30.12.55

My Sassy Book ตอน 41:  นี่แหละโลก ของ ดอกไม้สด


นี่แหละโลก
ดอกไม้สด


เพื่อนถามว่าอันดับหนังแห่งปีมีอะไรบ้าง รู้สึกจัดยากเกินไปเพราะดูเยอะเกิน แต่ถ้าถามอันดับนิยายหรือวรรณกรรมแห่งปี หรืออมตะยาวเหยียด ขอยกให้เล่มนี้

นี่แหละนิยายที่พร้อมสรรพในความเป็นนิยายไทยและสากล อนุรักษ์และก้าวล้ำในเวลาเดียวกันอย่างที่หาได้ยาก กลับตาลปัตรภาพพจน์นางเอกพระเอกได้อย่างเหลือคาด และให้อุปนิสันใจคอตัวละครมากมายได้อย่างไกลการณ์ ในบรรดานิยายไทยที่ได้อ่านเพียงไม่กี่เรื่องในปีนี้ขอยกให้เรื่องนี้และ "ลักษณ์อาลัย" ของ อุทิศ เหมะมูล มีคะแนนนำ

ค่อนข้างแน่ใจว่า "นี่แหละโลก" จะยังคงอยู้ในใจไปจนตายทีเดียว ความชอบมันเยอะขี้เกียจอธิบาย

ถ้ามีใครคิดเอาไปทำหนัง คงประหลาดมาก แต่เรื่องนี้พิเศษกว่านิยายของ ดอกไม้สด เรื่องอื่น ๆ จริง ๆ

เงา จากรวมเรื่องสั้นชุด "ปราสาททราย" ของ ทราย เจริญปุระ

ผมแอบเก็บกระจกเงาทุกบานออกจากห้องนี้ เพราะผมกลัวที่จะเห็นตัวเองในสีที่แปลกออกไป



"ฉันไม่รู้ว่าคุณได้ใช้ถ้วยกาแฟนั่นบ้างหรือเปล่า แต่ถ้าคนที่ได้มันไปคือฉัน มันคงเป็นของขวัญที่ไม่มีประโยชน์เอาเสียเลย หัวใจกับฉันไม่ถูกกับกาแฟค่ะ แต่ตัวคุณคงไม่เป็นไร เพราะฉันเห็นคุณดื่มกาแฟอยู่บ่อย ๆ ในเวลาทำงาน มันทำให้หัวใจคุณเต้นแรงหรือเปล่าคะ? สำหรับฉัน แค่เห็นคุณดื่มกาแฟ หัวใจก็เริ่มเต้นผิดจังหวะเสียแล้ว ฤทธิ์ของกาเฟอีนมันเป็นเช่นนี้เอง"

จากเรื่อง  "เงา"
ทราย เจริญปุระ
ปราสาททราย
สำนักพิมพ์มติชน

ผู้ชาย ผู้ชาย ในสายตาของ มาร์เกอริต ดูราส



"All Men are potentially homosexual". 


"คุณต้องชอบผู้ชายเอามาก ๆ แบบชนิดที่เรียกว่าปลาบปลื้มทีเดียว คุณต้องติดอกติดใจพวกผู้ชายขนาดนั้นถึงจะรักพวกเขาได้ ไม่งั้นนะ พูดก็พูดเถอะ ใครจะทนไหว"


ผู้หญิงมักจะเก็บบิลค่าไฟค่าแก๊สเป็นเวลานานนับยี่สิบปี เพียงเพราะเหตุผลที่ว่าเป็นการบันทึกเวลาและวินัยที่ดีของตัวเอง บันทึกถึงเวลาที่พวกหล่อนเคยมี แต่ไม่มีอะไรหลงเหลืออีกแล้ว

จากหนังสือ Practicalites ของ มาร์เกอริต ดูราส (ผู้แต่ง "แรกรัก"- The Lover, "เขื่อนกั้นแปซิฟิก" และ "โรคแห่งความตาย", Hiroshima Mon Amour และเป็นผู้กำกับ India Song, Le Camion) 

ไร้เกียรติยศ ของ J.M. Coetzee



เหมือนการตกหลุมรัก หนุ่มสาวสมัยนี้จะยังตกลุมรักกันอยู่หรือเปล่า หรือมันจะเป็นกลไกที่พ้นสมัยไปแล้วในปัจจุบัน กลไกที่ไม่จำเป็นและประหลาดคร่ำครึเหมือนหัวรถจักรไอน้ำ เขากลายเป็นคนตามโลกไม่ทัน ล้าสมัย เท่าที่เขารู้ การตกหลุมรักอาจจะพ้นความนิยมไป แล้วกลับมานิยมใหม่ได้หลายครั้ง

ไร้เกียรติยศ แปลโดย ขจรจันทร์
จาก  Disgrace ของ J.M. Coetzee
สนพ. เอโนเวล (นานมีบุ๊คส์)

29.12.55

เก็บไว้เป็นความสุขส่วนตัว


เคยยุให้น้องคนหนึ่งที่ชอบอ่านวรรณกรรมให้ลองมาแปลหนังสือบ้าง แต่เธอบอกว่าอยากเก็บหนังสือที่ชอบไว้เป็นของตัวเองคนเดียว  ฟังตอนนั้นก็แปลกใจและเสียดาย....แต่ตอนนี้เข้าใจแล้ว

เมื่อหลายเดือนก่อนได้ดูหนังเรื่องหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ที่ซื้อมาก็เพราะเห็นรูปสวยน่าสนใจ แต่พอเปิดดูฉากแรกต้องแปลกใจจนลืมนั่งเก้าอี้ เพราะมันเปิดเรื่องได้ประหลาดมากตั้งแต่ฉากแรก แล้วยิ่งประหลาดเข้าไปอีกที่กดรีโมทแล้วพบว่ามันมีทั้งบรรยายไทยและพากย์ไทย (แสดงว่าต้องมีปกเวอร์ชั่นไทยอีกแบบหนึ่ง) หนังที่มีคนเล่นอยู่แค่สามคนวิ่งไปมาอยู่ในป่าที่สวยเหลือเกิน ตอนแรกหวังว่าจะได้ดูหวือหวาบันเทิง แต่มุมมองทางศิลปะมันกลับพุ่งสูงปรี๊ด  ถ้าจัดคะแนนก็ใกล้ 8 เต็ม 10 นั่นแน่ะ ขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้ศิลปะแบบอาร์ตอย่างที่บางคนอาจจะคิด แต่มันเป็นศิลป์ซึ่งกำเนิดจากความซื่องักเงิ่นที่มีอยู่ในธรรมชาติของคนเล่นคนถ่าย ผสมกับลักษณะของหนังที่อยู่ในเงื่อนไขของแนว exploit ที่ไปไกลจนอึ้งว่านักแสดงกล้าเล่นได้ไงเนี่ย  มันจึงมีเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก

และเมื่อดูจบ ค้นข้อมูลในเน็ต ก็พบว่ามันต่างจากหนังเรื่องอื่นในยุคของมันอย่างแน่นอน ที่มาของการได้สร้างต้องไม่ธรรมดา เท่่านั้นยังไม่พอ ที่มาของหนังซึ่งออกแผ่นในเมืองไทยก็ไม่ธรรมดา เพราะต้นฉบับเวอร์ชั่นสมบูรณ์ที่ไม่ถูกตัดมีออกแผ่นมาครั้งเดียว (และจากประเทศเดียว) โดยสรุปแล้วนี่คือรอยโหว่ของระบบคัดแยกหนังในเมืองไทยที่กลับเอื้อให้หนังซึ่งหลายประเทศมองว่า "อันตราย" ต่อสังคมกลุ่มใหญ่เรื่องนี้ส่งผลให้เรามีบุญได้ดู ชะตาชีวิตคนบางทีมันก็เล่นตลกแบบนี้เอง

28.12.55

ดอกไม้สด ซ้อนเรื่องจริง



"ดูเหมือนผู้หญิงทุกคนรักพระจันทร์ แต่ผู้ชายเห็นจะไม่ค่อยมีเท่าไร อย่างฉันน่ะเพราะหัดจึงได้รัก รักไว้เป็นเพื่อนนั่นเอง" คำสุดท้ายของเขามีเสียงถอนหายใจแกมออกมาด้วย เมื่อหยุดพูดแล้ว เขาก้มตัวลง ข้อศอกท้าวกำแพงเตี้ยที่ล้อมรอบเขตพัทธสีมา และยกมือขึ้นเสยผม

ดอกไม้สด
ซ้อนเรื่องจริง

25.12.55

ดอกไม้สด ศัตรูของเจ้าหล่อน



แม้หล่อนไม่เคยกล่าวคำว่า "รัก" หล่อนก็ไม่เคยกล่าวคำว่า "ไม่รัก" ด้วยเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ความหวังของเขาจะไม่แล่นสุดขีดได้อย่างไร ครั้นมาบัดนี้ หล่อนใช้น้ำเสียงอันน่าเกลียดตัดรอนเขาดื้อ ๆ โดยไม่ให้คำอธิบาย หัวอกหนุ่มโลหิตกำลังแรงจะทนไหวไหม? ถ้าเขาผู้นั้นลุโสดาบันบางที แต่นายละออยัง รสพระธรรมกับเขายังรู้จักกันน้อยนัก

ดอกไม้สด
ศัตรูของเจ้าหล่อน 


7.12.55

งานเขียนของ โยโกะ ทาวาดะ (Yoko Tawada) ตอน ๘


อาชีพของฉันคือทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาเยอรมัน-ญี่ปุ่น วันที่เกิดเหตุเป็นการเจรจาธุรกิจซื้อขายระหว่างสองบริษัทข้ามชาติในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ตัวแทนจากสองฝ่ายนั่งประจันหน้ากันที่โต๊ะยาวเหมือนกลุ่มเด็กซนที่กำลังจะประกาศสงคราม ฉันนั่งถัดจากประธานบริษัทญี่ปุ่นที่เดินทางมาพร้อมกับกลุ่มชายวัยกลางคนในชุดสูท และคำพูดเบา ๆ คำแรกที่ทำลายความเงียบคือคำกล่าวอ้างอิงถึงเสื้อผ้าของสาวเยอรมันฝั่งตรงข้าม
“ผู้หญิงที่นี่แปลกนะ ขนาดในเวลางานยังใส่เสื้อผ้าเซ็กซี่อีก”


ฝ่ายเยอรมันทำหน้าสนใจว่าทางญี่ปุ่นพูดถึงอะไร ฉันจึงแปลประโยคที่ไม่มีใครพูดว่าผู้บริหารญี่ปุ่นชื่นชมเครื่องประดับโบราณในร้าน
ผู้เข้าประชุมหลายคนกลั้นหัวเราะไม่อยู่ เมื่อเห็นปลาตัวใหญ่ที่ถูกยกมาเสิร์ฟนั้นมีลักษณะเหมือนขาอ่อนผู้หญิง  ปากเปิดอ้าค้างไม่มีลิ้น  ถูกตะโกรมตะกรามแบ่งกิน  เหลือแต่หัวปลาที่ไม่มีตาและก้าง

งานเขียนของ โยโกะ ทาวาดะ (Yoko Tawada) ตอน ๗


ฉันรู้สึกถึงความมหัศจรรย์ของ Xander เพราะเขาเปรียบดั่งกับผู้เนรมิตนามของคำต่าง ๆ คำภาษาเยอรมันแทบทุกคำฉันเรียนรู้จากเขา ฉันหลงรักคนที่สอนคำให้ฉัน การพูดทวนคำทุกคำที่เขาสอนทำให้ฉันรู้สึกว่าลิ้นของฉันเป็นของ ซานเดอร์ 

“หนังสือ” (buch)


แม้แต่ชื่อ ซานเดอร์ ก็เป็นปริศนาที่ชวนสนเท่ห์สำหรับฉันมาตลอด กว่าที่ฉันจะเข้าใจว่ามันคือคำย่อจาก “อเล็กซานเดอร์ “ (Alexander) ก่อนหน้านี้มันทำให้ฉันนึกถึงบทเรียนสมัยเด็กที่นักเรียนต้องค้นหาความหมายของ X แต่ถ้า X ที่ว่ามาจากรากศัพท์คำว่า durchein มันจะหมายความว่า durcheinander ที่หมายถึง “สับสนปนเป” หรือเปล่า หรือถ้ามันหมายความถึง mitein มันก็อาจจะเป็น miteinander (ร่วมกัน) มันช่างเป็นคำที่น่ากลัวอะไรเช่นนี้

งานเขียนของ โยโกะ ทาวาดะ (Yoko Tawada) ตอน ๖


เสร็จจากย้อมผมแล้ว ซานเดอร์ วาดรูปตัว X บนแก้มของฉัน
“ตั้งแต่สมัยเด็ก ผมทำเครื่องหมายของที่ผมรักทุกชิ้นด้วยเครื่องหมาย X เพื่อแสดงกรรมสิทธิ์” จากนั้น ซานเดอร์ จูบรอยตัว X

ซานเดอร์ จับฉันยืนหน้ากำแพง ก่อนกดชัตเตอร์กล้องอย่างสบายใจเหมือนลั่นไกปืน รอย X ฝังลึกไปบนแก้มของฉัน ร่องรอยนี้หยุดแสงจากการเล่นคะนองแล้วขึงตรึงภาพของสาวญี่ปุ่นลงบนกระดาษ

งานเขียนของ โยโกะ ทาวาดะ (Yoko Tawada) ตอน ๕


“เอ้า ผ่อนคลายหน่อย ยิ้มแล้วมองกล้องด้วย”
ซานเดอร์ เป็นมากกว่าแฟนธรรมดา เขาเป็นช่างภาพแนวรณรงค์สิทธิ์ที่จำต้องหารายได้เพิ่มเติมจากการถ่ายภาพให้บริษัทโฆษณา ตัวฉันเองนอกจากเรียนรู้ภาษาเยอรมันคำแรกจากเขาแล้วก็ต้องรับหน้าที่นางแบบจำเป็นไปด้วย


















บางคราวเขาบอกว่าหน้าตาของฉันนั้นดูไม่ค่อยเป็นญี่ปุ่นเท่าที่ควร เขาจึงแต่งหน้าของฉันให้เข้มกว่าปกติ ซ้ำยังย้อมผมของฉันให้ดำยิ่งขึ้นไปอีกจากเส้นผมที่ดำอยู่แล้ว
เสร็จจากย้อมผมแล้ว ซานเดอร์ วาดรูปตัว X บนแก้มของฉัน

6.12.55

งานเขียนของ โยโกะ ทาวาดะ (Yoko Tawada) ตอน ๔


“อย่ากลัว กล้องไม่ใช่ปืน” ซานเดอร์ บอก

กล้องพยายามจ้องสายตาฉันเหมือนนักจิตวิทยา ถ้ามันอยากจะรู้จักความลับของวิญญาณฉัน ฉันคงไม่ต้องกังวล  แต่นี่มันพยายามจะจับผิวของฉันนี่ 

มันพยายามเก็บรักษาร่างกายของฉันให้พ้นจากความตาย ด้วยการเผาผลาญร่างของฉันบนกระดาษอัดรูป


“เอ้า ผ่อนคลายหน่อย ยิ้มแล้วมองกล้องด้วย”

งานเจียนของ โยโกะ ทาวาดะ (Yoko Tawada) ตอน ๓


ภาพถ่ายของ “ฉัน” ที่ติดอยู่ข้างกระจกเป็นฝีมือถ่ายภาพของ ซานเดอร์ (Xander) แฟนหนุ่มชาวเยอรมันของฉันเอง ทุก ๆ ครั้งที่กล้องถ่ายภาพของเขาจับจ้องมา ฉันเขินอายวางตัวไม่ถูกเหมือนยามที่จ้องมองตัวเองในกระจก ยิ่งขณะที่แฟลชลั่นวาบ กล้องตัดเวลาเป็นแผ่นบาง ๆ แบบเดียวกับที่มีดตัดเนื้อแฮม ดวงตาของฉันกลายรูปเป็นปลาที่ประกอบตัวขึ้นจากแสง มันกำลังพยายามกระโดดหนีไปในอากาศ  แต่ภาพเดียวที่ฉันเห็นกลับเป็นภาพหลุมดำของเลนส์

งานเขียนของ โยโกะ ทาวาดะ (Yoko Tawada) ตอน ๒


ภาพถ่ายของ “ฉัน” ที่ติดอยู่ข้างกระจกเป็นฝีมือถ่ายภาพของ ซานเดอร์ (Xander) แฟนหนุ่มชาวเยอรมันของฉันเอง ทุก ๆ ครั้งที่กล้องถ่ายภาพของเขาจับจ้องมา ฉันเขินอายวางตัวไม่ถูกเหมือนยามที่จ้องมองตัวเองในกระจก ยิ่งขณะที่แฟลชลั่นวาบ กล้องตัดเวลาเป็นแผ่นบาง ๆ แบบเดียวกับที่มีดตัดเนื้อแฮม ดวงตาของฉันกลายรูปเป็นปลาที่ประกอบตัวขึ้นจากแสง มันกำลังพยายามกระโดดหนีไปในอากาศ  แต่ภาพเดียวที่ฉันเห็นกลับเป็นภาพหลุมดำของเลนส์


งานเขียนของ Yoko Tawada (โยโกะ ทาวาดะ) ตอน ๑


เช้านี้ก็เช่นเดียวกับเช้าก่อนวันทำงานวันอื่น ๆ ที่ฉันตื่นขึ้นมาเทียบเคียงใบหน้าตัวเองกับภาพถ่ายข้างกระจกเหมือนเช่นทุกวัน  แต่วันนี้นอกจากหน้าของฉันจะซีดฝาดเหมือนคนตายแล้ว กรอบเหลี่ยมของกระจกกลับทำให้รู้สึกไม่ต่างจากเหลี่ยมมุมของโลงศพ  หนำซ้ำผิวหน้าและผิวกายยังเกลื่อนไปด้วยเกล็ดปลาจนฉันไม่มีเวลาพอที่จะมานั่งลอกเกล็ดทีละชิ้น



เครื่องสำอางมีไว้เสริมแต่งและปกปิด โดยธรรมชาติผู้หญิงส่วนใหญ่ก่อนเฉิดฉายนอกบ้านต้องแต่งองค์ให้ครบเครื่อง และกระจกก็เป็นสิ่งสำคัญในการเทียบเคียงใบหน้าตัวเองที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน ด้วยว่าร่างกายของคนเราประกอบไปด้วยน้ำถึง 80 เปอร์เซ็นต์  หน้าตาจึงสามารถพลิ้วพรายไปตามกระแสน้ำ ทั้งผิว หน้าผากและแก้มปรับแปลงตัวเองไม่ต่างจากน้ำใต้บึงที่เคลื่อนคล้อย ส่วนเบื้องบนผิวน้ำนั้นเล่าก็ถูกแรงกระทบจากรอยเหยียบย่ำของผู้คนที่ผ่านไปมา

ฉันต้องล้างหน้าด้วยทรายขาวที่ทำจากกระดูกปลาวาฬตากแห้งเพื่อจัดการกับผิวที่หยาบแห้งเหมือนทะเลทราย ยามที่ฉันร่อนหน้าตัวเองผ่านทราย มันเป็นการสนทนาประสากระดูกผ่านเนื้อหนัง ในฝ่ามือของฉันรู้สึกได้ถึงรูปทรงของหัวกะโหลกและสัมผัสของน้ำที่ขึ้นรูปอยู่ใต้ผิวกาย


ฉันชโลมโลชั่นที่ทำขึ้นจากน้ำนมแท้ของผู้หญิงที่เป็นแม่คน  มันไม่เพียงช่วยทำให้ผิวพรรณชุ่มชื่น  แต่มันยังทำให้คลายเครียดและรู้สึกมีกำลังวังชา 

5.12.55

bookvirus 09 เพลงรัตติกาลในอินเดีย Notturno Indiano


bookvirus 09
หนังสือบุ๊คไวรัสเล่มใหม่ที่เราจัดพิมพ์: เพลงรัตติกาลในอินเดีย Notturno Indiano
ผู้เขียน: Antonio Tabucchi
ผู้แปล : นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ
สำนักพิมพ์ bookvirus

ขณะนี้เหลือจำนวนไม่มาก ตีพิมพ์จำนวนจำกัด หาซื้อได้ที่ร้านคิโนะคุนิยะ พารากอนและอิเซตัน (เซ็นทรัลเวิล์ด), ร้านดวงกมลสาขา RCA (ตรงข้ามห้างTops ซูเปอร์มาร์เก็ต)  และร้าน BookMoby หอศิลป์กรุงเทพ

และอย่าลืมหาอ่าน "คำยืนยันของเปเรย์ร่า" จากผู้แต่งและผู้แปลคนเดียวกัน (สนพ. มติชน)

ปฎิบัติการหนังโดมิโน่ เรื่อง ความเศร้าของภูตผี ตัดต่อร่างแรกเสร็จสิ้น

ปฎิบัติการหนังโดมิโน่ เรื่อง ความเศร้าของภูตผี

หนังที่ได้ดัดแปลงจากส่วนหนึ่งของบทภาพยนตร์ต้นเรื่องที่ยังเขียนไม่เสร็จของ แดนอรัญ แสงทอง นักเขียนชื่อดังเพียงคนเดียวจากประเทศไทยที่ได้รับอิสริยาภรณ์จากประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งได้รับรางวัลศิลปาธรด้วย




"ความเศร้าของภูตผี" ภาพยนตร์จากทีมงานฟิล์มไวรัส ซึ่งเกิดขึ้นได้จากเงินบริจาคของคนดูหนังหลายท่าน ขณะนี้ได้ตัดต่อร่างแรกเสร็จแล้ว ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ร่วมสมทบทุนมา

จากนี้ไปเป็นขั้นตอนการหาทุนเพิ่มเติมเพื่อตัดต่อและบันทึกเสียงขั้นสุดท้าย

พร้อมกับทำคำบรรยายภาษาอังกฤษ

ขอขอบคุณเป็นพิเศษ นักแสดงที่มีน้ำใจสละเวลามาร่วมแสดงให้หนังขนาดเล็กเรื่องนี้
ขอบคุณทุกท่านตั้งแต่ ทราย อินทิรา เจริญปุระ. ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, เจนจิรา พงพัศ, สุมณฑา สวนผลรัตน์, ดุจดาว วัฒนปกรณ์ บุญใหญ่, นวลปณต เขียนภักดี, บุญส่ง นาคภู่, ฟารีดา จีราพันธุ์ และอื่น ๆ อีกมาก

ทีมงานผู้กำกับหนังโดมิโน่ทั้ง  4 คนประกอบด้วย

จุฬญาณนนท์​ ศิริผล
รัขฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค
วชร กัณหา
เฉลิมเกียรติ แซ่หย่อง

รายละเอียดล่าสุดให้ติดตามได้ใน Domino Film Experiment Facebook หรือ

บล็อกหนังโดมิโน่
http://dominofilm.blogspot.com/

วรรณกรรมเล่มโปรดของ วินเซนต์ แวนโกะ (ฟินเซนต์ ฟาน ค๊ก)

จากหนังสือ แวนโก๊ะที่เคยเข้าไปทำ (แต่ไม่ได้ใช้)


วรรณกรรมเล่มโปรดของ วินเซนต์ แวนโกะ (ฟินเซนต์ ฟาน ค๊ก) ในหนังสือจดหมายของ วินเซนต์ แวน โกะ(และหนังสืออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง)

ในหนังสือจดหมายของ วินเซนต์ แวน โกะ (The Letters of Vincent Van Gogh) รวบรวมโดย Mark Roskill พูดถึงงานวรรณกรรมของนักเขียนหลายคนที่เราชาวไทยพอจะเคยได้ยินชื่อ แต่อาจหาอ่านยาก ในที่นี้เลยขอรวบรวมไว้ ในร้านหนังสือมือสองและห้องสมุดเก่า ๆ คงพอหาได้

หนังสือของ Charles Dickens
ชาร์ลส์ ดิกเกนส์Great Expectations ภาคภาษาไทยชื่อ “ความหวัง” แปลโดย พจน์ เดชา สำนักพิมพ์ประมวลสาสน์ (ไม่ระบุปี)
A Tale of Two Cities ภาคภาษาไทยชื่อ “สองนคร” แปลโดย ปรัชา ส่งสัมพันธ์ สำนักพิมพ์บรรณกิจ (กรกฏาคม 2523)

บทละครของ William Shakespeare
วิลเลี่ยม เชคสเปียร์
The Merchant of Venice ภาคภาษาไทยชื่อ “เวนิสวานิส” พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2459)
As You Like It ภาคภาษาไทยชื่อ “ตามใจท่าน” พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว สำนักพิมพ์บรรณาคาร (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2464 พิมพ์ครั้งที่เจ็ด พ.ศ. 2514)
Romeo and Juliet ภาคภาษาไทยชื่อ “โรเมโอและจูเลียต” พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2466)
A Midsummer Night’s Dream ภาคภาษาไทยชื่อ “ฝัน ณ คืนกลางฤดูร้อน” แปลโดย ดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา (พ.ศ. 2509)
A Twelfth Night ภาคภาษาไทยชื่อ “ราตรีที่สิบสองหรืออะไรก็ได้” แปลโดย รัตนาภรณ์ ไกรฤกษ์ ยูนิพันธ์ (พ.ศ. 2509)
Romeo and Juliet / Antony and Cleopatra ภาคภาษาไทยชื่อ “โรเมโอและจูเลียตและพระนางคลีโอพัตรา” แปลโดย ป. อนุคระหานนท์ (พ.ศ. 2514)
Julius Caesar ภาคภาษาไทยชื่อ “จูเลียส ซีซาร์” แปลโดย ทวีปวร (พ.ศ. 2515)
Macbeth ภาคภาษาไทยชื่อ “แมคเบธ” แปลโดย นพมาส แววหงส์ (พ.ศ. 2537)
หรรษาราตรี : ชุดวรรณกรรมเอกของ เชคสเปียร์ เรียบเรียงโดย นพมาส แววหงส์ (พ.ศ. 2538)

วิเคราะห์ผลงานของ เชกสเปียร์
“เชกสเปียร์” พันทิพา บูรณมาตร์ แปลจาก Shakespeare: A Very Short Introduction เขียนโดย Germaine Greer จัดพิมพ์โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (พิมพ์เมื่อ เมษายน 2549)


หนังสือของ Honore de Balzac


ออนอเร่ เดอ บัลซัค

Balzac (ชีวประวัติของบัลซัค) ภาคภาษาไทยชื่อ “บัลซัค” แปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ, กรกฏาคม 2542

Le Pere Goriot ภาคภาษาไทยชื่อ “พ่อโกริโยต์” แปลโดย ลัดดา วงศ์สายัณห์, วัลยา วิวัฒน์ศร, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ, พฤศจิกายน 2542

La Femme de Trente Ans ภาคภาษาไทยชื่อ “สาวสามสิบ” แปลโดย สารภี แกสตัน, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ, ธันวามคม 2544

Le Pere Goriot ภาคภาษาไทยชื่อ “พ่อโกริโยต์” แปลโดย ลัดดา วงศ์สายัณห์, วัลยา วิวัฒน์ศร, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ, พฤศจิกายน 2542

La Femme Abandonnee ภาคภาษาไทยชื่อ “หญิงรักร้าง” แปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ, ธันวาคม 2544

Eugenie Grandet ภาคภาษาไทยชื่อ “เออเฌนี กร็องเด้ต์” แปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ, มีนาคม 2544

หนังสือของ Victor Hugo


วิกตอร์ อูโก
Les Miserables ภาคภาษาไทยชื่อ “เหยื่ออธรรม” แปลโดย จูเลียต, สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา, 2504 (ต่อมาพิมพ์ซ้ำอีกเช่นสำนักพิมพ์ทับหนังสือเมื่อปีเมษายน 2535) และมีสำนวนแปลที่สองชื่อ “ตรวนชีวิต” แปลโดย พูลสุข ต้นพรหม, สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง

The Hunchback of Notre-Dame ภาคภาษาไทยชื่อ “ไอ้ค่อมแห่งโนตเตรอะดาม” แปลโดย สายธาร, สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, 2519

หนังสือของ Voltaire


โวลแตร์
Candide ภาคภาษาไทยชื่อ “ฆานฑิต คนว่าง่าย” แปลโดย ดร. วัฒนา, สำนักพิมพ์อักษรสาสน์ 2498 และมีการแปลใหม่ในรูปเล่มปกแข็งสีครีมในชื่อ “ก็องดิดด์” สำนวนแปลของ วัลยา วิวัฒน์ศร, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ, กรกฏาคม 2538 (ต่อมาพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในฉบับปกอ่อนและปกแข็งสีแดงโดยสำนักพิมพ์เดียวกัน)

Zadig ภาคภาษาไทยชื่อ “ซาดิก” แปลโดยวัลยา วิวัฒน์ศร, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ, สิงหาคม 2539 (พิมพ์ซ้ำครั้งที่สองในปี 2543)

คำนำหนังสือจดหมายของ วินเซนต์ แวนโกะ ถึงน้องชาย (เธโอ แวน โกะ)

นี่คือคำนำที่เขียนไว้แต่ไม่ได้ตีพิมพ์ในหนังสือจดหมายของ วินเซนต์ แวน โกะ (ฟินเซน ฟาน ค๊ก)



“สำหรับตัวพี่แล้วมันเป็นไปได้ว่าอหิวาตกโรค วัณโรค และมะเร็งก็คือวิถีทางจากเบื้องบนในการขับเคลื่อน เหมือนเช่นเรือกลไฟไอน้ำ รถโดยสาร และรางรถไฟก็ไม่ต่างจากวิถีทางของผู้คนเดินดิน ความตายอย่างเงียบสงบในวัยชราจะไปถึงได้ด้วยเท้าแต่เพียงเท่านั้น”
จดหมายจาก วินเซนต์ แวน โกะ ถึง เธโอ, กลางกรกฏาคม 1888

ว่าด้วยนิทานสามเรื่อง

นิทานเรื่องที่หนึ่ง – ภาพข้างนอก

ฟินเซน ฟาน ค๊ก – ใครวะ
วินเซนต์ แวน โกะ – คนส่วนใหญ่คุ้นชื่อนี้มากกว่า แทบจะเรียกได้ว่าเขาเป็นศิลปินคนแรกหรือคนเดียวที่คนไทยคุ้นหูที่สุด หลายคนรู้จักชีวิตอันเต็มไปด้วยสีสันของเขาจากนิยายและหนังเรื่อง “ไฟศิลป์” (Lust for Life) บางคนโดนไฟศิลป์โหมหนักจนหันเหสู่หนทางแห่งศิลปิน แต่หากถามลึกและตอบจริง ชื่อเสียงเงินทองที่ใครต่างฝันใฝ่ย่อมไม่มีใครอยากนำหน้าด้วยเส้นทางขรุขระเยี่ยงที่ แวน โกะ เผชิญ

องค์ประกอบโดดเด้ง
ชายหนุ่มผู้มีจิตใจเมตตา ชอบช่วยเหลือคนอื่น มีความตั้งใจอยากจะสอนศาสนาให้คนยากจน แต่วิธีการเทศน์นั้นไม่แคล่วคล่องโดนใจคนฟัง ซ้ำยังไม่ผ่านเกณฑ์ของคณะศาสนจักร

เขาผู้ขยันเหวี่ยงก้อนความรักชุดใหญ่ให้กับคนอื่น แต่ยิ่งเหวี่ยงหนักขึ้นเท่าไรยิ่งพบแต่ความเฉยชา การพ่ายรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผนวกกับความรู้สึกด้อยค่าของเขาจึงกลายเป็นแผลฝังใจและกลายเป็นระเบิดเวลาทำลายตัวเอง

ยกเว้นก็แต่ เธโอน้องชายและ วิลเฮมมิน่า น้องสาวคนเล็ก คนอื่นในครอบครัวและญาติ ๆ แม้จะรักและห่วงใยเขามากก็ตาม แต่ก็มักสรุปว่าเขาเป็นคนที่อนาคตริบหรี่ ป่วยการเสริมส่ง
กับเพื่อนศิลปินด้วยกันก็ไม่ประสมกลมกลืน อุดมคติการสร้างรังสวรรค์ศิลปินกับ โกแก็ง กลับตัดตอนอย่างกระทันหัน

คนแปลกหน้ามักมองว่าเขาเป็นคนพิลึก เก็บเนื้อเก็บตัว สารรูปสกปรก เขาจึงมักถูกดูหมิ่นและกลั่นแกล้ง[1] มุ่งมั่นสร้างงานบนทิศทางความเชื่อของตัวเอง มิใช่ยึดหลักทฤษฎีความงามสำเร็จรูปเช่นที่นิยมกันในยุคนั้น เพราะเขาเชื่อว่าสัจจะที่แท้ของศิลปะไม่ได้อยู่ที่การวาดสรีระสัดส่วนที่ถูกต้อง หากแต่อยู่ที่สัมพันธ์ขลุกลึกกับธรรมชาติและผู้คน เฉกเช่นเดียวกับชาวบ้านชาวนาที่เก็บพืชผลจากท้องทุ่งเลี้ยงปากท้อง ซึ่งต่างจบบั้นปลายด้วยการฝังคืนสู่ผืนดิน เป็นตัวอย่างของศิลปินไส้แห้งตามขนบดั้งเดิมโดยแท้ ตายไปทั้ง ๆ ที่เฝ้าฝันจะขายงานเลี้ยงชีวิตตัวเองได้บ้าง เพียงเพื่อตัวเองจะได้รู้สึกมีคุณค่ามากขึ้นและไม่เป็นภาระกับครอบครัวน้องชาย

คนที่อาการทางจิตกำลังกำเริบหนัก แต่ก็ยังดิ้นรนจะแสดงความรักมนุษย์ให้คนประจักษ์ผ่านแปรงพู่กัน เสียงกรีดร้องจากเบื้องลึกของไอ้เพี้ยนตัดหูตัวเองที่สังคมเมินผ่าน จวบกระทั่งการประเมินราคาชิ้นงานสูงลิ่วหลังความตายที่ดุจดั่งเป็นบทสรุปของตลกร้าย

ก็เหล่าคุณสมบัติข้างต้นนี่แหละที่ตอบโจทย์กรรมการได้กว้างขวาง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นนักคิด นักเขียน นักวิจารณ์ ภัณฑารักษ์ ผู้เป็นศิลปินแล้ว หรือผู้ใคร่เป็น ตลอดจนชาวบ้านร้านตลาดที่ชมชอบเรื่องราวตื่นเต้นเร้าใจในเชิงบันเทิงคดี ทุกผู้นามล้วนหาความพึงใจได้ทุกรูปแบบ สามารถขานไขปัญญาหรือกวัดแกว่งสาบอารมณ์กันตามสะดวกทั้งแนวตั้งแนวนอน ตะเคียงตะแคงทั้งทางบกและทางอากาศ หรือหากจะเลือกแนวสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกก็ยังไหว

นิทานเรื่องที่สอง – ภาพข้างใน

เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2006 สถานทูตเนเธอร์แลนด์ได้จัดแสดงภาพพิมพ์ชุดใหญ่ของอภิมหาศิลปินร่วมชาติเดียวกับ แวน โกะ คือ เรมบรันท์ (Rembrandt) ที่ห้องแสดงงานของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม ตั้งชื่ออลังการว่า The First-Ever Rembrandt Exhibition in Thailand นับเป็นงานศิลปะงานใหญ่ที่สุดงานหนึ่งที่เคยจัดในบ้านเราเลยทีเดียว และแม้งานภาพพิมพ์จะมีความเป็นออริจินัลน้อยกว่าภาพจิตรกรรมก็จริง แต่ทุกชิ้นก็ประกันความแท้ในวงเงินหลายล้านบาท งานแสดงคราวนั้นมีผู้สนใจค่อนข้างมาก โรงเรียนบางแห่งจัดคณะนักเรียนมัธยมมาเข้าชมผลงานภาพที่เก่าแก่กว่าสี่ร้อยปี เสียดายเพียงโอกาสการชื่นชมศิลปะที่ครูบาอาจารย์ไม่อาจมอบให้ นอกเหนือจากคำสั่งให้คัดลอกชื่อภาพทั้งหมดลงบนสมุด หวังเพียงสักวันพวกเขาอาจพอรำลึกได้ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีการให้ความสำคัญกับศิลปะในมาตรฐานงานระดับน้องเอ็กซ์โป

ทีมงานผู้จัดตั้งใจดีที่เตรียมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาช่วยอธิบายคุณค่าของภาพ แต่สำหรับผู้ชมส่วนใหญ่แล้วก็แน่นอนว่าราคาค่างวดของชิ้นงานนั้นย่อมสื่อสารกับผู้ชมได้ง่ายกว่าเสมอ เหมือนกับน้ำหนักเสียงของตัวเลขที่ฟังดุดันเหนือกว่าบทบรรยายความหมายพิลาศพิไลของเส้นศิลป์ในทุกกรณี
แวนโกะ นั้นเป็นผู้หนึ่งที่ยกย่องผลงานของเรมบรันท์ดั่งเทพเจ้า และอ้างในจดหมายถึง เธโอ อยู่บ่อยครั้ง ในความแตกต่างทางลายเส้นและการลงสีแปรง เราจะพบการใส่ใจกับชีวิตจริงของศิลปินทั้งสองในระดับที่เหลือเชื่อ ภาพที่ เรมบรันท์ วาดอันไม่ว่าจะเป็นบุคคลสูงศักดิ์ เรื่องราวจากคัมภีร์ไบเบิ้ล หรือชาวบ้านร้านตลาดต่างอาบอุ่นไปด้วยแสงตัดผ่านเงามืดที่สลักลึกถึงริ้วรอยประสบการณ์และแผลอดีต ในแบบฉบับที่ แวน โกะ มองว่ายั่งยืนและจริงแท้กว่าภาพของศิลปินที่วาดภาพผุดผ่องตามต้นแบบสำเร็จรูปในสตูดิโอ

แวน โกะ ยืนยันกับเธโออยู่ตลอดในการยืนกรานค้นหาแนวทางศิลปะของตัวเอง ภาพของเขาอาจขาดความสมบูรณ์แบบก็จริงแต่กลับเปี่ยมชีวิต เสียแต่ว่าภาพในสไตล์ของเขานั้นยังใหม่กว่าแนวทางของตลาดขณะนั้น กระทั่งว่าแปลกใหม่กว่าภาพเขียนของกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสม์ซึ่งเขาเคยร่วมแสดงเสียด้วย แต่ขณะที่สมาชิกกลุ่มนั้นกำลังเริ่มเป็นที่ยอมรับในสังคมด้วยการผลักดันของ เธโอ และรสนิยมสังคมที่คลี่คลายไป ด้าน แวน โกะ นั้นกลับยิ่งเกิดปมด้อยมากขึ้นทุกที เสริมกับการที่เขามีแนวโน้มจะผูกพันตัวเองกับหนังสือที่เขาชอบ ภาพที่เขาชม ข่าวที่เขาอ่าน [2] ดังนั้นเองจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะลืมเหตุการณ์การประมูลภาพเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ที่ภาพของศิลปินคนโปรดอย่าง ฌอง-ฟรองซัวส์ มิลเลต์ (Jean-Francois Millet) ได้ถูกอัพราคาอีกเท่าทวีหลังมรณกรรมของศิลปิน และแม้ว่าปกติ แวน โกะ จะทดท้อใจอยู่บ่อย ๆ แต่ก็แอบเชื่อมั่นว่าในอนาคตจะมีคนยอมรับศิลปะในแนวทางของเขาได้ ซึ่งสุดท้ายนั่นก็กลายเป็นสิ่งตอบแทนเดียวที่เขาสามารถชดเชยคืนให้น้องชายด้วยการเร่งวาดภาพมากมายในช่วงท้ายของชีวิต แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกอีกครั้ง เพราะว่าเธโอก็ไม่ทันได้มีชีวิตอยู่สำราญสมบัติของพี่ชายอยู่ดี หนำซ้ำกระทั่งความตายก็ไม่อาจแยกสองพี่น้องให้ห่างจากกันได้

นิทานรื่องที่สาม – ภาพตัวเรา

จดหมายของแวนโกะชวนให้นึกถึงศิลปินบ้าพลังอีกคนหนึ่งคือ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ นักเขียนชาวรัสเซียซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญอีกคนของวงวรรณกรรมสากล ในประเด็นคล้ายคลึงกัน เช่น เรื่องโลกยุคใหม่ที่สิ้นไร้ศรัทธา มนุษย์ขาดสะพานเชื่อมโยงกับธรรมชาติและจิตวิญญาณ ปัญหาค่าใช้จ่าย ความแปลกแยกจากสังคมในลักษณะของ “คนต่ำต้อยผู้หยั่งรู้” ความสนิทสนมกับน้องชาย (กรณี ดอสโตเยฟสกี้เป็นการติดต่อทางจดหมายและทำธุรกิจหนังสือกับพี่ชาย) โรคลมชัก[3] ความดื้อดึงฉุนเฉียว และอื่น ๆ ต่างกันอย่างสำคัญก็คือ ดอสโตเยฟสกี้ เป็นศิลปินที่เรียนรู้ชีวิตครั้งใหญ่ผ่านการกระแทกอีโก้ก้อนโตของตัวเองประทะกับโศกนาฏกรรมในชีวิต ส่วนความเรียบง่ายสมถะ (ที่เกิดจากการสิ้นทางเลือก) แบบแวนโกะน่าจะทำให้คนทั้งสองต่างรู้สึกแปลกหน้าต่อกันพอตัวทีเดียว แต่ท้ายสุดทั้งคู่ต่างค้นพบปลายทางศิลปะในแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน คือด้าน ดอสโตเยฟสกี้ นั้นเป็นในแง่การหยั่งถึงความดิบหยาบเห่อเหิม ความโลภและความวิตกจริตที่เผชิญหน้ากับคุณธรรมและความเสียสละเข้าอย่างจัง ซ้ำยังยืนกรานจะรายงานอย่างเที่ยงตรงไม่มิดเม้น ส่วน แวน โกะ นั้นเป็นการโอนถ่ายศรัทธาทางศาสนามาเป็นพลังทางจิตวิญญาณผ่านงานศิลป์ และเป็นการเรียนรู้ผ่านบททดลองของความเป็นโนบอดี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
การตั้งจิตนอบน้อมถ่อมตน เชื่อมั่นและเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์แบบที่ แวน โกะมี อาจฟังดูเลี่ยนลิ้นเกินเพ้อไปแล้วก็ได้ในสมัยนี้ แต่ลำพังเพียงการอุทิศตัวใฝ่ศิลป์ของเขาอาจจะทำให้ผู้ที่ได้รับ “กระแสเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ในนามแห่งศิลปะ” เดินอวดอหังการรอบแคทวอล์คอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ต้องรีบลงสมัครเป็นศิษย์คณะตลกชวนขื่นไปในทันทีเลยก็ว่าได้

การต่อสู้อันยาวนานบนเส้นทางของศิลปะไม่ใช่เรื่องของการสนองโจทย์ตลาด หรือขยับแข้งตามโปรแกรมเคยชิน ในทำนองเดียวกับที่เวลาและประสบการณ์ของแต่ละคนย่อมตอบรับต่อเสียงแห่งสัจจะคนละชนิด กรณีของแวน โกะ เขาเริ่มต้นช้า ดิบหยาบ และกระวนกระวาย แต่พรแสวงและการทุ่มเทอดทนเพื่อเรียนรู้โลกนั้นมีเหนือเกินกว่าศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อีกหลายท่าน แต่เขาก็ยังมองตัวเองว่าไม่มีทางไปไกลกว่าระดับของ เรมบรันท์ มิลเลต์ เดอลาครัวซ์ และคนอื่น ๆ ได้อยู่ดี

หนังสือและหนังเรื่อง Lust for Life ปั้นแต่งชีวิต แวนโกะราวกับพระเอกแสนดี (เดินธุดงค์เทศนาแบบ ‘พระ’ - เกือบใช่, ‘ตัวเอก’ – แน่นอน, แต่ ‘พระเอกไร้ที่ติ’? - โม้น่า) ยิ่งเรื่องดื้อรั้นไม่ฟังคนหวังดีนั้นยิ่งทำร้ายเขาและครอบครัวมิใช่น้อย ชีวิตหมอนี่หยิบยื่นให้ทั้งดราม่าเข้ม ๆ ทางการศึกษาใจคนพอ ๆ กับเหลี่ยมคมทางศิลปะ จดหมายเหล่านี้ประกอบด้วยเลือดเนื้อ อุดมคติ การให้คุณค่าของสรรพสิ่ง บันทึกประวัติศาสตร์ เกร็ดเรื่องราวคนเมืองคนท้องถิ่นต่างระดับชั้น รวมถึงเทคนิคการวาดภาพและมุมมองการสังเกตธรรมชาติมากมาย ซึ่งเผื่อแผ่แรงบันดาลใจที่ดีกับศิลปินทุกแขนง แลดูเถิดการสืบสานศิลป์ให้รุ่งเรืองด้วยคนอย่าง โมสาร์ท. บ้าค. วาเลนติน ซิลเวสทรอฟ (คีตกวี) , อลิซ มุนโร, เอมี่ เฮมเพล, เอ เแอล เคนเนดี้. เซซาร์ ไอรา, โรแบร์โต โบลาณโญ่ (นักประพันธ์) บาแลนไชน์, พีน่า เบ้าช์ (นาฏศิลป์) อังเดร ทาร์คอฟสกี้, ฟิลิปป์ กรองดิญือซ์, ไมค์ ลีห์ (คนทำหนัง) ต่างคนต่างตระหนักในหน้าที่ ประคองจิตและสติของศิลปินให้แม่นมั่นบนอุดมคติดันทุรัง

ในโลกที่เราคุ้นเคยกับการสัมภาษณ์โต้ตอบให้ร้ายรายวันระหว่างดาราและนักการเมือง จดหมายถึงเธโอ ดูจะเป็นสิ่งเดียวที่พอทดแทนคำให้สัมภาษณ์ของ แวน โกะ เองต่อสิ่งที่เขารู้สึกและมองเห็นได้ดีที่สุด

น่าเสียดายว่าจดหมายโต้ตอบของสองพี่น้องนั้นคงไม่มีวันประสานสมบูรณ์ เนื่องด้วย แวน โกะ เองในขณะนั้นย่อมไม่พร้อมในการจัดเก็บ จดหมายในส่วนของ เธโอ ที่ยังมีหลงเหลือจึงมักเป็นการติดต่อระหว่างสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ เสียมากกว่า นั่นช่วยให้เราได้ฝึกใช้จินตนาการนักสืบคาดเดานิสัยใจคอของ เธโอ ไปพลาง เท่าที่หลายคนน่าจะทำต่อไปก็คือแสวงหาจดหมายระหว่าง แวน โกะ และสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ อ่านต่อ เพราะมีเผยแพร่ให้อ่านแล้วทางอินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังมีจดหมายระหว่าง แวน โกะ และ เอมิล แบร์นาร์ด ศิลปินรุ่นน้อง ซึ่งเล่มนี้ตีพิมพ์เป็นเล่มใหญ่ปกแข็งสวยงามและมีวางจำหน่ายในบ้านเมืองเราด้วย [4]

เนื่องจากจดหมาย แวน โกะ เคยมีการตีพิมพ์เป็นเล่มในภาษาอังกฤษมากกว่าสามสำนวน ในแต่ละครั้งมีความยาวและเนื้อหาแตกต่างกันไปพอสมควร ฉบับภาษาไทยครั้งนี้ถอดความจาก The Letters of Vincent Van Gogh ซึ่งมี Mark Roskill เป็นบรรณาธิการ ตัวรูปเล่มของหนังสือดั้งเดิมนั้นเป็นเพียงขนาดพ็อคเก็ตบุ๊ค คำอธิบายในส่วนเชิงอรรถและภาพประกอบจึงค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ทางเราชาวคณะผู้จัดทำได้เพิ่มเติมบทบางส่วนให้คนอ่านชาวไทยได้เข้าใจง่ายขึ้น อาทิ เพิ่มเชิงอรรถอธิบายชื่อ-ประวัติย่อของบุคคลต่าง ๆ ที่ แวน โกะ เอ่ยถึง อีกทั้งเพิ่มตัวอย่างงานศิลปะหรือหนังสือที่ แวน โกะ ชื่นชอบ รวมทั้งเพิ่มรายละเอียดประวัติบุคคลสำคัญในครอบครัว

แน่นอนว่างานเหล่านี้จะเสร็จสมบูรณ์ไม่ได้เลย หากขาดซึ่งอาจารย์ บัณฑูร ราชมณี อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดีคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ช่วยทุเลาเบาบางงานบรรณาธิการอย่างมโหฬาร อีกทั้งวิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา (filmsick) ที่ช่วยเสริมงานในส่วนเชิงอรรถ และที่จะลืมวงเล็บไม่ได้เลยคือที่ปรึกษาการออกเสียงชื่อภาษาดัทช์ - คุณปรียา แววหงษ์ และ Pieter Van Gemert

หวังอย่างยิ่งว่าเชื้อไฟของ แวน โกะ จะยังปะทุในใจศิลปินแห่งศตวรรษหน้า
สนธยา ทรัพย์เย็น (บุ๊คไวรัส / ฟิล์มไวรัส)

(หมายเหตุ: ในจดหมายเล่มนี้ชื่อสกุลส่วนใหญ่จะยังคงสะกด แวน โกะ หรือ วินเซนต์ ตามความคุ้นเคยทั่วไป)

[1] จากคำให้การของหนึ่งในกลุ่มวัยรุ่นที่เห็น แวน โกะ เป็นบุคคลท่าทางเพี้ยนที่แบกอุปกรณ์ไปวาดภาพตามสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองอาร์ลส (ข้อมูลจากหนังสือ
The Yellow House: Van Gogh, Gauguin and Nine Turbulent Weeks in Arles ของ Martin Gayford) 2006
[2] ในทำนองเดียวกับที่การตัดหูของตัวเองไปมอบให้โสเภณีมีแนวโน้มที่จะเกิดจากแรงบันดาลใจจากคดีของ แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ซึ่งตีพิมพ์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
ต่างกันที่ความหงุดหงิดขี้น้อยใจของ แวน โกะ ก่อให้เกิดด้านกลับของคดีฆาตกรฆ่าโหดโสเภณี เพราะสุดท้ายแล้ว แวน โกะ ผู้มีพื้นฐานโอนอ่อนก็เลือกที่จะ
ย้อนมาทำร้ายตัวเองมากกว่าไปลงที่คนอื่น
[3] เอกสารปัจจุบันบางแห่งบันทึกว่า แวน โกะ ไม่ได้เป็นโรคลมชัก แต่เป็นโรคทางประสาทโพรงหู
[4] Vincent Van Gogh, Painted with Words: The Letters to Emile Bernard (สำนักพิมพ์ Rizzoli) 2007

ครอบครัวและญาติสกุล แวน โกะ

เบื้องหลังการทำงานจดหมายแวนโก๊ะ อันนี้คือข้อมูลที่จัดทำไว้แต่ไม่ได้ใช้



ครอบครัวและญาติสกุล วินเซนต์ แวน โกะ (ฟินเซน ฟาน ค๊ก)
(หมายเหตุ: ชื่อสกุลของตระกูล ฟินเซน ฟาน ค๊ก ในที่นี้จะเขียน วินเซนต์ แวน โกะ เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจสำหรับคนส่วนใหญ่ อีกทั้งกรุณาสังเกตชื่อบรรพบุรุษและทายาทในครอบครัวนั้นจงใจตั้งให้คล้ายกัน)

พ่อ – เธโอดอรัส แวน โกะ (Theodorus Van Gogh) เป็นนักบวชสอนศาสนาเช่นเดียวกับบิดาของเขาและบรรพบุรุษหลายคนก่อนหน้านี้ สันนิษฐานว่านามสกุล โกะ น่าจะมาจากชื่อของเมืองเล็ก ๆ ริมชายแดนเยอรมนี มีบันทึกเกี่ยวกับต้นตระกูล แวน โกะ มาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบหก พ่อและแม่ของ เธโอดอรัส แวน โกะ มีทายาทจำนวนสิบเอ็ดคน ครึ่งหนึ่งเป็นบุตรชาย เธโอดอรัส (1822-1885) เป็นลูกชายคนเดียวในตระกูลที่เลือกอาชีพสอนศาสนาเช่นเดียวกับบิดา กล่าวกันว่าเขาเป็นคนรูปร่างหน้าตาดี อีกทั้งเป็นคนอ่อนโยนและเป็นที่รักของลู กเต้า แต่ตัวเขาเองไม่ใช่คนที่มีความสามารถพิเศษในการสอนศาสนาแต่อย่างใด

(เในเวลาต่อมา เธโอดอรัส แวน โกะ ผิดหวังกับ วินเซนต์ ลูกชายคนโตอย่างใหญ่หลวง การหัวใจวายตายของเขาในวัย 63 ปีน่าจะมีเหตุจากการดำเนินชีวิตของ วินเซนต์ ไม่น้อย เพราะทั้งคู่มักมีเหตุให้กระทบกระทั่งและไม่เข้าใจกันได้ในแทบทุกเรื่อง ก่อนเสียชีวิตหนึ่งวันเขาเขียนจดหมายถึง เธโอ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน เพื่อระบายความจากอก เดิมสมาชิกส่วนใหญ่ในครอบครัว แวน โกะ รวมทั้งคนในหมู่บ้านก็มอง วินเซนต์ แวน โกะ แย่อยู่แล้ว ต่อแต่นี้ไปจึงยิ่งเลวร้ายลงไปอีก)

แม่ – อันนา คอร์เนเลีย คาร์เบนทุส (Anna CorneliaCarbentus) เกิดปี 1819 เธอแต่งงานกับ เธโอดอรัส แวน โกะในปี 1851 พ่อของเธอเป็นนักเข้าเล่มหนังสือที่มีฝีมือซึ่งได้รับทั้งเกียรติยศและความไว้วางใจจากกษัตริย์ เธอเป็นคนอบอุ่นอ่อนโยน โดยเป็นที่รักของสามีดูแลทั้งงานบ้านและช่วยงานด้านการสอนศาสนา เธออายุยืนนานถึง 87 ปี น้องสาวอีกคนของเธอนาม คอร์เนเลีย ก็แต่งงานกับ วินเซนต์ แวน โกะ (พี่ชายของ เธโอดอรัส – เรียกกันว่า ลุงวินเซนต์) ซึ่งประกอบอาชีพนักค้างานศิลปะที่จะมีบทบาทสำคัญถึง วินเซนต์ และ เธโอ รุ่นหลานดังที่จะกล่าวถึงต่อไปด้วย

ณ วันที่ 30 มีนาคม 1852 เธอให้กำเนิดบุตรชายที่ตายตั้งแต่ในครรภ์ นาม วินเซนต์ วิลเลม แวน โกะ (Vincent Willem Van Gogh) แต่ในปีถัดมาในวันเดียวกันเธอให้กำเนิดบุตรชายคนโตที่แข็งแรงดีแล้วมอบนามเดียวกันให้ นั่นก็คือ วินเซนต์ แวน โกะ ว่าที่ศิลปินเอกของโลก ตามท้องเรื่องของเรานั่นเอง

วินเซนต์ วิลเลม แวน โกะ (Vincent Willem Van Gogh) เด็กชายที่แข็งแรงที่สุดในบรรดาเด็กทั้งหมดในครอบครัวได้รับนามเดียวกับปู่ทวดก่อนหน้านั้นรวมถึงชื่อของบุตรชายคนแรกในตระกูลที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ในครรภ์ ตัว วินเซนต์ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 1853 นั้นได้ลักษณะของความเด็ดเดี่ยวเหมือนแม่มากกว่าพ่อ สีผมบลอนด์ของเขาเจือสีอมแดง รูปร่างของเขาปานกลางและมีไหล่กว้าง ตั้งแต่เด็กเขาดื้อรั้นเป็นตัวของตัวเองสูงและมีอารมณ์ร้อนแรง วินเซนต์ น้อยเป็นคนที่มีความรักให้สัตว์เลี้ยงและดอกไม้ พรสวรรค์ทางการวาดภาพในตอนเด็กนั้นยังไม่ส่อแวว นอกจากการปั้นโคลนเป็นรูปช้างตัวน้อย อีกทั้งยังเป็นหัวแรงแข็งขันในการคิดเกมสนุกเล่นระหว่างกลุ่มพี่น้อง ในครั้งหนึ่งพี่น้องทุกคนยังซาบซึ้งในตัว วินเซนต์ มากจนรวบรวมดอกกุหลาบเป็นช่อมอบให้พี่ชายด้วย รวมความแล้ววัยเด็กของครอบครัว แวน โกะ เต็มไปด้วยสีสันร่าเริง

วินเซนต์ ขาดประสบการณ์เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ กับผู้หญิง การผิดหวังในรักครั้งแรกที่มีต่อ ยูจีนี โลเยอร์ ลูกสาวเจ้าของบ้านเช่าในลอนดอนระหว่างที่เขาทำงานในแกลเลอรี่ของบริษัทกูปิลหุ้นส่วนลุงวินเซนต์ ทำให้เขาเปลี่ยนจากคนร่าเริงกลายเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว อ่านหนังสือและท่องไบเบิ้ล เขาเริ่มให้คำแนะนำแก่ลูกค้าซื้อขายภาพในทางที่ไม่เป็นผลประโยชน์แก่บริษัท ต่อมาครอบครัวของเขาปรึกษากันทางจดหมายและพากันเห็นดีเห็นงามย้ายเขาจากสำนักงานลอนดอนไปที่สำนักงานในปารีส แต่ความประพฤติของเขาก็ยิ่งนอกคอกขึ้นเรื่อย ๆ จึงถูกปลดออกจากงาน ถูกส่งกลับมาที่อังกฤษทำงานเป็นผู้ช่วยครูและทำงานในร้านหนังสือ ช่วงนี้เขานำพรสวรรค์ทางภาษาต่าง ๆ ของเขามาถอดความพระคัมภีร์จากภาษาดัทช์ไปเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน ช่วงหลังนี้เขาหันมายึดบิดาของตนเป็นต้นแบบและตั้งใจว่าจะเป็นนักสอนศาสนา โดยช่วงหนึ่งเขาไปอาศัยกับลุง ยัน ที่อัมสเตอร์ดัม และติวเข้มด้านภาษาลาติน กรีก และคณิตศาสตร์ แต่สุดท้ายเขาก็ล้มเลิกการเรียนและหันเหเข็มชีวิตเป็นจิตรกรแทน แต่อย่างน้อยช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่เขาตีความคำสอนของนักบุญปอลให้เป็นในแบบฉบับของเขาเอง โดยเฉพาะด้านการละเลยภาพพจน์ภายนอก เน้นความถ่อมตน ละทิ้งสมบัติทางกายเพื่อค้นพบความบริสุทธิ์ที่แท้จริง ซึ่งทั้งหมดยังคงเต็มเปี่ยมในงานศิลปะของเขา

อันนา คอร์เนเลีย แวน โกะ (Anna Cornelia Van Gogh) น้องสาวคนแรกของจิตรกร วินเซนต์ แวน โกะ เธอเกิดปี 1855

เธโอกอรัส แวน โกะ (Theodorus Van Gogh) เรียกสั้น ๆว่า “เธโอ” (Theo) - น้องชายของ วินเซนต์ เกิด 1 พฤษภาคม 1857 อายุอ่อนกว่าพี่ชายสี่ปี เขาเป็นคนที่สนิทกับ วินเซนต์ ที่สุดและมีบทบาทสำคัญในชีวิตศิลปิน นิสัยใจคอของ เธโอ เป็นคนอ่อนโยนนุ่มนวลต่างจากพี่ชาย และเขายังเป็นที่รักของทุกคนในครอบครัว อีกทั้งยังเป็นที่พึ่งและความหวังของทุกคนในบ้าน ทั้งพี่และน้องชายผูกพันกันมากตั้งแต่เด็ก ๆ บรรยากาศของท้องถิ่น การเดินเลียบชายน้ำ ทุ่งข้าวโพด และป่าไพน์ในชนบทที่บราบันท์ โกรท ซุนเดอร์ท จะกลายเป็นความหวนหาอาลัยอันใหญ่หลวงระหว่างสองพี่น้องไปตลอดชีวิต

เธโอ แวน โกะ โศกเศร้าและตายตามพี่ชายไปในเวลาห่างกันไม่เกินครึ่งปี ศพของสองพี่น้องถูกจัดวางเคียงกันที่สุสานเมือง ออแวร์ส ประเทศฝรั่งเศส

เอลิซาเบธา ฮิวเบอร์ตา แวน โกะ (Elizabetha Huberta Van Gogh) น้องสาวคนถัดมาของ วินเซนต์ แวน โกะ เธอเกิดปี 1859 วินเซนต์ แวน โกะ เอ่ยเรียกเธอในจดหมายว่า “ลิสเบธ” (Lizabeth)

วิลเลมมิน่า ยาโคบา แวน โกะ (Willemina Jacoba Van Gogh) น้องสาวคนเล็กของ วินเซนต์ แวน โกะ เธอเกิดปี 1862 นอกจาก เธโอ แล้ว น้องสาวคนนี้เป็นอีกคนเดียวในบรรดาพี่น้องทั้งหมด ที่ วินเซนต์ สนิทสนมและเขียนจดหมายติดต่อโดยตลอด ในจดหมายเขามักเรียกเธอว่า “วิล” (Wil) น้องสาวคนนี้ครองตนเป็นโสดอยู่อาศัยที่บ้านกับแม่วัยชรา เธอเป็นโรคซึมเศร้าและมักมีอาการเจ็บท้อง บางข้อมูลกล่าวว่าเธอกับ วินเซนต์ และเธโอ เป็นโรคลมชัก เช่นเดียวกับบรรพบุรุษตระกูล แวน โกะ บางคนก่อนหน้านี้ ต่อมา วิล เข้ารับการบำบัดจิตตลอดจนบั้นปลายชีวิต ความตายของเธอในปี 1941 นับเป็นบทสรุปสุดท้ายในสกุล แวน โกะ ดั้งเดิม

(ในจดหมายฉบับหนึ่งของ วินเซนต์ แวน โกะ เขาเคยเอ่ยว่าแม้แต่ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด รวมทั้ง “วิล” ซึ่งเป็นคนน่ารักนั้น บางคราวในรูปถ่ายก็ยังออกอาการวิปริตให้เห็นได้ชัด ที่พิเศษคือจดหมายที่เขาเขียนถึงเธอจะแฝงความอบอุ่นนุ่มนวลยิ่งกว่าฉบับที่เขียนถึง เธโอ เสียอีก นอกจากนั้น วินเซนต์ ยังชอบเขียนจดหมายแนะนำรายชื่อหนังสือให้น้องสาวซึ่งเป็นคนชอบอ่านหนังสือด้วย)

น้องชายคนสุดท้องของตระกูล - คอร์เนลิส วินเซนต์ (Cornelis Vincent Van Gogh) เขาเกิดปี 1867 และมีบทบาทในชีวิตพี่ชายน้อยที่สุด เขาอพยพไปอัฟริกาและฆ่าตัวตายในปี 1900

ลุงสี่คนที่มีบทบาทในชีวิตของ วินเซนต์ และ เธโอ

ลุงยัน (Uncle Jan) โยฮันเนส วินเซนต์ แวน โกะ (Johannes Van Gogh) พี่ชายของ เธโอดอรัส แวน โกะ มีเกียรติยศสูงสุดในครอบครัว คือเป็นพลเรือโทผู้บังคับบัญชากองราชนาวีแก่งกรุงอัมสเตอร์ดัม ต่อมา วินเซนต์ แวน โกะ เคยไปพักกับเขาช่วงหนึ่งระหว่างเตรียมตัวสอบเข้าคณะสงฆ์

ลุงไฮน์ (Uncle Hein) – เฮนดริค วินเซนต์ แวน โกะ (Hendrik Vincent Van Gogh) พี่ชายของ เธโอดอรัส แวน โกะ มีธุรกิจการค้าศิลปะที่ร็อตเตอร์ดัม แต่ต่อมาย้ายไปที่บรัสเซลล์ ลุงไฮน์ เป็นคนที่ช่วยปูทางให้ เธโอ ก้าวไปสู่ความสำเร็จในตลาดศิลปะ

ลุงคอร์ (Uncle Cor) – คอร์เนเลียส มารินุส แวน โกะ (Cornelius Marinus Van Gogh) พี่ชายอีกคนของ เธโอดอรัส แวน โกะ เป็นเจ้าของบริษัท C.M. Van Gogh ซึ่งโด่งดังในอัมสเตอร์ดัม สองพี่น้อง วินเซนต์ และ เธโอ มักจะเรียกชื่อย่อของลุงคนนี้ว่า C.M. ครั้งหนึ่งในจดหมายฉบับต้นเดือนมีนาคม 1882 ลุงคอร์ เคยว่าจ้างให้ วินเซนต์ วาดภาพเมืองเฮก อันเป็นโอกาสเพียงน้อยครั้งในชีวิตของ แวน โกะ ที่มีโอกาสทำงานรับจ้างขายผลงานภาพของตัวเอง

ลุงวินเซนต์ (Uncle Cent) – วินเซนต์ แวน โกะ (Vincent Van Gogh) ลุงเซนต์ ของหลาน ๆ นั้นเป็นพี่ชายที่อายุห่างจากพ่อของ วินเซนต์และเธโอ เพียงปีเดียว รวมทั้งต่างมีภรรยาที่มาจากครอบครัวเดียวกันด้วย นอกจากมีชื่อต้นเหมือนกันกับวินเซนต์ว่าที่ศิลปินเอกของเราแล้ว เขาคนนี้ยังมีตำแหน่งเป็นพ่อบุญธรรมของ วินเซนต์ อีกทั้งยังเป็นทั้งพ่อบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในชีวิตของสองพี่น้องด้วย เดิมทีนั้นลุง วินเซนต์ เป็นเด็กสุขภาพไม่ดีจึงไม่มีโอกาสเข้าเรียนหนังสือ เป็นที่น่าเสียดายแก่บิดาผู้ตั้งความหวังไว้สูง แต่ต่อมาเขาเปิดร้านขายวัสดุอุปกรณ์วาดภาพแล้วขยายกิจการเป็นแกลเลอรี่แสดงภาพที่โด่งดังในเวลาต่อมา ด้วยความที่เขาเป็นบุคคลที่ชาญฉลาดและมีพรสวรรค์สูงเขาจึงกลายเป็นบุคคลผู้มีอิทธิพลในแวดวงศิลปะ จากนั้นบริษัทกูปิลซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจด้านศิลปะขนาดใหญ่ในปารีสจึงเสนอร่วมทุนเป็นหุ้นส่วน ทำให้กิจการเติบโตไม่หยุดต้องขยายสาขามากกว่าเจ็ดสาขาทั้งในปารีส เดอะ เนเธอร์แลนด์ และอเมริกา ต่อมาเนื่องด้วยปัญหาด้านสุขภาพ ลุงเซนต์ จึงวางมือจากการต่อสู้ทางธุรกิจที่ยุ่งเหยิงในปารีส และหันกลับมาใช้ชีวิตสงบที่เนเธอร์แลนด์และเขตภาคใต้ของฝรั่งเศส แต่ตัวเขาเองก็ยังถือผลประโยชน์จากบริษัทอยู่ และได้แต่งตั้งให้ เทียร์สเต็กก์ เป็นผู้จัดการบริหารงานแกลเลอรี่ที่เดอะเฮกแทนเขา ด้วยอิทธิพลบารมีของแกลเลอรี่ลุงวินเซนต์นี่เองที่กลายเป็นแหล่งที่ทั้ง วินเซนต์ และ เธโอ ได้ค้นพบความรักทางศิลปะในวัยเด็ก ทั้งนี้ในเวลาต่อมาทั้งสองพี่น้องก็ได้ฝึกงานด้านธุรกิจศิลปะที่บริษัทกูปิลในเมืองเฮกนั่นเอง โดยเฉพาะตัว เธโอ นั้นก็ได้ได้ทำงานยาวกระทั่งย้ายไปดูแลร้านที่ปารีสและแต่งงานมีครอบครัวกับ โยฮานนา ส่วน วินเซนต์ แวน โกะ เองนั้นก็เคยทำงานที่นั่นถึงหกปีด้วยการเริ่มงานตั้งแต่อายุสิบหกซึ่งนับเป็นพนักงานอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น

เมื่อครั้งที่ วินเซนต์ เปลี่ยนใจจากการทำงานในแกลเลอรี่มาทำงานด้านสอนศาสนา ลุงวินเซนต์ เป็นคนที่ไม่เชื่อมั่นว่าหลานวัยยี่สิบสี่ปีของตนจะสามารถอดทนพอที่จะผ่านหลักสูตรการศึกษาตามระบบก่อนจะสอบเข้าทำงานด้านศาสนาได้ และลุงวินเซนต์ ก็คาดเดาถูกจริงในที่สุด ภายหลังเมื่อลุงวินเซนต์ ถึงแก่กรรม เขาระบุในมรดกอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการยกให้หลานคนโตแม้สักแดงเดียว ส่วนเธโอเป็นคนที่ได้รับมรดกของลุง

โยฮานนา - ภรรยาของ เธโอ (Johanna Bonger เรียกย่อ ๆ ว่า โย) น้องสาวของ อังเดร เพื่อนสนิท เธโอที่ปารีส หลังแต่งงานเธอคลอดบุตรชายให้ เธโอ และตั้งชื่อลูกชายตามชื่อลุง ว่า วินเซนต์ วิลเลม (Vincent Willem) เธอเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการคัดลอกและเผยแพร่จดหมายของ แวน โกะจำนวนไม่ต่ำกว่า 670 ฉบับในเวลาไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี และได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่หลายครั้งมาตั้งแต่ปี 1914 แต่ปัจจุบันได้มีการค้นพบจดหมายของ แวน โกะ ถึงบุคคลอื่น ๆ รวมแล้วอย่างน้อย 902 ฉบับ

เรียบเรียงโดย สนธยา ทรัพย์เย็น

ข้อมูลจากหนังสือ Van Gogh: The Complete Paintings Volume 1, Volume 2
เขียนโดย Ingo F. Walther และ Rainer Metzger, 1993
และ Memoir of Vincent Van Gogh by His Sister-In Law (Johanna Van Gogh Bonger) จากหนังสือ The Letters of Vincent Van Gogh, บรรณาธิการโดย Mark Roskill, 2008
รวมถึง The Yellow House: Van Gogh, Gauguin and Nine Turbulent Weeks in Arles โดย Martin Gayford) 2006

จดหมายของ วินเซนต์ แวน โกะ ที่หายสาบสูญ

จดหมายของ วินเซนต์ แวน โกะ ที่หายสาบสูญ

หมกมุ่นกับการทำหนังสือจดหมาย แวน โกะ กับเล่ม- ฟุ้ง - อยู่นานจนวางมือไม่ลง พอตอนนี้มีอิสระจากแวน โกะ แล้วคงจะมีเวลาอ่านหนังสือต่อบ้าง ยังมีหนังสือที่รอเข้าคิวให้อ่านเยอะแยะไม่น่าเชื่อ ตอนนี้ห้องสมุดของเราบานตะไทจนเกือบเต็มห้องเสียแล้ว ถ้าไม่หยุดซื้อคงต้องสร้างห้องใหม่อีกห้องเป็นสองชั้น กรรมอันแสนสุขของข้าพเจ้า

การสะกดเสียงภาษาดัทช์ในจดหมาย วินเซนต์ แวน โกะ (ฟินเซน ฟาน ค๊ก)

การสะกดเสียงภาษาดัทช์ในจดหมาย วินเซนต์ แวน โกะ (ฟินเซน ฟาน ค๊ก)

(ขอขอบคุณ ที่ปรึกษาการออกเสียงชื่อภาษาดัทช์ - คุณปรียา แววหงษ์ และ Pieter Van Gemert)

Trippenhuis ทริปเป้นเฮ้าส์ (คำว่า "เฮ้าส์" จะออกเสียงเบาก้ำกึ่งระหว่างไอ กับ เอา)
Cluysenaer (ชื่อคน) เคล้าซ์เซ่นนาร์ (เช่นเดียวกับ "เฮ้าส์" - คำว่า "เคล้าซ์" ออกเสียงคล้าย ๆ แคล – อาวซ์)
Hannabeek ฮานนาเบ้กก์
Aunt Fie (ชื่อคน) ป้า ฟี
Roos (ชื่อคน) โร้ส
Thijs Maris ไธ้ส์ มารีส (คำว่า "ไธ้ส์" ออกเสียงไอเบามาก คล้าย ไธ –อิซ์)
Mr. Teersteg (ชื่อคน) เทียร์สเต้กก์
Mr.Obach (ชื่อคน) โอบักก์
De Nittis เดอ นิทิส
Ruckert (ชื่อคน) รักก์เคิ่ร์ท
Willem Valkis (ชื่อคน) วิลเล่ม วัลคิส
Scheveningen สเคเวอนิงเง่น (ออกเสียงง่ายขึ้น เป็นสเคเวอนิงเก้น)
Conscience (นักเขียนชาว Flemish) คองซิอ๊องซ์
The Messrs เดอ เมสเซอร์ส
Mr.Reid (ชื่อคน) มร. เรดด์
Wisselingh วิสเซลลิงง์
Dordrecht (ชื่อเมือง) ดอร์เดร็คท์
Uncle Cor (ชื่อคน) ลุงคอร์
Aerssen อาร์คเซ่น
Antwerp อันแวร์เพิ่น (ภาษาดัทช์/เฟลมมิช ควรเขียนเป็น Antwerpen)
Fodor Museum โฟดอร์ มูเซอุม (อุมออกเสียงเบา)
Kee Vos เค โวส (ชื่อผู้หญิง)
Wassenaar วาสเซ็นนาร์ร
Buitenkant เบาเท่นค้านท์
Jazet ยาเซ็ท
Rembrandt (ชื่อจิตรกร) เร็มบรันท์
Leys เลสซ์
Cooseman (ชื่อจิตกรภาพแลนด์สเคป) โคสเซอมาน
Mons โม้นส์
Borinage (ชื่อสถานที่ / เมือง) บูรินาจ
The Borins (ชื่อชาวเมือง) บอรินซ์
Rev. De Jong เดอ ย็อง
Rev. Pietersen พีเทอร์เซ่น
St. Gilles ซองต์ จิลล์ส
Alsemberg อัลเซมแบร์ก
Bosboom บอสโบม
Willem Roelofs (ชื่อคน) วิลเล่ม รูลอฟส์
Sien (ชื่อคน) ซินน์
Mauve (ชื่อคน) เมาฟ์
Ryswyk (ชื่อถนน) ไร้ซ์เว็กก์ (คำว่า "ไร้ซ์" ก็ออกเสียงคล้าย แร – ไอซ์ และ "เว็กก์" ออกเสียงก้ำกึ่งระหว่างเอ กับ แอ)
Jakob Ruysdael (ชื่อศิลปิน) ยาค้อบ ไร้ซ์เดล
Van Goyen (ชื่อศิลปิน) ฟาน โกเย่น
Brabant บราบันท์
Groot Zundert โกรท ซุนเดอร์ท
Theodorus เธโอดอรัส
Anthon van Rappard อันตน ฟาน รัพพาร์ท (น่าจะเป็นภาษาฝรั่งเศส ที่อ่านว่ารัพพารท์ – ตัวดีไม่ออกเสียง แต่เมื่อมีคำว่า ฟานอยู่ข้างหน้าทำให้เป็นชื่อดัทช์)
Clasina Maria Hoornik คลาสิน่า มารีอา โฮค์เน็กก์
Drenthe เดร็นเท่อ
Neunen นูเน่น
Eindhoven เอนด์โฮเฟ่น
Margot Bagemann มาร์ก็อท บาเงอมานน์
Cornelius Marinus คอร์เนเลียส มารินัส
The Vleersteeg (ไม่ควรมีคำว่า The) ฟเลร์สเตกก์
The Paddemoes พัดเดอมุส
The Geest เคสท์