1.6.54

My Sassy Book ตอน 33: Our Tragic Universe โดย Scarlett Thomas

Death has to be what define life, since living things are those things that will die but are not yet dead. (Our Tragic Universe หน้า 209)

สิ่งที่คนซี่งไม่ใช่แฟนหนังของ Wim Wenders รับไม่ได้มากที่สุดน่าจะอยู่ที่ ลักษณะเยิ่นเย้อ ยืดยาด อ้อมโลก และบ่อยครั้งมันก็คงจะเป็นเรื่องยากแก่การจินตนาการว่าอาการเหล่านั้นจะกลายเป็นเสน่ห์สำคัญอย่างหนึ่งได้อย่างไร แต่บางทีมันก็เป็นไปได้และเป็นไปแล้ว บ่อยเสียด้วย

ด้วยความที่ Our Tragic Universe เป็นนิยายซึ่งผู้หญิงแต่ง มีตัวละครนำเป็นผู้หญิง (กึ่งแม่บ้าน) ยิ่งดูเหมือนเอื้อให้ตัวละครขยับแอ็คชั่นได้อืดอ่อยน้อยลงตามไปด้วย ฉากส่วนใหญ่ก็ไม่มีอะไรนอกจากชีวิตประจำวันของผู้หญิงบ้านนอกริมชายฝั่งดาร์ธเม้าท์ของอังกฤษ ตัว เม็ก (Meg) ซึ่งใฝ่ฝันจะเขียนงานวรรณกรรมสร้างสรรค์จริงจังชั้นแนวหน้า แต่กลับต้องมาอยู่เบื้องหลังการเป็น “นักเขียนผี” ของนิยายเยาวชนจำพวกแฟนตาซีคิดบวก กับนั่งรับจ๊อบนั่งรีวิวหนังสือแนวนิวเอจที่พูดถึงชีวิตอมตะในโลกหน้าซึ่งโปรแกรมโดยพระเจ้าคอมพิวเตอร์นาม โอเมก้า พ้อยท์ วัน ๆ เม็กจึงปล่อยให้จินตนาการหนังสือในฝันจมดินเป็นสิบปี ขณะที่ชีวิตรักของเธอก็ไม่ดีไปกว่างาน ต้องติดแหง็กอยู่กับ คริสโตเฟอร์ ผู้ชายที่อ่อนแอที่ดูคล้ายกับจะรักเธอ แต่ก็เช่นเดียวกับผู้หญิงในโลกนี้อีกหลายคนที่จมปลักอยู่กับคนที่รักและสงสารตัวเองมากกว่า ส่วน ลิบบี้ เพื่อนหญิงคนสนิทของเธอ และ โรแวน ชายสูงอายุที่เธอแอบปิ๊งก็เช่นกัน ทุกคนแปะกาวตัวเองไว้กับชีวิตคู่ที่เดินหน้าไม่ไป ถอยไม่ได้ในทำนองไม่ต่างกันมากนัก

มันเป็นหนังสือที่ฟังพล็อตไม่น่าจะรอด ด้วยความหนา 425 หน้า ฟ้อนต์ 12 ยิ่งดูเหมือนจะไม่มีเนื้อเรื่องให้เล่นหลบอะไรได้มากมาย และนั่นแหละการตั้งคำถามกับนิยายที่มีเนื้อเรื่อง กับนิยายที่ไร้เรื่อง (storyless) หรือการสังเกตที่ว่าแม้แต่เรื่องที่ storyless ก็ยังมีเรื่องอยู่ดี ทั้งหมดนั่นแหละก็คือจุดสำคัญของนิยายเล่มนี้ด้วย  

“Sometimes I wish life could be more storyless,” I said.
“I know,” Vi said. “Well, in some ways it is. You just have to let go of the plot when it gets too much. Do something else.”

สการ์เล็ตต์ โธมัส (Scarlett Thomas) คนแต่งเรื่องใช้บทสนทนานั่งถกวรรณกรรม ชีวิต โลก ตั้งแต่เรื่อง นิทานเซ็น, นิทเช่อ, อันตอน เชคอฟ, อาร์เธอร์ โคแนน ดอยล์, ตอลสตอย - Anna Karenina, ภูตนางฟ้า, มนต์มายา สัตว์ประหลาดลึกลับแห่งดาร์ธมัวร์, เขาวงกต, มังกร, ชาร์ลส์ ดาร์วิน, เรือจำลองในขวดแก้ว, การทำกับข้าว, การผสมสูตรยาสมุนไพร, การปักไหมพรม, ความประหลาดของไพ่ทาโรต์, วิทยาศาสตร์ สิ่งเหนือธรรมชาติ และจักรวาลบรรจบ ทุกอย่างมาสมคบรวมกันได้โดยไม่ดูเสแสร้ง ไม่ดูปัญญาชนลวงโลก ไร้หัวใจแม้แต่น้อย ทั้ง ๆ ที่มันควรจะดูเฟคได้ง่าย ด้วยซ้ำ (เพราะมันไม่คุ้มถ้าเธอหรือใครจะพยายามเขียน meta fiction แข่งกับ Borges, Orhan Pamuk หรือ New York Trilogy ของ Paul Auster) ต้องทึ่งในฝีมือของ สการ์เล็ตต์ ที่เธอทำให้ทุกอย่างร้อยรวมกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเราเข้าใจในความมีมิติของตัวละครที่ถกความคิดต่างกันได้แบบหลากหลาย โดยไม่ตัดสินข้างฝ่าย ซ้ำยังเปิดให้คนอ่านหัวเราะและอึ้งไปกับอารมณ์ขึ้นลงของตัวละคร (ที่มากันเป็นโขลงและทุกคนมีรายละเอียดชีวิตแท้ของตัวเอง) 

มุกนี้เรียกว่าล้อคนในวงการหนังสือได้เจ็บแสบ 
You can identify someone who works in publishing because they tell every anecdote as if for the first time, with the same expression as someone giving you a tissue that they have just realised has probably already been used.

เล่มนี้เป็นเล่มพิเศษและประหลาดมาก มันกลับทำให้มองเห็นความเจ็บปวดของชีวิตและความสว่างของจิตใจได้ราวกับว่าคนอ่านคนนี้ไม่เคยพบสิ่งเหล่านี้ในหนังสือเล่มอื่น (เหมือนว่าไม่เคยอ่านการบรรยายในลักษณะนี้มาก่อน) และถึงแม้ว่าคนเขียนจะแทรกเรื่องราวที่ดูไม่เกี่ยวข้องมาตลอด ทำให้อ่านเหนื่อยในการติดตามอยู่บ้าง แต่โดยท้ายสุด เราก็กลับเป็นฝ่ายต้องอึ้งทึ่งไปแทน ก่อนที่จะหาเรื่องโทษคนแต่งเสีย ๆ หาย ๆ

ที่ถูกเราไม่ควรเรียกงานอะไรว่า เยิ่นเย้อ ยืดยาด อ้อมโลก แต่จะเรียกใหม่ว่า แบบ 2 ล. และ 1 ร. 

“ลัดเลาะ-ล่องไหล-เรื่อยเรียง”

เล่มนี้ซื้อที่คิโนะคุนิยะ ตรงแผนกหนังสือใหม่ พออ่านแล้ว สัญญาจะไม่ใช่แฟนขาจรของเธออีกต่อไป ต้องรีบไปสมัครเป็นสมาชิกถาวรกันเลยทีเดียว 

ไม่มีความคิดเห็น: