15.4.52

My Sassy Book ตอน 12: Cloud Atlas ปะทะ The Theory of Clouds

Cloud Atlas VS The Theory of Clouds
การประทะของสองหมู่เมฆา

บอกเล่าโดย filmvirus

เมฆาสัญจร
Cloud Atlas

สำนักพิมพ์มติชน
แปลโดย จุฑามาศ แอนเนียน

แน่แท้ว่า เดวิด มิทเชลล์ (David Mitchell) เป็นนักเขียนที่มีฝีมือ เต็มไปด้วยความอุตสาหะในการแสวงหาข้อมูลในแต่ละสมัย ไหนจะฝีมือการแปลไทยของผู้แปล รวมถึงการจัดทำเชิงอรรถลายเซียนซึ่งน่ายกย่องมาก แต่ท้ายสุดแล้วดูเหมือนว่านิยาย เรื่อง “เมฆาสัญจร” หรือ Cloud Atlas จะเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตนเสียมากกว่า จำเป็นนักหรือที่ต้องมีตัวละครแออัดยัดทะนานเหล่านั้น (ว่ากระทั่งมนุษย์เทียมในโลกไซ-ไฟเกาหลี) ฝูงปฏิบัติการดาวกระจายที่ไม่ได้มีความลึกซึ้งในตัวเองมากมายเกินกว่าความขัดแย้งพื้นฐานทางหน้าที่ และ สำนึกชอบธรรม

ว่าไปแล้วมีอะไรบ้างในหนังสือปี 2004 เล่มนี้ที่หนังอย่าง Intolerance, Pulp Fiction และ La Jetée ไม่ได้ทำไปนานแล้ว และคิดดูเถอะว่าหนังเรื่องแรกเป็นหนังเงียบตั้งแต่ปี 1916 ที่ถ่ายทอดเรื่องเล่าความเสื่อมของมนุษย์ 4 ยุคสมัย 4 แผ่นดินที่มีความสอดคล้องกัน ส่วนหนังโคตระป๊อปปี 1994 อย่าง Pulp Fiction ก็ส่งเหล่ากุ๊ยข้างถนนให้รับส่งประเด็น (ที่ดูเหมือนไม่มีสาระหรือไร้จุดหมายได้อย่างแนบเนียนเหนือชั้น) ซ้ำยังไม่ act art เท่า “เมฆาสัญจร” เสียอีก แปลกไหม ทั้ง ๆ ที่ต้นกำเนิดของ Pulp Fiction ก็มีที่มาจากหนังสือขยะแนว pulp ไม่ใช่ Literature หรือ “วรรณกรรม” ชิงรางวัล Man Booker Prize

ส่วน La Jetée (ปี 1962) นั้นเล่าก็มีความยาวแค่ 28 นาทีเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ใช้สมองทำประหยัดใช้เพียงภาพนิ่งขาวดำเกือบทั้งเรื่อง แต่ก็ยังกลายเป็นต้นแบบของหนังไซ-ไฟอย่าง 12 Monkeys และ “คนเหล็ก” The Terminator ให้คนทึ่งได้ถึงทุกวันนี้

ก็นะ ทั้ง ๆ ที่หนังได้รับศักดิ์ศรีเป็นรองวรรณกรรมอยู่ตลอดไม่ใช่ฤา แต่คุณ David Mitchell ก็ไม่ลังเลเลยที่จะยัดเยียดเรื่องเจ้าปานรูปดาวหางของ “เหล่าคนกลับชาติมาเกิด” เหล่านั้นมาเป็นระยะ ๆ หนำซ้ำยังพร่ำสอนศีลธรรมกระป๋องห่วงใยโลกเพื่อเรียกคะแนนกรรมการอีก

The Theory of Clouds
Stéphane Audeguy ประพันธ์
Timothy Bent แปลสำนวนอังกฤษ
สำนักพิมพ์ Harcourt

บางทีคงมีแต่คนยุโรปมั้งที่จะเขียนหนังสือแบบนี้ได้ และที่จริงอาจต้องเจาะจงไปอีกว่าต้องเป็นคนฝรั่งเศสเท่านั้น ถึงจะได้ผลงานที่ชอบโชว์ความเท่ของเท่ชนิดนี้ ก็จริงอยู่แหละที่วรรณคดีอย่าง The Canterbury Tales ของ Geoffrey Chaucer หรือ Don Quixote น่าจะเป็นต้นสายปลายธารของหนังสือซ้อนหนังสือพวกนี้ (เราจะลืมงานของ Italo Calvino, Jorge Luis Borges, Julio Cortazar, Paul Auster ไปได้ไง / อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับชื่อเหล่านี้ได้จากหนังสือ BookVirus เล่ม 1 และ 2)

ลักษณะลูกเล่นหลายอย่างใน The Theory of Clouds อดทำให้นึกถึง Jacques the Fatalist ของ Denis Diderot ไม่ได้ ยิ่งงานโชว์ฉลาดของ Milan Kundera ที่เขียนในฝรั่งเศส แล้วไหนจะวรรณกรรมของ Claude Mauriac, Georges Perec, Raymond Queneau, Alain Robbe-Grillet อีกล่ะ ที่ใกล้ตัวก็รายละเอียดในหนังลูกกวาดอย่าง Amélie ของ Jean-Pierre Jeunet ซึ่งดูจะทำให้ The Theory of Clouds นิยายของ Stéphane Audeguy นั้นมีกลุ่มญาติที่ค่อนข้างหลากหลายทีเดียว

หาใช่ว่า The Theory of Clouds จะเป็นงานคมขำแบบหนัง Amélie ก็หาไม่ ในการเป็นงานที่ผูกชะตากับผู้เล่าเรื่องที่ไม่ใช่ตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง ผู้บรรยายเรื่อง (คนแต่ง) น่ะแหละ ออกจะเฉยชากับชะตากรรมของตัวละครด้วยซ้ำ เป็นการสงวนท่าทีที่หมิ่นเหม่อยู่กับการเย้ยเยาะชะตาตัวละครอยู่รำไร แต่ขณะเดียวกันก็ไม่หนักมือขนาดใช้ตัวละครเป็นตัวอย่างหมากกลเพื่อพิสูจน์วงกตทางปัญญาของตัวเองแบบงานเขียนในฝรั่งเศส (ยุคหลังจากอพยพไปจากประเทศเชก) ของ Milan Kundera

นาย Stéphane Audeguy ออกจะทำตัวเป็นเพียงผู้บันทึกข้อมูลประวัติศาสตร์จริง (และประวัติศาสตร์เก๊) อย่างไม่แสดงอารมณ์ร่วม แต่บังเอิ้ญ เจ้าเอกสารประวัติศาสตร์ที่เขาเรียบเรียงนั้นช่างเต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่ประหลาดล้ำ คาดเดาไม่ออก แถมนำคนอ่านไปตระเวนทั่วโลก ท่องขั้วเขตยะเยือก สุดแอกความเจริญ ตราบป่าร้อนชื้น ย่ำดิบดงมนุษย์

เทคโนโลยีและความรู้ของมนุษย์นั้นไม่ได้บ่งรากผลเพียงวันพรุ่ง หากแต่หยอดเมล็ดบ่มร่องตลอดระยะทางยาวนาน เฉกเช่นเดียวกับยานอวกาศหรือโคมไฟต้องเรียบเรียงสานต่อจากคนหลายชั่วรุ่น ความรู้เรื่องธรรมชาติอันลึกลับและงานศึกษาทางอุตุนิยมวิทยาย่อมไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ เพียงในรอบ 50 ปี หากเป็นพรั่งพวงของนักฝันต่างวัย ต่างรุ่น ต่างชนชาติที่พิศวงครุ่นคิด ฝันใฝ่ที่จะหยั่งถึงหมู่เมฆลึกลับจับต้องไม่ได้เหล่านั้น แล้วมันก็กลายเป็นความรัก ความผูกพัน (ซึ่งเป็นมากกว่าหน้าที่) ที่ขับเคลื่อนจินตนาการและความเจริญไปข้างหน้า

ในนิยายเล่มนี้เราจะได้พบต่างชีวิตต่างพันธุ์ที่หมกมุ่นกับการเฝ้ามองเมฆา มองหาความหมาย พยายามตั้งชื่อ- นิยามความ- บันทึกความแปรปรวนอันไม่แน่นอนของเหล่าเมฆาด้วยพู่กันและแคนวาส เพ่งส่องความสำคัญของสิ่งที่พระเจ้าและฟ้าประทานให้ เพื่อปรากฏในภาพฝัน ศิลปะและเอกสารทางวิทยาศาสตร์ (เหตุที่นโปเลียนต้องพ่ายแพ้สงครามเพราะละเลยดินฟ้าอากาศ) ความพยายามหมกมุ่นศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ของคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเศรษฐีนักสะสมชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่อ Akira Kumo และผู้ช่วยสาวชาวฝรั่งเศส Virginie Latour ความลุ่มหลงที่กลบเกลื่อนและปลอบประโลมปมอดีตของตัวเองจนเกือบมืดมิด

แม้ว่าตัวละครใน The Theory of Clouds จะคงความเป็นตัวละครมากกว่าตัวละครที่มีเลือดเนื้ออย่างแท้จริง แต่ในความยาวของหนังสือเพียง 266 หน้า (ภาษาอังกฤษ) เทียบกับตัวละครแบน ๆ ที่ความยาว 574 หน้า (ภาษาไทย) ของ “เมฆาสัญจร” เท่านี้ก็น่าจะอนุโลมแล้วกระมัง

เฉพาะในด้านโครงสร้างของเรื่อง และภาษาการบรรยายเรื่อง The Theory of Clouds ก็กินขาดเสียแล้ว
ดูแค่บทแรก The Study of the Skies

All Children become sad in the late afternoon, for they begin to comprehend the passage of time. The Light starts to change. Soon they will have to head home, and to behave, and to pretend.

หมายเหตุ
อ่านเกี่ยวกับนิยาย New York Trilogy ของ Paul Auster ได้ในบทความ “คู่สัมพัทธ์ คู่วินาศ" ที่เว็บ onopen: http://www.onopen.com/2006/02/1247

อ่าน BookVirus - บันทึกเรื่องนิยายและการ์ตูน ตอน 4 ในเว็บ onopen: http://onopen.com/2008/02/3342

อ่าน BookVirus - บันทึกเรื่องนิยายและการ์ตูน ตอน 3 ในเว็บ onopen:
http://onopen.com/2008/02/3227

อ่าน BookVirus - บันทึกเรื่องนิยายและการ์ตูน ตอน 2 ในเว็บ onopen:
http://onopen.com/2008/02/2963

อ่าน BookVirus - บันทึกเรื่องนิยายและการ์ตูน ตอน 1 ในเว็บ onopen:
http://onopen.com/2008/02/2941