22.4.51

Notes from the Nasty Minds

Notes from the Nasty Minds
aka On Humanity of the Warped Mind or I Hate Your Guts or How similar / different between the 2 outstanding writers and how I end up intoxicated by them all


อ่านหนังสือเล่มนึงแล้วชวนให้นึกถึงอีกเล่มนึง The Catcher in the Rye ‘ ชั่วชีวิตของผม’ ของ เจ. ดี. ซาลิงเจอร์ มีอะไรคล้ายกันบ้างเหมือนกันกับ ‘บันทึกจากใต้ถุนสังคม’ (Notes from Underground) ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ (Fyodor Dostoyevsky) ทั้งสองเล่มมีตัวละครช่างบ่น น่ารำคาญยิ่งกว่าตัวละครในหนังของ Eric Rohmer สักร้อยล้านเท่า ไม่น่าแปลกใจว่าตั้งแต่สมัยเล่ม‘บันทึกจากใต้ถุนสังคม’ ออกใหม่ ๆ เมื่อชาติที่แล้ว (ตั้งแต่คราวปกอ่อนสัก 20 ปี แล้วมั้ง) อ่านวาง อ่านคว่ำอยู่นั่น เกือบไม่จบ แต่ก็แปลกที่ในความน่ารำคาญในหนังสือทั้งสองเล่ม รวมทั้งหนังต่าง ๆ ของ Erich Rohmer มีบางอย่างที่ดึงดูดให้ติดตามอยู่โดยตลอด

The Catcher in the Rye ‘ ชั่วชีวิตของผม’ ของ เจอโรม เดวิด ซาลิงเจอร์ มีตัวละคร โฮลเด้น คอลด์ฟีลด์ หนุ่มวัยรุ่นอายุสัก 17-18 ปีที่เป็นตัวแทนความกลัดกลุ้มปะทุฮอร์โมนเลือดร้อนของ ซาลิงเจอร์ เอง หมอนี่มันหาเรื่องบ่นไปได้ทุกเรื่อง แต่ขณะเดียวกันก็ทำตัวไม่เด็ดขาด ไม่เคยพอใจอะไรสักอย่าง ทำให้ทนอยู่กับใคร ทำอะไรไม่ได้นาน

ตัวละครไม่มีชื่อที่เป็นชายช่างบ่นวัย 40 ปีในห้องใต้ถุนของ ‘บันทึกจากใต้ถุนสังคม’ ก็ครือกัน ถึงจะยากจนมีปมต่ำต้อย แบบที่หนุ่มครอบครัวฐานะดีอย่าง โฮลเด้น คงไม่มีวันรู้จัก แต่ก็หวาดระแวง ขี้อิจฉา ขี้เหงาเหลือเกิน อยากได้เพื่อน อยากได้รับการยอมรับให้เข้าก๊วน พิลึกดีที่เขามีความหยิ่งถือดีในความรู้ของตัวเองแบบที่จำเขามาอีกทีแบบโง่ ๆ เนื้อหาในทั้งสองเล่มเต็มไปด้วย ฉากที่ตัวละครวิ่งร้องหาการยอมรับจากคนอื่น ความฝันเฟื่องฟุ้งซ่านที่ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่หนักเข้าไปอีกทุกที

ไม่น่าแปลกใจที่ตอนแรกวิธีการพร่ำบ่น ครวญคร่ำเถียงศีลธรรมในใจสไตล์ของ ดอสโตเยฟสกี้ อ่านแล้วอยากหนีห่าง (ไม่ต่างจากตัวเอกในนิยายของเขาเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะ ‘อาชญากรรมและการลงทัณฑ์’) แต่ในจุดหนึ่งเราแน่ใจได้ว่าเขาจริงใจ (คงเป็นแบบแผนของตัวละครแบบรัสเซียด้วยมั้ง เห็น ลีโอ ตอลสตอยก็พล่ามยาวพอกัน) และหน่ายใจกับความซกมกที่มีอยู่ในใจคนต่อให้กับคนที่มีสำนึกดีที่สุด

แต่ต่อให้ โฮลเด้น คอลด์ฟีลด์ จะดูเป็นเด็กเฮงซวย แต่ข้อดีก็คือ เขาก็ยังเป็นเด็ก ยังมีมุมงาม ๆ ยังมีโอกาสโต ยังมองเห็นความบริสุทธิ์ได้บ้างในตัวผู้คนหรือเพื่อนฝูง (แม้จะนานครั้ง) ซ้ำเขายังมีน้องสาวที่รักเขาอย่างจริงใจ ผู้ที่เป็นความบริสุทธิ์ที่ชัดเจนอันหนึ่งในชีวิต แล้วก็มีตอนที่เขาเล่าให้น้องสาวฟังว่าเขาอยากทำตัวเป็น Catcher in the Rye (ตามชื่อเรื่อง) คอยคว้าเด็ก ๆ ที่อาจจะเดินหลงทางตกภูเขาไป ไม่ต้องงงนานเลยว่า ทำไมตัวละครแบบนี้จึงอยู่ในใจของคนอเมริกันและคนทั่วโลกตลอดมา และตลอดไป อย่างน้อยเขาก็ยังมีทางรอด ไม่ใช่ตัวละครที่ขังตัวปิดตายแบบ ดอสโตเยฟสกี้ ใน ‘บันทึกจากใต้ถุนสังคม’

เจ. ดี. ซาลิงเจอร์ (J. D. Salinger) ในชีวิตจริงเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ยอมให้มีภาพนักเขียนบนปกหนังสือ นอกจาก The Catcher in the Rye แล้ว เล่มอื่น ๆ ที่คนรู้จักก็คงมีแต่ Nine Stories แล้วก็เล่มอะไรที่เกี่ยวกับครอบครัว Glass รวมความแล้วเขาเป็นนักเขียนที่ชิงชังมนุษย์ทีเดียวแหละ เท่าที่ได้อ่านจาก At Home in the World หนังสือบันทึกประวัติชีวิตที่หนึ่งในอดีตคนรักของเขา Joyce Maynard เขียน อ่านแล้วได้ภาพว่า ซาลิงเจอร์ เป็นคนที่เผด็จการและใจร้ายเหลือเกิน พยายามบีบบังคับให้เมีย กลายเป็นคนตัดขาดจากสังคมเหมือนกับตัวเอง แล้วคอยบ่นว่างานเขียนของเธอเป็นการทำขยะพาณิชย์

น่าเสียดายทีเดียวว่า หนังในแบบที่ เจ. ดี. ซาลิงเจอร์ / โฮลเด้น คอลด์ฟีลด์ และนักเขียนปัญญาชนส่วนใหญ่รู้จักคงไม่มีเรื่องไหนในสายตาที่ถือได้ว่าเป็นงานศิลปะ (ถ้าคำนึงถึงยุคสมัยก็ไม่น่าแปลกใจเพราะยุคนั้นมันก่อนที่จะมีอาร์ตเฮ้าส์เฟื่อง) ถึงแม้เขาจะมีเครื่องฉายหนัง 16 มม. ที่บ้านดูหนังฮอลลีวู้ดเก่า ๆ กับเมียเป็นประจำ แต่เขาก็ยังปากร้ายด่าหนังในหนังสือตัวเองตลอดทั้งเล่ม (รวมทั้งด่าคนดูหนังและพี่ชายในนิยายที่ไปเขียนบทหนังที่ฮอลลีวู้ด) แถมยืนกรานไม่ให้ใครเอา Catcher in the Ryeไปทำหนัง ขนาด อีเลีย คาซาน (Elia Kazan) แห่ง On the Waterfront ขอไปทำละครเวทีก็ไม่ให้ ความจริงมันน่าจะเป็นหนังคลาสสิคได้ทีเดียว ถ้าได้มือด้นสดระดับ John Cassavetes หรือนักทำหนังยุคดิจิตอลรุ่นหลัง อย่างใครสักคนก็ได้ที่ทำ Hannah Takes the Stairs, In Between Days, Quiet City หรือ The Puffy Chair แต่ถ้าได้ Joe Swanberg, Andrew Bujalski พี่น้อง Duplass หรือ So Yong Kim ก็ยิ่งแจ๋วใหญ่ โชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่รู้ที่คนพวกนั้นแต่งเรื่องเขียนบทเอง ไม่ง้อการดัดแปลงนิยายเป็นหนัง

เรื่องที่ชวนคิดก็คือในบั้นปลาย เจ. ดี. ซาลิงเจอร์ (ที่เข้าใจว่ายังมีชีวิตอยู่ในตอนนี้) ปลีกตัววิเวก ทำตัวเหมือนคนที่ตายแล้วมากกว่าคนที่ยังมีชีวิต ทั้ง ๆ ที่ในนิยายเขาดูเหมือนจะมองเห็นแสงสว่าง มองเห็นความหวังในโลกอยู่บ้าง ส่วน ดอสโตเยฟสกี้ คนที่อุดอู้อยู่ใน “ใต้ถุนสังคม” นั้นตัดพ้อต่อชีวิต บ่นเกลียดมนุษย์ในนิยายแทบทุกเรื่อง เขียนบ่นได้น่ารำคาญมากกว่า ซาลิงเจอร์ มากมาย แต่ ดอสโตเยฟสกี้ ในโลกความเป็นจริงกลับดูมีมนุษย์สัมพันธ์ดีมากกว่า ซาลิงเจอร์ เสียอีก ต่อให้ตัวละครใน ‘บันทึกจากใต้ถุนสังคม’ จะปิดประตูหมดทางเยียวยา แต่ในนิยายเรื่องอื่น ๆ ศรัทธาต่อเพื่อนมนุษย์ แม้กับคนที่จมอยู่ในบาปหนา ก็สามารถรักษาได้ด้วยความรักบริสุทธิ์จากตัวละครหญิง อันนี้ ดอสโตเยฟสกี้ มีผลต่อคนทำหนังอย่าง อังเดร ทาร์คอฟสกี้ (Andrey Tarkovsky) เข้าไปเต็ม ๆ ตรงจุดนี้ ไม่รู้เพราะ ดอสโตเยฟสกี้ ได้เมียคนที่มาจากการรับจ้างบันทึกต้นฉบับนิยายหรือเปล่า

ว่าถึงหนังอีกหน่อยนะ ปานิ ฝากบอก เวนเนีย ด้วยว่า คนทำหนังที่เหมาะกับการสร้างหนังจากงานบ่นจริยธรรมของ Dostoyevsky กับ Tolstoy นอกจาก Tarkovsky ก็มีแต่ Robert Bresson (4 Nights of A Dreamer ก็เป็นการทำ White Nights “คืนสีขาว” ในฉบับพัฒนาแล้ว) กับ Aki Kaurismaki แหละ ยิ่งวิธีที่ อากิ ทำ Crime and Punishment นั้นยิ่งวิเศษ ทำให้หนังไปไกลกว่าตัวนิยาย และเหมาะกับสังคมยุคไฮเทคนี้ดีขึ้น ความจริงอยากรู้ว่าถ้า Emir Kusturica ทำออกมาเป็นหนังอเมริกันแบบที่เคยฝันเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนจะเป็นยังไง เอ้อ แต่ Fred Kelemen คนที่เคยรับชวนเรามาเมืองไทย ก็เคยบอกว่ามีวิธีสร้างหนัง Crime and Punishment แบบของเขาด้วยเหมือนกัน เขาคนนี้ก็น่าจะเหมาะที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่อ่านงานของ ดอสโตเยฟสกี้ ซึ่งน่าจะยากทีเดียว เพราะหลายคนน่าจะปฏิเสธการพล่ามแบบโบราณนี้ คนทำหนังพวกนั้นแหละที่จะสามารถทำให้หนังไปได้ไกลเกิน “การทำภาพประกอบนิยาย” (Illustrated Novel) เพราะพวกนี้จะมีมุมมอง และการมองภาพแบบ “ภาพ” ที่ต้องลดทอนคำพูดให้น้อยลง จนภาพเสียงดังกว่า ทำให้หนังดูร่วมสมัย

ว่าไป ตัวละครแบบหมกมุ่นกับตัวเอง เป็นปัญญาชนขวางโลกที่เวลาต้องเผชิญหน้ากันจริงก็ไม่ได้เอาอ่าว แบบนี้ในหนังฝรั่งเศสมีเรื่องดี ๆ เยอะ ที่นึกออกก็เช่น Un Monde Sans Pitie (World without Pity) ของ Eric Rochant หรือ Escalier C ของ Jean Charles Tacchella

พออ่าน ‘บันทึกจากใต้ถุนสังคม’ ใหม่อีกรอบ ทำให้นึกได้ว่าต้องย้อนไปอ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของ มักซิม กอร์กี้ (Maxim Gorky) มีอะไรบางอย่างที่เชื่อมโยงกันได้ แต่คราวนี้ห่างกันมากจาก โฮลเด้น คอลด์ฟีลด์

4 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ตามมาอ่านครับ

โดยส่วนตัว ตอนอ่าน CATCHER (ฉบับที่ผมอ่านชื่อทุ่งฝัน)

ผมรู้สึกว่าตัวโฮลเด้น คลอฟิลด์ ทำให้ผมเอาไปเชื่อมโยงกัล เคริ์ท โคเบน ฮีโร่(ส่วนบุคคล)ของผม

รู้สึกว่า ตัวเอกในเรื่องมันบริสุทธิ์มากจนเกินหว่าที่จะทนอยู่บนโลกนี้ได้ เพราะโลกนี้มันใจร้ายมากๆ

เคยเชียนเอาไว้อตเนที่เขียนเรื่องเล่าบางเรื่องอุทิศให้ โคเบนว่า

ไม่มีคนดีๆคนไหนทนอยุ่ได้บนโลกนี้หนอก เราต้องชั่วร้ายไม่ก็กลายเป็นบ้าไปเสียก่อนจึงจะอยู่ได้

บรรดาฮี่โร่ของเราจึงขึ้นFAST CAR ของ สตีฟ แมควีนไปสวรร๕กันหมดแล้ว /FILMSICK

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ตามมาอ่านครับ

โดยส่วนตัว ตอนอ่าน CATCHER (ฉบับที่ผมอ่านชื่อทุ่งฝัน)

ผมรู้สึกว่าตัวโฮลเด้น คลอฟิลด์ ทำให้ผมเอาไปเชื่อมโยงกัล เคริ์ท โคเบน ฮีโร่(ส่วนบุคคล)ของผม

รู้สึกว่า ตัวเอกในเรื่องมันบริสุทธิ์มากจนเกินหว่าที่จะทนอยู่บนโลกนี้ได้ เพราะโลกนี้มันใจร้ายมากๆ

เคยเชียนเอาไว้อตเนที่เขียนเรื่องเล่าบางเรื่องอุทิศให้ โคเบนว่า

ไม่มีคนดีๆคนไหนทนอยุ่ได้บนโลกนี้หนอก เราต้องชั่วร้ายไม่ก็กลายเป็นบ้าไปเสียก่อนจึงจะอยู่ได้

บรรดาฮี่โร่ของเราจึงขึ้นFAST CAR ของ สตีฟ แมควีนไปสวรร๕กันหมดแล้ว /FILMSICK

filmvirus กล่าวว่า...

แต๊งค์สหลายเด้อที่ชายมาแสดงความเห็น เออ แล้วของไทยมีอันไหนที่นึกออกบ้าง เรื่อง coming of age แบบ Catcher เนี่ย หรือว่า เวลาในขวดแก้ว ได้มั้ย

FILMSICK กล่าวว่า...

นอกจากเวลาในขวดแก้ว (ซึ่งเมื่อเทียบกับ CATCHER จะเป็นcoming of age แบบหน่มแน้มไปในทันที อย่างไรก็ตามนี่คืนิยายที่มีฉากหลังเป็เหตุการณืเดือนตุลาที่ฟูมฟายนอุดมการณ์น้อยกว่าเล่มอื่น)

อีกสองเล่มที่นึกออกคือ พราวแสงรุ้ง ของวาวแพร (ที่จริงน่าจะเรียกว่าหนังสือcoming of age ของผมมากว่าเพราะอ่านตอน ป.4

ผีเสื้อและดอกไม้ ของนิพพาน (คนเดียวกัน) ก็อาจจะใช้ได้

แต่เล่มที่น่าสนใจ ในความเหี้ยมโหด ขอแนะนำ การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยี่ยวยาครับ
อ่านแล้วเย็นถึงไขสันหลังเลยทีเดียว
เสียดายผมไม่ค่อยถูกกับงานยุคหลังของ คุณ อรุณวดี อรุณมาศมากนัก/ FILMSICK