6.1.54

My Sassy Book ตอน 26: ขบวนการนักสืบ Neet

Kamisama no memo chou โดย Hikaru Sujii 

นี่สินะคือไลต์โนเวล หรือ J-Light หนังสือที่วัยรุ่นเขาอ่านกัน เป็นหนังสือสมกับวัยที่ตัวเอกอายุ 15, 16 หรือไม่เกิน 20 ปี ของสำนักพิมพ์ Bliss ทำไมซื้อมาอ่านทั้งๆ ที่ แทบไม่ได้อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมานานมาก (มียกเว้นอยู่ 3-4 เล่มเองมั้ง) ที่หยิบมานั่นคงเป็นเพราะหนังสือเล่มเล็กน่ารัก เห็นเชิงอรรถที่พูดถึง เจมส์ ทิปทรี The Only Neat Thing To Do, ดอสโตเยฟสกี้, อีวาน ตูร์เจเนฟ และ มูรากามิ (คนแต่งสุงิอิ ฮิคารุ คงเป็นหนอนหนังสือที่เข้าท่าคนหนึ่ง) ด้วยพล็อตแบบวัยรุ่นญี่ปุ่นที่ไม่ต่างกันกับเรื่องอื่น ๆ นัก ประเภทวัยรุ่นแปลกแยก เนิร์ด ๆ หน่อย ๆ อัจฉริยะคอมพิวเตอร์ที่เป็นเด็กผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มกระป๋องด็อกเตอร์เป็ปเปอร์เป็นลัง ๆ ไม่ออกจากห้อง แต่เป็นนักสืบโคตรเก่ง ดุและอารมณ์ร้ายขนาดแก๊งผู้ชายอันธพาลยังกลัว บรรดาคนแปลกหน้าที่ดูอันตรายร้ายนิด ๆ ที่กลายมาเป็นเพื่อน วัยรุ่นที่เจ็บป่วยด้วยโรค ยา อาชญากรรมอันตราย ทำให้คิดสั้นฆ่าตัวตาย การมารวมตัวกันสร้างสิ่งที่มีคุณค่าต่อคนอื่น มองข้ามความเจ็บปวด เลิกเก็บตัวและหันเข้าหาแสงสว่าง 

พล็อตแบบนี้ที่เจอซ้ำ ๆ กันจนเฝือ แต่พออ่านพ้นร้อยกว่าหน้าไปแล้ว รู้สึกว่ามันมีหัวใจจริงแอบอยู่ และการบรรยายที่ดูเพ้อฟุ้งแบบเด็ก ๆ หน่อย ๆ ก็กลายเป็นยอมรับได้ ยอมรับได้ดีมากเสียด้วย จนต่อมาตอนท้ายกลายเป็นบรรยายดี นี่ถ้าอ่านตอนวัยรุ่นคงจะชอบมากมายทีเดียว แต่เท่าที่เป็นก็ถือว่าเซอร์ไพรซ์ตัวเองน่าดู

Room in Rome ในห้องรักโรมรำลึก – การเยือนตลาดโคมแดงไทยโดยยินยอมของ Julio Medem


ใครจะไปคิดว่าจะมีหนังของ Julio Medem ออกขายอย่างถูกลิขสิทธิ์ !!!

ผู้หญิงสองคนตัวเปล่าเปลือยนัวเนียกันตลอดคืนในห้องนอน พล็อตหนังที่เกิดและจบลงในครบรอบหนึ่งวัน

นี่คงใกล้เคียงกับ ฆูลิโอ เมเด็ม (คนทำหนังจากสเปนแต่ใช้ภาษาชนกลุ่มน้อย-ภาษา Basque) ทำหนังโป๊ pink film แล้วมั้งเนี่ย ขณะที่ผู้ชายคาดหวังที่จะตะโบมเรือนกายของผู้หญิง (อย่าเพิ่งยิ้มกระหยิ่มใจเร็วไป) ส่วนสาวหญิงรักหญิงก็คาดว่าจะได้ชิ้นส่วนที่ตัวเองหวังและควรจะได้ แต่นี่มันหนัง เมเด็ม ที่อาจจะลดดราม่าลง แล้วโป๊มากขึ้น (นานกว่าเดิม) แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะฮ็อตมากขึ้น (ในทางหนึ่งหนังดราม่าเรื่องก่อน ๆ อาจจะอีโรติกหรือเร่าร้อนกว่า โดยเฉพาะเรื่อง Sex and Lucia) แต่ความลุ่มหลงของ เมเด็ม ดูจะยังอยู่ครบ ทั้งเรื่องของโชคชะตาความรักที่ฟ้าดลบันดาล แต่อาจกลับตารปัตร เรื่องคู่เสมือน คนรัก / พี่น้อง (รวมทั้งการขันแข่งระหว่างพี่น้อง / คนรัก) หรือเรื่อง ชื่อผวน Natasha / Sacha เรื่องอดีต ฝัน จินตนาการที่ปนเปกับประวัติศาสตร์และจักรวาลกันไปหมด (โยงกับภาพเขียนกรีกโรมันบนผนังห้องและภาพโลกและสุริยจักรวาลในคอม ฯ) 

แต่ในด้านกลับสำหรับชายกลัดมันที่คาดว่าจะเอาแต่ฉึกฉักขัดถู อาจจะต้องลดระดับตามันวาวลง แล้วด่า เชี่ย จะถกอะไรนอกเรื่องวะ รีบชกเสียที

ชวนนึกถึงหนังของ เมเด็ม เรื่อง Tierra (Earth) เอามาก ๆ ด้ว ยิ่งช็อตที่ทิ้งคนบนพื้นไปไกลเหลือแต่รายละเอียดเป็นจุดเล็ก ๆ บนพื้นโลก และนี่ยิ่งทำให้นานวันการใช้อินเตอร์เน็ตดูเหมือนจะถูกสร้างให้เกิดมาเพื่อกลมกลืนกับหนังของ เมเด็ม โดยแท้

ยังคงเห็นดาราจากหนังเรื่องก่อน ๆ ของ เมเด็ม มาเล่นในหนังเรื่องนี้ 1 ในนั้นเป็นบทแสดงนำ

หนังเมเด็ม เรื่อง Vacas หรือ Cows เป็นเรื่องหนึ่งที่ดีมาก ๆ 

ในยุค 90 นอกจาก แล้วจะหาใครสไตล์หนังโฉบเฉี่ยวเท่า Julio Medem และ Leos Carax นั้นหายากมาก (โดยเฉพาะการเล่นภาพมุมแปลก ๆ การตัดต่อและ อีโรติก้าแผลง ๆ ของ เมเด็ม) 

ย้อนไปอ่านเกี่ยวกับ Julio Medem ได้ในหนังสือ Filmvirus 02 (2544)

5.1.54

Chantal Akerman จับมือกับ Joseph Conrad บุกเขมร

Chantal Akerman ผู้กำกับหญิงคนเก่งกลับมาทำหนังอีกครั้งหลังจาก TOMORROW WE MOVE (ปี 2003) คราวนี้จับงานดัดแปลงหนังสือเรื่อง Almayer’s Folly ของ Joseph Conrad และน่าจะปิดกล้องไปแล้วที่ประเทศกัมพูชาเมื่อปลายเดือนธันวาคม

นำแสดงโดยหนุ่ม Stanislas Merhar ที่เคยเล่นเรื่อง The Captive ให้ Akerman มาก่อน

เรื่อง The Captive พิเศษตรงที่สร้างจากอภิมหาอมตะหนังสือบ็อกเซ็ท In Search of Lost Time ของ Marcel Proust โดยเลือกมาเพียงเล่มเดียวแล้วทำเป็นหนังร่วมสมัยได้ดีมาก

ก่อนหน้านั้นหนังสืออีกเล่มของ โจเซฟ คอนราด คือ The Shadow Line ที่เกี่ยวกับประสบการณ์กะลาสีเรือของ คอนราด ในเอเชีย และบางกอก เคยทำเป็นหนังโดย Andrej Wajda ผู้กำกับคลาสสิกของโปแลนด์ที่เคยได้ออสการ์เกียรติยศไปแล้ว เรื่องนี้ถ่ายที่กรุงเทพและฝั่งธนด้วย เคยดูที่ยริติช เคาน์ซิล สยามสแควร์

(แปะตัวอย่างเรื่อง The Captive)

4.1.54

Unmade Beds หนังของ Alexis Dos Santos

น่าแปลกที่เบื่อหนัง Wong Kar Wai แต่กลับชอบหนังเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ความเป็นออริจินัลน้อยกว่า

Unmade Beds ของผู้กำกับหนุ่ม Alexis Dos Santos

ก่อนหน้านั้นเคยดูหนังชื่อเดียวกัน Unmade Beds ของ Amos Poe เรื่องนั้นมี Deborah Harry (วง Blondie / หนัง Videodrome) แสดงด้วย

เลือกดูหนังเรื่องนี้เพราะปกแท้ ๆ

1.1.54

My Sassy Book ตอน 25: Point Omega โดย Don DeLillo


“Suspense is trying to build but the silence and stillness outlive it”

ประโยคนั้น ดอน เดอลิลโล บรรยายถึงวีดีโออินสตอลเลชั่นของ Douglas Gordon ศิลปินชาวสก็อตที่นำหนัง Pycho ของ อัลเฟรด ฮิทช์ค็อค มาซูเปอร์สโลโมชั่นฉายแช่เสต็ปทีละเฟรมในแกลเลอรี่เป็น 24 hour Pycho และมันกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ เดอลิลโล เขียนนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ที่มีตัวละครหลักกันทั้งเรื่องแค่ 3 ตัว ในบ้านห่างไกลความศิวิไลซ์ ท่ามกลางเวลาที่เกือบหยุดนิ่ง หรือไร้การรับรู้และมีตัวตน พ้อยท์โอเมก้า ที่ว่านั่น

มีบางส่วนที่ชวนนึกถึงหนังของ อันโตนีโอนี่ เรื่อง L’ Avventura หรือ Zabriskie Point (อันตรธารของหญิงสาวและการแสวงหาตัวตนกลางทะเลทราย) และการบรรยายของเขาช่วงต้นเรื่องถึงวีดีโอนั่นก็ล้ำลึก น่าจะรับมือกับหนังนามธรรมหลายเรื่องได้ดีทีเดียว ในเรื่องตัวละครหนุ่มที่กะจะมาสัมภาษณ์นักวิชาการเฒ่าถึงชนบทนั้นเคยทำวีดีโอตัดภาพ เจอร์รี่ ลิววิส เป็นงานอาร์ตมาก่อน คราวนี้เขามีไอเดียทำหนังลองเทคไม่ตัดแบบ Russian Ark ของ คนรัสเซีย อเล็กซานเดอร์ โซคูรอฟ เสียดายที่เขาสุดท้ายก็ไม่ได้ทำ แต่เพราะหนังสือนำเรื่องไปสู่จุดที่นิ่งงันและลึกล้ำกว่าที่คิด