17.6.54

My Sassy Book ตอน 34: An Empty Room: Stories โดย Mu Xin

หนังสือเล่มเล็ก (ไซ้ส์เดียวกับหนังสือแปล Haruki Murakami ฉบับของญี่ปุ่น) Mu Xin นักเขียนที่จัดได้ว่าโนเนม (แถมยังเป็นคนจีนอีก) กับปกที่อยู่ระหว่างเรียบ จืด หรือเก๋เงียบ ๆ เออ จะซื้อดีไหม พลิก ๆ ดูหน้าปกหลังปกแทบไม่บอกอะไรเลย แต่ชอบรูปเล่มแบบนี้ เอาน่ะ ควักตังค์จ่ายกับอีกเล่มนิยายที่คนฟิลิปปินส์แต่ง (ซึ่งดูเหมือนจะหนักการเมือง) นี่ตูข้าคงบ้าไปแล้วเนี่ย

และอีกครั้งที่โชคดีตีแจ๊คพ็อต อ่านจบเล่มโดยเร็ว และถึงกับคิดแปลด้วยซ้ำ (บ้าไปใหญ่แล้ว) Filmsick น่าจะได้อ่าน หมอนิลน่าจะได้พิมพ์

หมู่ซิ่น ชื่อนักเขียนไม่รู้ว่าอ่านชื่อแบบนี้ไหม จำได้ว่ามีนักเขียนรุ่นเก่าชื่อ หลู่ซวิ่น กับอีกคน เหลาเส่อ แต่ช่างเหอะ ของดีจริงไม่ต้องการคำขยาย แค่ต้องการคำอธิบายดี ๆ ซึ่งเราไม่สามารถพอ (เอาเข้าไป)

แต่ หมู่ซิ่น นี่เข้ากับบล็อกนี้ดีกว่าเขียนถึงคนอื่นอีก เพราะเขาทั้งทำงานวรรณกรรม เป็นกวี เป็นศิลปินวาดรูป แล้วยังเป็นนักดนตรีด้วย อาจดูจับฉ่ายสำหรับบางคน แต่ลำพังเฉพาะงานเขียนที่หาอ่านได้เล่มเดียวในภาษาอังกฤษ ต้องขอบอกว่าที่สุดของที่สุด ส่วนภาพจิตรกรรมนั้นมีตัวอย่างให้ดูในอินเตอร์เน็ต รายละเอียดทางภาพคงบอกได้ยาก เพราะมันคงห่างจากประสบการณ์ชมจริงเยอะ แต่สื่อในอเมริกาเขามองว่ามีความสัมพันธ์สอดรับกับงานวรรณกรรมอย่างสำคัญ

มุมมองของ หมู่ซิ่น นั้นละเอียดอ่อนอย่างเหลือแสน แบบหาตัวเปรียบแทบไม่เจอ โดยเฉพาะงานของฝรั่ง (ส่วนเอเชีย หนังสือของ รพินทรนาถ ฐากูร ที่ใกล้กันบ้างในความเป็นมนุษย์นิยมก็ยังไม่ใกล้เคียงเพราะหนักมือกว่าในตัวสารและวิธีสอน) ทั้ง ๆ ที่เรื่องสั้นส่วนใหญ่ในเล่ม (ซึ่งฉบับแปลอังกฤษนั้นย่อยมาจากฉบับจีน 3 เล่มเหลือเล่มเล็ก ๆ) นั้นแทบทุกเรื่องต้องมีอันเกี่ยวข้องถึงอดีตมืดหม่นช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ขนาดบางเรื่องที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้ยังทิ้งท้ายไปทางนั้นจนได้ ฟังดูเหมือนคำติแต่ที่แท้นี่คือคำชม เพราะเท่าที่เป็นอยู่คือไม่ใช่เรื่องเครียดหดหู่ กดดัน มุ่งสะท้อนสังคมการเมือง แต่เป็นการมองหรือพาดพิงถึงด้วยความไม่จงเกลียดจงแค้น เหมือนการมองอดีตกลับไปอย่างพิศวงกึ่งเข้าอกเข้าใจ คล้ายแค่ทอดถอนใจยาวซึ่งตามมาด้วยการยอมรับ แบบไม่ขื่นขม (bitter) เต็มคำ และแน่นอนไม่ bittersweet

ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ หมู่ซิ่น เกิดขึ้นกับชาวเราแถวนี้ หรือคนอย่าง วสันต์ สิทธิเขตต์ ก็แน่นอนผลจะออกมาโหวกเหวกโวยวายสุด ๆ แบบไม่เหลือร่องรอยให้คงความสงบสยบความเคลื่อนไหว ทำนิ่งทำเซ็นอะไรนั่น เพราะมันคงง่ายกว่าที่เราจะแสดงความจงเกลียดจงแค้น หรือความฉลาดในการแก้ปัญหา หรือความกล้าลวงโลกของเราให้โลกประจักษ์ แต่ไม่เลย โลกเราน้อยนักที่จะมีเวลาให้เราทันแสดงบทฮีโร่คิ๊กแอส หรือต่อให้มีเวลาเราก็คงเลือกไม่แสดงในท้ายสุด ถ้างั้นไม่ง่ายกว่าหรือที่จะยอมรับเสียแต่แรกว่า เราก็คงเป็นอีกคนที่เงียบ ก้มหน้าก้มตายอมรับสิ่งที่อำนาจเบื้องบนกำหนดลงมา

แต่ยอมรับทางกิริยา ไม่ได้หมายความถึงจิตใจและสติในการตั้งคำถามถึงความไร้สาระนานับประการที่เกิดขึ้นรอบตัว กับอัตลักษณ์ของตัวเองที่ต้องตอบโจทย์ดีงามของภาครัฐ และจะหาใครที่ช่างสังเกตเปรียบเปรยความงามหลายสิ่ง ขณะที่ความโกรธกำลังกระหึ่มทั้งในใจและรายรอบ

หมู่ซิ่น เหมือนคนทำหนังเก่ง ๆ อย่าง ริวอิจิ ฮิเดกิ (Ruichi Hideki) ที่มองเห็นท่วงท่าของแสงที่เคลื่อนตัวอยู่รายรอบตัวเรา มาตรว่าบางคนอาจกล่าวหาว่ามันคล้ายการนิ่งดูดายชะตามนุษย์ แต่ท้ายสุดมันฉายให้เห็นความบางเบาไร้สาระและสัจธรรมที่น่าทึ่ง กระทั่งสวยงามในบางมุม หรือกระทั่งขำได้ในบางเรื่อง (โดยเฉพาะในเรื่องสั้นชื่อ Halo ที่เริ่มเรื่องเหมือนบทความวิเคราะห์แนวศิลปะประเพณีที่นิยมวาดรัศมีรอบเศียรสักการะทางศาสนา แต่กลับลงท้ายที่ภาพของกลุ่มคนคุกในมุมมองใหม่)

ที่บอกว่าเป็นเรื่องสั้นเอาเข้าจริงก็ไม่ตรงคำอธิบายซะทีเดียว หน้าปกเขียน stories ไม่ใช่ short stories ส่วนในเล่มเขามีคำนิยามเฉพาะในภาษาจีนว่า sanween ที่เป็นการเขียนซึ่งแกว่งอิสระไปมาระหว่างร้อยแก้วและร้อยกรอง คือในเรื่องเดียวกันสามารถครอบคลุมได้ทั้งรูปแบบของเรื่องสั้น คำปรารภรำพึง บทบันทึก บทพินิจชีวิต บทกวี รำพันนิราศ ว่ากันว่า หมู่ซิ่น รวมลักษณะ sanween ดังว่ารวมเข้ากับลักษณะขนบวรรณกรรมแบบ bildunsroman ที่รับต้นตอมาจากวรรณกรรมเยอรมันซึ่งเน้นการเดินทางค้นพบโลกรอบข้าง ผ่านมุมมองของ “ข้าพเจ้า” (I) ในคำแนะนำท้ายเล่มเขาบอกว่าหมู่ซิ่นรวมความชอบทั้งนักเขียนจีนรุ่นดึกดำบรรพ์เข้ากับความชื่นชอบวัฒนธรรมและศิลปะตะวันตก อย่างงานเขียนของ รุสโซ่, นิทเช่อ, อีเมอร์สัน และ ม็องแตญจ์

เรื่องแบบเขามันไม่ใช่เรื่องที่เล่าพล็อต ไม่ยึดติดกับเนื้อเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการสังเกตการณ์สำแดงรายละเอียดที่ผู้เขียนเคยพบมาหรือจำได้จากอดีต ลีลาเขียนแบบย่างเบาสบายบนพรมหญ้าเหมือนคนกำลังพาเดินชมสวน ที่จริงเรื่อง Tomorrow, I’ll Stroll No More ก็ยิ่งเหมือนการเดินชมสวนอยู่แล้ว เพราะหมู่ซิ่น เขียนตอนที่เขาไปพักอยู่อเมริกาในเขตควีนส์ แต่จากการเดินเล่นละแวกถนนเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่ไม่มีใครรู้จักใคร หน้าบ้านสะอาดเกลี้ยงเกลาแต่ไร้ร่องรอยชีวิต ทำให้เขารู้สึกผิดแปลกที่มาเดินทอดน่อง ขณะเดียวกับที่หวนคิดไปถึงบ้านเกิดในเมืองจีน ฉงนสนเท่ห์ว่าทำไมดอกไม้พันธุ์เดียวกันในคนละถิ่นฐานจึงสามารถแตกต่างกันบ้างทางกลิ่นหรือรูปลักษณ์ การที่คนเราให้ความสำคัญในการไล่ตั้งชื่อพันธุ์ไม้แบบต่าง ๆ และชื่อดอกไม้บางชนิดที่เขานึกออกเฉพาะในภาษาจีนแต่นึกไม่ออกเป็นภาษาฝรั่ง

รูปแบบการเล่าที่เหมือนเรื่อย ๆ เรียง ๆ นี่แหละที่ร้ายนัก เพราะมันน่ากลัวที่มันไม่ได้ซ่อนระเบิดปรมาณู แต่ซ่อนอณูอารมณ์ซึ่งสั่นไหวเพียงน้อย ซึ่งสายตาเปล่าจับไม่ติด และมันมหัศจรรย์นักที่นักเขียนคนหนึ่งนั้นสามารถร่ำรวยทางภาษา และลีลา พอจะทำให้เกิดการเขย่าปลุกอณูใจได้ในความยาวเรื่องละไม่กี่หน้า

บางทีการที่เขาเคยถูกจองจำในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมกระมัง ทำให้เขาค้นพบวิธีพูดน้อยในพื้นที่สั้น ๆ ได้มีประสิทธิภาพ ว่ากันว่าคนพวกนั้นมอบกระดาษให้นักโทษแต่ละคนเขียนคำสารภาพบาปแสดงความสำนึกผิดในสิ่งและวัฒนธรรมนอกรีตที่เขาหรือใครสนใจ ในกรณีของ หมู่ซิ่น สิ่งนั้นก็เป็นการฝักใฝ่สนใจในศิลปะตะวันตกนั่นเอง หมู่ซิ่น เรียก เลโอนาร์โด ดาวินชี่ ว่า “เป็นครูคนแรก ๆ ” เขาแอบซ่อนกระดาษ 60 กว่าแผ่นเพื่อแอบเขียนบันทึกความบอบช้ำในยามค่ำ นั่นทำให้เขาสามารถผ่านเวลานั้นมาอย่างเข้าอกเข้าใจและปล่อยวางได้มากกว่าศิลปินจีนอีกหลายคนที่มักจะพาดพิงถึงอดีตอย่างเคียดแค้น หมู่ซิ่น กล่าวถึงช่วงเวลานั้นว่า “ตอนกลางวันผมเป็นทาส แต่ยามดึกผมเป็นเจ้าชาย”

หากดูเผิน ๆ ลักษณะงานศิลปกรรมของเขาอาจเหมือนภาพจิตรกรรมจีนแบบม้วนขนาดเล็ก ซึ่งศิลปินมักนิยมวาดจิตรกรรมแนวประเพณีรูปทิวทัศน์สวยงาม แต่ของ หมู่ซิ่น กลับเป็นเหมือนภาพนิมิตของศิลปินเองที่เคลือบฉาบด้วยหมอกเมฆครึ้ม ราวกับจะบอกว่าภาพงดงามในอีตจะไม่มีวันกลับมาเป็นเหมือนเดิม และตัวภาพทิวทัศน์ก็ดูไม่เฉพาะเจาะจงดูไม่ออกว่าเป็นที่ไหน แม้ชื่อภาพจะระบุชัดว่าหุบเขาใด ย่านไหน และตั้งใจวาดอ้างอิงถึงแนวทางของศิลปะจีนคนไหน ยุคอะไร ซึ่งมักสะท้อนยุคอุดมคติที่มีชุมชนศิลปินหัวก้าวหน้า รักความยุติธรรม และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติมากกว่าปัจจุบัน ลักษณะภาพเบื้องหน้าอาจดูเป็นจีนหรือเป็นตะวันออกสูง แต่รายละเอียดในการลงสีและรายละเอียดฉากหลังดูเหมือนจะได้รับทางศิลปะตะวันตกมาด้วย ดังที่มีผู้สังเกตโดยเปรียบเทียบกับฉากหลังของภาพ โมนาลิซ่า กับภาพภาพหนึ่งของหมู่ซิ่น ทำให้ชวนคิดว่า เคยมีใครโยงภาพเข้ากับภาพศิลปินเยอรมันยุคนี้อย่าง อันเซล์ม คีเฟอร์ (Anselm Kiefer) บ้างไหม เพราะ คีเฟอร์ ชอบทำภาพให้หมองเก่าโยงใยถึงประวัติศาสตร์ชาติด้วย แต่อาจหนักมือทางใส่ตัวหนังสือ หรือวัสดุ และแฝงความโกรธเกรี้ยวเฉพาะตัวมากกว่า

นี่คือผลงานของคนที่เป็นมนุษย์นิยมในหัวใจ ไม่ใช่แค่เปลือกหรือการทำท่า ลักษณะการเขียนที่ดูกว้างขวางพลิกแพลงจากแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่ง เป็นไปได้ไกลกว่าการตั้งสมการมนุษย์แบบชาญฉลาดของ มิลาน คุนเดอร่า (Milan Kundera) และแม้ว่างานแบบ คุนเดอร่า จะดีเยี่ยมอย่างไม่อาจปฏิเสธ แต่หากเทียบกัน คุนเดอร่า ก็ยังคงยโสอยู่ในหอคอยงาช้างมากกว่าจะยอมเดินรับฝุ่นอย่างที่ หมู่ซิ่น สามารถเป็น

My First Mister

เรื่องนี้คงเป็นหนังเชย ๆ สำหรับหลายคน แต่ข้าพเจ้าดูแล้วน้ำตาตก My First Mister (ชื่อไทยของบริษัทวีซีดี : สองวัยดวงใจเป็นหนึ่ง) หนังปี 2001 ของผู้กำกับ Christine Lahti (คนที่เคยเล่นบทคุณป้าคิดต่างใน Housekeeping ของ Bill Forsyth) เสียดายว่า คริสตีนทำหนังใหญ่เรื่องนี้เรื่องเดียว (อีกเรื่องเป็นหนังสั้นและหนังทีวี 1 ตอน) เรื่องนี้มี Albert Brooks แสดงกับ Leelee Sobieski เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างวัยที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศหรือผลประโยชน์ หนูลีลี่เล่นเป็นสาว Goth แต่งดำ เจาะรูทั้งลิ้น หน้า จมูก (แต่ไม่เจาะหู) พล็อตเรื่องไม่หนีสูตรสำเร็จ แต่ดูบรรจงประณีตและจริงใจ หนังแบบนี้เสียดายที่ถูกมองข้ามอยู่เรื่อย ๆ เพราะไม่ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ แล้วก็ไม่ได้ดูกระตุ้นต่อมปัญญาอะไร

Triple Bill หนังควบสาม

X-Men First Class, Super 8 และ Insidious

ตะลอนดูหนัง 3 เรื่องในวันเดียว ไม่ได้ทำแบบนี้มานานแล้ว แต่ทำเพราะประหยัดราคาตั๋ว และผลออกมาก็ค่อนข้างคุ้มค่า (มีแต่ ซุเปอร์ 8 ที่ยื้ออดีตได้ไม่รอด) ดีกว่าไปเข้าคิวรอดู sex and zen 3 มิติ

3.6.54

ผู้หญิงในหนังของ ริวอิจิ ฮิโรกิ (Ryuichi Hiroki)

เลือกแผ่นดีวีดีมาเพราะปก ไม่นึกว่าจะได้เจอของดี หนัง 3 เรื่องนี้แหละที่อยากให้เป็นต้นแบบของหนังร่วมสมัยซึ่งแทบสัมผัสได้ในการเคลื่อนตัวของแสง และเส้นรุ้นเส้นแวงแห่งอารมณ์เร้นที่เกินเอื้อนเอ่ย

เรียกว่าจะไม่แลกโอกาสได้ดูหนังแบบนี้ หรือหนังแบบ "ที่รัก" ของ ศิวโรจณ์ คงสกุล กับหนังแบบ อากิระ คุโรซาว่า, คิทาโน่ หรือ มิอิเกะ เด็ดขาด แม้ว่าเราจะชอบหนัง คุโรซาว่า บ้างบางเรื่องก็เถอะ

ตอนแรกได้ดูเรื่องนี้ก่อน Kimi no Yubisaki (きみのゆびさき / เพียงปลายนิ้วของเธอ) ของ Hiroshi Ishikawa ตอนแรกดูก็ไม่รู้ว่าเป็นหนังสั้น เห็นมีแต่สองสาวเดินไปเดินมาบนดาดฟ้าตึก ฝนตกพรำ ๆ ก็หิ้วร่มวิ่งไปที่ทะเล คุยกันจุ๊กจิ๊กริมหาด เหมือนกับว่าอีกคนกำลังจะย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่น แต่ดูมีนัยยะอะไรผูกพันอะไรที่ยังพูดไม่ออกบอกไม่ถูก แต่ละมุนละไมโคตร


อ้าว กำลังดูเพลิน ๆ ดันจบเสียได้ เรื่องนี้มีสองสาวดาราวัยรุ่นยอดนิยม คือ Maki Horikita กับ Meisa Kuroki (สาวผิวคล้ำจากโอกินาว่าคนนี้เล่นหนังแอ็คชั่นเรื่อง Assault Girls ของ Mamoru Oshii (Ghost in the Shell) ในดีวีดีมีเบื้องหลังถ่ายทำ มีบทสัมภาษณ์สองสาว เสียดายฟังไม่ออก ไม่มีซับอังกฤษ แต่ทำเก๋ตรงที่มานั่งเก้าอี้แบบในห้องเรียนอยู่หน้าห้อง หันหลังให้กระดานดำ และหันหน้าตรงเข้าหากล้อง มีช่วงหนึ่งในการสัมภาษณ์ที่ Maki ลุกมาเขียนชอล์คบนกระดาน น่ารักดี


ถัดจากนั้นไม่กี่วัน จากดีวีดีที่ซื้อในวันเดียวกัน ดูเรื่อง Love on Sunday: Last Word (หนังปี 2006) มี Maki Horikita นางเอกจากเรื่องนั้นมาเล่น


เธอเล่นเป็นสาวที่ใกล้จะตายเลยเขียนจดหมายทิ้งไว้ ขอพ่อกลับไปหวนหาอดีตที่บ้านเก่า กลับไปหาผู้ชายที่เธอเคยรัก ผู้ชายคนนี้ก็ต้อนรับขับสู้เธอดี แต่หัวใจเขาไม่คิดอะไรอื่นไกล เพราะไปอยู่กับคนที่ใกล้กว่าคือผู้หญิงมีลูกมีผัวแล้ว หนังเด่นมากตรงที่สะท้อนชีวิตเรียบ ๆ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมากนักที่บ้านนอก แล้วก็ให้ภาพนางเอกที่ไม่ใช่คนดีนักหนา เพราะเธอเริ่มออกลายร้ายเงียบ เพราะเธอไม่ได้ดั่งใจหวัง หนังอาจจะดราม่ารุนแรงกว่านี้ได้ แต่สุดท้ายนางเอกก็เป็นคนธรรมดาไม่ได้ดีชั่วอะไรพิเศษ สุดท้ายเธอก็ไม่ได้ตีโพยตีพายบอกใครด้วยซ้ำว่าใกล้จะตายอยู่รอมร่อ แต่ฉากบนรถเมล์ที่เธอไล่ยาวโมโนล็อกนั่นแหละ คนดูหลายคนขอตายแทน


เรื่องนี้จิ้งหรีดญี่ปุ่นที่ปกติทำงานดีแล้ว ยิ่งร้องดีเข้าไปอีก เหมาะกับหนังมากขึ้นกว่าหนังญี่ปุ่นทั่วไป


ดูแล้วทึ่งกับการกำกับนักแสดงและบรรยากาศ ทำให้สะดุดชื่อผู้กำกับขึ้นมา คือ ริวอิจิ ฮิโรกิ (Ryuichi Hiroki - 廣木 隆) โชคดีเหลือเกินว่าจากดีวีดีที่ซื้อมาในล็อตเดียวกันมีหนังของคนนี้อีกเรื่อง เลยรีบดูซะ

Girlfriend: Someone Please Stop the World (หนังปี 2004) หนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสองสาว สาวคนหนึ่งมีพรสวรรค์ทางถ่ายภาพแต่ชอบเมาเละ และมักตื่นมาพบตัวเองนอนกับชายแปลกหน้า อีกคนหนึ่งติดใจว่าพ่อของเธอทิ้งเธอไปตอนเด็ก จนเธอได้พบเขาอีกและลังเลว่าจะเผชิญหน้าคุยกับเขาดีไหม หนังง่ามแง่อยู่ระหว่างความสัมพันธ์ของคนถ่ายกับคนถูกถ่ายที่เกือบจะเป็นคู่เลสเบี้ยน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสัมพันธ์ที่งดงามในแสงเงาเกินกว่าจะนิยามขอบเขต


เหมือนชีวิตสองสาวนี้ก็มีความสุขดี ไม่ได้ลำเค็ญเหลือแสน การอยู่โดยไม่มีพ่อมันก็อยู่ได้ มันไม่ทำใครตายสักกะหน่อย ส่วนสาวตากล้องก็ไม่ได้ถูกทารุณหรือกดขี่ชีวิต อย่างน้อยคนก็รับรู้ในฝีมือและได้ทำงานในแบบที่อยากทำ (หรือใกล้เคียง) มันก็แค่คนสองคนที่พบคนที่ถูกคอถูกใจช่วยถมถางความโหวงเหวงในใจ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะต้องเกี่ยวกับเซ็กส์เสมอไปอย่างที่คนดูหนังเราจะคุ้นเคย แม้แต่ในฉากถ่ายแบบเปลือยของช่างภาพ-โมเดล (ที่ชวนนึกถึงฉากของ Juliet Binoche กับ Lena Olin ใน Unbearable Lightness of Being - แต่เรื่องนี้คนละอารมณ์กัน) มันก็ให้เข้าใจอุณหภูมิอารมณ์ของสองสาวที่เปิดเผยสีสันในใจใต้ผิวหนังได้ดีขึ้น ละเอียดอ่อนดีเหลือเกินทำหนังแบบนี้ ถึงแม้ตอนดูจะงงนิดหน่อย เหมือนมีทั้งแฟลชแบ็คและแฟลชฟอร์เวิร์ด ปรับสมองตามไม่ทันในช่วงแรก แต่เรื่องอารมณ์คนแสดงและการกำกับมือหนึ่งเลยแหละ


หนังสองเรื่องนี้ทำให้รู้สึกว่าผู้กำกับ ริวอิจิ ฮิโรกิ ทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิงเก่ง วางมือละเมียดละไมแบบชีวิตธรรมดาที่ดูจริงซึ่งหาได้ยากในหนังญี่ปุ่น เพราะส่วนใหญ่จะละเมียดแบบบีบซึ้งเสียมากกว่า


พอค้นข้อมูลดูยิ่งทึ่งว่า ริวอิจิ เคยทำหนัง Pink Film มาก่อน (เพิ่งเห็นว่าเคยทำ 1 ในหนังสั้นอีโรติกผู้หญิงปี 2005 ชุด Female – หนังชุดนี้เคยดู แต่ไม่รู้ว่าเขาทำตอนไหน?) แล้วเขาก็ทำหนังหลายแนว ตั้งแต่ April Bride, Vibrator, Tokyo Trash Baby, M (I Am an S+M Writer), New Type: Just for your Love หรือกระทั่งหนังสารคดี ออกจะมีหนังหลายเรื่องที่รุนแรงพอสมควร แต่ไม่ว่าจะเป็นหนังแนวแรงสุดโต่ง หวานเย็น หรือเรียบง่าย ดูเหมือนเขาพอจะเข้าใจสิ่งแวดล้อมที่กดผู้หญิง และถ่ายทอดได้ถึง ไม่ขนาดเจาะลึกแบบหนัง Eric Rohmer, R.W. Fassbinder หรือ Ingmar Bergman หรอก แต่ก็นับว่าเหนือชั้นมาก พูดจริง ๆ แล้วชอบแบบนี้มากกว่า คนส่วนใหญ่เขาไม่ถกจิตวิญญาณหรือดราม่าเกลียดกันลึก 34 ชั้นแบบหนังฟาสบินเดอร์ หรือ เบิร์กแมน หรอก


เจอบทสัมภาษณ์ Ryuichi Hiroki น่าสนใจที่นี่ http://www.vertigomagazine.co.uk/showarticle.php?sel=bac&siz=1&id=649

เห็นในบทสัมภาษณ์นี้เขาบอกว่า เขาปล่อยตัวเองไปตามสถานการณ์ โอกาสทำหนังเรื่องไหน แนวอะไรก็เข้ามา ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังเล็ก หนังใหญ่ หรือเป็นหนังส่วนตัวเขียนบทเอง เขาชอบท้าทายตัวเองชอบทำหนังที่ต่างไปจากแนวเดิม ๆ ไม่อยากซ้ำรอยตัวเอง แล้วต้องรอทำหนัง 3 ปีเรื่อง

ในเรื่อง Love on Sunday: Last Word ริวอิจิ บอกว่า Maki Horikita นางเอกทีนไอดอลคนดังมีตารางเวลาให้ถ่ายหนังแค่ 1 อาทิตย์ เขาก็เลยรีบทำหนังแบบเรียบง่ายที่สุด ใช้โลเกชั่นเดียว ตอนหลัง มากิ สบายใจในการทำงานมาก เลยเพิ่มเวลาให้ถ่ายได้อีก 3 วัน

1.6.54

My Sassy Book ตอน 33: Our Tragic Universe โดย Scarlett Thomas

Death has to be what define life, since living things are those things that will die but are not yet dead. (Our Tragic Universe หน้า 209)

สิ่งที่คนซี่งไม่ใช่แฟนหนังของ Wim Wenders รับไม่ได้มากที่สุดน่าจะอยู่ที่ ลักษณะเยิ่นเย้อ ยืดยาด อ้อมโลก และบ่อยครั้งมันก็คงจะเป็นเรื่องยากแก่การจินตนาการว่าอาการเหล่านั้นจะกลายเป็นเสน่ห์สำคัญอย่างหนึ่งได้อย่างไร แต่บางทีมันก็เป็นไปได้และเป็นไปแล้ว บ่อยเสียด้วย

ด้วยความที่ Our Tragic Universe เป็นนิยายซึ่งผู้หญิงแต่ง มีตัวละครนำเป็นผู้หญิง (กึ่งแม่บ้าน) ยิ่งดูเหมือนเอื้อให้ตัวละครขยับแอ็คชั่นได้อืดอ่อยน้อยลงตามไปด้วย ฉากส่วนใหญ่ก็ไม่มีอะไรนอกจากชีวิตประจำวันของผู้หญิงบ้านนอกริมชายฝั่งดาร์ธเม้าท์ของอังกฤษ ตัว เม็ก (Meg) ซึ่งใฝ่ฝันจะเขียนงานวรรณกรรมสร้างสรรค์จริงจังชั้นแนวหน้า แต่กลับต้องมาอยู่เบื้องหลังการเป็น “นักเขียนผี” ของนิยายเยาวชนจำพวกแฟนตาซีคิดบวก กับนั่งรับจ๊อบนั่งรีวิวหนังสือแนวนิวเอจที่พูดถึงชีวิตอมตะในโลกหน้าซึ่งโปรแกรมโดยพระเจ้าคอมพิวเตอร์นาม โอเมก้า พ้อยท์ วัน ๆ เม็กจึงปล่อยให้จินตนาการหนังสือในฝันจมดินเป็นสิบปี ขณะที่ชีวิตรักของเธอก็ไม่ดีไปกว่างาน ต้องติดแหง็กอยู่กับ คริสโตเฟอร์ ผู้ชายที่อ่อนแอที่ดูคล้ายกับจะรักเธอ แต่ก็เช่นเดียวกับผู้หญิงในโลกนี้อีกหลายคนที่จมปลักอยู่กับคนที่รักและสงสารตัวเองมากกว่า ส่วน ลิบบี้ เพื่อนหญิงคนสนิทของเธอ และ โรแวน ชายสูงอายุที่เธอแอบปิ๊งก็เช่นกัน ทุกคนแปะกาวตัวเองไว้กับชีวิตคู่ที่เดินหน้าไม่ไป ถอยไม่ได้ในทำนองไม่ต่างกันมากนัก

มันเป็นหนังสือที่ฟังพล็อตไม่น่าจะรอด ด้วยความหนา 425 หน้า ฟ้อนต์ 12 ยิ่งดูเหมือนจะไม่มีเนื้อเรื่องให้เล่นหลบอะไรได้มากมาย และนั่นแหละการตั้งคำถามกับนิยายที่มีเนื้อเรื่อง กับนิยายที่ไร้เรื่อง (storyless) หรือการสังเกตที่ว่าแม้แต่เรื่องที่ storyless ก็ยังมีเรื่องอยู่ดี ทั้งหมดนั่นแหละก็คือจุดสำคัญของนิยายเล่มนี้ด้วย  

“Sometimes I wish life could be more storyless,” I said.
“I know,” Vi said. “Well, in some ways it is. You just have to let go of the plot when it gets too much. Do something else.”

สการ์เล็ตต์ โธมัส (Scarlett Thomas) คนแต่งเรื่องใช้บทสนทนานั่งถกวรรณกรรม ชีวิต โลก ตั้งแต่เรื่อง นิทานเซ็น, นิทเช่อ, อันตอน เชคอฟ, อาร์เธอร์ โคแนน ดอยล์, ตอลสตอย - Anna Karenina, ภูตนางฟ้า, มนต์มายา สัตว์ประหลาดลึกลับแห่งดาร์ธมัวร์, เขาวงกต, มังกร, ชาร์ลส์ ดาร์วิน, เรือจำลองในขวดแก้ว, การทำกับข้าว, การผสมสูตรยาสมุนไพร, การปักไหมพรม, ความประหลาดของไพ่ทาโรต์, วิทยาศาสตร์ สิ่งเหนือธรรมชาติ และจักรวาลบรรจบ ทุกอย่างมาสมคบรวมกันได้โดยไม่ดูเสแสร้ง ไม่ดูปัญญาชนลวงโลก ไร้หัวใจแม้แต่น้อย ทั้ง ๆ ที่มันควรจะดูเฟคได้ง่าย ด้วยซ้ำ (เพราะมันไม่คุ้มถ้าเธอหรือใครจะพยายามเขียน meta fiction แข่งกับ Borges, Orhan Pamuk หรือ New York Trilogy ของ Paul Auster) ต้องทึ่งในฝีมือของ สการ์เล็ตต์ ที่เธอทำให้ทุกอย่างร้อยรวมกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเราเข้าใจในความมีมิติของตัวละครที่ถกความคิดต่างกันได้แบบหลากหลาย โดยไม่ตัดสินข้างฝ่าย ซ้ำยังเปิดให้คนอ่านหัวเราะและอึ้งไปกับอารมณ์ขึ้นลงของตัวละคร (ที่มากันเป็นโขลงและทุกคนมีรายละเอียดชีวิตแท้ของตัวเอง) 

มุกนี้เรียกว่าล้อคนในวงการหนังสือได้เจ็บแสบ 
You can identify someone who works in publishing because they tell every anecdote as if for the first time, with the same expression as someone giving you a tissue that they have just realised has probably already been used.

เล่มนี้เป็นเล่มพิเศษและประหลาดมาก มันกลับทำให้มองเห็นความเจ็บปวดของชีวิตและความสว่างของจิตใจได้ราวกับว่าคนอ่านคนนี้ไม่เคยพบสิ่งเหล่านี้ในหนังสือเล่มอื่น (เหมือนว่าไม่เคยอ่านการบรรยายในลักษณะนี้มาก่อน) และถึงแม้ว่าคนเขียนจะแทรกเรื่องราวที่ดูไม่เกี่ยวข้องมาตลอด ทำให้อ่านเหนื่อยในการติดตามอยู่บ้าง แต่โดยท้ายสุด เราก็กลับเป็นฝ่ายต้องอึ้งทึ่งไปแทน ก่อนที่จะหาเรื่องโทษคนแต่งเสีย ๆ หาย ๆ

ที่ถูกเราไม่ควรเรียกงานอะไรว่า เยิ่นเย้อ ยืดยาด อ้อมโลก แต่จะเรียกใหม่ว่า แบบ 2 ล. และ 1 ร. 

“ลัดเลาะ-ล่องไหล-เรื่อยเรียง”

เล่มนี้ซื้อที่คิโนะคุนิยะ ตรงแผนกหนังสือใหม่ พออ่านแล้ว สัญญาจะไม่ใช่แฟนขาจรของเธออีกต่อไป ต้องรีบไปสมัครเป็นสมาชิกถาวรกันเลยทีเดียว 

กอดกูที ให้กำลังใจกูบ้าง

ได้ไปดู ละครเวทีหน้ากากเปลือย (Naked Masks Theatre) เรื่อง "กอดฉันที" ที่โรงละครบ้านราชเทวี เรื่องนี้มีคนแสดงนำคือ วีรชัย กอหลวง, รังสิมันต์ กิจชัยเจริญ และ นวลปณต เขียนภักดี (เธอแสดงตั้ง 3 บทและฉายพลังได้ดีมาก) ส่วนบทก็เขียนโดย ธัญญานันต์ คูอนุพงศ์ และกำกับ โดย นินาท บุญโพธิ์ทอง (คนเก่งที่ไว้ใจได้เสมอ) 

แต่น่าเสียดายละคร 2 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งนักแสดงหลายคนแสดงอย่างตั้งใจ กลับได้รับเสียงตอบรับเพียงน้อยนิด รอบทุ่มครึ่งอาจมีคนดูมากกว่านี้ก็จริง แต่รอบบ่ายสองวันเสาร์-อาทิตย์กลับมีคนดูเพียง 1 หรือ 2 คน (เท่าที่รู้จากอีกรอบที่จุ๋มดู)

นี่มันเกินไปแล้ว กิจกรรมศิลปะวัฒนธรรมบ้านเราช่างอ่อนแอจนน่าใจหาย ไม่ใช่เฉพาะคณะละครนี้ เวที Democrazy Theater หรือที่อื่นๆ ก็ด้วย หนังสือหรือกิจกรรมของ ฟิล์มไวรัส / บุ๊คไวรัส ก็เลวร้ายพอกัน ช่างน่าหดหู่สิ้นดี เพราะอย่าว่าแต่ออกเงินสนับสนุนเลย แม้แต่สุ้มเสียงให้กำลังใจก็ไม่เคยมีให้

ติดตามข่าวละครเวทีของหน้ากากเปลือย : http://nakedmasksnetwork.blogspot.com/