31.12.53

My Sassy Book ตอน 24: The Diaries of Sofia Tolstoy


นี่หรือคือชีวิตจริง Leo Tolstoy นักเขียนชื่อกระเดื่องโลกแห่ง “สงครามและสันติภาพ”, “อันนา คาเรนนินนา” ที่ชื่อนี้อาจจะกระเดือกไม่ลงอีกต่อไป ภาพคุณงามความดี คุณธรรมชั้นเลิศที่เคยได้ยินมาตั้งนานปี้ป่นไปหมดเพราะบันทึกของเมียแกนี่เอง เมียแกโทษว่า ตอลสตอย อ้างคุณธรรม อ้างชั่วดี แต่ทำกับเมียเยี่ยงทาส วันๆ นั่งเลี้ยงลูกเป็นสิบคน คัดต้นฉบับลายมือนิยายเล่มหนา ๆ เล่มนึงซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยความรักผัว แต่ได้รับการตอบแทนความรักเยี่ยงไร มองผู้หญิงเป็นแค่......ก็สมควรอยู่ที่เธอหมั่นไส้ที่ท่านนักเขียนใหญ่ทำเป็นคนกรุณาปราณี รักเพื่อนมนุษย์ กินอาหารสุขภาพ ใส่เสื้อซอมซ่อ ลดตัวไประดับเดียวกับชาวบ้านขี้กลากเกลื้อน เสร็จแล้วเป็นภาระใคร วัน ๆ ทำนั่งเขียนเล็คเชอร์ On Religion, What is Art?, On Love and Marriage แล้วเป็นไง โคตรกดขี่เมีย (ในเล่ม เพลงสังหาร The Kreuzer Sonata เห็นว่าที่ผัวฆ่าเมียสังเวยคบชู้คงมีนัยยะพิเศษ) ที่น่าตกใจที่สุดความรักนี่มันฆ่าคนทั้งเป็นได้เลือดเย็น

นี่คงเป็นหนังสือที่อ่านแล้วช็อคที่สุดแห่งปี

คำนำโดย Doris Lessing

27.12.53

My Sassy Book ตอน 23: "X'ed Out" ของ Charles Burns

“This is the only part I’ll remember. The part where I wake up and don’t remember where I am.”

โอเค การ์ตูนของ ชาร์ลส์ เบิร์นส์ นี่ดูจะเป็นพี่น้องกับหนังของ David Lynch ได้ดี คราวก่อนเขียนถึง The Black Holeไป คราวนั้นเป็นการ์ตูนขาวดำ แต่คราวนี้เป็นสี แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้โลกสดใสขึ้นเท่าไหร่ เพราะโลกของ ชาร์ลส์ เบิร์นส์ ยังคงเป็นโลกมืดที่ประกอบด้วยจริงปลอม ฝันหลอนคู่ขนานกันไป แต่ก็ไม่ได้แยกออกจากกันเสียทีเดียว มีแบบพวกแผลเป็น หนอนน่าเกลียด วิญญาณหมาที่พา Nitnit (ชื่อเรียงถอยหลังจาก Tin Tin) ตัวเอกไปปรโลก ครอบครัวที่ไม่มั่นคง กลุ่มวัยรุ่นในยุค 70 ทเป็นคั้ลท์เสพยาหรือติดโรคลึกลับอะไรสักอย่าง เพื่อนสาวหรือแฟนที่ดูน่าบูชาแต่มีนัยยะล่อแหลมเรื่องเพศน่ากลัว ซึ่งนั่นแหละต้องติดตามอ่านกันต่อไป เพราะนี่เป็นแค่เล่มแรกในสามเล่มที่จะค่อย ๆ ทยอยออกมา และต้องดูกันต่อไปว่าจะมีอะไรเชื่อมโยงกับ Tin Tin อีกแค่ไหน แต่ว่าไปหนังของ เดวิด ลิ้นช์ อย่าง Mulholland Drive, Inland Empire, Dune นั้นมาดูตอนนี้ไม่ไหวเลย คล้าย ๆ ว่าการ์ตูนของ เบิร์นส์ ทำได้น่าสนใจกว่า ถึงจะมีอะไรคล้ายกัน

26.12.53

My Sassy Book ตอน 22: Sleeper’s Wake ของ Alistair Morgan


“Damaged People are Dangerous” จาก Damage ของ Josephine Hart

น่าปกดูไปยังกับหนังสยองขวัญ พล็อตธรรมดา แต่เจาะตัวละครได้ดี เล่าเรื่องวางหนังสือแทบไม่ลง สะดุดใจที่สุดกับตัวละครเคร่งศาสนาที่ช่วยเหลือคนเพราะเข้าใจว่าคนที่ตัวเองช่วยนั้นน่าสงสาร ผ่านโศกนาฏกรรมแย่ๆ มาเหมือนกัน แต่พอรู้ว่าเขาไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือของตัวเอง และยังย้อนรอยเข้าหลังบ้าน เรื่องก็เลยกลับตาลปัตร

“We are all capable of surprising cruelty”. “It is something that makes us human.”

24.12.53

15 ปีฟิล์มเฮ้่าส์ ไม่ง่าย

วันนี้ครบรอบ 15 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ออกจะเงียบเหงา ไม่มีฉลอง ไม่มีจัดเลี้ยง ไม่มีฉายหนังอีกเช่นเคย ไม่รู้ว่าน่าเศร้าหรือน่าดีใจที่ทำงานมานาน แต่ไม่มีเงินเข้าหน่วยงาน องค์กรที่ไม่มีเงินจ้างพนักงาน! เงินหน่วยเดียวที่เข้าคงเป็นเงินขายหนังสือเพียงหลักร้อยหลักพัน กว่าจะนับเป็นหมื่นได้ไม่ใช่เวลาสั้น ๆ แต่ต้องรอหลายปี ทุกอย่างมีแต่ถ้า....... ถ้าเพียงมีเวลามากกว่านี้ หนังคงทำออกมาดีขึ้น ถ้ามีเงินคงมีเงินจัดเลี้ยง คงพิมพ์หนังสือวรรณกรรมและหนังสือหนังที่ชอบ มีเงินไปเที่ยวต่างจังหวัด ต่างประเทศ และคงสามารถตั้งต้นทำสิ่งที่สลักสำคัญ มันอาจจะมีผลพิเศษต่อวงการหนังได้ด้วยซ้ำ แต่ แต่ แต่

20.12.53

My Sassy Book ตอน 21: The Lovers ของ Vendela Vida

อ่านมาว่าหนังของ Julia Roberts ใน Eat Drink Pray Loveเป็นตัวแทนความคิดของฝรั่งผิวขาวที่สร้างความรู้สึกดีให้ตัวเอง โดยไปทำตัวเป็นผู้รู้ ผู้เหนือกว่าวัฒนธรรมแต่ละอันที่ตัวเองไปข้องเกี่ยว แทนที่ตัวเองจะอ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไปเรียนรู้ กลับไปเสนอหน้าสอนเขาเสียอีก เลยนึกถึงนิยายที่อ่านจบไปนานแล้วเรื่อง The Lovers ของ Vendela Vida ที่อาจจะเป็นด้านกลับ

เรื่องของ อีวอนน์ แม่บ้านที่สามีตาย ตอนตายใหม่ ๆ คนก็สงสารกลัวเธอจะอยู่คนเดียวไม่ได้ ในความทรงจำสามีก็ดูดี แต่เวลาผ่านไปมันก็งั้น ๆ เขาไม่ใช่คนดีวิเศษ แต่ก็ไมใช่คนเลว แต่งงานไปนาน ๆ อิสระเสรีเป็นยังไง ก็เริ่มสะกดไม่ถูก แต่พอเธอขยับใช้ชีวิตจริง เออ มันก็อยู่ได้ เสียงนกเสียงกาที่พูดกันน่ะ น่ารำคาญ  

ลูกชายเธอก็ไปได้ดี ห่วงแต่ลูกสาวที่เธอกับสามีคิดว่าไม่มีอนาคต อยู่กับแฟนคนไหนไม่ได้นาน แล้วยังต้องไปเข้าบำบัดจิต เวลาลูกสาวติดต่อมาแต่ละที เธอนะใจแป้ว 

แล้วการเดินทางไปตุรกี ย้อนหาภาพฮันนีมูนเก่าแก่อันสวยงามของเธอที่เคยไปกับสามี ก็จะนำเธอไปสู่การเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น มันไม่ใช่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ มันแค่บอกว่า เธอไม่ควรไปกะเกณฑ์ว่ารู้อะไรดี เพราะของทุกอย่างมันมีชีวิตของมัน มันมีทิศทางของมันอยู่แล้ว มุมของเธอมันก็แค่อีกอันในจักรวาลเท่านั้น ความปรารถนาน่ะดี ถ้ารู้และไม่หวังจะเปลี่ยนแปลงโลก

หนังสือมีประโยคดี ๆ เช่นมุมที่เธอ - อีวอนน์ มอง แมธธิว ลูกชาย 

Matthew, though well meaning, understood her on a superficial level. Was that fair? She wondered. Mother, Teacher, Historian, wife, Widow. He did not look beyond these terms, these roles. But Yvonnne had not done so with her own mother either.

หรือบทบาทที่คนอื่นมอง The problem with being a history teacher was that everyone assumed your interest in the past was undying. Every birthday gift was an antique.

หรือมุมที่เธอมองนักท่องเที่ยวที่ชวนเธอไปล่องเรือด้วย อันนี้ไว้ตอบ จูเลีย โรเบิร์ตส์ หรือความคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยว “ในแบบที่ควรเป็น” ได้

Yvonne liked them. She liked their clear demonstration to enjoy their vacation together: it seem oddly rare. More common were people who took satisfaction in not having a good time, who expected a country to prove it was deserving of the trouble it took to get there.

อีวอนน์ รู้จักกับสาวบนเรือที่ชวนเธอไปเที่ยวด้วย สามีเธอนำเข้าเพชรพลอย และเธอพูดอย่างภาคภูมิใจว่าเป็นดีไซน์เนอร์ อีวอนน์ ดูออกว่าของที่เธอใช้เป็นของที่ แครอล ออกแบบเอง มันยิ่งทำให้ แครอล ภูมิใจมากขึ้นไปอีก

Carol beamed. It was what every woman wanted. Yvonne thought, for the life around her-her clothes, her house, her car-to look like her, to be an extension of her.

อีวอนน์ ไม่ได้เตรียมตัวกับการรับมือสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้ดีนัก เธอพยายามทำตัวเป็นทัวร์ริสต์ที่ดี แต่บางทีบทบาทนี้อาจะไม่เหมาะกับเธอเลยก็ได้ เธอต้องรู้จักทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกอย่างจะมีคำตอบ หรือเธอจะมีอำนาจเปลี่ยนแปลงอะไร และคนอื่นก็มีวิธีมองเธอแบบของเขาที่เธอเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างเดียวที่ทำได้คือรับผิดชอบชีวิตตัวเองให้ดี แล้วก้าวไปข้างหน้า

พล็อตอาจฟังดูทื่อ ๆ แต่นักเขียนสาวคนนี้ Vendela Vida (ภรรยาของ Dave Eggers) เขียนได้อย่างเข้าถึงผู้หญิงและหัวใจของการท่องเที่ยวได้ดีทีเดียว

สำนักพิมพ์ Ecco Books

28.10.53

My Sassy Book ตอน 20: เรื่องสั้นจีน I Love Dollars

เผ็ด ร้อน แสบ เศร้า ซึม

I Love Dollars เรื่องสั้นขนาด 40 กว่าหน้าของนักเขียนจีนแผ่นดินใหญ่ Zhu Wen

ซื้อมาเพราะเห็นลดราคาถูก ๆ เนื้อเรื่องก็ไม่น่าจะชอบได้ พวกที่ออกแนว comedy หรือ satire หน่อย ๆ แต่แค่อ่านสามประโยค ทนไม่ไหว รีบอ่าน จนจบแทบไม่ทัน 

เรื่องนี้เราน่าเอามาแปล คนไทยน่าจะอ่านเพลิน สนุก มันให้อารมณ์ร่วมสมัยดี ฉบับแปลภาษาอังกฤษของเพนกวิน ปี 2007 แต่อ่านตอนนี้ก็ไม่เชย เรื่องมันนิดเดียว แต่ใช้ภาษาได้เปรี้ยวแทงถึงใจ

คนแต่งกลายไปเป็นผู้กำกับหนังเสียแล้ว หนึ่งในผู้กำกับจีนรุ่นที่ 6 รุ่นเดียวกับ เจี่ยจางเคอะ ในเรื่องมีฉากตัวละครไปดูหนังน้ำเน่าที่เขียนบทโดยคนชื่อเดียวกับคนแต่ง บรรยายได้แจ่มจริง

เขียนไว้ที่ - นิมิตวิกาล - http://twilightvirus.blogspot.com/2010/10/thomas-mao-zhu-wen.html

โปรแกรมภาพยนตร์ ‘ประพันธกรต้องตาย!’ และบล็อก "อ่านเอาตาย"


โปรแกรมภาพยนตร์ ‘ประพันธกรต้องตาย!’ “Death of the Authors”

http://twilightvirus.blogspot.com/2010/10/death-of-authors.html

บล็อกของนักอ่าน "อ่านเอาตาย" - http://thedeadreader.com/

20.10.53

My Sassy Book ตอน 19: A Fair Maiden

Joyce Carol Oates ความเข้มของนักเขียนเก่าแก่ลายครามคือไม่ต้องกลัวว่าต้องทำตัวให้เท่หรือดูนำสมัย แปลกใหม่อยู่เสมอ เธอคงยังชอบเขียนเรื่องของแรงดึงดูดระหว่างหญิงสาวและผู้ชายอยู่เหมือนเดิม คราวนี้บทผู้ชายหนุ่มลดรูปไปเป็นรอง กลายเป็นหญิงสาวกับคนแก่ที่มาเป็นบทนำ เนื้อเรื่องเธอก็ธรรมดาแบบที่ใครก็ต้องบอกคาดเดาได้ไม่กี่อย่าง แต่โครงสร้างของเรื่อง รายละเอียดของตัวละคร และภาษาของเธอโคตรชัวร์ บางอย่างประโยคบอกเล่าที่เหมือนธรรมดา บ่อยครั้งที่อ้างอิงถึงลักษณะแบบเทพนิยาย หรือโคลงกลอนโบราณ (ตามชื่อเรื่อง) มันทำให้คนอ่านแคร์กับตัวละครพวกนี้จริง ๆ เรารู้สึกเข้าใจผู้หญิงคนนี้มากพอ กระทั่งกับการตัดสินใจบื้อ ๆ ของนางเอก คนแต่งสามารถทำให้ตัวละครเด็กสาวที่มีเสน่ห์ แต่ยากจน จำต้องทำสิ่งที่ไม่ต้องการนั้นไม่ออกมาดูเป็นเรื่องที่ไม่มีที่มาที่ไป 

หนังสืออะไร

เมื่อวานสลับสับสนไปมาระหว่างทำหนังสือแบบ รับผิดชอบคนเดียว กับ มีเพื่อนช่วย ตกลงเราทำเองไม่มีคนช่วยแล้วใช่ไหมเนี่ย คิดไม่ถึงว่าพอมาถึงจุดนี้หนังสือที่อยากทำกว่า 20 ปี พอใกล้เคียงความจริง สัญญาลิขสิทธิ์มาถึงมือเตรียมเซ็นแล้ว กลับมีแต่ปัญหาที่คาดไม่ถึง ยังไม่ต้องคิดอีกว่าจะเอาเงินที่ไหนจ่าย ค่าอะไรก็แล้วแต่ ทำไปเพื่อใคร ทำทำไม ในเมื่อรู้ยอดขาย ขาดทุนแน่ งงตัวเองว่าพอมาใกล้ความจริง ความอยากทำมันลดฮวบลงไปได้ ทำไมเราต้องรับมือกับคนอ่านที่ไม่มีวันยินดียินร้าย ชีวิตน่าหดหู่ ถ้ามีเงิน เราน่าเอาไปแทงหวย หรือทำมาหากินอื่น ในเมื่อเงินสัก 30 บาท 50 บาท หรือค่าไปรษณีย์ ยังต้องเขียมมากตอนนี้ แบบนี้ La Maladie de la Mort (Malady of Death) ของ มาร์เกอริต ดูราส อาจจะกลายเป็นเราเสียเองที่ต้องตาย

ตอนนี้ทำต้นฉบับ Borges แทบไม่ไหว เพลียเหลือเกิน

19.10.53

มาหั่นคุณครูกันเถอะ

ครูตายแล้ว เธอถูกเด็กนักเรียนหญิงหั่นและจัดการกับซากศพแบบเดียวกับพวกกินเนื้อคน

ครูผู้นี้เป็นกวีผู้อ่อนไหวและอารมณ์โรแมนติกยิ่งนัก เธอเริ่มเขียนบทกวีเมื่ออายุยี่สิบ และบัดนี้อาชีพของเธอก็จบลงในวัยสามสิบห้าปี

พวกเขากำลังมาตรวจดูสถานที่ฆาตกรรม นักเรียนทุกคนถูกตั้งข้อสันนิษฐานว่ามีส่วนร่วม พวกเขาซักหัวหน้าชั้น
“เอาล่ะ เล่าให้ฟังตั้งแต่เริ่มซิ….”
เด็กหญิงผู้ออ่อนเยาว์กับใบหน้าที่ปราศจากความรู้สึกใด ๆ คว้าเท้าข้างหนึ่งไว้และเปล่งเสียงเย้ยหยัน
“นี่ไง”
“นั่นมันหมายความว่ายังไง เธอทำอะไรกับเท้าของเธออยู่ เข้าเรื่องเสียทีสิ”

“หนูหมายความว่า หนูเริ่มที่เท้าของครูค่ะ หนูถอดถุงเท้าแล้วกัดที่ส้นเท้าของครู”
“นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะ.....”

ผู้อำนวยการโรงเรียนตะลึงงัน เพราะแท้จริง สิ่งที่เหลือไว้ล้วนเป็นกระดูกที่ถูกแทะ กับข้อความบนซากอันน่าสะพรึงกลัววว่า “บทเรียนกายวิภาค”

บทกวีบทหนึ่งของครูผู้ถูกสังหารร่ายไว้ดังนี้

โอ้ เยาว์วัยผู้หวานชื่น
สิ่งหวังที่ทุ่มเทอย่างสิ้นหวังของฉัน

(บางส่วนจาก ความตายและการกลายร่างของครูคนหนึ่ง – มาเรีย โซลารี แต่ง - ลำน้ำ แปล)

18.10.53

A Country Doctor - หนังสั้นอนิเมชั่นญี่ปุ่นจากเรื่องสั้นของ Franz Kafka

ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ Franz Kafka 
A Country Doctor - หนังสั้นอนิเมชั่นญี่ปุ่นจาก Koji Yamamura Animation (2007)

ตัดตอนจาก “หมอชนบท” ของ Franz Kafka แปลโดย แดง ชารี

“ไม่” โรส กรีดเสียงขณะเผ่นเข้าไปในบ้าน พร้อมกับความสังหรณ์ใจที่ว่าโชคชะตาของหล่อนมันหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว ผมได้ยินโซ่ประตูลั่นกราวขณะหล่อนลงกลอน ผมได้ยินลูกกุญแจหมุนในรู ยิ่งกว่านั้น ผมยังเห็นอาการที่หล่อนดับไฟในห้องโถง และช่องบันไดทั่วทุกห้อง เพื่อทำให้หล่อนไม่ถูกค้นพบ

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ K = Kafka ในหนังสือ Bookvirus 01 – หนังวรรณกรรม)

Antonio Tabucchi หนึ่งในตัวเก็งรางวัล Nobel วรรณกรรม 2010


เคยจะแปลเรื่องสั้นเขาลง Bookvirus ด้วยเหมือนกัน

จากบทสัมภาษณ์ Antonio Tabucchi หนึ่งในตัวเก็งรางวัล Nobel วรรณกรรม 2010 ปีเดียวกับ Haruki Murakami

“ผมมักสนใจคนที่ทุกข์ทรมานและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ยิ่งมีข้อสงสัยมากก็ยิ่งดี คนที่เต็มไปด้วยความสงสัย บางครั้งจะพบว่าชีวิตกดดันและเหนื่อยล้ากว่าคนอื่น แต่พวกเขาก็มีชีวิตชีวากว่า พวกเขาไม่ใช่หุ่นยนต์ ผมชอบการนอนไม่หลับมากกว่าชอบยาชา ผมไม่สนใจคนที่มีชีวิตสมบูรณ์และเป็นสุข ในนิยายของผม ผมไม่ได้อยู่ฝ่ายที่มีอำนาจ ทว่าอยู่ฝ่ายคนที่เดือดร้อน นิยายเรื่องแรกของผมชื่อ Piazza d’ Italia นั้น ผมพยายามจะเขียนประวัติศาสตร์ที่ยังไม่มีการจารึกไว้ อันได้แก่ ประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยฝ่ายแพ้ ซึ่งในที่นี้คือ พวกอนาธิปไตยชาวทัสคาน หนังสือของผมเขียนเกี่ยวกับผู้แพ้ เกี่ยวกับประชาชนที่หลงทางและวุ่นอยู่กับการค้นหา


หน้าที่ของผมคือรบกวนผู้คนด้วยการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความสงสัย การรู้จักสงสัยนั้นสำคัญมากสำหรับมนุษย์ ถ้าเราไม่มีความสงสัยเลยก็จบเห่กัน! ตัวอย่างเช่นปัญญาชนย่อมตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักศาสนาที่ไม่ยอมรับข้อสงสัย เกี่ยวกับระบบการเมืองที่ใช้โดยไม่อนุญาตให้มีข้อสงสัย

ความสงสัยเปรียบเหมือนรอยเปื้อนบนเลื้อเชิ๊ต ผมชอบเสื้อเชิ๊ตที่มีรอยเปื้อน เพราะเวาลาได้เสื้อที่สะอาดเกินไปคือขาวเอี่ยมอ่อง ผมก็เริ่มสงสัยทันที มันเป็นงานของปัญญาชนและนักเขียนที่จะสงสัยความสมบูรณ์แบบ ความสมบูรณ์แบบเป็นที่มาของลัทธินักเผด็จการและแนวคิดแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ”

จาก ยูเนสโก คูริเย, บทสัมภาษณ์ Antonio Tabucchi แปลโดย เกษศิริ ยุวะหงษ์

15.10.53

เรื่องสั้นของ Mario Vargas Llosa

บางส่วนจากเรื่องสั้นของ Mario Vargas Llosa เจ้าของ Nobel สาขาวรรณกรรม 2010 
แปลโดย อามันดา

เมื่อมองจากข้างในร้านย้อนแสงออกไป เขาดูเหมือนเด็กรูปร่างบอบบางอ้อนแอ้นอย่างกับเป็นผู้หญิงไม่มีผิด พอเขาได้ยินเสียงผมเดินเข้าไปหา เขาก็หันขวับมามันที ทำให้เห็นแผลเป็นที่ใบหน้าอีกข้างหนึ่งของเขา มันเหมือนเป็นรอยฟกช้ำเป็นปื้นตั้งแต่มุมปากไปจนถึงหน้าผาก (มีคนบอกว่ามันเกิดจาการชกต่อยกันตอนที่เขาเป็นเด็ก แต่ ลิโอนิตัส ยืนยันว่ามันเป็นมาแต่กำเนิด ตอนที่เขากำลังจะคลอดออกมานั้นเกิดน้ำป่าไหลหลาก แม่ของเขาตกใจ เมื่อเห็นกระแสน้ำไหลทะลักเข้ามาทางประตูบ้าน จึงเกิดแผลเป็นที่ใบหน้าของเขา)

(อ่านประวัติของ Mario Vargas Llosa ได้ในหนังสือ Bookvirus 01- หนังวรรณกรรม)

8.10.53

Nobel Prize 2010 สาขาวรรณกรรม

Keenu Reeves (Speed, A Scanner Darkly), Barbara Hershey (The Entity, Portrait of a Lady), Peter Falk (สารวัตร Columbo, Wings of Desire) 3 ดาราดังจากหนัง Tune in Tomorrow (ชื่อไทยว่า – สื่อรักจุ้น จูนหัวใจให้ลงเอย) ที่สร้างจากนิยายดังเรื่อง Aunt Julia and the Scriptwriter ของ Mario Vargas Llosa นักเขียนเปรูที่ชนะรางวัลNobel Prize ปีล่าสุด

(รายละเอียดเกี่ยวกับ Mario Vargas Llosa จาก Bookvirus 01 หนังวรรณกรรม)


Krzysztof Kieslowski ผู้กำกับ Blue, White, Red เคยกล่าวชื่นชมหนังสือเรื่อง Conversation in the Cathedral ของนักเขียนโนเบลคนนี้ไว้เลิศลอย และเขายังเคยมาเมืองไทยอย่างน้อยสองครั้ง และเคยเป็นแขกรับเชิญของ คุณ สุข สูงสว่าง เจ้าของร้านหนังสือดวงกมล และมาเคยในงานซีไรต์ปีเดียวกับที่ ปราบดา หยุ่น ได้รับรางวัล

กล้อง ฟูจิ ไร้กระจก - Fujifilm FinePix X100

กล้อง ฟูจิ ไร้กระจกตัวแรก (สไตล์กล้องเก่าคลาสสิก) - Fujifilm FinePix X100
พวก Nikon, Canon มันมัวแต่ช้า แต่ฟูจิทำสิ่งที่คนอื่นไม่มี แต่ควรจะทำมานานแล้ว 

ข้อดี 1 . ฟูจิ มีปรับแมนวล ลูกบิดชัตเตอร์ และรูรับแสง แบบหมุนปรับเองบนกระบอกเลนส์ แบบกล้อง SLR ฟิล์ม (ไม่ต้องเข้าเมนูแบบพวกกล้องดิจิตอลปัจจุบัน) 
ข้อดี 2. เลนส์ไวด์ 23 ไวแสง เอฟ 2 
ข้อดี 3. ถ่ายวีดีโอ HD ได้
ข้อดี 4. เซ็นเซอร์รับภาพแบบ APS-C ใหญ่กว่ากล้องคอมแพ็คท์ และกล้อง Micro Four Thirds พวก Olympus Ep-1, Lumix GF, GH1
ข้อดี 5. มีทั้งวิวไฟน์เดอร์ และจอแอลซีดี (มีก้านโยกเลือกเปลี่ยนฟังก์ชั่นไปมาตรงจุดที่กล้องรุ่นโบราณเป็น self-timer)

ข้อด้อย เปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ และไม่มีซูม

7.10.53

จดหมายของ แวน โก๊ะ

ช่วงนี้กลับมานึกถึงหนังสือจดหมายของ แวน โก๊ะ อีกครั้ง เสียดายที่จนแล้วจนรอดก็ทำออกมาไม่เสร็จ อุตส่าห์ตรวจต้นฉบับไปสามสี่เดือน หนักใจกับการแปลของพี่ขวดมาก แต่ตลกดีที่อีกคนที่แปลลงในปาจารยสารก็แปลผิดบางจุดในที่เดียวกัน ถ้าทำออกมาเป็นหนังสือปกแข็งจริงอย่างที่พี่ขวดว่าคงดีมาก เสียดายโอกาส เสียดายความตั้งใจ แต่ก็นะถ้าทำเสร็จจริงต้องเหนื่อยมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าเอาเข้าจริงสำนักพิมพ์จะถอยหลังเอาดื้อ ๆ หรือเปล่า ขนาดของมูลนิธิเด็ก ป่านนี้ก็ยังไม่เห็นออกมา

เรื่องการทำหนังสือแปลโดยเฉพาะด้านวรรณกรรม bookvirus นี่มันน่าท้อจริง ๆ เอะอะคนอ่านจะอ่านแต่มูรากามิหรือไง เมื่อก่อนก็ชอบหรอก แต่ตั้งแต่เป็นแฟชั่นในเมืองไทย พี่แกเขียนวนวียนเดิม ๆ ไม่ไปไหน

28.9.53

เด็กน้อย


เด็กน้อยที่วิกหัวหิน

26.9.53

โปรแกรมหนัง งาน เผาฟิล์มไวรัส เผ็ด สวย ดุ ณ เก๋ไก๋

โปรแกรมหนัง งาน เผาฟิล์มไวรัส เผ็ด สวย ดุ ณ เก๋ไก๋ (ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) 

หนังสั้น + มิวสิควีดีโอของชาวคณะฟิล์มไวรัสและผองเพื่อน
Don’t Mess with Us: Filmvirus and Friends

ฉายที่ห้องเรวัติ พุทธินันทน์ ชั้นใต้ดิน U 2 ของ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ (ตึกสีขาวสูงริมน้ำ) - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน 
เริ่มงาน 12.30 น.  

* * * อย่าจ่ายค่าเข้าห้องสมุด เพียงแจ้งเจ้าหน้าที่หอสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ และกรุณางดใส่กางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น และรองเท้าแตะ เนื่องจากเป็นสถานศึกษาและสถานที่ราชการ * * *

ขอเชิญชมหนังที่ทำโดยสมาชิกกลุ่มฟิล์มไวรัสและคนใกล้ชิด เชิญร่วมทัศนา พูดคุย และวิจารณ์ยำใหญ่ได้แบบไม่ยั้งมือ  
ร่วมด้วยคุณ สุชาติ สวัสดิ์ศรี จะนำหนังสั้นเรื่องใหม่สดที่ไม่เคยฉายที่ไหนมาก่อนมาเปิดตัวที่นี่ รวมทั้งจะให้เกียรติมาร่วมสนทนาด้วย
(ร่วมวิจารณ์ยำใหญ่ ฟิล์มไวรัส แบบไม่ยั้งมือ โดย กฤติยา กาวีวงศ์ และ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์)

โปรแกรมภาพยนตร์ ตอน 1 (อาจเปลี่ยนแปลงตามจำเป็น) 

วันที่ดวงจันทร์เข้ามาใกล้โลกมากที่สุด (The Day the Moon Encounter the Earth’s Orbit) (2010) / วีระพงษ์ วิมุกตะลพ / 9 นาที  
VCD คำถาม กำกับและนำแสดงโดย ฌัฏฐ์ธร กังวาลไกล / 15 นาที
'Wherever You Will Go' (2009) / คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง / 5 นาที
'ฯยามวิกาลฯ' / Nocturnal Happening (2004) / 'อลงกต' / 13 นาที (สยองขวัญแนวทดลอง)
ประวัติย่อของบางสิ่งที่ยังไม่จบสิ้น (pulsatile mass) / 2009 / นฆ ปักษนาวิน / 40 นาที

พักแลกเปลี่ยนความเห็น 1
โปรแกรมภาพยนตร์ ตอน 2 (อาจเปลี่ยนแปลงตามจำเป็น) 

พายุผีเสื้อ /The Butterfly Effect (2008) วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา / 17 นาที
เพ็ญ /La Lunar (2009) วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา / 8 นาที
Weekend News / 5 นาที / ไกรวุฒิ จุลพงศธร
Tunyares / 12 นาที / ไกรวุฒิ จุลพงศธร
Sorry... / 5 นาที / ไกรวุฒิ จุลพงศธร 
'ชุติมา' (2007) / รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค / 16 นาที (สร้างจากบทกวีรางวัลซีไรต์ของ มนตรี ศรียงค์)
Ma vie incomplet et inacheveee' (2007) / รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค / 4 นาที (animation)
รอยยิ้มในคืนที่ 5 (Smiles of the 5th Night) (จากชุดหนังสึนามิ) / 2005 / สนธยา ทรัพย์เย็น / 16 นาที (unreleased version)

พักแลกเปลี่ยนความเห็น 2
โปรแกรมภาพยนตร์ ตอน 3 (อาจเปลี่ยนแปลงตามจำเป็น) 

I’m Nobody, Who are You? (1987) / สมเกียรติ์ วิทุรานิช / 15 นาที
'ขุนนางป่า' กำกับโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
'บ้านของพรุ่งนี้' กำกับโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
'ไม้เหลือง' กำกับโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
'คนฉายหนัง' กำกับโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
'ดำกับแดง' กำกับโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
MV ลูกตะกั่ว 3 ลูกในหัวลูกหมู / ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ / 6 นาที 
พิภพบรรฑูรย์ / 25 นาที / อุทิศ เหมะมูล
MV สว่างไป สว่างมา (improvised version) ของวง Vinegar Syndrome / สนธยา ทรัพย์เย็น / 8 นาที  

25.9.53

ฝันอะไรของมันวะ

ปกติฝันแล้วลืมหมด แต่อันนี้ยังจำได้ วันอังคารที่ 21 กย. ก่อนออกเดินทางไปลพบุรี กับ เม อาดาดล ไปสัมภาษณ์นักพากย์ชรา ป้าประหยัดอายุใกล้ 80   เช้าวันนั้นฝันว่าคุ้ยหนังสือที่ร้าน เจอหนังสือ Mizoguchi and the City แปลกใจเพราะไม่ได้ชอบเขานักหนา ไม่ได้นึกถึงมานานด้วยซ้ำ ที่สำคัญคือแน่ใจว่าไม่มีหนังสือเล่มนี้อยู่จริงในโลก หน้าปกเห็นชัดเจนเป็นพื้นสีเขียว เป็นรูป เคนจิ มิโซงุจิ ครึ่งตัวหันหน้าหากล้อง รูปแบบนี้น่าจะหายาก ปกติรูปทั่วไปของเขาก็ไม่ค่อยได้เห็นกันเท่าไร รู้สึกว่าหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับหนังของเขาน่าจะมีพิมพ์ออกมาเล่มเดียว และไม่ใช่เล่มนี้แน่ ๆ

ฝันว่าดูหนังของ วชร กัณหา สามเรื่อง คงกะเอามาฉายในงานเผาฟิล์มไวรัส สองเรื่องแรกเป็นแนวทดลองไม่เล่าเรื่อง เรื่องที่สามเล่าเรื่อง แต่เห็นนมคุณยาย เลยตั้งชื่อว่า “พายายหมอนชมสวน” ในฝันเห็น ธีรนิต์ พูดอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเลสเบี้ยน

26.7.53

Breathless by Movie Magic

Movie Magic
หนังมหัศจรรย์ที่ได้ดูในช่วงเดือนนี้


1. Bare Essence of Life (Urutora mirakuru rabu sutôrî) 2009 หนังของ Satoko Yokohama “สวรรค์เปิด เคียงใจ”

2. A Gentle Breeze in the Village (Tennen kokekkô) 2007 หนังของ Nobuhiro Yamashita “จังหวะชีวิตแสนงาม”

3. ลุงบุญมีระลึกชาติ หนังเจ้ย ไม่มีคำว่าผิดหวัง “ลึกลับ และเรืองรอง”

4. Cracks (2009) หนังของ Jordan Scott ลูกสาวของ Ridley Scott ทำหนังดีกว่าพ่อหลายร้อยเท่า Eva Green (อีวา กรีน) The Dreamers, Casino Royale นำแสดงเลือดเย็นได้ใจ แต่เปราะบางแบบลึก ๆ

5.2.53

ฉันทำได้มากกว่าแจ๋วนะยะ - ทำหนังคุยกับคนบ้าสไตล์ Allie Light

ฉันทำได้มากกว่าแจ๋วนะยะ - ทำหนังคุยกับคนบ้าสไตล์ Allie Light

สำหรับผู้หญิงที่มีความซับซ้อนทางจิตใจทั้งเบาและหนักที่ไม่อาจเอื้อนเอ่ยอออกมาให้ใครเข้าใจได้ เมื่อหมอบำบัดจิตบอกเธอให้กลับบ้านไปถูบ้านและเข้าครัว แอลลี่ ไลท์ กลับเลือกที่จะทำหนังเกี่ยวกับตัวเธอและอารมณ์เก็บกดของผู้หญิงทั้งเจ็ด ในเรื่อง Dialogues with Madwomen

อ่านสัมภาษณ์ แอลลี่ ไลท์ ได้ที่:
Review and Interview with Allie Light:
http://www.brightlightsfilm.com/14/madwomen.php
Bright Lights Film Journal
Issue 14, September 1995
สัมภาษณ์โดย Gary Morris