The New Life หนังสือต้องห้ามของ Orhan Pamuk
เห็นถกเรื่องเซ็นเซอร์ทีไร เพื่อนเราจิกขมับทุกที ทีฉายหนัง Shuji Terayama ไม่ยักกลัวคนมีสี
จู่ ๆ นิยายเรื่อง The New Life ของ Orhan Pamuk ก็แวบขึ้นมา ก็คนแต่งที่เขียนบทคารวะกันเป็นพิเศษไปใน Bookvirus เล่ม 1 (2544) น่ะแหละ หนังสือเล่มนี้มันไม่ใช่แค่เกี่ยวกับการหลงรักหนังสือเล่มที่เปลี่ยนชีวิตมากเกินไป แต่มันเกี่ยวกับ identity ของคนอ่าน เกี่ยวกับ identity ของคนทั้งชนชาติที่แอบแฝงอยู่ภายใต้เรื่องราวแนว coming of age
การอ่านหรือสนใจ art มันเป็นเหรียญ 2 ฝา มันเป็นทั้งไวรัสบวกและลบ มันถูกทำให้เสียความบริสุทธิ์ในโลกการแปลความของการทำความเข้าใจ ของอคติ ของศรัทธาจากฝ่ายอิสลามหัวอนุรักษ์และหัวสมัยใหม่ที่ทำให้เกิดรอยแยกระหว่าง “ต้องอ่าน” กับ “ต้องห้าม”
Orhan ตัวเอกของเรื่องอ่านหนังสือ The New Life แล้วทำให้อยากค้นหาโลกแบบหนังสือที่น่าจะมีอยู่จริง เขาไม่รู้ว่าการได้พบ-ได้อ่านนิยายเล่มนี้ของเขาก็ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นอุบายของหญิงสาวที่เขาแอบปิ๊งกับแฟนหนุ่ม เขาจำพลัดจับผลูออกเดินทางไปกับเธอเพื่อติดตามหาหมอนั่น เพื่อที่จะค้นพบว่าการเดินทางวนเวียนไปมาบนรถ ขสมก ทั่วประเทศทำให้เขาต้องฝืนใจเติบโตในทางที่ไม่คาดฝันมาก่อน เพราะมีคำถามมากมายเกิดขึ้นกับเขาในเรื่องรากเหง้าการเติบโตข้ามวัฒนธรรม
ตอนแรกอ่านภาษาบรรยายความรู้สึกของ Orhan แล้วรู้สึกรำคาญ แต่พอชินแล้วกลับยิ่งกลมกลืนไปกับประเด็นรอยแยกทางวัฒนธรรมเก่า-ใหม่ของตุรกี รู้สึกอินกับมันทั้งในประเด็นอันตรายของการอ่าน และรอยแผลของการเติบโตที่แฝงอยู่ตั้งแต่สิ่งแวดล้อมวัยเด็ก เช่น หนังสือการ์ตูน และลูกอมคาราเมล รู้สึกช็อคและซึมในบทสรุปของวันเวลาที่ลาลับ The New Life เป็นหนังสือที่หนุ่มสาวทุกคนน่าจะได้ลองอ่านเช่นเดียวกับ The Catcher in the Rye ของ J. D. Salinger แถมประเด็นเซ็นเซอร์หรือเหตุร้ายทางภาคใต้ก็น่าจะเหมาะมากขึ้นกับคนไทย
เคยเชียร์ให้สำนักพิมพ์ด็อกโฟร์ ที่พิมพ์ Flicker ได้พิมพ์เล่มนี้ แต่กว่าที่เขาจะได้อ่านแล้วเริ่มติดต่อลิขสิทธิ์ก็ถูกคนอื่นคาบไปแล้ว พอหลังจากที่ Orhan Pamuk ได้รางวัลโนเบลก็คิดว่าน่าจะพิมพ์ออกมา กระทั่งล่วงเลยหลายปีจนป่านนี้ก็ยังไม่เห็นเงา ถ้าเป็นสนพ. นานมีก็ไม่แปลก เจ้านี้เขาดองหมด ทั้ง Elfriede Jelinek ก็ดองจนเค็มไปแล้ว
และเพื่อยียวนสำนวนคลาสสิคของ ‘สิงห์สนามหลวง’ เกี่ยวกับความสำคัญของการเขียนจดหมาย “การเขียนจดหมายเป็นศิลปะประเภทหนึ่ง” ดังนั้นจึงต้องมี “การไม่มีฉบับแปลภาษาไทยของ The New Life ถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง (ที่ไม่น่าให้อภัย)”
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น