เผ่าพันธุ์ที่รักไม่เป็น
A Graphic Novel Written by Chris Ware

มีไหม การ์ตูนที่ถ่ายทอดความเป็นคนได้ครบมิติ
จริงดิ ช่องว่างระหว่างเฟรมที่ขันยอกทรวง
แล้วถ้าปรุงสไตล์พิเรนทร์ไม่เกรงใจคนอ่านเข้าไปด้วย ผลจะออกมาอีท่าไหน
แต่ก็นั่นแหละ ตราบใดที่เรื่องเหลือเชื่อยังหลงเหลือในโลก เช่น เหนือฟ้ายังมีฝน เหนือฝนยังมีสามีของฝน เหนือ “น้องฟ้า” ยังมีภราดร เหนือภราดรยังมีพ่อ-แม่ภราดร เหนือไอ้อีหัวโบราณที่ฟันธงว่าการ์ตูนมีแค่เรื่องเพ้อฝันแนวซูเปอร์ฮีโร่ ณ เมฆผงาดก้อนนั้นย่อมซ่อนการ์ตูนของ Chris Ware (คริส แวร์)
เราอาจจะเรียก Chris Ware ว่าเป็น Jean-Luc Godard แห่งวงการหนังสือการ์ตูน (นิยายภาพ) เช่นเดียวกับที่ Stockhausen หรือ Bob Dylan ปักลูกทอยแนวดนตรี หรือ James Joyce, Alain Robbe-Grillet กับ Raymond Queneau ทัดมาลาคานภาษา

จิมมี่ คอร์ริแกน เด็กไม่เอาอ่าวขาดความมั่นใจในตัวเอง ผู้ถูกเลี้ยงดูโดยแม่ที่คอยโขกสับตามจิกอยู่ทุกเช้าค่ำ แม้จนเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เช่าอพาร์ตเมนต์ส่วนตัว ทำงานไปรษณีย์ มีชีวิตจำเจแถบชานเมืองมิชิแกน คุณแม่ที่บัดนี้อยู่ในบ้านพักคนชราก็ยังคอยทวงหาความรัก และเฝ้าขู่เข็ญ จิมมี่ เหมือนเด็ก 3 ขวบ

วันหนึ่งมีจดหมายส่งมาหา จิมมี่ ในซองมีข้อความเชิญชวนจากพ่อแท้ ๆ ที่เขาไม่เคยเจอหน้า ให้มารู้จักกันสักครั้ง
เพียงเท่านี้ จิมมี่ ที่ขี้ขลาดเป็นทุนก็ตื่นกลัวหัวหด อดจินตนาการไปต่างๆ นา ๆ ไม่ได้ถึงการเผชิญหน้าที่แฝงความน่าหวาดเสียวมากกว่ายินดี
การได้รู้จักกับชายแปลกหน้าที่มีคำนำหน้านามว่า “พ่อ” สร้างความอิหลักอิเหลื่อในชีวิตของ จิมมี่ อย่างมโหฬาร และนำไปสู่การผจญภัยครั้งใหญ่ซึ่งแสนกระอักกระอ่วนเกินคาดคิด

การเผชิญหน้าครั้งใหญ่ระหว่าง จิมมี่ กับพ่อ ทำให้คนอ่านได้ย้อนอดีตไปถึงปัญหาต้นทางของตระกูล คอร์ริแกน 3 ชั่วคน คือ ตั้งแต่รุ่นทวดเมื่อสมัยร้อยกว่าปีก่อนตอนที่ชิคาโก้จัดเฉลิมฉลองงานเวิล์ดแฟร์ การที่ เจมส์ คอร์ริแกนรุ่นปู่ซึ่งตอนนั้นยังเป็นแค่เด็ก 9 ขวบ กลายเป็นเด็กกำพร้าแม่ และถูกพ่อเจ้าระเบียบทอดทิ้งให้จมอยู่กับความเงียบเหงา ขาดเพื่อนและสังคม กลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายหวาดระแวง ในขณะที่เขาหิวกระหายความรัก แต่ก็ไม่รู้วิธีแสดงออก


ภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป ร้านชำ บ้านช่องขนาดเล็ก สถานที่ประวัติศาสตร์ซึ่งบัดนี้ถูกแทนด้วยร้านแม็คโดนัลด์ แดรี่ควีน ห้างสรรพสินค้า และชีวิตยุคใหม่แบบตัวใครตัวมันชวนให้นึกถึงสัจธรรม และตัวตนที่ไร้ค่าของคนที่สามารถกลายเป็นคนขี้แพ้เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเผลอเกิดผิดที่ หรือเดินผิดทางแม้แต่นิดเดียว
ชีวิตในหนังเรื่องแรก ๆ ของ Aki Kaurismaki ก็ไม่พ้นจากนี้ไกลนัก เพราะนี่คือภาพชีวิตเวิ้งว้างธรรมดาของคนระดับตัวมดที่พยายามหาที่ยืนจุดเล็ก ๆ บนโลก นั่งตัวหดอยู่หน้าเฟอร์นิเจอร์โปรโมชั่นลดราคาและฉากหลังสีทึบ ไขว่คว้าหาคนเข้าใจสักคน แต่ลูกเต๋าชีวิตก็มักจะเด้งกลับมาที่เดิม แล้วถูกเหยียบย่ำให้ต่ำต้อยลงไปเรื่อย ๆ
Chris Ware กล้ามากที่เล่าเหตุการณ์ย้อนอดีต หรือโดดไปข้างหน้าอย่างไม่เกรงใจคนอ่าน หลายครั้งมันไม่ใช่เหตุการณ์จริงเสียด้วยซ้ำ แต่เป็นเพียงจินตนาการของ จิมมี่ เด็กช่างฝันไม่มีพิษมีภัยที่ฝันถึงพี่ชายในร่างม้า ซูเปอร์แมนนั้นหรือก็แค่คนในเสื้อฟ้าแดงที่ทำงานตอกบัตรและมีปัญหาส่วนตัวที่แก้ไม่ตก เพียงในการ์ตูนหน้าที่ 7 เจ้าหนู จิมมี่ ผมโหรงเหรงก็กลายร่างจากเด็กตัวจ้อย กลายมาเป็นชายผมหรอยตัวลีบหมดสมรรถภาพวัย 36 ปี ซึ่งรอวันเหี่ยวเฉาตาย และในอีกไม่กี่เฟรมถัดไป ตัวเขาก็กลายร่างเป็นหุ่นกระป๋องได้หน้าตาเฉย
เทคนิคประหลาดหลายอย่างถูกนำมาผสม ลักษณะของหนังสือพจนานุกรม ลักษณะของเล่นเด็กที่คนอ่านต้องตัดสมุดภาพมาประกอบเป็นตุ๊กตา หรืออาคารบ้านเรือน การสะดุดอารมณ์ (หรือช่วยเหลือ) คนอ่านด้วยด้วยคำสรุปอธิบายเรื่อง คำอธิบายศัพท์ และภาพวิวทิวทัศน์ที่เตรียมให้ตัดเป็นช่อง ๆ แบบของสะสม

แต่ที่เด็ดกว่านั้น ชัยชนะของ Chris Ware คือประกาศเอกลักษณ์ของสื่อหนังสือการ์ตูนที่สร้างสไตล์ซึ่งเลียนแบบได้ยาก คุณสมบัติเฉพาะของตัวมันเองเนรมิตสิ่งใหม่ที่ภาษานิยายหรือภาพยนตร์ยากจะจำลองเนื้อเรื่องเดียวกันได้เทียบเท่า
Jimmy Corrigan or The Smartest Kid on Earth ของ Chris Ware เป็นหนังสือการ์ตูนเล่มสำคัญเช่นเดียวกับ Black Hole ของ Charles Burns เล่มที่เคยเล่าไปแล้ว และถึงแม้ทั้งสองเล่มจะมีสไตล์ภาพและแนวคิดที่แตกต่างกันอย่างสุดโต่ง แต่ก็โกเกินร้อยในธุรกรรมวังเวงของการมีชีวิตเยี่ยงคน
2 ความคิดเห็น:
ชีวิตในหนังเรื่องแรก ๆ ของ Aki Kaurismaki ก็ไม่พ้นจากนี้ไกลนัก
โอ้ววววววววววววว /FILMSICK
การ์ตูนเรื่อง Jimmy Corrigan นี้มันเศร้าลึกจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่สไตล์มันเปรี้ยวมาก แต่มันไม่หลงทาง
แสดงความคิดเห็น