31.7.55

My Sassy Book ตอน 40: Fun Home (Alison Bechdel)

My Sassy Book 40: Fun Home (Alison Bechdel)


พ่อรักชาย

ลูกสาว (รักหญิง)


ถ้าใครได้อ่านการ์ตูน (หรือนิยายภาพ) ของ คริส แวร์, ชาร์ลส์ เบิร์นส์, เอเดรียน โตมิเนะ แล้วยังดันทุรังบอกว่าการ์ตูนพวกนี้ด้อยค่ากว่างานวรรณกรรมชั้นดี เป็นต้องขอเถียงตาย อลิสัน เบ็คเดล เธอเขียนอัตชีวประวัติปมรัก-เกลียดพ่อของเธอได้อย่างคมคายสุด ๆ เห็นเลยว่านี่คือหนึ่งในนักเขียนงานวรรณกรรมเพียงไม่กี่คนที่รู้จักไวยากรณ์ของการ์ตูนเป็นอย่างดี ง่ายงามทั้งในการทิ้งช่องว่างระหว่างภาพ การปิด-เผยในบางส่วน และการเปรียบเปรยที่คมคายสะท้อนชีวิตของเธอตั้งแต่เด็กจนโต ที่มองพ่อและแม่ด้วยสายตาต่างไปในแต่ละแบบ ความขัดแย้งของตัวเธอเองและพ่อที่ก้าวเข้าสู่การยอมรับ สำหรับเธอคือการเป็นเลสเบี้ยนโดยไม่ต้องปิดบัง และทางเดินก่อนมาถึงการเป็นนักเขียน ส่วนพ่อผู้เข้มงวดของเธอที่มีทั้งด้านสว่างและด้านมืดของการเป็นนักนิยมหนุ่มวัยกระเตาะ

ที่วิเศษมากคือ อลิสัน เบ็คเดล จับระยะความห่างเหินจับต้องไม่ได้ ความเป็นพ่อแอบตนที่มีภาพพจน์เข้มงวดสมบูรณ์นิยมเข้าหาได้ยากมาเล่าคู่ขนานกับเสี้ยวขณะของความงามที่การต่อติดของลูกสาวกับพ่อเป็นไปได้ จังหวะขณะที่พ่อกับลูกซึ่งแม้จะเห็นตรงกันข้ามแทบทุกเรื่อง ก็ยังสามารถสานติดกันในเรื่องบางเรื่องที่แม่เธอเองยังเข้าไม่ถึง นิสัยบางเรื่องที่รับมา ความสนใจในวรรณกรรมและศิลปะ หรือแม้กระทั่งความรักในเพศเดียวกันที่กลับกลายเป็นตัวที่เชื่อมพ่อกับลูกเข้าหากันได้ในทางอ้อม มุมตลกของชีวิตที่ครั้งหนึ่งสถานะพ่อกับลูกอาจสลับตำแหน่งโดยไม่คาดคิด จนเส้นแบ่งของการโตเป็นผู้ใหญ่กับเด็ก บทบาทของพ่อกับลูกได้พร่าเลือนลง ทำให้สองพ่อลูกเขยิบเข้ามาหากัน แม้เพียงชั่วขณะก็ตามที




เรียกว่าถ้าทำเป็นหนังฮอลลีวู้ดคงเปลี่ยนเป็นหนังฟีลกู้ดคัมมิ่งเอ้าท์ออฟเทอร์ริเบิ้ลเอจ แต่เรื่องนี้ซับซ้อนกว่านั้นแถมเล่นอ้างอิงของเล็กใหญ่ตั้งแต่ ครอบครัวผีอัดดัมส์, อัลแบร์ต กามูส์, เอฟ สก็อตต์ ฟิทซ์เจอร์รัลด์, เจมส์ จอยซ์ ยันจนกระทั่งถกคำว่า perdu ที่ภาษาอังกฤษแทนไม่ได้ด้วยคำว่า Lost งานมหากาพย์ของ มาร์แซล พรูสต์ (In Search of Lost Time) อ่านแล้วชวนให้นึกถึงหนังทดลองของ Su Friedrich (Sink or Swim) ที่มีปมพ่อคล้ายกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะการที่ เปิด-ปิดด้วยการที่พ่อเล่นขายันยกตัวลูกสาวกับตำนานไอคารัส และ Sink or Swim เล่นกับเรื่องสอนว่ายน้ำและคำว่าจมหรือว่าย แต่ด้วยความที่เป็นหนังสไตล์ทดลอง ซู ฟรีดริช (ที่เป็นเลสเบี้ยนเหมือนกัน) เล่าให้ติดตามยากกว่า

หมายเหตุ : ชื่อเรื่อง Fun Home ตั้งให้ขัดแย้งกับอาชีพของพ่ออลิสันที่เปิด Funeral Home ดูแลศพ และรายละเอียดของการ์ตูนทั้งเรื่องมาจากข้อมูลและภาพถ่ายของจริง โดยเฉพาะภาพถ่ายจริงของพ่อ ของครอบครัวที่อลิสัน นำมาวาดใหม่เป็นภาพการ์ตูน

My Sassy Book 39: Raymond Carver' s Collected Stories

My Sassy Book 39: Raymond Carver' s Short Stories



ถือเป็นอาชญากรรมกับนักอ่านทีเดียวบ้านเมืองไหนที่ไม่มีแปลงานของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ กับ อลิซ มันโร

คาร์เวอร์ เขียนประโยคที่เรียบง่ายมากแต่ขณะเดียวกันก็กรีดใจแปลบ มีความสันโดษแบบเศร้าสร้อยในน้ำเสียงของเขาที่เป็นเอกลักษณ์ และมีมิติของความเป็นคนอยู่ในทุกอณู โดยเฉพาะเรื่องอะไรนั่นน่ะที่มีผู้ชายเตียงหักบ้านแตกเปิดขายการาจเซลล์หน้าบ้าน แล้วมีคู่รักคู่หนึ่งมาเลือกซื้อของ เศษซากจากความรักที่ล่มสลายไปแล้วของคนรุ่นก่อน ก่อเกิดปฏิกิริยาของคนซื้อกับคนขายที่ทั้งประหลาด ทั้งสามัญในขณะเดียวกัน แลบแปลบประสิทธิภาพที่มหัศจรรย์พันลึก โมเมนท์ ชนิดที่ว่านักเขียนมืออาชีพคนอื่น ๆ ที่ว่าแน่ ๆ ได้รางวัลโน่นนี่ก็อาจมีหงายท้องตึง

My Sassy Book 38: Jean Christophe Valtat ‘s 03

My Sassy Book 38: Jean Christophe Valtat ‘s 03


เห็นหลังปกเขาอ้างอิงถึง The Catcher in the Rye ก็เพราะมีกรุ่นไอความข้องใจของวัยรุ่นที่มีต่อโลกของผู้ใหญ่ในทำนองคล้ายกัน และการที่น้ำเสียงนั้นพรั่งพรูถล่มทลายใส่คนอ่านแบบไม่ติดเบรกไม่มีวรรคนั้น ยิ่งชวนให้รู้สึกถึงความกราดเกรี้ยวมากขึ้น เรียกได้ว่าถ้า แดนอรัญ แสงทอง ในยุค “เงาสีขาว” หรือก่อนหน้านั้น เกิดอุตริแต่งหนังสือปมร้าววัยรุ่นขึ้นมาก็อาจจะได้อะไรประมาณกัน ไม่น่าเชื่อว่าเล่มแค่บาง ๆ แต่อ่านเหนื่อยน่าดู แต่ก็น่าทึ่งที่ว่าฉากแอ็คชั่นจริง ๆ ที่เล่าก็อยู่ที่เด็กผู้ชายแอบมาดักรอเด็กสาวที่ป้ายรถเมล์ก่อนไปโรงเรียน แต่ว่าการบรรยายนั้นรวมศูนย์ทุกฉากและอย่างของความข้องใจโลกอุปโลกน์ของผู้ใหญ่ที่เกิดหน้านั้น กับเหตุการณ์ที่ผ่านหลังจากนั้นมาอีกนานได้อย่างวิเศษ และแน่นอนว่าคนที่เคยอ่านเรื่องของ แฮรี่ คอลฟีลด์ มาก่อนคงสัมผัสได้เลยว่า ทำไมไอ้เด็กเกรียนคนนี้ถึงได้อยากจะปกป้องและทะนุถนอมเด็กผู้หญิงคนนั้นเป็นนักหนา แม้ว่าแท้ที่จริงเธอเป็นเด็กพิเศษก็ตาม

สังเกตว่าหนังเรื่อง Boy Meets Girl ที่เอ่ยในเรื่อง น่าจะเป็นหนังขาวดำของ Leos Carax ในยุค 80 ที่สะท้อนความสิ้นไร้เรี่ยวแรงของรักวัยละอ่อนได้ดีมาก

My Sassy Book 37: Jeff Lemire’s Essex County

My Sassy Book 37: Jeff Lemire’s Essex County (Tales from The Farm)



ปูมประวัติของคนสามชั่วอายุคนที่เล่าได้อย่างงดงามเหลือหลายในรูปแบบการ์ตูน ตำนานของนักเบสบอลค้างฟ้าที่เลือกจะสลายตัวตนไปเองในเมืองชนบท ปมชีวิตของพี่น้องร่วมสกุล ชีวิตคนที่มีขณะอารมณ์ในหลายบรรทัด โมเมนท์อ้อยอิ่งของความเป็นไปที่ไม่เป็นวีรกรรมหรืออะไรสลักสำคัญกับใคร หรืออย่างไร นอกจากกับตัวเอง สุดท้ายมันก็ล่องเลือนไปเหลือเพียงความทรงจำของใครที่รอวันสลายเป็นอากาศธาตุพร้อมกับตัวคนคนนั้นนั้นแล