชมหนังสือเรื่อง Conversation in the Cathedral ของนักเขียนโนเบลคนนี้ไว้เลิศลอย และเขายังเคยมาเมืองไทยอย่างน้อยสองครั้ง และเคยเป็นแขกรับเชิญของ คุณ สุข สูงสว่าง เจ้าของร้านหนังสือดวงกมล และมาเคยในงานซีไรต์ปีเดียวกับที่ ปราบดา หยุ่น ได้รับรางวัล

กล้อง ฟูจิ ไร้กระจก - Fujifilm FinePix X100

กล้อง ฟูจิ ไร้กระจกตัวแรก (สไตล์กล้องเก่าคลาสสิก) - Fujifilm FinePix X100
พวก Nikon, Canon มันมัวแต่ช้า แต่ฟูจิทำสิ่งที่คนอื่นไม่มี แต่ควรจะทำมานานแล้ว 

ข้อดี 1 . ฟูจิ มีปรับแมนวล ลูกบิดชัตเตอร์ และรูรับแสง แบบหมุนปรับเองบนกระบอกเลนส์ แบบกล้อง SLR ฟิล์ม (ไม่ต้องเข้าเมนูแบบพวกกล้องดิจิตอลปัจจุบัน) 
ข้อดี 2. เลนส์ไวด์ 23 ไวแสง เอฟ 2 
ข้อดี 3. ถ่ายวีดีโอ HD ได้
ข้อดี 4. เซ็นเซอร์รับภาพแบบ APS-C ใหญ่กว่ากล้องคอมแพ็คท์ และกล้อง Micro Four Thirds พวก Olympus Ep-1, Lumix GF, GH1
ข้อดี 5. มีทั้งวิวไฟน์เดอร์ และจอแอลซีดี (มีก้านโยกเลือกเปลี่ยนฟังก์ชั่นไปมาตรงจุดที่กล้องรุ่นโบราณเป็น self-timer)

ข้อด้อย เปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ และไม่มีซูม

7.10.53

จดหมายของ แวน โก๊ะ

ช่วงนี้กลับมานึกถึงหนังสือจดหมายของ แวน โก๊ะ อีกครั้ง เสียดายที่จนแล้วจนรอดก็ทำออกมาไม่เสร็จ อุตส่าห์ตรวจต้นฉบับไปสามสี่เดือน หนักใจกับการแปลของพี่ขวดมาก แต่ตลกดีที่อีกคนที่แปลลงในปาจารยสารก็แปลผิดบางจุดในที่เดียวกัน ถ้าทำออกมาเป็นหนังสือปกแข็งจริงอย่างที่พี่ขวดว่าคงดีมาก เสียดายโอกาส เสียดายความตั้งใจ แต่ก็นะถ้าทำเสร็จจริงต้องเหนื่อยมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าเอาเข้าจริงสำนักพิมพ์จะถอยหลังเอาดื้อ ๆ หรือเปล่า ขนาดของมูลนิธิเด็ก ป่านนี้ก็ยังไม่เห็นออกมา

เรื่องการทำหนังสือแปลโดยเฉพาะด้านวรรณกรรม bookvirus นี่มันน่าท้อจริง ๆ เอะอะคนอ่านจะอ่านแต่มูรากามิหรือไง เมื่อก่อนก็ชอบหรอก แต่ตั้งแต่เป็นแฟชั่นในเมืองไทย พี่แกเขียนวนวียนเดิม ๆ ไม่ไปไหน