My Sassy Book (6) Jimmy Corrigan or The Smartest Kid on Earthเผ่าพันธุ์ที่รักไม่เป็น
A Graphic Novel Written by
Chris Wareเป็นไปได้ไหมที่หนังสือการ์ตูนจะละเมียดและซึมลึกถึงแกนใจที่อ้างว้าง
มีไหม การ์ตูนที่ถ่ายทอดความเป็นคนได้ครบมิติ
จริงดิ ช่องว่างระหว่างเฟรมที่ขันยอกทรวง
แล้วถ้าปรุงสไตล์พิเรนทร์ไม่เกรงใจคนอ่านเข้าไปด้วย ผลจะออกมาอีท่าไหน
แต่ก็นั่นแหละ ตราบใดที่เรื่องเหลือเชื่อยังหลงเหลือในโลก เช่น เหนือฟ้ายังมีฝน เหนือฝนยังมีสามีของฝน เหนือ “น้องฟ้า” ยังมีภราดร เหนือภราดรยังมีพ่อ-แม่ภราดร เหนือไอ้อีหัวโบราณที่ฟันธงว่าการ์ตูนมีแค่เรื่องเพ้อฝันแนวซูเปอร์ฮีโร่ ณ เมฆผงาดก้อนนั้นย่อมซ่อนการ์ตูนของ
Chris Ware (คริส แวร์)
เราอาจจะเรียก Chris Ware ว่าเป็น
Jean-Luc Godard แห่งวงการหนังสือการ์ตูน (นิยายภาพ) เช่นเดียวกับที่
Stockhausen หรือ
Bob Dylan ปักลูกทอยแนวดนตรี หรือ
James Joyce, Alain Robbe-Grillet กับ
Raymond Queneau ทัดมาลาคานภาษา
Jimmy Corrigan or The Smartest Kid on Earth จัดเป็นผลงานชั้นครูของ Chris Ware อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ผลงานกึ่งประวัติศาสตร์ส่วนตัวเล่มนี้ มันคงไม่มีค่าเป็นผลงานระดับหัวกะทิที่แทบทุกคนซูฮก ถ้าคนอ่านทั่วไปไม่สามารถจูนใจเข้ากับตัวละครอย่าง Jimmy Corrigan (จิมมี่ คอร์ริแกน) เจ้าหนูจิ๋วแจ๋วเจาะโลกที่ไม่ยักจะเก่งสมชื่อ หรือได้แค่สักส่วนเสี้ยวของ ปิ่น ปรเมศร์
จิมมี่ คอร์ริแกน เด็กไม่เอาอ่าวขาดความมั่นใจในตัวเอง ผู้ถูกเลี้ยงดูโดยแม่ที่คอยโขกสับตามจิกอยู่ทุกเช้าค่ำ แม้จนเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เช่าอพาร์ตเมนต์ส่วนตัว ทำงานไปรษณีย์ มีชีวิตจำเจแถบชานเมืองมิชิแกน คุณแม่ที่บัดนี้อยู่ในบ้านพักคนชราก็ยังคอยทวงหาความรัก และเฝ้าขู่เข็ญ จิมมี่ เหมือนเด็ก 3 ขวบ
อายุ จิมมี่ อาจยังไม่ถึง 40 ก็จริง แต่รูปร่างหน้าตารูปร่างนั้นแก่ก่อนวัยหมือนคนอายุสัก 60 ด้วยเพราะเขินอายไม่กล้าปฏิเสธใคร วางตัวในสังคมก็ไม่ค่อยถูก พอเสร็จจากงานก็กลับบ้าน กินอาหารขยะ ดูทีวี แอบฝันถึง เพ็กกี้ สาวน้อยที่ทำงานในไปรษณีย์เดียวกัน ซ้ำเมื่อไรที่ทำใจเข้าไปจีบเป็นต้องโดนตอกกลับหน้าหงายทุกที
วันหนึ่งมีจดหมายส่งมาหา จิมมี่ ในซองมีข้อความเชิญชวนจากพ่อแท้ ๆ ที่เขาไม่เคยเจอหน้า ให้มารู้จักกันสักครั้ง
เพียงเท่านี้ จิมมี่ ที่ขี้ขลาดเป็นทุนก็ตื่นกลัวหัวหด อดจินตนาการไปต่างๆ นา ๆ ไม่ได้ถึงการเผชิญหน้าที่แฝงความน่าหวาดเสียวมากกว่ายินดี
การได้รู้จักกับชายแปลกหน้าที่มีคำนำหน้านามว่า “พ่อ” สร้างความอิหลักอิเหลื่อในชีวิตของ จิมมี่ อย่างมโหฬาร และนำไปสู่การผจญภัยครั้งใหญ่ซึ่งแสนกระอักกระอ่วนเกินคาดคิด
“ครอบครัว” ความหมายที่ครอบคลุมถึงสิ่งแปลกปลอม และสิ่งที่น่าใฝ่หา
การเผชิญหน้าครั้งใหญ่ระหว่าง จิมมี่ กับพ่อ ทำให้คนอ่านได้ย้อนอดีตไปถึงปัญหาต้นทางของตระกูล คอร์ริแกน 3 ชั่วคน คือ ตั้งแต่รุ่นทวดเมื่อสมัยร้อยกว่าปีก่อนตอนที่ชิคาโก้จัดเฉลิมฉลองงานเวิล์ดแฟร์ การที่ เจมส์ คอร์ริแกนรุ่นปู่ซึ่งตอนนั้นยังเป็นแค่เด็ก 9 ขวบ กลายเป็นเด็กกำพร้าแม่ และถูกพ่อเจ้าระเบียบทอดทิ้งให้จมอยู่กับความเงียบเหงา ขาดเพื่อนและสังคม กลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายหวาดระแวง ในขณะที่เขาหิวกระหายความรัก แต่ก็ไม่รู้วิธีแสดงออก
เนื้อเรื่องการ์ตูนของ Chris Ware อาจเป็นปัญหาสาหัสระดับสากล ทำให้คนอ่านนึกภาพโศกนาฏกรรมบีบน้ำตา แต่หากเทียบวิธีการใช้ภาพของ คริส แวร์ อย่างหยาบ ๆ อาจต้องเปรียบประมาณ
Adaji Mitsuru (อดาจิ มิทสึรุ) ผู้แต่งการ์ตูน
Miyuki, Touch, Rough และ
H2 ที่เป็นเทพในการใช้ลายเส้น นิ่ง น้อย เงียบ คือเป็นลายเส้นเรียบง่ายระเบียบสะอาดตา ชัดเจนคมคาย ไม่มีเส้นรกรุงรัง กรอบเล็กและใหญ่บอกกล่าวเหตุการณ์เท่าที่จำเป็น แต่สำหรับ คริส แวร์ การเปิดที่ว่างใช้เฟรม แม่นยำในการเซ็ทฉากเชิงสถาปัตย์ การคุมโทนสีต่าง ๆ ให้ดูกลมกลืน ลักษณะขัดเขินผิดที่ผิดทางของตัวละครที่เปลี่ยนรายละเอียดแต่ละเฟรมเพียงน้อย ช่วยขยายภาพวังเวงระหว่าง จิมมี่ กับ ครอบครัว
ปัญหาการเข้าถึงคนอื่นถูกแสดงด้วยความเงียบ การสนทนาอิหลักอิเหลื่อ ท่าทีเก้กังอ้ำอึ้งชะงักงันของคนที่ไม่มีอะไรจะคุยกัน บทบาทของผู้มอบความรักความอบอุ่นที่มาผิดจังหวะ อารมณ์ขันที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ซึ่งทำให้ต้องยอมรับว่าเวลาส่วนใหญ่ของคนเรามักจะหมดไปกับการเป็นจำอวดในพิพิธภัณฑ์ชีวิต (ที่ไม่ควรจะเป็นเยี่ยงอย่างให้ใครได้ซื้อตั๋วเข้าชมเลยด้วยซ้ำ)
ภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป ร้านชำ บ้านช่องขนาดเล็ก สถานที่ประวัติศาสตร์ซึ่งบัดนี้ถูกแทนด้วยร้านแม็คโดนัลด์ แดรี่ควีน ห้างสรรพสินค้า และชีวิตยุคใหม่แบบตัวใครตัวมันชวนให้นึกถึงสัจธรรม และตัวตนที่ไร้ค่าของคนที่สามารถกลายเป็นคนขี้แพ้เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเผลอเกิดผิดที่ หรือเดินผิดทางแม้แต่นิดเดียว
ชีวิตในหนังเรื่องแรก ๆ ของ
Aki Kaurismaki ก็ไม่พ้นจากนี้ไกลนัก เพราะนี่คือภาพชีวิตเวิ้งว้างธรรมดาของคนระดับตัวมดที่พยายามหาที่ยืนจุดเล็ก ๆ บนโลก นั่งตัวหดอยู่หน้าเฟอร์นิเจอร์โปรโมชั่นลดราคาและฉากหลังสีทึบ ไขว่คว้าหาคนเข้าใจสักคน แต่ลูกเต๋าชีวิตก็มักจะเด้งกลับมาที่เดิม แล้วถูกเหยียบย่ำให้ต่ำต้อยลงไปเรื่อย ๆ
Chris Ware กล้ามากที่เล่าเหตุการณ์ย้อนอดีต หรือโดดไปข้างหน้าอย่างไม่เกรงใจคนอ่าน หลายครั้งมันไม่ใช่เหตุการณ์จริงเสียด้วยซ้ำ แต่เป็นเพียงจินตนาการของ จิมมี่ เด็กช่างฝันไม่มีพิษมีภัยที่ฝันถึงพี่ชายในร่างม้า ซูเปอร์แมนนั้นหรือก็แค่คนในเสื้อฟ้าแดงที่ทำงานตอกบัตรและมีปัญหาส่วนตัวที่แก้ไม่ตก เพียงในการ์ตูนหน้าที่ 7 เจ้าหนู จิมมี่ ผมโหรงเหรงก็กลายร่างจากเด็กตัวจ้อย กลายมาเป็นชายผมหรอยตัวลีบหมดสมรรถภาพวัย 36 ปี ซึ่งรอวันเหี่ยวเฉาตาย และในอีกไม่กี่เฟรมถัดไป ตัวเขาก็กลายร่างเป็นหุ่นกระป๋องได้หน้าตาเฉย
เทคนิคประหลาดหลายอย่างถูกนำมาผสม ลักษณะของหนังสือพจนานุกรม ลักษณะของเล่นเด็กที่คนอ่านต้องตัดสมุดภาพมาประกอบเป็นตุ๊กตา หรืออาคารบ้านเรือน การสะดุดอารมณ์ (หรือช่วยเหลือ) คนอ่านด้วยด้วยคำสรุปอธิบายเรื่อง คำอธิบายศัพท์ และภาพวิวทิวทัศน์ที่เตรียมให้ตัดเป็นช่อง ๆ แบบของสะสม
การ์ตูน Jimmy Corrigan or The Smartest Kid on Earth ของ Chris Ware เขียนด้วยสไตล์ล้ำยุคกวนตีนสูตรสำเร็จให้กลับหัวกลับหางแบบที่ Jim Jarmusch, Quentin Tarantino และพี่น้องตระกูล Coen ทดลองกับหนังของพวกเขา หากแต่ Chris Ware ก็ไม่ได้ลืมหัวใจของความเป็นมนุษย์มนาแบบที่นักทำหนังชั้นยอดอย่าง
Rob Nilsson, Jay Duplass, Joe Swanberg และ
So Yong Kim ทำสำเร็จ
แต่ที่เด็ดกว่านั้น ชัยชนะของ Chris Ware คือประกาศเอกลักษณ์ของสื่อหนังสือการ์ตูนที่สร้างสไตล์ซึ่งเลียนแบบได้ยาก คุณสมบัติเฉพาะของตัวมันเองเนรมิตสิ่งใหม่ที่ภาษานิยายหรือภาพยนตร์ยากจะจำลองเนื้อเรื่องเดียวกันได้เทียบเท่า
Jimmy Corrigan or The Smartest Kid on Earth ของ Chris Ware เป็นหนังสือการ์ตูนเล่มสำคัญเช่นเดียวกับ
Black Hole ของ
Charles Burns เล่มที่เคยเล่าไปแล้ว และถึงแม้ทั้งสองเล่มจะมีสไตล์ภาพและแนวคิดที่แตกต่างกันอย่างสุดโต่ง แต่ก็โกเกินร้อยในธุรกรรมวังเวงของการมีชีวิตเยี่ยงคน