30.6.52

My Sassy BookVirus ตอน 14: The Mayor’s Tongue (by Nathaniel Rich)

The Mayor’s Tongue
แต่งโดย Nathaniel Rich

ตอนแรกนึกว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยการเขียนบทหนังของเราได้ แต่แล้วก็ไม่ หรือที่จริงคงช่วยทางอ้อม อย่างน้อยก็ทำให้ได้รู้ว่า ต้องเปลี่ยนการเล่าเรื่องใหม่จะใช้โครงสร้างเดิมไม่ได้แล้ว

นิยายเรื่องนี้มีโคงสร้างสองเรื่องเล่าสลับกันไป ประมาณตัวละครสองชุดที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยเล่าเรื่อง ในชุดที่หนึ่งเล่าเรื่อง ยูจีน หนุ่มอเมริกันเชื้ออิตาเลี่ยนที่มีความผูกพันกับครอบครัว แต่ก็เลือกที่จะอยู่ห่างจากพ่อ ทั้งๆ ที่พ่อก็รักและเขียนจดหมายหาตลอด แต่เขาก็หลอกพ่อว่าไปทำงานที่ฟลอริด้า ยูจีน ทำงานขนของไม่ได้ไกลจากบ้านเท่าที่พ่อคิด เพื่อนคนสนิทคือ อัลวาโร่ หนุ่มชาวโดมินิกันที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้แม้แต่คำเดียว แต่สุดท้ายก็สื่อสารกับเขารู้เรื่องโดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด อัลวาโร่ มีเมียแล้วแต่ก็มีเสน่ห์ทางเพศกับพวกผู้หญิง ชอบพามานอนที่พักเดียวกับยูจีนบ่อย ๆ วันหนึ่ง อัลวาโร่ บอกให้ยูจีน ช่วยแปลหนังสือที่เขาแต่งเป็นภาษาอังกฤษให้หน่อย ทำไปทำมาน่าประหลาด ยูจีนแปลได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ศัพท์โดมินิกันซักคำ

ยูจีน ชอบผลงานนักประพันธ์ชื่อ คอนแสตนซ์ อีกิ้นส์ มาก วันดีคืนดีไปยกของที่บ้านชายแก่คนหนึ่งซึ่งบังเอิญเป็นเพื่อนซี้ของอีกิ้นส์ มีผลงานของอีกิ้นส์ทุกเล่ม รวมทั้งเล่มที่หายาก หมอนี่กำลังแต่งชีวประวัติและบทวิเคราะห์ผลงานของอีกิ้นส์อยู่ แถมยังมีลูกสาวทรงเสน่ห์ชื่อ แอลิสัน ต่อไปคงเดาไม่ยาก boy meets girl แอลิสันเดินทางไปหา อีกิ้นส์ ที่คนเข้าใจว่าตายไปแล้วที่อิตาลี่ พระเอกของเราก็เลยต้องออกตามหาตัว ระหว่างทางก็เจอแต่คนแปลก ๆ ที่ไม่รู้ว่ามีจริงไหม

อีกเรื่องหนึ่ง เพื่อนสองคนคือ นายชมิทซ์ กับนายรัทเธอร์ฟอร์ด ฝ่ายหลังเป็นกระโถนรับฟังคนแรกมานานวัน โดยคนแรกไม่ได้รู้เลยว่าคนฟังมันก็มีปัญหากับเขาเหมือนกัน วันหนึ่งเพื่อนขอลาไปย้อนอิตาลี่ นายชมิทซ์ ถึงกับเคว้ง ไม่มีเพื่อนให้คุยด้วยทุกวันเหมือนเมื่อก่อน อันที่จริง เมียเขานี่สิก็อยากจะสื่อสารกับเขา แต่เขาก็ใจห่าง ติดเพื่อนเหมือนตังเม มาตอนหลังเมียตาย แต่ก่อนตายเมียเลี้ยงม้าน้ำ (ม้าน้ำนี่เวลาคู่มันตายนี่ ตัวที่เหลือมันมีแต่ตายด้วยสถานเดียว) พอลำพังโหวงเหวง นายชมิทซ์ เลยออกตามหาเพื่อนดีกว่า

เรื่องราวมันพัลวันพัลตูเหลือเกิน ทำให้นึกถึงนิยาย Peter Carey เรื่อง My Life as a Fake ที่ตัวละครจริงและตัวละครเรื่องแต่งมีบทบาทซ้อนกันไปหมด (แต่ของ ปีเตอร์ แครี่ย์ ไม่ชอบเลย) ขนาดตัวนางเอกเอง มีทั้งชื่อ แอลิสัน อกาธ โซเนีย และชื่ออะไรอีกชื่อหนึ่ง ส่วนตัว คอนแสตนซ์ อีกิ้นส์ ก็เป็นตัวละครอุปโลกน์ขึ้นมา ไม่มีนักเขียนคนนี้อยู่จริง การเผชิญหน้าของตัวละครแต่ละชุดในตอนท้ายก็เลยเหมือนการได้พบกับปัญหาในอดีตบางอย่างที่ตัวละครแต่ละฝ่ายซ่อนไว้นานมาก โชคดีด้วยที่ตัวละครในสองเรื่องไม่ได้เจอกันหรือแม้แต่รู้จักกัน อันนี้เป็นอันเดียวที่ตรงกับความตั้งใจของบทหนังเรา

Nathaniel Rich เขียนนิยายเล่มนี้เป็นเล่มแรก การใช้ภาษาและโครงสร้างดีมาก เสียแต่เรื่องซับซ้อนขนาดนี้ แต่มันก็ยังไม่ได้ให้ความใหม่เสียทีเดียว ดูรูปนักเขียนแล้วยังหนุ่มมากหรือหน้าเด็กก็ไม่รู้ เล่มหน้าตัวละครอาจจะคมคายกว่านี้อีกก็เป็นไปได้

25.6.52

My Sassy BookVirus ตอน 13 : รวมเรื่องสั้น Fever ของ J. M. G. Le Clezio

BookVirus หนังสือชวนอ่านตอน 13

Fever ของ J. M. G. Le Clezio ลื้อทำอั๊วไข้ขึ้น

อ่านเรื่องสั้น Fever ของ J. M. G. Le Clezio แล้วก็อดคิดถึง L'Étranger ของ Albert Camus ขึ้นมาตระหงิด ๆ แนวการบรรยายความร้อนระอุที่ทำให้ภูเขาอารมณ์ทะลักทะลาย มนุษย์มนาตาลายนี่ไปกันได้ทีเดียว แต่ของ J. M. G. Le Clezio นี่หลายๆ ตอนเหมือนเสริมด้วยแว่นขยายที่ส่องไปบนพื้นผิวจิ๋ว ๆ ทุกชนิด ขยายกันขึ้นมาเหมือนโบลว์ซีร็อกซ์นับล้านเท่า พาตัวหนังสือไปจากความสมจริงละเอียดลึกเข้าไปสู่ภาพฝันฟุ้งได้ในชั่วพริบตา แถมด้วยเลนส์ไวด์แองเกิลแบบฟิชอายเข้าไปอีก แต่ไม่ใช่ว่าจะเหมาะทำเป็นหนังหรอกนะ ตรงข้ามเลยต่างหาก

อันที่จริงเนื้อเรื่องก็มีนิดเดียวเหมือนความจำเจในชีวิตของสองผัวเมียที่เหมือนชีวิตเรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละ เพียงแต่ใครจะล่วงหน้าไปสู่ความทะลักล้น หรือเน่าเปื่อยผุพังไปก่อนเท่านั้น พี่แกเล่นบรรยายละเอียดกว่าเทคนิคสโลว์โมชั่นหรือสต็อปโมชั่นสียอีก ขนาดเล่นอธิบายความเป็นไปของเหรียญ ของธนบัตร ฟุตบาธทุกอย่างที่เท้าคนผ่านทาง สายตากวาดถึง แถมขยายตูมมันเหมือนระเบิดฮิโรชิม่า มันเป็นความวิปริตใต้พื้นผิวที่แสน ordinary แสน surreal บรรยายความอย่างพิลาศพิไลอลังการเหลือเกินพับเผ่ย บางทีอิทธิพลพวกฝรั่งเศสแบบที่เน้นรายละเอียดนี้คงจะมาจากพวก Marcel Proust กระมัง ยกตัวอย่างให้มันโก้ ๆ ไปยังงั้นแหละ ไม่คิดจะอ่านหรอก In Search of Lost Time ระหว่างนี้ขอ wasted time กับวรรณกรรมร่วมสมัยก่อนล่ะพะยะค่ะ บางทีชีวิตนี้ ขอแค่มีความสุขกับหนังสือแบบ Theory of Clouds ของ Stéphane Audeguy หรือ Last Evenings on Earth ของ Roberto Bolaño ก็พอ แต่ถ้าแบบ Cloud Atlas ที่สุดเสแสร้งทำตัวเป็นโมเดิร์นเก๊ๆ ของ David Mitchell น่ะ พอกันที