30.4.51

ให้โห่ ให้ ไฮ-อาร์ต (Hi Ho to Hi-Art)

ให้โห่ ให้ ไฮ-อาร์ต (Hi Ho to Hi-Art)

“I’d always wanted to know the difference between a mark that was art and the one that wasn’t”
Roy Lichtenstein

แกลเลอรี่กับพิพิธภัณฑ์ทำให้คนไทยใส่รองเท้าแตะรู้สึกแปลกแยกมันก็ใช่ แต่มันก็เป็นเรื่องของท่าทีสังคมบวกกับสภาพแวดล้อม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกจ้างมาให้เฝ้าทรัพย์มากกว่าจะเป็นความผิดของตัวงานศิลปะเอง ขณะเดียวกันมันก็เป็นความจริงที่น่าเสียดาย ถ้ามันทำให้เราขยาดที่จะเข้าหาโลกใบนั้น โลกที่ถือเป็น high art หรือของสูงทั้งหลายพวกนั้น จริง ๆ แล้วมันก็เชื่อมต่อกับดนตรี นาฏกรรม วรรณกรรม จนมาถึงหนัง (ที่ถูกเหยียดจากปัญญาชนระดับสูงอีกทีว่าเป็นเศษเดน หรือศิลปะที่มีเทือกเถาเหล่ากอจากละครสัตว์ ตลกจำอวดซึ่งยังไงก็เป็นได้แค่ความบันเทิง) ซึ่งหากเรารวบศิลปะหลากหลายพวกนี้ไว้ในระนาบเดียวกันได้ มันจะทำให้เรามองภาพศิลปะในองค์รวมได้ดีกว่าที่จะเลือกเสพเพียงบางชนิด (ตามเงื่อนไขจำกัดของสังคม)

เมื่อก่อนนี้เคยไปดูงานของ Julian Schnabel (ตอนนั้นเพิ่งทำหนังเรื่องแรก Basquiat) รู้สึกตะเกียกตะกายหาแกลเลอรี่ได้ยากมาก เป็นแกลเลอรี่ชื่อ Kyoko Gallery อยู่ในซอยต้นสน ตรงข้ามเซ็นทรัลชิดลม แถวเพลินจิต (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นอะไรสักอย่าง CelineJulie คงรู้จักดี) การเข้าไปดูแกลเลอรี่สมัยนั้น (โดยเฉพาะอันที่เป็นของฝรั่งหรือคนต่างชาติเปิด) หรือกระทั่งในสมัยนี้ ถ้าเป็นคนไทยก็คงมีแต่คนจำพวกคนชั้นสูง หรือไม่ก็นักข่าว แต่ถ้าเป็นพวกลักปิดลักเปิด ไม่ระบุพันธุ์แบบเราเรา มันก็ยังเป็นสิ่งแปลกปลอมเสมอมา ไม่เปลี่ยนแปลง

มาเดี๋ยวนี้ ถึงไม่เดินในแกลเลอรี่เลย เราก็ยังมีหนังสือศิลปะกับอินเตอร์เน็ตให้ขัดตาทัพได้บ้าง งานศิลปะจำพวก Pop Art ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการเชื่อมต่อข้ามวรรณะ โดยเฉพาะงานของ Roy Lichtenstein (รอย ลิคช์เต้นชไตน์) ศิลปินอเมริกันที่จำลองภาพสาธารณ์จำพวก ภาพโฆษณา, ธนบัตร, มิคกี้ เม้าส์, โดนัลด์ ดั๊ค หรือการ์ตูนโรมานซ์เล่มละไม่กี่สตางค์มาให้เราตั้งคำถามกับการเสพสื่อแบบ mass products

อย่างที่เคยคุยกับ filmsick ไว้เรื่องการตีความโจทย์สูตรสำเร็จจำพวก “นางแมวบ้าน” ในหัวข้อ “นรกแห่งการอธิบายตัวเอง” Lichtenstein เป็นศิลปิน Pop Art อีกคน (แนวทางใกล้ Andy Warhol) ที่น่าสนใจศึกษาควบคู่กับหนังพี่น้องตระกูล Coen, Quentin Tarantino, หัวใจทรนง (The Adventures of Iron Pussy) บ้านผีสิง หรือ แม่ย่านางของ เจ้ย – อภิชาติพงศ์ เพราะ Lichtenstein หยิบเอาธรรมชาติพื้นฐานและการเข้าถึงชนวงกว้างของวัตถุดิบในชีวิตประจำวันมาเล่นอย่างยั่วเย้าและเอ็นดู

ตัวละครประเภทชายหนุ่มหญิงสาวที่ต้องมนต์รัก ห้วงคิดคนึงหาของเจ้าหล่อนที่ปวดร้าวจากความรักเจียนตายในการ์ตูนดาษดื่นได้ถูกนำมาจำลองสีใหม่ เพิ่มจุดตารางแบบ Benday Dots ในกระบวนการพิมพ์การ์ตูนให้เน้นสถานะการพิมพ์เชิงปริมาณ (ซึ่งตรงข้ามกับชิ้นงานศิลปะที่ส่วนใหญ่ต้องเน้นตัวตนและความเป็นชิ้นงานเดียวในโลก) ภาพที่ขาดจิตใจส่วนตัวแบบนี้ถูกขยายยักษ์เป็นเฟรมใหญ่ ติดฝาผนังแกลเลอรี่ คำพูดและความคิดที่แสนน้ำเน่าซึ่งหลุดจากปากของตัวละครที่กำลังอินกับโชคชะตาของตัวเองอย่างสุดแสน “ฉันไม่สนหรอก ฉันยอมจมน้ำตายเสียดีกว่าที่จะไปง้อแบร้ด ให้มาช่วย” รวมทั้งสัญลักษณ์รูประเบิด-เสียงปืนตูมตามของฝรั่งประมาณ “Wham!”, “Takka Takka!”, “Varoom!”, “Blam!” จากการ์ตูนก็ชวนให้เรารู้สึกคุ้นเคยและปลอดภัยในธรรมชาติของตัวการ์ตูนเอง แต่ขณะเดียวกันเมื่อรหัสหรือภาพลักษณ์ชนิดอันนั้นถูกแยกออกจากเนื้อหาดั้งเดิม มันก็ยิ่งเน้นรูปฟอร์มที่กลวงเปล่าของตัวมันเองมากขึ้น

28.4.51

The New Life หนังสือต้องห้ามของ Orhan Pamuk

The New Life หนังสือต้องห้ามของ Orhan Pamuk

เห็นถกเรื่องเซ็นเซอร์ทีไร เพื่อนเราจิกขมับทุกที ทีฉายหนัง Shuji Terayama ไม่ยักกลัวคนมีสี

จู่ ๆ นิยายเรื่อง The New Life ของ Orhan Pamuk ก็แวบขึ้นมา ก็คนแต่งที่เขียนบทคารวะกันเป็นพิเศษไปใน Bookvirus เล่ม 1 (2544) น่ะแหละ หนังสือเล่มนี้มันไม่ใช่แค่เกี่ยวกับการหลงรักหนังสือเล่มที่เปลี่ยนชีวิตมากเกินไป แต่มันเกี่ยวกับ identity ของคนอ่าน เกี่ยวกับ identity ของคนทั้งชนชาติที่แอบแฝงอยู่ภายใต้เรื่องราวแนว coming of age

การอ่านหรือสนใจ art มันเป็นเหรียญ 2 ฝา มันเป็นทั้งไวรัสบวกและลบ มันถูกทำให้เสียความบริสุทธิ์ในโลกการแปลความของการทำความเข้าใจ ของอคติ ของศรัทธาจากฝ่ายอิสลามหัวอนุรักษ์และหัวสมัยใหม่ที่ทำให้เกิดรอยแยกระหว่าง “ต้องอ่าน” กับ “ต้องห้าม”

Orhan ตัวเอกของเรื่องอ่านหนังสือ The New Life แล้วทำให้อยากค้นหาโลกแบบหนังสือที่น่าจะมีอยู่จริง เขาไม่รู้ว่าการได้พบ-ได้อ่านนิยายเล่มนี้ของเขาก็ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นอุบายของหญิงสาวที่เขาแอบปิ๊งกับแฟนหนุ่ม เขาจำพลัดจับผลูออกเดินทางไปกับเธอเพื่อติดตามหาหมอนั่น เพื่อที่จะค้นพบว่าการเดินทางวนเวียนไปมาบนรถ ขสมก ทั่วประเทศทำให้เขาต้องฝืนใจเติบโตในทางที่ไม่คาดฝันมาก่อน เพราะมีคำถามมากมายเกิดขึ้นกับเขาในเรื่องรากเหง้าการเติบโตข้ามวัฒนธรรม

ตอนแรกอ่านภาษาบรรยายความรู้สึกของ Orhan แล้วรู้สึกรำคาญ แต่พอชินแล้วกลับยิ่งกลมกลืนไปกับประเด็นรอยแยกทางวัฒนธรรมเก่า-ใหม่ของตุรกี รู้สึกอินกับมันทั้งในประเด็นอันตรายของการอ่าน และรอยแผลของการเติบโตที่แฝงอยู่ตั้งแต่สิ่งแวดล้อมวัยเด็ก เช่น หนังสือการ์ตูน และลูกอมคาราเมล รู้สึกช็อคและซึมในบทสรุปของวันเวลาที่ลาลับ The New Life เป็นหนังสือที่หนุ่มสาวทุกคนน่าจะได้ลองอ่านเช่นเดียวกับ The Catcher in the Rye ของ J. D. Salinger แถมประเด็นเซ็นเซอร์หรือเหตุร้ายทางภาคใต้ก็น่าจะเหมาะมากขึ้นกับคนไทย

เคยเชียร์ให้สำนักพิมพ์ด็อกโฟร์ ที่พิมพ์ Flicker ได้พิมพ์เล่มนี้ แต่กว่าที่เขาจะได้อ่านแล้วเริ่มติดต่อลิขสิทธิ์ก็ถูกคนอื่นคาบไปแล้ว พอหลังจากที่ Orhan Pamuk ได้รางวัลโนเบลก็คิดว่าน่าจะพิมพ์ออกมา กระทั่งล่วงเลยหลายปีจนป่านนี้ก็ยังไม่เห็นเงา ถ้าเป็นสนพ. นานมีก็ไม่แปลก เจ้านี้เขาดองหมด ทั้ง Elfriede Jelinek ก็ดองจนเค็มไปแล้ว


และเพื่อยียวนสำนวนคลาสสิคของ ‘สิงห์สนามหลวง’ เกี่ยวกับความสำคัญของการเขียนจดหมาย “การเขียนจดหมายเป็นศิลปะประเภทหนึ่ง” ดังนั้นจึงต้องมี “การไม่มีฉบับแปลภาษาไทยของ The New Life ถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง (ที่ไม่น่าให้อภัย)”

24.4.51

นรกแห่งการอธิบายตัวเอง

นรกแห่งการอธิบายตัวเอง
Complain is my vocation and the story of a miserable diarist

ถึงเวนเนีย กับ ปานิ - มีประเด็นที่น่าสนใจในหนังสือของ Yoko Tawada ที่อาจจะไปกันได้กับนิยาย The Blindfold ของ Siri Husvedt (คู่ชีวิตของ Paul Auster) ภาษาของผู้หญิง 2 คนนี้ไปกันได้กับ Marguerite Duras คือถึงจะมีพล็อตเรื่องแต่มันก็ไร้ฟอร์มดูนามธรรมดี ต่างจากพวกนิยายเบสต์เซลเล่อร์สอย่าง Nicci French อย่างลิบลับ เพื่อนเราหลายคนที่ชอบนิยายผู้หญิงแสบ ๆ หลอน ๆ น่าจะชอบ แต่ไม่ยักมีใครเอาไปแปล

กำลังคิดอยู่ว่าจะสามารถเอาไปแนะนำใน “อ่าน” นิตยสารวรรณกรรมเล่มใหม่ในเครือ ฟ้าเดียวกัน ได้ไหม แต่คงเขียนยากว่ะ ตอนเขียน Joseph Cornell ให้ช่อการะเกด ก็ดันมีคนดักคอตั้งแต่ไม่ทันอ่านว่า ไอ้บ้านี่เขียนอ่านไม่รู้เรื่อง แหง ๆ เออ คงจะจริงแหละ บางทีอ่านแล้วก็แหม่ง ๆ

เขียนหนังสือนี่มันเป็นเรื่องน่าเบื่อแท้ สงสัยว่าการอธิบายความคิดตัวเองนี่มันสนุกตรงไหน ข้อดีอย่างเดียวของการบันทึกคือการทำให้จดจำได้ ยิ่งพักหลังนี่ความจำเลวร้ายสุด พอนึกพล็อตดี ๆ ออก เผลอแว๊บเดียวลืมหมด อยากจะโทษว่าเป็นเพราะไม่เคยใส่ใจวิชาเรียงความหรือเปล่าก็ไม่รู้ ทำให้คิดว่าเขียนอะไรก็ไม่รอด ยิ่งเขียนเองก็ยิ่งงงเอง เขียนอารมณ์ขันก็เข้าใจเป็นแดกดัน แล้วคนอื่นจะเข้าใจได้ไง แล้วทำไมเราต้องเชื่อใจภาษาด้วยวะ

พล็อตหนังเรื่อง “นางแมวบ้าน” (รักเสียให้เข็ด) คิดไว้เกือบ 20 ปีแล้ว เรื่องนี้เคยลงแบบหยอกไก่ (ไม่ใช่เวอร์ชั่นจริง) ใน Filmvirus 2 แล้วก็เคยหยิบเวอร์ชั่นจริงให้คน 10 คนอ่าน ไม่มีใครเก็ตสักคน นี่มันหนังเกี่ยวกับหนังไทยนะเว้ย หาว่าเป็นหนังล้อเลียนหนังไทยบ้างล่ะ ถ้าแค่ล้อเลียนจะทำไปทำไม อย่าง ฟ้าทะลายโจร กับ เปนชู้กับผี น่ะ เป็นแค่การเอ็กเซอร์ไซส์ต่อมแฟนคลับ ส่วน หัวใจทรนง ของ เจ้ย กับ ไมเคิล ก็น่ารักดี ชอบ แต่นั่นก็เป็นหนังที่จงใจทำตลกให้น่าเอ็นดู ของเราไม่ได้ตลกสักหน่อย ไม่ได้กะเลียแข้งครู หรือทำตัวหวนอดีตวันวานหวานเลี่ยน แล้วมันก็ไม่ได้ล้อเลียนใครแน่ ๆ แค่ล้อเลียนหรือไหว้ครูมันไม่พอหรอก ครูตัวจริงเขาคงไม่หวังให้ศิษย์หลงครูไปทุกเรื่อง

23.4.51

Nicci French's the One

Nicci French's the One Duo you can't miss


ไม่รู้ว่าเพื่อน ๆ สนใจอ่านหนังสือของ Nicci French (นิคคี่ เฟร้นช์) บ้างมั้ย โอเค เราไม่เคยคุยกันเรื่องนิยายอาชญากรรม ยังกับเรื่องแนวรหัสคดีพวกนี้มันต่ำต้อยในสายตาคนชอบหนังคลาสสิคยังงั้นแหละ เอ้า ใครอ่าน เชอร์ล็อค โฮล์มส์, อกาธ่า คริสตี้, อาร์แซน ลูแป็ง บ้างยกมือขึ้น เห็นไหม อายล่ะสิ ข้าน้อยก็ไม่ได้อ่านมานานแล้ว มีอ่าน Ruth Rendell (รูธ เรนเดลล์) กับเรื่องสั้นนักเขียนอาชญากรรมหญิงบ้างนิดหน่อย อ้อ นิยาย Patricia Highsmith(แพตตริเซีย ไฮสมิธ) กับ Georges Simenon (จอร์จส์ ซิเมอนง) ด้วย ชอบทั้งหนังและหนังสือ หนังฝรั่งเศสหลายเรื่องก็เด็ดดวงมาก ๆ โดยเฉพาะเรื่อง The Watchmakers of St. Paul หรือ Red Lights

อ่านนิยาย Nicci French แล้วติดพันยิ่งกว่าอ่าน ดอสโตเยฟสกี้ ล้านเท่า ลุ้นระทึกยิ่งกว่าหนัง อัลเฟรด ฮิทช์ค็อค กับ เรนนี่ ฮาร์ลิน รวมกัน นิยายของ French อาจจะได้เทคนิคอะไรมาบ้างจากหนังของ ฮิทช์ค็อค แต่ต่างกันชัดตรงที่ ฮิทช์ค็อค มันมีมุมมองซาดิสต์ ต่อตัวละครหญิงมาก ๆ แล้วในหนังส่วนใหญ่ก็ชอบสาวไส้ว่าคนดูเองน่ะแหละที่มีบาป แถมยังลากคนดูให้มีส่วนมือเปื้อนเลือดไปพร้อม ๆ กัน (อย่างที่ตา Michael Haneke กลัวเราไม่เก็ทเลยทำให้เห็นโต้ง ๆ โดยการให้ตัวร้ายยักคิ้วหลิ่วตาหาพวกจากพวกเราคนดูใน Funny Games)

ส่วนจุดต่างทีเด็ดที่ Nicci French มีคือมีตัวละครเอกเป็นหญิงสาวที่ใจคอหนักแน่น ต่อให้ดูอ่อนแอ ล้มลุกคลุกคลานบ้าง เธอก็จะลุกขึ้นสู้แล้วก็ถีบผู้ชายชั่ว ๆ อย่าง ฮิทช์ค็อค ให้กระเด็น หนอยชอบทารุณกรรมสาวผมบลอนด์ ไปตายเสียเถอะ ไอ้แก่หัวล้านพุงพลุ้ย

ไม่รู้ว่านิยายของเธอสานต่อพล็อตหนังจำพวก “คำเตือน: หญิงสาวอย่าไว้ใจแฟนหรือคนใกล้ชิด” บ้างหรือเปล่า ยิ่งหนังจำพวกที่ Patrick Bergin แสดงกับ Julia Roberts เรื่อง Sleeping with the Enemy แล้วก็เรื่องที่ Bergin แสดงกับ Sean Young ใน Love Crimes ของ Lizzie Borden คนที่ทำหนังเฟมินิสต์สุดโต่งอย่าง Born in Flames และ Working Girls (คนละเรื่องกับหนังสตูดิโอ) สงสารอีตา Bergin นี่ไม่รู้มีโอกาสเล่นเป็นตัวดีบ้างมั้ย เพราะถูกจัดให้เล่นแต่บทชั่ว ๆ เหมือนดาวร้ายหนังไทย

ตอนแรกอ่านหลังปกนิยาย Beneath the Skin เห็นเขียนทำนองว่า 3 สาว 3 สไตล์มีจุดร่วมเหมือนกันอย่างหนึ่งคือได้จ๊ะเอ๋กับฆาตกรโรคจิต เลยหลงเข้าใจว่า ท้ายเล่ม 3 สาวคงแท็คทีมรุมกระทืบเจ้าหมอนั่นแบบ Death Proof สะใจแหงๆ ที่ไหนได้ 3 สาวไม่ยักกะได้เจอกัน คนแรกก็เดี้ยง คนสองก็ด๋อย เหลือเหยื่อรายสุดท้าย คนที่ทนอดมากที่สุดนี่แหละที่ต้องรับมือกับมันเอาเองเพียงลำพัง

เหลือเธอคนเดียวจริง ๆ ด้วย ตำรวจและเพื่อนฝูงก็พึ่งพาไม่ได้ ต้องใช้สติปัญญากันล้วน ๆ แต่เธอเด็ดเดี่ยวกว่า 2 สาวคนแรกเยอะ เพราะคนแรกที่เป็นครูนั้นแปลกถิ่นและพึ่งพิงแฟนหนุ่มเกินไป คนที่สองก็สลัดบทบาทแม่บ้านเฝ้าคฤหาสน์ไปไม่พ้น สุดท้ายเธอพกพาความกล้าเข้าสู้มันแบบข้ามาคนเดียว สะบะละฮึ่มกันไปทั้งคนเขียนคนอ่าน

Nicci French ไม่ใช่คนหัวเดียวกระเทียมเจียว แต่เป็นนามปากกาของคู่ผัวเมีย Nicci Gerrard และ Sean French ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมอยู่แล้วทั้งคู่ ฝ่ายหญิงพอจบด้านวรรณกรรมมาก็สอนวรรณกรรมแล้วก็เป็นบรรณาธิการด้านนี้ ส่วนฝ่ายชาย Sean ก็คล้ายกัน เคยเป็นบรรณาธิการ Sunday Times เซ็คชั่นวรรณกรรม เขียนวิจารณ์หนังสือ-ละครเวที-ภาพยนตร์แล้วก็เคยเขียนนิยาย หนังสือชีวประวัติดารามาก่อน วันหนึ่ง Sean มาปิ๊งกันกับ Nicci ที่เพิ่งเลิกกับแฟนเก่าก็เลยร่วมหัวจมท้ายเขียนงานอาชญากรรมที่เน้นตัวละครจากมุมมองของผู้หญิง (แปลกดีเหมือนกันที่นักเขียนนิยายอาชญากรรมระดับเซียนจำนวนมากเป็นผู้หญิงอังกฤษ ตัวอย่างเช่น Sarah Walters, Ruth Rendell, Carla Banks, P.D. James หรือ Agatha Christie) ตัวละครเอกแบบ Nicci French ต้องประสบปัญหาความไม่มั่นคงในเรื่องรัก ขาดความเข้าใจจากเพื่อนฝูง พ่อแม่ สังคม ทั้งสับสนในหน้าที่การงาน หาจุดยืนในการจัดวางภาพพจน์แบบผู้หญิงที่เหมาะสม แล้วถ้าเพลินใจไป Sleep กับใครแล้วเจ้าหมอนั่นมันจะถอดรูปเป็น Enemy หรือเปล่า

อีกเรื่องที่ลุ้นระทึกตั้งแต่บรรทัดแรก Land of the Living นางเอกถูกจับมัดขังไว้ในห้องมืด สภาพซกมกรอวันเน่าสลาย โอกาสรอดของเธอริบหรี่เต็มที แต่เธอก็อุตส่าห์หนีออกมาได้ แล้วพบกับความจริงที่ว่า โลกความจริงที่ไม่มีใครเชื่อถือเธอเลยยิ่งน่ากลัวกว่า เพื่อนฝูงก็ไม่ไว้ใจคำพูดเธอ ตำรวจก็ไม่เล่นด้วย แล้วก่อนหน้าที่เธอหายตัวไปไม่กี่วัน เธอก็ทำตัวแปลก ๆ ขนาดตัวเองยังงงว่าทำไปได้ เช่นไป sleep กับ stranger หรือไปนอนในอพาร์ตเมนต์ใครก็ไม่รู้ อย่างเดียวที่แน่ใจได้ก็คือ หากเธออยู่เฉย เจ้าโรคจิตมันต้องกลับมาเล่นงานเธอ หรือมองหาเหยื่อรายต่อไปแน่ ๆ

สรุปแบบสุภาษิตไทย ดูเหมือน Nicci French อาจจะบอกคนอ่านว่า ตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วผู้หญิงนี่เองแหละที่ควรจะดูแลความรู้สึกของกันและกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนกันอยู่แล้วหรอก ก็การที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อเหมือน ๆ กันนี่แหละที่จะทำให้ผู้หญิงซึ้งในคุณค่าของความเป็น Ya Ya Sisterhood มากขึ้น แล้วผู้ชาย หรือคนรักน่ะเรอะ อยู่ห่างๆ ฉันหน่อย ขอเวลาคิด อยู่คนเดียวดีกว่าเฟ้ย

เรื่อง Land of the Living นี้รับรองว่าถ้าเป็นหนังแล้วมือถึงจริงคงไส้บิดเป็นเกลียวแหง ๆ ฉบับแปลไทยก็มีให้พิสูจน์แล้ว รู้สึกจะเป็นของสนพ. มติชน

มหัศจรรย์เหลือเกินที่สองผัวเมียตระกูล French นี่ต่างคนต่างเขียนกันคนละบทแล้วมาช่วยกันเกลา แต่งานที่พิมพ์ออกมาก็ดูกลมกลืนเป็นเนื้อเดียว แปลกชะมัด

22.4.51

Notes from the Nasty Minds

Notes from the Nasty Minds
aka On Humanity of the Warped Mind or I Hate Your Guts or How similar / different between the 2 outstanding writers and how I end up intoxicated by them all


อ่านหนังสือเล่มนึงแล้วชวนให้นึกถึงอีกเล่มนึง The Catcher in the Rye ‘ ชั่วชีวิตของผม’ ของ เจ. ดี. ซาลิงเจอร์ มีอะไรคล้ายกันบ้างเหมือนกันกับ ‘บันทึกจากใต้ถุนสังคม’ (Notes from Underground) ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ (Fyodor Dostoyevsky) ทั้งสองเล่มมีตัวละครช่างบ่น น่ารำคาญยิ่งกว่าตัวละครในหนังของ Eric Rohmer สักร้อยล้านเท่า ไม่น่าแปลกใจว่าตั้งแต่สมัยเล่ม‘บันทึกจากใต้ถุนสังคม’ ออกใหม่ ๆ เมื่อชาติที่แล้ว (ตั้งแต่คราวปกอ่อนสัก 20 ปี แล้วมั้ง) อ่านวาง อ่านคว่ำอยู่นั่น เกือบไม่จบ แต่ก็แปลกที่ในความน่ารำคาญในหนังสือทั้งสองเล่ม รวมทั้งหนังต่าง ๆ ของ Erich Rohmer มีบางอย่างที่ดึงดูดให้ติดตามอยู่โดยตลอด

The Catcher in the Rye ‘ ชั่วชีวิตของผม’ ของ เจอโรม เดวิด ซาลิงเจอร์ มีตัวละคร โฮลเด้น คอลด์ฟีลด์ หนุ่มวัยรุ่นอายุสัก 17-18 ปีที่เป็นตัวแทนความกลัดกลุ้มปะทุฮอร์โมนเลือดร้อนของ ซาลิงเจอร์ เอง หมอนี่มันหาเรื่องบ่นไปได้ทุกเรื่อง แต่ขณะเดียวกันก็ทำตัวไม่เด็ดขาด ไม่เคยพอใจอะไรสักอย่าง ทำให้ทนอยู่กับใคร ทำอะไรไม่ได้นาน

ตัวละครไม่มีชื่อที่เป็นชายช่างบ่นวัย 40 ปีในห้องใต้ถุนของ ‘บันทึกจากใต้ถุนสังคม’ ก็ครือกัน ถึงจะยากจนมีปมต่ำต้อย แบบที่หนุ่มครอบครัวฐานะดีอย่าง โฮลเด้น คงไม่มีวันรู้จัก แต่ก็หวาดระแวง ขี้อิจฉา ขี้เหงาเหลือเกิน อยากได้เพื่อน อยากได้รับการยอมรับให้เข้าก๊วน พิลึกดีที่เขามีความหยิ่งถือดีในความรู้ของตัวเองแบบที่จำเขามาอีกทีแบบโง่ ๆ เนื้อหาในทั้งสองเล่มเต็มไปด้วย ฉากที่ตัวละครวิ่งร้องหาการยอมรับจากคนอื่น ความฝันเฟื่องฟุ้งซ่านที่ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่หนักเข้าไปอีกทุกที

ไม่น่าแปลกใจที่ตอนแรกวิธีการพร่ำบ่น ครวญคร่ำเถียงศีลธรรมในใจสไตล์ของ ดอสโตเยฟสกี้ อ่านแล้วอยากหนีห่าง (ไม่ต่างจากตัวเอกในนิยายของเขาเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะ ‘อาชญากรรมและการลงทัณฑ์’) แต่ในจุดหนึ่งเราแน่ใจได้ว่าเขาจริงใจ (คงเป็นแบบแผนของตัวละครแบบรัสเซียด้วยมั้ง เห็น ลีโอ ตอลสตอยก็พล่ามยาวพอกัน) และหน่ายใจกับความซกมกที่มีอยู่ในใจคนต่อให้กับคนที่มีสำนึกดีที่สุด

แต่ต่อให้ โฮลเด้น คอลด์ฟีลด์ จะดูเป็นเด็กเฮงซวย แต่ข้อดีก็คือ เขาก็ยังเป็นเด็ก ยังมีมุมงาม ๆ ยังมีโอกาสโต ยังมองเห็นความบริสุทธิ์ได้บ้างในตัวผู้คนหรือเพื่อนฝูง (แม้จะนานครั้ง) ซ้ำเขายังมีน้องสาวที่รักเขาอย่างจริงใจ ผู้ที่เป็นความบริสุทธิ์ที่ชัดเจนอันหนึ่งในชีวิต แล้วก็มีตอนที่เขาเล่าให้น้องสาวฟังว่าเขาอยากทำตัวเป็น Catcher in the Rye (ตามชื่อเรื่อง) คอยคว้าเด็ก ๆ ที่อาจจะเดินหลงทางตกภูเขาไป ไม่ต้องงงนานเลยว่า ทำไมตัวละครแบบนี้จึงอยู่ในใจของคนอเมริกันและคนทั่วโลกตลอดมา และตลอดไป อย่างน้อยเขาก็ยังมีทางรอด ไม่ใช่ตัวละครที่ขังตัวปิดตายแบบ ดอสโตเยฟสกี้ ใน ‘บันทึกจากใต้ถุนสังคม’

เจ. ดี. ซาลิงเจอร์ (J. D. Salinger) ในชีวิตจริงเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ยอมให้มีภาพนักเขียนบนปกหนังสือ นอกจาก The Catcher in the Rye แล้ว เล่มอื่น ๆ ที่คนรู้จักก็คงมีแต่ Nine Stories แล้วก็เล่มอะไรที่เกี่ยวกับครอบครัว Glass รวมความแล้วเขาเป็นนักเขียนที่ชิงชังมนุษย์ทีเดียวแหละ เท่าที่ได้อ่านจาก At Home in the World หนังสือบันทึกประวัติชีวิตที่หนึ่งในอดีตคนรักของเขา Joyce Maynard เขียน อ่านแล้วได้ภาพว่า ซาลิงเจอร์ เป็นคนที่เผด็จการและใจร้ายเหลือเกิน พยายามบีบบังคับให้เมีย กลายเป็นคนตัดขาดจากสังคมเหมือนกับตัวเอง แล้วคอยบ่นว่างานเขียนของเธอเป็นการทำขยะพาณิชย์

น่าเสียดายทีเดียวว่า หนังในแบบที่ เจ. ดี. ซาลิงเจอร์ / โฮลเด้น คอลด์ฟีลด์ และนักเขียนปัญญาชนส่วนใหญ่รู้จักคงไม่มีเรื่องไหนในสายตาที่ถือได้ว่าเป็นงานศิลปะ (ถ้าคำนึงถึงยุคสมัยก็ไม่น่าแปลกใจเพราะยุคนั้นมันก่อนที่จะมีอาร์ตเฮ้าส์เฟื่อง) ถึงแม้เขาจะมีเครื่องฉายหนัง 16 มม. ที่บ้านดูหนังฮอลลีวู้ดเก่า ๆ กับเมียเป็นประจำ แต่เขาก็ยังปากร้ายด่าหนังในหนังสือตัวเองตลอดทั้งเล่ม (รวมทั้งด่าคนดูหนังและพี่ชายในนิยายที่ไปเขียนบทหนังที่ฮอลลีวู้ด) แถมยืนกรานไม่ให้ใครเอา Catcher in the Ryeไปทำหนัง ขนาด อีเลีย คาซาน (Elia Kazan) แห่ง On the Waterfront ขอไปทำละครเวทีก็ไม่ให้ ความจริงมันน่าจะเป็นหนังคลาสสิคได้ทีเดียว ถ้าได้มือด้นสดระดับ John Cassavetes หรือนักทำหนังยุคดิจิตอลรุ่นหลัง อย่างใครสักคนก็ได้ที่ทำ Hannah Takes the Stairs, In Between Days, Quiet City หรือ The Puffy Chair แต่ถ้าได้ Joe Swanberg, Andrew Bujalski พี่น้อง Duplass หรือ So Yong Kim ก็ยิ่งแจ๋วใหญ่ โชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่รู้ที่คนพวกนั้นแต่งเรื่องเขียนบทเอง ไม่ง้อการดัดแปลงนิยายเป็นหนัง

เรื่องที่ชวนคิดก็คือในบั้นปลาย เจ. ดี. ซาลิงเจอร์ (ที่เข้าใจว่ายังมีชีวิตอยู่ในตอนนี้) ปลีกตัววิเวก ทำตัวเหมือนคนที่ตายแล้วมากกว่าคนที่ยังมีชีวิต ทั้ง ๆ ที่ในนิยายเขาดูเหมือนจะมองเห็นแสงสว่าง มองเห็นความหวังในโลกอยู่บ้าง ส่วน ดอสโตเยฟสกี้ คนที่อุดอู้อยู่ใน “ใต้ถุนสังคม” นั้นตัดพ้อต่อชีวิต บ่นเกลียดมนุษย์ในนิยายแทบทุกเรื่อง เขียนบ่นได้น่ารำคาญมากกว่า ซาลิงเจอร์ มากมาย แต่ ดอสโตเยฟสกี้ ในโลกความเป็นจริงกลับดูมีมนุษย์สัมพันธ์ดีมากกว่า ซาลิงเจอร์ เสียอีก ต่อให้ตัวละครใน ‘บันทึกจากใต้ถุนสังคม’ จะปิดประตูหมดทางเยียวยา แต่ในนิยายเรื่องอื่น ๆ ศรัทธาต่อเพื่อนมนุษย์ แม้กับคนที่จมอยู่ในบาปหนา ก็สามารถรักษาได้ด้วยความรักบริสุทธิ์จากตัวละครหญิง อันนี้ ดอสโตเยฟสกี้ มีผลต่อคนทำหนังอย่าง อังเดร ทาร์คอฟสกี้ (Andrey Tarkovsky) เข้าไปเต็ม ๆ ตรงจุดนี้ ไม่รู้เพราะ ดอสโตเยฟสกี้ ได้เมียคนที่มาจากการรับจ้างบันทึกต้นฉบับนิยายหรือเปล่า

ว่าถึงหนังอีกหน่อยนะ ปานิ ฝากบอก เวนเนีย ด้วยว่า คนทำหนังที่เหมาะกับการสร้างหนังจากงานบ่นจริยธรรมของ Dostoyevsky กับ Tolstoy นอกจาก Tarkovsky ก็มีแต่ Robert Bresson (4 Nights of A Dreamer ก็เป็นการทำ White Nights “คืนสีขาว” ในฉบับพัฒนาแล้ว) กับ Aki Kaurismaki แหละ ยิ่งวิธีที่ อากิ ทำ Crime and Punishment นั้นยิ่งวิเศษ ทำให้หนังไปไกลกว่าตัวนิยาย และเหมาะกับสังคมยุคไฮเทคนี้ดีขึ้น ความจริงอยากรู้ว่าถ้า Emir Kusturica ทำออกมาเป็นหนังอเมริกันแบบที่เคยฝันเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนจะเป็นยังไง เอ้อ แต่ Fred Kelemen คนที่เคยรับชวนเรามาเมืองไทย ก็เคยบอกว่ามีวิธีสร้างหนัง Crime and Punishment แบบของเขาด้วยเหมือนกัน เขาคนนี้ก็น่าจะเหมาะที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่อ่านงานของ ดอสโตเยฟสกี้ ซึ่งน่าจะยากทีเดียว เพราะหลายคนน่าจะปฏิเสธการพล่ามแบบโบราณนี้ คนทำหนังพวกนั้นแหละที่จะสามารถทำให้หนังไปได้ไกลเกิน “การทำภาพประกอบนิยาย” (Illustrated Novel) เพราะพวกนี้จะมีมุมมอง และการมองภาพแบบ “ภาพ” ที่ต้องลดทอนคำพูดให้น้อยลง จนภาพเสียงดังกว่า ทำให้หนังดูร่วมสมัย

ว่าไป ตัวละครแบบหมกมุ่นกับตัวเอง เป็นปัญญาชนขวางโลกที่เวลาต้องเผชิญหน้ากันจริงก็ไม่ได้เอาอ่าว แบบนี้ในหนังฝรั่งเศสมีเรื่องดี ๆ เยอะ ที่นึกออกก็เช่น Un Monde Sans Pitie (World without Pity) ของ Eric Rochant หรือ Escalier C ของ Jean Charles Tacchella

พออ่าน ‘บันทึกจากใต้ถุนสังคม’ ใหม่อีกรอบ ทำให้นึกได้ว่าต้องย้อนไปอ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของ มักซิม กอร์กี้ (Maxim Gorky) มีอะไรบางอย่างที่เชื่อมโยงกันได้ แต่คราวนี้ห่างกันมากจาก โฮลเด้น คอลด์ฟีลด์

9.4.51

Dead Memory

dear Wenja and Pani, the following is from part of an article I wrote for FREEFORM Magazine. It's a French graphic novel by Marc-Antoine Mathieu called DEAD MEMORY.

Dead Memory
ลองจินตนาการดู ถึงสังคมเมืองไฮเทคที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ควบคุมระบบความคิดทุกอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่เว้นแม้แต่วงจรสื่อสารผ่านกล่องแบล็คบ็อกซ์ (black box) ที่มนุษย์ทุกรายต้องพกติดตัวตลอดดั่งบัตรประชาชน เพื่อคอยรับคำสั่งบัญชาการ และอัพเดทข้อมูลทันสมัย
ท่ามกลางความเจริญของเมืองที่ขยายไกลสุดลูกหูลูกตา บรรดานักวิชาการต่างหมกสมองกับคำถาม-คำตอบโชว์ภูมิที่กลวงเปล่า เช่น เมืองที่ไร้ขอบเขตตายตัวนั้นเป็นปัญหาไหม? เราจะพิสูจน์ความไร้จุดสิ้นสุดของมันได้หรือไม่? ลักษณะเมืองนั้นเป็นทรงเหลี่ยมหรือทรงกลม? หรือว่ารูปทรงกลม-เหลี่ยมเป็นเพียงความคุ้นเคยของสถาปนิก? พวกเขาสาละวนกับกลเกมทางภูมิปัญญา มากกว่าสนใจในความหมายที่แท้จริงของความรู้
พวกกูรูรู้เยอะนั้น อ่อนแรงเกินกว่าจะสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาในความเป็นจริง โดยเฉพาะเมื่อมันปรากฏอยู่ตรงหน้าในลักษณะของกำแพงใหญ่ยักษ์ ซึ่งกำลังงอกเงยอย่างลึกลับในทุกค่ำคืน
กำแพงประหลาดขยายตัวออกไปทุกที กีดกั้นถนน ตรอก ซอกซอย รวมทั้งสวนสาธารณะและลานจัตุรัส ให้แยกขาดออกจากกัน ไม่มีใครสามารถจะสรุปข้อคิดที่น่าฟังได้ว่าควรจะลงมือแก้ไขอย่างไร พวกท่านทำได้แต่เพียงเสนอแนะให้ - จับตา - จดบันทึก - แยกประเภท - และ - รอรายงาน -
ท้ายสุด ความสามารถในการเอ่ยคำ ความทรงจำ ซึ่งทดแทนกันไม่ได้ พากันตกหล่นสูญสลายไปทีละน้อย แม้แต่คำในพจนานุกรม หนังสือที่หอสมุด รวมทั้งคำศัพท์ที่จารึกบนอนุสาวรีย์ ต่างล้วนอันตรธานสิ้น

* ตัดตอนบางส่วนจาก Dead Memory - บัญชีออมศรัทธาออนไลน์ (ประเภทฝากลืม) บทความแนะนำหนังสือการ์ตูนโดย สนธยา ทรัพย์เย็น ในนิตยสาร freeform, vol. 2, No. 13-2007* (ฉบับพิเศษ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)

8.4.51

French Classics in Bangkok: once upon a Time

French Films in Bangkok: once upon a time

หนังฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ สมัยคุณปู่ ร่วมด้วย บริจิตต์ บาร์โดต์, ฌอง กาแบ็ง และ ฌอง มาเร่ส์
starring Brigitte Bardot, Jean Gabin and Angelique
including Beauty and the Beast (The Magice Prince and the Lady) by Jean Cocteau!






***************************************************************







*****************************************************************************