28.5.54

My Sassy Book ตอน 32: Mythago Wood โดย Robert Holdstock

เล่มนี้อ่านจบตั้งแต่ต้นปี จำได้ว่าหาอ่านเล่มนี้อยู่นานหลายปี แล้วก็เป็นหนังสือแนวแฟนตาซีเล่มแรกที่อ่านจบ ก็ขนาด Lord of the Rings ยังไม่อยากอ่านต่อเลย แต่เล่มนี้มันลึกลับ งามแล้วก็สนุกด้วย น่าแปลกที่ยังไม่มีคนเอามาทำหนัง ทั้ง ๆ ที่คนแต่งเคยแปลงหนังเรื่อง The Emerald Forest ของ จอห์น บัวร์แมน (ผู้กำกับคนแรกที่ข้าพเจ้าเคยขอลายเซ็น) ให้เป็นฉบับหนังสือ

นิยายโดดเด่นมากในแง่ที่บรรยายถึงป่าลึกลับไรโฮปวู้ดที่มีผลกับครอบครัวฮักซ์ลี่ย์ ผ่านต่อจากรุ่นพ่อไปยังลูก (และต่อไปยังลูกหลานในเล่มภาคต่อ) พลังของป่าโบราณนี้ทำให้เกิดร่างจำแลงที่เป็นผลจากนิทานปรัมปราและเรื่องเล่า (เมอร์ลิน โรบินฮู้ด และกษัตริย์อาร์เธอร์) รวมทั้งปูมปมทางจิตใต้สำนึก โดยเฉพาะนางจำแลงที่เป็นนักรบ ซึ่งกลายมาเป็นเป้าปรารถนาของทั้งพ่อและลูกทั้งสอง การสืบค้นของที่มาที่ไป ซึ่งทำให้เกิดการหักล้างและพลังอำนาจราวกับโศกนาฏกรรมกรีก

ชอบตอนที่บรรยายถึงป่าที่ค่อย ๆ ขยายมาผนึกรวมกับตัวบ้าน คล้าย ๆ ว่าบ้านกำลังจะสลายรวมไปกับป่าและตำนาน แล้วตอนที่พูดถึงการสืบค้นป่าทางเครื่องบินก็วิเศษสุด มันเย้ายวนน่าค้นหาเหลือเกิน

หนังโปรตุเกสของ António Reis กับ Margarida Cordeiro

หนังของ 2 ผัวเมียชาวโปรตุเกสคู่นี้ดูน่าสนใจ ดูชื่อคนเชียร์ อย่าง João César Montiero,  Jean Rouch, Serge Daney (อดีตบรรณาธิการ Cahiers du Cinema), Manoel de Oliveira, Pedro Costa และ Jean-Marie Straub แล้วน่าจะยิ่งเสียกว่าคำว่าไว้ใจได้  

เขาว่าเพิ่งไปมินิเรโทรกันมาที่เกาหลี Jeonju International Film Festival 3 เรื่อง http://www.movingimagesource.us/articles/disquieting-objects-20110503

Daney กล่าวว่า Reis กับ Cordeiro เป็นคนทำหนังเพียงไม่กี่คนในโลกที่นำเอาแนวคิดของคนทำหนังญี่ปุ่น Kenji Mizoguchi (Ugetsu Story, Street of Shame) ไปใช้ นั่นคือแนวคิดที่ว่า "ก่อนถ่ายหนังแต่ละช็อต จำเป็นต้องล้างตาก่อนทุกครั้ง"

21.5.54

Bangkok International Student Film Festival 2011 - เทศกาลหนังนักเรียนนานาชาติกรุงเทพ ฯ ครั้งที่ 2 ที่หอศิลป์กรุงเทพ ฯ


เทศกาลหนังนักเรียนนานาชาติกรุงเทพ ฯ ครั้งที่ 2 ที่หอศิลป์กรุงเทพ ฯ
11-20 พฤษภา 2554

Donald, Duck! โดย Bhargav CHATTERJEE

หนังสั้นเรื่องนี้จาก Australian Film School มีอารมณ์ขันและมีจังหวะสไตล์แปลก ๆ เหมือนผสม Roy Andersson เข้ากับหนังฮากวนของพี่น้องตระกูล Coen

*************************************************************************************

อีกเรื่องที่เด่นของหนังสั้นปีนี้ หนังโปแลนด์ MC. Man of Vinyl (MC. Człowiek z winylu)
ฮีโร่ของโปแลนด์ฉบับเพลงแร็ป ถ้าไม่มีเขา กำแพงเบอร์ลินไม่มีร่วง อีกทั้งม่านเหล็กก็คงไม่ขาดผึง

หนังเล่นล้อหนังโปแลนด์คลาสสิกอย่าง Man of Marble และ Man of Iron และทำ mockumentary สัมภาษณ์ผู้กำกับดัง Krzysztof Zanussi (ตอนมาเมืองไทยเคยสัมภาษณ์ลง Filmvirus เล่ม 2) ซึ่งมาร่วมแสดงให้นักศึกษาฟิล์มสกูลเขาเอง

หนังสั้นไทยได้ดูแค่ 2 เรื่อง จังหวะไม่เหมาะ เข้าโรงทีไร หนังจบชุดทุกที

19.5.54

My Sassy Book ตอน 31:The Library of Shadows โดย Mikkel Birkegaard

อ่านเล่มนี้จบเป็นเดือนแล้ว ยังไม่ได้บันทึก

เคยหลงเชื่อ สตีเฟ่น คิง เชียร์หนังสือเรื่อง The Shadow of the Wind (La sombra del viento) ของ Carlos Ruiz Zafón และจากนั้นมาก็ปวารณาตัวเองจะไม่เชื่อพวกเบสท์เซลเลอร์อีกต่อไป แต่ก็นั่นล่ะหนาด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างจากเล่มนั้น เป็นโรคแพ้นิยายหรือเรื่องสั้นที่เกี่ยวกับคนหลง (ไม่ใช่แค่รัก) การอ่าน ทั้ง Jorge Luis Borges, Orhan Pamuk อะไรเทือกนั้น (นั่นไงถึงได้ทำ บุ๊คไวรัส เล่ม 3 “กาจับโลง” เรื่อง “สารานุกรมคนตาย” Danilo Kis' The Encyclopedia of the Dead) สุดท้ายหลังจากหยิบ ๆ วาง ๆ หลายทีก็ต้องซื้อจนได้  

และโชคดีไม่ผิดหวัง นิยายเรื่องแรกจากนักเขียนเดนมาร์คชื่อ Mikkel Birkegaard ต่อให้พล็อตมันจะช้ำทางแล้วก็ตามที คงประมาณ The Da Vinci Code อะไรก็ตาม แต่เปลี่ยนเป็นเรื่องของกลุ่มคนรักหนังสือที่มีลัทธิเก่าแก่ที่มีพลังพิเศษทางการอ่าน (Lectors) ทางการรุกและการรับ เป็น 2 กลุ่ม Transmitters และ Receivers ซึ่งสามารถกระตุ้นให้การอ่านเป็นพลังด้านบวกหรือลบที่อันตรายมาก ๆ คือ ถ้าไม่หวังนิยายลึกซึ้งขนาด Umberto Eco’s The Name of the Rose ก็เรียกได้ว่าอ่านเพลิน ไม่อยากวางเลยว่างั้น เหมือนดูหนังฮอลลีวู้ดสูตรสำเร็จสนุก ๆ มาก ๆ ซักเรื่อง (ซึ่งไม่ได้มีบ่อย ๆ) แม้ว่าเรื่องมันจะเดินเส้นตรงแก้คลี่คลายคดี ใครฆ่า ใครบงการ แต่หาทางออกได้ดีทีเดียว คนอ่านหนังสือเยอะ ๆ จะสนุกมากว่าคนอ่านในเรื่องกำลังพูดถึงหนังสือเล่มไหน ด้วยการเจาะลงไปในมโนภาพของนักอ่านที่ทำให้ภาพจากตัวหนังสือกลายเป็นภาพจริงที่เฉพาะเจาะจงไม่เหมือนกันของคนอ่านแต่ละคน (แบบตอนอ่าน ดอน กิโฆเต้) แล้วตอนที่อธิบายว่าการอ่านของคนอื่นเข้ามาอาละวาดในหัวของคนพวกนี้ แล้วเฉลยว่าเป็นเด็กกำลังอ่านเรื่อง “ปิปปี้ถุงน่องแดง” ทำได้สนุกมาก ๆ เรียกว่าเป็นการบรรยายที่วิเศษสุด ๆ เลยล่ะ

เทียบกับ The Shadow of the Wind แล้วชอบเรื่องนี้มากกว่าล้านเท่า เรื่องนั้นดังมีคนเชียร์มากมายได้ยังไง สงสัยเพราะพล็อตมันเยอะ เรื่องซับซ้อนหลายตลบ แต่มันช่างฟุ้งฝันรักสลบเสียจริง ๆ คงเหมือนคนที่ชื่นชม Inception ย่อมมีมากกว่า Source Code เสมอไปละมั้ง

18.5.54

My Sassy Book ตอน 30: 51 มหาวิบัติวันสิ้นโลก

51 มหาวิบัติวันสิ้นโลก

(51 Ways to protect a girl)

Usamaru Furuya แต่ง
5 เล่มจบ

ไม่ได้อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นนาน มาอ่านอีกทีก็เพลินดี แม้จะเทียบกันไม่ได้กับวรรณกรมแนวสูงศักดิ์ 

หนังสือและหนังประเภทภัยวิบัติหลายเรื่องอย่าง Lord of The Flies, Dragon Head หรือ Battle Royale เน้นสันดานมืดของคนได้อย่างใจร้ายใจดำ แต่เรื่องนี้ไม่หนักขนาดนั้น เพราะคนเขียนลึก ๆ ใจดี แฝงศรัทธาในมนุษยธรรมอยู่ ต่อให้มีช็อคบ้างเล็กน้อย อ่านตอนนี้หลังจากแผ่นดินไหวญี่ปุ่นหนักหมาด ๆ ก็ดูจะจังหวะเหมาะ  

ทั้ง ๆ ที่พล็อตแบบนี้มันก็มีทางเลือกได้ไม่กี่ทาง แต่คนเขียนหาทางออกให้พล็อตได้ดีมากอย่างคาดไม่ถึง ที่น่าสนใจคือมีคำลงท้ายของคนแต่งบอกที่มาที่ไปว่าบรรณาธิการเป็นคนเสนอไอเดียให้เขาแต่งเรื่องแนวภัยวิบัติ ตอนแรกเขาก็ไม่สนใจ แต่พอค้นคว้ากลับชอบ แล้วเอามาเขียนให้เรื่องดูหนักแน่นน่าเชื่อถือ แล้วในแต่ละเล่มช่วงท้ายก็มีคำแนะนำประสบการณ์จริงของการรับมือกับแผ่นดินไหวด้วย 

17.5.54

My Sassy Book ตอน 29: Never Let Me Go กับ แว่วเสียงรายา



Never Let Me Go กับ แว่วเสียงรายา

แว่วเสียงรายา เรื่องสั้นของ พนมเทียน ภาษาสนุก อ่านเพลิน เป็นเรื่องสั้นหนึ่งในไม่กี่เรื่องของ พนมเทียน ที่ลูกชายคุณ ผาด พาสิกรณ์ รื้อเอามาพิมพ์ใหม่ เป็นเรื่องที่สมวัยนักเขียนวัย 22 ซึ่งอาจจะดูพล็อตคล้ายโน่นนี่นั่นไปตามเรื่อง ผสม ไรเดอร์ แฮ็กการ์ด อะไรแบบ King Solomon’s Mines หรือพล็อต “แดนสนธยา” ประมาณนั้น ผสมกับชื่อไทยใส่กลิ่นไทยอะไรไป ถ้าไม่เรียกร้องสาระอะไรมากนักก็น่าสะสมไว้ โดยเฉพาะปกคลาสสิกที่สวยเหลือเกินของ เหม เวชกร

Never Let Me Go ของ Kazuo Ishiguro ฉบับนิยายตอนแรกอ่านแล้วงง ๆ อยู่นาน เพราะมันไม่ได้พูดชัดตั้งแต่แรกว่ามันโลกแบบไซ-ไฟหรืออะไรแน่ พูดถึง carers กับ donors แต่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร กว่าจะรู้ว่ามันเป็นโรงเรียนแบบไหน หรือว่าเป็นมนุษย์อะไหล่ก็ครึ่งเล่มไปแล้ว (ในหนังบอกตั้งแต่เปิดเรื่องว่าเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์) แต่ความหนาของนิยายบรรยายรายละเอียดได้เยอะ มีตัวอย่างหลายตอนที่เห็นมิติยากแท้หยั่งถึงของ “เพื่อนรัก” รูธ และ ทอมมี่ ( Andrew Garfield ว่าที่ สไปเดอร์แมน คนใหม่) รวมทั้ง เคธี่ เอช (Carey Mulligan) นางเอก พอเป็นฉบับหนังมันเล่าเรื่องกระชับดีได้ใจความ แต่ก็สรุปเรื่องชัดไป รูธ (Keira Knightley) เลยดูขาดมิติเป็นตัวร้ายชัดมากไปหน่อย แต่ก็ถือว่าเล่าเรื่องดีกว่าหนัง มูรากามิ เรื่อง Norwegian Wood มาก ๆ เพราะยังเก็บความได้ไม่น่าเกลียด และหนังก็ถ่ายสวย คุมโทนสีได้ดีมาก ๆ เอาคนดัง ๆ อังกฤษมาเล่นเพียบอย่าง Chralotte Rampling กับ Sally Hawkins

Mark Romanek ดังทางทำมิวสิควีดีโอและเคยทำเรื่อง One Hour Photo ที่ โรบิน วิลเลี่ยมส์ แสดง ซึ่งคล้ายกับ Never Let Me Go อย่างหนึ่งคือเกี่ยวกับคนเหงาที่อยากเป็นส่วนหนึ่งกับคนอื่น (ครอบครัวหรือสังคมใหญ่) แต่โชคร้ายต้องถูกสาปให้จบชีวิตที่เหลือแบบเดียวดาย

ตอนดูหนังตกใจมาก เห็นหน้า นาตาลี ริชาร์ด ที่เล่นเป็นมาดาม นึกว่า แคลร์ เดอนีส์ มาเอง 

คุยกับ ก้อง ฤทธิ์ดี เขาบอกว่าฉบับหนังสือนั้นเศร้า แต่ฉบับหนังนั้นหดหู่ คงจะจริง

11.5.54

My Sassy Book ตอน 28: ลักษณ์อาลัย โดย อุทิศ เหมะมูล และ Japan and I

ลักษณ์อาลัย 

นิยายเรื่องล่าสุดของ อุทิศ เหมะมูล เปิดบริสุทธิ์แล้วที่นิตยสาร ขวัญเรือน เล่มล่าสุด ปกแพนเค้ก ต้นเดือนพฤษภาคม มาบทแรกก็เริ่มบทอัศจรรย์พันลึกชวนติดตามกันทีเดียว ฟังดูติดเรทอย่างเดียวเหรอ ก็ไม่ใช่หรอก ตัวละครต่างหากที่สำคัญ หลังจากโชว์ภาษาและคำถามเชิงปรัชญากาแล็กซี่เรื่องความตายของท่านพ่อที่เอื้ออำนวยของขวัญชั้นดีให้ลูกชาย “ร่วมรักกับความตาย” แล้ว น่าจะไม่ยากเลยที่คนอ่านจะสะดุดตากับตัวละครนำชายหญิงที่เปิดเรื่องซึ่งปูมิติชวนค้นหา ขณะเดียวที่ใกล้ตัวแต่ขณะเดียวกันก็คงความเร้นลับ มีทั้งความโบราณและความร่วมสมัยปลายเท่ที่รวยรินอย่างบรรจง 

ยิ่ง อุทิศ เคยเปรยไว้กับเราด้วยแล้วว่านี่มันนิยายของสองโลก สองยุคสมัยที่ ลับแล แก่งคอย จะเป็นแค่นิยายเด็ก ๆ ทวิภพคงต้องมีหลบสก้อยเตอร์แว้นซิ่งก็คราวนี้

“ลักษณ์อาลัย” เรื่องใหม่เพิ่งเผยโฉม แต่เจ้าตัวบอกว่าเขียนนิยายเรื่องใหม่ไปได้เยอะแล้วด้วย


Japan and I

บันทึกการเดินทางไปญี่ปุ่น ของ อุทิศ เหมะมูล นักเขียนซีไรต์ปี 2552 จาก “ลับแล แก่งคอย” 

ตอนแรกกลัวว่าคนเขียนจะต้องเชียร์ญี่ปุ่นทั้งเล่มหรือเปล่า แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ต้องห่วง เพราะเป็นบทสังเกตการณ์ของ อุทิศ ที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้โลกกว้างทุกนาทีของเขาได้อย่างละเอียดอ่อน มีบทหยิกแกมหยอก และบททึ่งกับวิถีทางแห่งญี่ปุ่นที่น่าประทับใจหลายอย่าง คนอ่านก็จะได้รู้หลายอย่างในการอ่านโลกของ อุทิศ เชื่อมโยงวัฒนธรรมยำใหญ่ของไทยที่รวมฝรั่งกับเอเชียเข้าด้วยกัน ใช่ว่าอ่านหนังสือเที่ยวญี่ปุ่นแล้วจะรู้เรื่อง นากิป มาร์ฟูซ วรรณกรรมอียิปต์ไม่ได้นี่นะ

เสียดายตอนผจญภัยในญี่ปุ่นเจอ ปราบดา หยุ่น เล่าให้ฟังนิดเดียวว่าคุยอะไร ตลกดีที่ตอนอยู่เมืองไทยสองคนนี้ไม่เคยคุยกันมาก่อน

Japan and I เป็นหนังสือจากสำนักพิมพ์อัมรินทร์ หาซื้อได้ที่ร้านนายอินทร์ ขอกระซิบบอกว่า อุทิศ เป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีคาถาทางภาษาที่งดงาม ที่เด็ดกว่าหนังสือท่องเที่ยวทั่วไปอีกอย่างคือ อ่านแล้วรู้ถึงอารมณ์ขัน ความช่างคิด และความอ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมเรียนรู้โลกของผู้เขียน และนี่คือคะแนนสำคัญของการเขียนชั้นแนวหน้า อ่านแล้วรู้ได้เลยว่าที่ข้าน้อยเคยเขียนเรื่องเที่ยวมันน์ไฮม์ในเว็บโอเพ่นนั้นมันเด็ก ๆ 

2.5.54

My Sassy Book ตอน 27: หลับไม่ตื่น Chandler's The Big Sleept

หลับไม่ตื่น

โดย filmvirus

เกือบลืมไปเลยว่ามีหนังสือของ เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ (Raymond Chandler) อยู่ที่บ้าน 4 เล่ม แต่แทบไม่เคยหยิบมาอ่านจริงจัง ยกเว้นเล่ม Poodle Springs ที่เขาแต่งไม่จบเพราะตายก่อน แล้วได้ โรเบิร์ต บี. ปาร์คเกอร์ มาแต่งต่อให้ จำเรื่องราวไม่ได้ อ่านมา 25 ปีแล้ว จำได้อย่างเดียวว่าให้บรรยากาศการเชือดเฉือนหักหลังแบบหนังแนวฟิล์มนัวร์ดี และที่สำคัญให้รายละเอียดชีวิตจิตใจและความมีศักดิ์ศรีของนักสืบแบบลูกผู้ชายได้ดีมาก 

จากโน่นเป็นต้นมา ก็นั่นแหละ ไม่ได้อ่านอีกเลย แต่ได้ดูหนัง The Big Sleep กับ The Long Goodbye (ฉบับ โรเบิร์ต อัลท์แมน กำกับ) ซึ่งเป็นหนังดีมากทั้งคู่ แต่เรื่องหลังทำเป็นบรรยากาศร่วมสมัยยุค 70 หลังยุคบุปผาชนและสงครามเวียดนาม เลยได้บรรยากาศหนังปฏิรูปขนบหนังดั้งเดิมแบบ Revisionist Film Noir อารมณ์ระโหยระเหี่ยแบบไม่รู้จะสืบหาความจริงไปทำไม เพราะมีแต่จะพบความจริงที่เจ็บปวด ก็นอกจากมนุษยธรรมระหว่างคนจะร่อยหรอแล้ว คุณธรรมน้ำมิตรแบบโกวเล้งก็ยังไม่เหลือให้พึ่งพิงเสียอีก เวอร์ชั่นนักสืบ ฟิลิป มาร์โลว์ ของผู้กำกับ อัลท์แมน (Gosford Park, M.A.S.H, Nashville, Short Cuts, The Player) อันนี้เจ็บปวดนัก เมื่อเพื่อนเล่นเพื่อนกันเอง !

เวลาผ่านไปนานมาก ถึงเพิ่งได้อ่าน “หลับไม่ตื่น” (The Big Sleep) เป็นครั้งแรก แถมยังเป็นฉบับแปลไทยซะด้วย หนำซ้ำยังเป็นคุณ ภัควดี มีนามสกุล วีระภาสพงษ์ แปลอีกต่างหาก ได้อรรถรสมาก แปลกใจอยู่แต่แรกเห็นตัวเล่มที่งานหนังสือ เพราะเคยถาม คุณ เรืองเดช จันทรคีรี ป๋าใหญ่แห่ง รหัสคดี เมื่อหลายปีก่อนว่าเมื่อไรจะถึงคิวนักสืบบู๊ (Hard-Boiled) ของ เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ (Raymond Chandler) และ แดชเชียล แฮมเม็ตต์ (Dashiell Hammett)เสียที แต่แกเคยบอกว่ายังอีกนาน เอาน่ะ มาช้าดีกว่าไม่มา แถมมาแล้วก็มาครบยศ สมศักดิ์ศรีเสียอีกด้วย 

“หลับไม่ตื่น” (The Big Sleep) ฉบับภาพยนตร์เป็นหนังที่สมคำคลาสสิกโดยแท้ นี่ล่ะต้นฉบับหนังคลาสสิกฮฮลลีวู้ดที่ปรุงรสได้ถูกใจคนดู นั่นคือทำไมหนังฮอลลีวู้ดถึงครองโลก สามารถรักษาอรรถรสของบทประพันธ์ไว้ได้ค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันก็มีแบบฉบับแห่งความเท่ และดัดแปลงให้มีรสโรมานซ์พอหอมปากหอมคอ เรียกว่าหาทางออกให้ได้ทุกคนพอใจว่างั้นเถอะ โครงเรื่องและฉากในนิยายก็เดินตามรอยหลักเป็นส่วนใหญ่ ที่ปรับแล้วน่าสนใจมาก ๆ ก็คือให้ วิเวียน เสติร์นวู้ด ลูกสาวเศรษฐีซึ่งเดิมเป็นนางตัวแสบ กลายเป็นมีคุณสมบัติเสริมแบบนางเอก (เขี้ยวคม) ขึ้นมา ซึ่งดูดีมีสกุล ไม่น่าเกลียดดูยัดเยียดเพียงเพื่อเอาใจคนดูหนังอย่างที่บางคนอาจหวั่นระแวง และก็ตามสไตล์หนังของ ฮาวเวิร์ด ฮอว์คส์ (ผู้กำกับหนังคลาสสิกอย่าง Hatari, Red River, Rio Bravo, Only Angels Have Wings, Scarface, Balls of Fire, El Dorado) ที่ต้องมีบทดวลปากคอของตัวแสดงแต่ละราย โดยเฉพาะบทตีฝีปากของพระนาง ที่คงไว้ซึ่งลายเซ็นของ ฮอว์คส์ ได้อย่างเฉียบคม กลมกลืนทำให้เรื่องราวเดินหน้าแล้วไม่รู้สึกว่ากำลังถูกป้อนพล็อต เพราะแค่รายละเอียดพระเอกนางเอกและตัวประกอบก็มีสีสันเอาอยู่  

บทรุกรับระหว่าง ฟิลิป มาร์โลว์ ที่เป็นชายแกร่งพร้อมรับมือกับหญิงสาวพราวเกม อย่าง วิเวียน ในหนังนี่แค่บทฉะปากก่อนหลังการต่อบุหรี่ของพระนาง และการแลกจุมพิตแบบ “ฉันชอบนะ ฉันขออีก” และการรวมหัวกันเล่นสนุกคุยโทรศัพท์แกล้งตำรวจก็เผ็ดแสบซ่านไปอีกแบบที่หนังสือไม่มี  

ที่เห็นได้ชัด และเป็นเสน่ห์การเขียนของ แชนด์เลอร์ คือการปูให้คนรู้สึกยอมรับตัวเอก ฟิลิป มาร์โลว์ ซึ่งเป็นต้นแบบความเท่แบบหนุ่มห้าวที่มีสปิริต มีหลักการ อาจจะปากคอร้ายไปบ้าง เจ้าเล่ห์ก็ไม่น้อย แต่ก็เป็นไปตามความจำเป็นของเนื้ออาชีพ ลึก ๆ แล้วคนอ่านทุกคนเข้าใจได้ว่าการอยู่ในสังคมกักขฬะไม่ใช่เรื่องง่าย คนอ่านรู้สึกเหนื่อยแทน เพราะสัมผัสได้กับความจริงโหดร้ายที่น่าเหนื่อยหน่าย อย่างตอนหนึ่งที่สารวัตรเกรกอรี่ พูด ซึ่งดูเป็นคำทำนายให้นิยายและหนังรางวัลออสการ์อย่าง No Country for Old Men (Cormac McCarthy แต่ง) อีกที

“ผมเป็นตำรวจ ตำรวจธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ซื่อสัตย์ใช้ได้ ซื่อสัตย์เท่าที่คุณจะคาดหวังได้จากคนที่อยู่ในโลกที่ตกยุคไปแล้ว” 

แล้วก็ตามด้วยประโยคอื่นๆ ที่สะท้อนความระอามลทินในวงจรบาป (หน้า 214)

ที่น่าประทับใจในแบบง่าย ๆ ก็คือบทที่ มาร์โลว์ รำคาญยายน้องของ วิเวียน คือ คาร์เมน ไล่เธออกจากห้องพักของเขา เพราะหนึ่งในสวรรค์น้อย ๆ ไม่กี่อย่างที่เขามีและหวงแหน ก็คือห้องพักและสมบัติน้อย ๆ ของเขาเอง ซึ่งมันเป็นสุดถวิลหาของเขาหลังจากการรับมือกับปัญหานานับประการ ถึงตัวห้องเล็กเท่ารูหนู หรือข้าวของในห้องมันจะเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีค่า หากเทียบกับสมบัติของพวกลูกเศรษฐีเอาแต่ใจ ที่คอยใช้เงินฟาดหัวคนอื่น แต่เขาก็ภูมิใจในศักดิ์ศรีของการหาเลี้ยงตัวเอง 

“ผมไม่สน ผมไม่สนว่าเธอจะด่าผมยังไง.......แต่นี่คือห้องพักที่ผมต้องซุกหัว มันคือทุกอย่างที่ผมพอจะเรียกได้ว่าบ้าน” (หน้า 168) 

พูดง่าย ๆ คือคนอ่านสัมผัสได้ถึง “ตัวตนคนทำงาน” ที่ว่ายวนวงเวียนกรรมในย่านแอลแอ แหล่งเสื่อมโทรม ธุรกิจบาร์เหล้า การพนัน ค้าภาพโป๊ ดังนั้น ต่อให้เป็นแค่ตัวละครกระจอกจิ๊บจ๊อย อย่างไอ้ตัวจ้อย แฮรี่ “หนุ่มตัวเล็ก” ที่ไม่มีพิษสง ซึ่งตามสะกดรอย มาร์โลว์ เพราะเงินแค่สองร้อยเหรียญ เพื่อหวังจะไปตั้งตัวสักแห่งอยู่กินกับผู้หญิงที่ตัวเองรัก แต่สุดท้าย แฮรี่ ก็ถูกฆ่าปิดปาก แม้กระนั้นก่อนตายก็ไม่ยอมเปิดปากบอกที่ซ่อนเธอ ซึ่งจะทำให้คนรักพลอยเดือดร้อนไปด้วย และมุมอีกอย่างที่พิเศษมาก แฮรี่ในหนังจะโผล่มาครั้งแรกตอนที่ มาร์โลว์ เสียทีถูกตัวร้ายซ้อม แล้วเขาก็ยังย้อน มาร์โลว์ กลับหลายครั้งว่าไม่อายบ้างเหรอที่มาเอาเปรียบเขา อันนี้ฉบับหนังเพิ่มรายละเอียดให้ตัวละครประกอบในนิยายได้ไม่เบา

มาร์โลว์ เองก็เช่นกัน เขาอาจดิบ เถื่อน แต่ลึก ๆ ใจเขายืนข้างคนพวกนี้ คนที่อ่อนแอ กลัวเป็น แต่ใจสู้ และเขาเข้าใจได้ถึงศักดิ์ศรีของคนที่มีอุดมการณ์ ตัวเขาเองก็มีอุดมการณ์ มีคุณธรรมเฉพาะแบบในใจ ไม่รับจ๊อบเพียงเพื่อเอาเงิน ถ้าทำได้ไม่ถึงคุณภาพมาตรฐานของตัวเอง เขาก็ไม่อยากรับเงินมานอนตีพุงเอาสบาย ตัวละครแบบนี้แหละที่มักจะปรากฏในหนังของ ฮาวเวิร์ด ฮอว์คส์ ศักดิ์ศรีและการทำงานในหมู่คนทำงาน (ในหนังของ ฮอว์คส์ ส่วนใหญ่มักจะต้องสละตัวเองเพื่อมาเน้นงานกลุ่ม) ผู้หญิงที่อยากจะเข้ามาร่วม หรือหลงรักผู้ชายแบบนี้ ก็ต้องขยับตัวให้เก่งและตีคู่ประมาณกัน และนั่นเป็นที่มาของอารณ์ขัน และการเชือดเฉือนเกมกลที่คู่ชายหญิงจะปะทะกันตลอดเรื่อง อันเป็นเอกลักษณ์หนัง ฮอว์คส์ ที่เขาทำถนัดไม่เลิก แล้วก็คงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม เขาจึงชอบลากนักเขียนแมนแมน อย่าง เฮมมิงเวย์, วิลเลี่ยม โฟล์คเนอร์ หรือ แชนด์เลอร์ (พากันได้ดิบได้ดีกับรางวัลโนเบลกันในเวลาต่อมา) เข้ามามีส่วนร่วมทำหนังกับเขา (แต่แน่อน นักเขียนบท จูลส์ เฟิร์ทแมน กับ ลีห์ แบร็คเก็ตต์ ก็มีชื่อร่วมเขียนบทด้วยกับพวกคนดังเหล่านี้ และน่าจะเป็นคนที่เสริมบทพูดเด็ด ๆ) 

ที่เพิ่งสังเกตเห็น ในหนังของ ฮอว์คส์ จำเป็นจะต้องมีฉากนางเอกร้องเพลง ในเรื่องให้ วิเวียน (ลอเรน เบคอลล์) มาร้องเพลงเสียงห้าวทุ้มลึกอีกแล้ว แบบที่เธอร้องในเรื่องก่อน To Have and Have Not ในหนังเรื่องอื่น ๆ ของ ฮอว์คส์ ก็มี เป็นฉากประเภทร้องเพลงหมู่ คือ ให้นางเอกยืนร้องนำกลางวง มีหนุ่ม ๆ รายล้อม ซึ่งแน่นอนว่าฉบับนิยายไม่มีตอนนี้ แต่ที่คนดูหนังทุกคนลืมไม่ลงแน่ ๆ ก็คือฉากที่พระนางประปากกันแล้วต่อบุหรี่ ซึ่งเป็นภาพเวียนซ้ำอย่างน้อยสามครั้งตั้งแต่เครดิตเปิดเรื่อง อันนี้ถือเป็นสัญญาณความร่วมมือของพระนางได้ดีกว่าฉากคุยหรือฉากแอ็คชั่นแบบอื่น ๆ  

พอเอา ฮัมฟรี่ย์ โบการ์ต มาเล่นเป็น มาร์โลว์ ผู้กำกับ ฮอว์คส์ ก็ดัดแปลงเรื่องให้ใกล้เคียงกับตัวคนแสดง ไม่รู้เป็นมุขตลกของคนทำหนังหรือเปล่า ในนิยายฉากแรก ที่คาร์เมน น้องสาว วิเวียน โผล่ออกมาเจอ มาร์โลว์ เธอทักว่า “สูงนะคุณน่ะ” อันนี้เป็นประโยคที่เธอยิงใส่เขาทั้งเรื่อง แต่ในหนังเปลี่ยนคำพูดให้เข้ากับความสูงของ โบการ์ต ซึ่งเตี้ยกว่าสองดาราสาวที่เล่นประกบกับเขาเสียอีก “ไม่ค่อยจะสูงเท่าไรนะคุณ” ส่วนทาง โบการ์ต (มาร์โลว์) ตอบว่า “ผมก็พยายามอยู่” (เพิ่งรู้ตอนหลังว่า โบการ์ต ต้องใส่รองเท้าเสริมส้นเวลาเข้าฉากกับสาว ๆ)

ก็นั่นแหละ โบการ์ต นั้นออกจะเตี้ยไปหน่อย แถมยังไม่หล่อ แต่เขาก็มีมุมโปรยเสน่ห์แบบแมนแมนที่น่าเชื่อถือได้ ในเรื่องหนังจะเห็นชัดกว่านิยาย เพิ่มมุมให้สาว ๆ ในเรื่องปลื้มได้หลายคน (นี่หรือเปล่าที่ เอียน เฟลมมิ่ง ชอบแล้วไปเน้นบทเจ้าชู้ของ เจมส์ บอนด์) ทั้งสาวที่ร้านขายหนังสือ สาวที่บาร์ หรือสาวขับแท็กซี่ ซึ่งอย่างหลังนี้สอดรับดีกับลักษณะหนังของ ฮอว์คส์ ที่ให้ผู้หญิงเก่งฉกาจใกล้เคียงกับผู้ชาย และอีกอย่างคือ ปีที่หนังสร้างซึ่งค่อนมาทางช่วงสงครามโลกครั้งที่สองใกล้เลิก บทบาทผู้หญิงจึงก้าวมาข้างหน้า ออกมาทำงานนอกบ้านกันเยอะต่างจากสมัยปีที่ยังเป็นนิยาย

ที่อยากให้มีในหนังคือบทพูดของ วิเวียน ในหนังสือ เมื่อแรกเจอ มาร์โลว์ กวนตีน
“พระเจ้า คุณนี่ช่างเถื่อนหล่อล่ำได้ใจ! ฉันน่าจะเอารถบูอิคฟาดหัวคุณ”

แต่บทพูดที่เพิ่มเข้ามาในหนังหลาย ๆ ฉากแสบกว่านิยายอีก อย่างตอนที่ ฟิลิป มาร์โลว์ ทำ วิเวียน ฉุน แล้วเดินผละมา 

วิเวียน “คุณล้ำเส้นไปแล้วนะ มาร์โลว์”
มาร์โลว์ “ทำเป็นปากเก่งกับผู้ชาย นี่ขนาดเขากำลังเดินออกจากห้องนอนคุณเนี่ยนะ”

และการเล่นโต้ปากคำแบบหนังฟิล์มนัวร์แบบนี้ บทพูดระหว่าง มาร์โลว์ กับ เอ็ดดี้ มาร์ส เจ้าของบาร์ที่มีเงื่อนงำ ถ้าแปลอาจไม่สนุกเท่าภาษาเดิม

Eddie Mars: Convenient, the door being open when you didn't have a key, eh? 
Philip Marlowe: Yeah, wasn't it. By the way, how'd you happen to have one? 
Eddie Mars: Is that any of your business? 
Philip Marlowe: I could make it my business. 
Eddie Mars: I could make your business mine. 
Philip Marlowe: Oh, you wouldn't like it. The pay's too small.

แล้วในหนังก็มีประโยคที่ มาร์โลว์ คุยกับ วิเวียน แบบยอกย้อน ตอนที่เธอคุยกับเขาเรื่องพนันม้า แต่เปรียบเปรยเป็นเงื่อนงำแฝงนัยยะทางเพศ

Vivian: Speaking of horses, I like to play them myself. But I like to see them workout a little first, see if they're front runners or comefrom behind, find out what their whole card is, what makes them run. 
Marlowe: Find out mine? 
Vivian: I think so. 
Marlowe: Go ahead. 
Vivian: I'd say you don't like to be rated. You like to get out in front, open up a little lead, take a little breather in the backstretch, and then come home free. 
Marlowe: You don't like to be rated yourself. 
Vivian: I haven't met anyone yet that can do it. Any suggestions? 
Marlowe: Well, I can't tell till I've seen you over a distance of ground. You've got a touch of class, but I don't know how, how far you can go. 
Vivian: A lot depends on who's in the saddle.

ที่เด็ดอีกอันคือภาพตอนจบ หลังจากพระนางวางแผนซ้อนหมากจัดการกับตัวร้ายเสร็จ ดูยังไงก็เป็นหนังที่ทันสมัยไม่เหมือนหนังที่เก่า กว่า 50-60 ปีแล้ว

Vivian: You've forgotten one thing - me. 
Philip Marlowe: What's wrong with you? 
Vivian: Nothing you can't fix.


“หลับไม่ตื่น” เป็นงานที่แฟนนิยายนักสืบทุกคนควรจะลองอ่าน แฟนหนังสือ ฮารูกิ มูรากามิ ก็ควรจะอ่านด้วย เพราะนิยาย A Wild Sheep Chase กับ Hard-Boiled Wonderland and The End of the Worldของเขาก็เหมือนการปรุงเรื่องนักสืบแบบสมัยใหม่ (ผสมผีและไซ-ไฟ เข้าไป) และตัว มูรากามิ เอง ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเป็นแฟนนิยายของ แชนด์เลอร์ และ แฮมเม็ตต์ ด้วย ไม่เชื่อไปพลิกดูหนังสือชื่อ Haruki Murakami And The Music Of Words ของ เจย์ รูบิ้น

อย่าลืมอุดหนุน “หลับไม่ตื่น” ของสำนักพิมพ์รหัสคดี หากอยากจะให้คุณ ภัควดี และ รหัสคดี พิมพ์นิยายเรื่องอื่น ๆ ของ แชนด์เลอร์ และ แฮมเม็ตต์ ก็ถ้าแฟนนักอ่านไม่สนับสนุนหนังสือดี ๆ กันเอง ก็รับรอง ไม่ต้องหวังเจ้าอื่นมาทำให้แล้วล่ะคราวนี้