2.5.54

My Sassy Book ตอน 27: หลับไม่ตื่น Chandler's The Big Sleept

หลับไม่ตื่น

โดย filmvirus

เกือบลืมไปเลยว่ามีหนังสือของ เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ (Raymond Chandler) อยู่ที่บ้าน 4 เล่ม แต่แทบไม่เคยหยิบมาอ่านจริงจัง ยกเว้นเล่ม Poodle Springs ที่เขาแต่งไม่จบเพราะตายก่อน แล้วได้ โรเบิร์ต บี. ปาร์คเกอร์ มาแต่งต่อให้ จำเรื่องราวไม่ได้ อ่านมา 25 ปีแล้ว จำได้อย่างเดียวว่าให้บรรยากาศการเชือดเฉือนหักหลังแบบหนังแนวฟิล์มนัวร์ดี และที่สำคัญให้รายละเอียดชีวิตจิตใจและความมีศักดิ์ศรีของนักสืบแบบลูกผู้ชายได้ดีมาก 

จากโน่นเป็นต้นมา ก็นั่นแหละ ไม่ได้อ่านอีกเลย แต่ได้ดูหนัง The Big Sleep กับ The Long Goodbye (ฉบับ โรเบิร์ต อัลท์แมน กำกับ) ซึ่งเป็นหนังดีมากทั้งคู่ แต่เรื่องหลังทำเป็นบรรยากาศร่วมสมัยยุค 70 หลังยุคบุปผาชนและสงครามเวียดนาม เลยได้บรรยากาศหนังปฏิรูปขนบหนังดั้งเดิมแบบ Revisionist Film Noir อารมณ์ระโหยระเหี่ยแบบไม่รู้จะสืบหาความจริงไปทำไม เพราะมีแต่จะพบความจริงที่เจ็บปวด ก็นอกจากมนุษยธรรมระหว่างคนจะร่อยหรอแล้ว คุณธรรมน้ำมิตรแบบโกวเล้งก็ยังไม่เหลือให้พึ่งพิงเสียอีก เวอร์ชั่นนักสืบ ฟิลิป มาร์โลว์ ของผู้กำกับ อัลท์แมน (Gosford Park, M.A.S.H, Nashville, Short Cuts, The Player) อันนี้เจ็บปวดนัก เมื่อเพื่อนเล่นเพื่อนกันเอง !

เวลาผ่านไปนานมาก ถึงเพิ่งได้อ่าน “หลับไม่ตื่น” (The Big Sleep) เป็นครั้งแรก แถมยังเป็นฉบับแปลไทยซะด้วย หนำซ้ำยังเป็นคุณ ภัควดี มีนามสกุล วีระภาสพงษ์ แปลอีกต่างหาก ได้อรรถรสมาก แปลกใจอยู่แต่แรกเห็นตัวเล่มที่งานหนังสือ เพราะเคยถาม คุณ เรืองเดช จันทรคีรี ป๋าใหญ่แห่ง รหัสคดี เมื่อหลายปีก่อนว่าเมื่อไรจะถึงคิวนักสืบบู๊ (Hard-Boiled) ของ เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ (Raymond Chandler) และ แดชเชียล แฮมเม็ตต์ (Dashiell Hammett)เสียที แต่แกเคยบอกว่ายังอีกนาน เอาน่ะ มาช้าดีกว่าไม่มา แถมมาแล้วก็มาครบยศ สมศักดิ์ศรีเสียอีกด้วย 

“หลับไม่ตื่น” (The Big Sleep) ฉบับภาพยนตร์เป็นหนังที่สมคำคลาสสิกโดยแท้ นี่ล่ะต้นฉบับหนังคลาสสิกฮฮลลีวู้ดที่ปรุงรสได้ถูกใจคนดู นั่นคือทำไมหนังฮอลลีวู้ดถึงครองโลก สามารถรักษาอรรถรสของบทประพันธ์ไว้ได้ค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันก็มีแบบฉบับแห่งความเท่ และดัดแปลงให้มีรสโรมานซ์พอหอมปากหอมคอ เรียกว่าหาทางออกให้ได้ทุกคนพอใจว่างั้นเถอะ โครงเรื่องและฉากในนิยายก็เดินตามรอยหลักเป็นส่วนใหญ่ ที่ปรับแล้วน่าสนใจมาก ๆ ก็คือให้ วิเวียน เสติร์นวู้ด ลูกสาวเศรษฐีซึ่งเดิมเป็นนางตัวแสบ กลายเป็นมีคุณสมบัติเสริมแบบนางเอก (เขี้ยวคม) ขึ้นมา ซึ่งดูดีมีสกุล ไม่น่าเกลียดดูยัดเยียดเพียงเพื่อเอาใจคนดูหนังอย่างที่บางคนอาจหวั่นระแวง และก็ตามสไตล์หนังของ ฮาวเวิร์ด ฮอว์คส์ (ผู้กำกับหนังคลาสสิกอย่าง Hatari, Red River, Rio Bravo, Only Angels Have Wings, Scarface, Balls of Fire, El Dorado) ที่ต้องมีบทดวลปากคอของตัวแสดงแต่ละราย โดยเฉพาะบทตีฝีปากของพระนาง ที่คงไว้ซึ่งลายเซ็นของ ฮอว์คส์ ได้อย่างเฉียบคม กลมกลืนทำให้เรื่องราวเดินหน้าแล้วไม่รู้สึกว่ากำลังถูกป้อนพล็อต เพราะแค่รายละเอียดพระเอกนางเอกและตัวประกอบก็มีสีสันเอาอยู่  

บทรุกรับระหว่าง ฟิลิป มาร์โลว์ ที่เป็นชายแกร่งพร้อมรับมือกับหญิงสาวพราวเกม อย่าง วิเวียน ในหนังนี่แค่บทฉะปากก่อนหลังการต่อบุหรี่ของพระนาง และการแลกจุมพิตแบบ “ฉันชอบนะ ฉันขออีก” และการรวมหัวกันเล่นสนุกคุยโทรศัพท์แกล้งตำรวจก็เผ็ดแสบซ่านไปอีกแบบที่หนังสือไม่มี  

ที่เห็นได้ชัด และเป็นเสน่ห์การเขียนของ แชนด์เลอร์ คือการปูให้คนรู้สึกยอมรับตัวเอก ฟิลิป มาร์โลว์ ซึ่งเป็นต้นแบบความเท่แบบหนุ่มห้าวที่มีสปิริต มีหลักการ อาจจะปากคอร้ายไปบ้าง เจ้าเล่ห์ก็ไม่น้อย แต่ก็เป็นไปตามความจำเป็นของเนื้ออาชีพ ลึก ๆ แล้วคนอ่านทุกคนเข้าใจได้ว่าการอยู่ในสังคมกักขฬะไม่ใช่เรื่องง่าย คนอ่านรู้สึกเหนื่อยแทน เพราะสัมผัสได้กับความจริงโหดร้ายที่น่าเหนื่อยหน่าย อย่างตอนหนึ่งที่สารวัตรเกรกอรี่ พูด ซึ่งดูเป็นคำทำนายให้นิยายและหนังรางวัลออสการ์อย่าง No Country for Old Men (Cormac McCarthy แต่ง) อีกที

“ผมเป็นตำรวจ ตำรวจธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ซื่อสัตย์ใช้ได้ ซื่อสัตย์เท่าที่คุณจะคาดหวังได้จากคนที่อยู่ในโลกที่ตกยุคไปแล้ว” 

แล้วก็ตามด้วยประโยคอื่นๆ ที่สะท้อนความระอามลทินในวงจรบาป (หน้า 214)

ที่น่าประทับใจในแบบง่าย ๆ ก็คือบทที่ มาร์โลว์ รำคาญยายน้องของ วิเวียน คือ คาร์เมน ไล่เธออกจากห้องพักของเขา เพราะหนึ่งในสวรรค์น้อย ๆ ไม่กี่อย่างที่เขามีและหวงแหน ก็คือห้องพักและสมบัติน้อย ๆ ของเขาเอง ซึ่งมันเป็นสุดถวิลหาของเขาหลังจากการรับมือกับปัญหานานับประการ ถึงตัวห้องเล็กเท่ารูหนู หรือข้าวของในห้องมันจะเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีค่า หากเทียบกับสมบัติของพวกลูกเศรษฐีเอาแต่ใจ ที่คอยใช้เงินฟาดหัวคนอื่น แต่เขาก็ภูมิใจในศักดิ์ศรีของการหาเลี้ยงตัวเอง 

“ผมไม่สน ผมไม่สนว่าเธอจะด่าผมยังไง.......แต่นี่คือห้องพักที่ผมต้องซุกหัว มันคือทุกอย่างที่ผมพอจะเรียกได้ว่าบ้าน” (หน้า 168) 

พูดง่าย ๆ คือคนอ่านสัมผัสได้ถึง “ตัวตนคนทำงาน” ที่ว่ายวนวงเวียนกรรมในย่านแอลแอ แหล่งเสื่อมโทรม ธุรกิจบาร์เหล้า การพนัน ค้าภาพโป๊ ดังนั้น ต่อให้เป็นแค่ตัวละครกระจอกจิ๊บจ๊อย อย่างไอ้ตัวจ้อย แฮรี่ “หนุ่มตัวเล็ก” ที่ไม่มีพิษสง ซึ่งตามสะกดรอย มาร์โลว์ เพราะเงินแค่สองร้อยเหรียญ เพื่อหวังจะไปตั้งตัวสักแห่งอยู่กินกับผู้หญิงที่ตัวเองรัก แต่สุดท้าย แฮรี่ ก็ถูกฆ่าปิดปาก แม้กระนั้นก่อนตายก็ไม่ยอมเปิดปากบอกที่ซ่อนเธอ ซึ่งจะทำให้คนรักพลอยเดือดร้อนไปด้วย และมุมอีกอย่างที่พิเศษมาก แฮรี่ในหนังจะโผล่มาครั้งแรกตอนที่ มาร์โลว์ เสียทีถูกตัวร้ายซ้อม แล้วเขาก็ยังย้อน มาร์โลว์ กลับหลายครั้งว่าไม่อายบ้างเหรอที่มาเอาเปรียบเขา อันนี้ฉบับหนังเพิ่มรายละเอียดให้ตัวละครประกอบในนิยายได้ไม่เบา

มาร์โลว์ เองก็เช่นกัน เขาอาจดิบ เถื่อน แต่ลึก ๆ ใจเขายืนข้างคนพวกนี้ คนที่อ่อนแอ กลัวเป็น แต่ใจสู้ และเขาเข้าใจได้ถึงศักดิ์ศรีของคนที่มีอุดมการณ์ ตัวเขาเองก็มีอุดมการณ์ มีคุณธรรมเฉพาะแบบในใจ ไม่รับจ๊อบเพียงเพื่อเอาเงิน ถ้าทำได้ไม่ถึงคุณภาพมาตรฐานของตัวเอง เขาก็ไม่อยากรับเงินมานอนตีพุงเอาสบาย ตัวละครแบบนี้แหละที่มักจะปรากฏในหนังของ ฮาวเวิร์ด ฮอว์คส์ ศักดิ์ศรีและการทำงานในหมู่คนทำงาน (ในหนังของ ฮอว์คส์ ส่วนใหญ่มักจะต้องสละตัวเองเพื่อมาเน้นงานกลุ่ม) ผู้หญิงที่อยากจะเข้ามาร่วม หรือหลงรักผู้ชายแบบนี้ ก็ต้องขยับตัวให้เก่งและตีคู่ประมาณกัน และนั่นเป็นที่มาของอารณ์ขัน และการเชือดเฉือนเกมกลที่คู่ชายหญิงจะปะทะกันตลอดเรื่อง อันเป็นเอกลักษณ์หนัง ฮอว์คส์ ที่เขาทำถนัดไม่เลิก แล้วก็คงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม เขาจึงชอบลากนักเขียนแมนแมน อย่าง เฮมมิงเวย์, วิลเลี่ยม โฟล์คเนอร์ หรือ แชนด์เลอร์ (พากันได้ดิบได้ดีกับรางวัลโนเบลกันในเวลาต่อมา) เข้ามามีส่วนร่วมทำหนังกับเขา (แต่แน่อน นักเขียนบท จูลส์ เฟิร์ทแมน กับ ลีห์ แบร็คเก็ตต์ ก็มีชื่อร่วมเขียนบทด้วยกับพวกคนดังเหล่านี้ และน่าจะเป็นคนที่เสริมบทพูดเด็ด ๆ) 

ที่เพิ่งสังเกตเห็น ในหนังของ ฮอว์คส์ จำเป็นจะต้องมีฉากนางเอกร้องเพลง ในเรื่องให้ วิเวียน (ลอเรน เบคอลล์) มาร้องเพลงเสียงห้าวทุ้มลึกอีกแล้ว แบบที่เธอร้องในเรื่องก่อน To Have and Have Not ในหนังเรื่องอื่น ๆ ของ ฮอว์คส์ ก็มี เป็นฉากประเภทร้องเพลงหมู่ คือ ให้นางเอกยืนร้องนำกลางวง มีหนุ่ม ๆ รายล้อม ซึ่งแน่นอนว่าฉบับนิยายไม่มีตอนนี้ แต่ที่คนดูหนังทุกคนลืมไม่ลงแน่ ๆ ก็คือฉากที่พระนางประปากกันแล้วต่อบุหรี่ ซึ่งเป็นภาพเวียนซ้ำอย่างน้อยสามครั้งตั้งแต่เครดิตเปิดเรื่อง อันนี้ถือเป็นสัญญาณความร่วมมือของพระนางได้ดีกว่าฉากคุยหรือฉากแอ็คชั่นแบบอื่น ๆ  

พอเอา ฮัมฟรี่ย์ โบการ์ต มาเล่นเป็น มาร์โลว์ ผู้กำกับ ฮอว์คส์ ก็ดัดแปลงเรื่องให้ใกล้เคียงกับตัวคนแสดง ไม่รู้เป็นมุขตลกของคนทำหนังหรือเปล่า ในนิยายฉากแรก ที่คาร์เมน น้องสาว วิเวียน โผล่ออกมาเจอ มาร์โลว์ เธอทักว่า “สูงนะคุณน่ะ” อันนี้เป็นประโยคที่เธอยิงใส่เขาทั้งเรื่อง แต่ในหนังเปลี่ยนคำพูดให้เข้ากับความสูงของ โบการ์ต ซึ่งเตี้ยกว่าสองดาราสาวที่เล่นประกบกับเขาเสียอีก “ไม่ค่อยจะสูงเท่าไรนะคุณ” ส่วนทาง โบการ์ต (มาร์โลว์) ตอบว่า “ผมก็พยายามอยู่” (เพิ่งรู้ตอนหลังว่า โบการ์ต ต้องใส่รองเท้าเสริมส้นเวลาเข้าฉากกับสาว ๆ)

ก็นั่นแหละ โบการ์ต นั้นออกจะเตี้ยไปหน่อย แถมยังไม่หล่อ แต่เขาก็มีมุมโปรยเสน่ห์แบบแมนแมนที่น่าเชื่อถือได้ ในเรื่องหนังจะเห็นชัดกว่านิยาย เพิ่มมุมให้สาว ๆ ในเรื่องปลื้มได้หลายคน (นี่หรือเปล่าที่ เอียน เฟลมมิ่ง ชอบแล้วไปเน้นบทเจ้าชู้ของ เจมส์ บอนด์) ทั้งสาวที่ร้านขายหนังสือ สาวที่บาร์ หรือสาวขับแท็กซี่ ซึ่งอย่างหลังนี้สอดรับดีกับลักษณะหนังของ ฮอว์คส์ ที่ให้ผู้หญิงเก่งฉกาจใกล้เคียงกับผู้ชาย และอีกอย่างคือ ปีที่หนังสร้างซึ่งค่อนมาทางช่วงสงครามโลกครั้งที่สองใกล้เลิก บทบาทผู้หญิงจึงก้าวมาข้างหน้า ออกมาทำงานนอกบ้านกันเยอะต่างจากสมัยปีที่ยังเป็นนิยาย

ที่อยากให้มีในหนังคือบทพูดของ วิเวียน ในหนังสือ เมื่อแรกเจอ มาร์โลว์ กวนตีน
“พระเจ้า คุณนี่ช่างเถื่อนหล่อล่ำได้ใจ! ฉันน่าจะเอารถบูอิคฟาดหัวคุณ”

แต่บทพูดที่เพิ่มเข้ามาในหนังหลาย ๆ ฉากแสบกว่านิยายอีก อย่างตอนที่ ฟิลิป มาร์โลว์ ทำ วิเวียน ฉุน แล้วเดินผละมา 

วิเวียน “คุณล้ำเส้นไปแล้วนะ มาร์โลว์”
มาร์โลว์ “ทำเป็นปากเก่งกับผู้ชาย นี่ขนาดเขากำลังเดินออกจากห้องนอนคุณเนี่ยนะ”

และการเล่นโต้ปากคำแบบหนังฟิล์มนัวร์แบบนี้ บทพูดระหว่าง มาร์โลว์ กับ เอ็ดดี้ มาร์ส เจ้าของบาร์ที่มีเงื่อนงำ ถ้าแปลอาจไม่สนุกเท่าภาษาเดิม

Eddie Mars: Convenient, the door being open when you didn't have a key, eh? 
Philip Marlowe: Yeah, wasn't it. By the way, how'd you happen to have one? 
Eddie Mars: Is that any of your business? 
Philip Marlowe: I could make it my business. 
Eddie Mars: I could make your business mine. 
Philip Marlowe: Oh, you wouldn't like it. The pay's too small.

แล้วในหนังก็มีประโยคที่ มาร์โลว์ คุยกับ วิเวียน แบบยอกย้อน ตอนที่เธอคุยกับเขาเรื่องพนันม้า แต่เปรียบเปรยเป็นเงื่อนงำแฝงนัยยะทางเพศ

Vivian: Speaking of horses, I like to play them myself. But I like to see them workout a little first, see if they're front runners or comefrom behind, find out what their whole card is, what makes them run. 
Marlowe: Find out mine? 
Vivian: I think so. 
Marlowe: Go ahead. 
Vivian: I'd say you don't like to be rated. You like to get out in front, open up a little lead, take a little breather in the backstretch, and then come home free. 
Marlowe: You don't like to be rated yourself. 
Vivian: I haven't met anyone yet that can do it. Any suggestions? 
Marlowe: Well, I can't tell till I've seen you over a distance of ground. You've got a touch of class, but I don't know how, how far you can go. 
Vivian: A lot depends on who's in the saddle.

ที่เด็ดอีกอันคือภาพตอนจบ หลังจากพระนางวางแผนซ้อนหมากจัดการกับตัวร้ายเสร็จ ดูยังไงก็เป็นหนังที่ทันสมัยไม่เหมือนหนังที่เก่า กว่า 50-60 ปีแล้ว

Vivian: You've forgotten one thing - me. 
Philip Marlowe: What's wrong with you? 
Vivian: Nothing you can't fix.


“หลับไม่ตื่น” เป็นงานที่แฟนนิยายนักสืบทุกคนควรจะลองอ่าน แฟนหนังสือ ฮารูกิ มูรากามิ ก็ควรจะอ่านด้วย เพราะนิยาย A Wild Sheep Chase กับ Hard-Boiled Wonderland and The End of the Worldของเขาก็เหมือนการปรุงเรื่องนักสืบแบบสมัยใหม่ (ผสมผีและไซ-ไฟ เข้าไป) และตัว มูรากามิ เอง ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเป็นแฟนนิยายของ แชนด์เลอร์ และ แฮมเม็ตต์ ด้วย ไม่เชื่อไปพลิกดูหนังสือชื่อ Haruki Murakami And The Music Of Words ของ เจย์ รูบิ้น

อย่าลืมอุดหนุน “หลับไม่ตื่น” ของสำนักพิมพ์รหัสคดี หากอยากจะให้คุณ ภัควดี และ รหัสคดี พิมพ์นิยายเรื่องอื่น ๆ ของ แชนด์เลอร์ และ แฮมเม็ตต์ ก็ถ้าแฟนนักอ่านไม่สนับสนุนหนังสือดี ๆ กันเอง ก็รับรอง ไม่ต้องหวังเจ้าอื่นมาทำให้แล้วล่ะคราวนี้

1 ความคิดเห็น:

filmvirus กล่าวว่า...

Postscript: สรุปความคือฉบับหนังสือเด่นเป็นเลิศที่จุดจบแบบนัวร์อันอีมครึม ทุกคนในเมืองมืดนี้มีสีเทาเต็มไปด้วยความหม่นหมองซึมเศร้า เต็มไปด้วยคอรัปชั่นและปมประโยชน์ ไม่เว้นกระทั่งสองสาวพี่น้องที่สวยร้ายราคะสุดโต่ง (แต่ก็เป็นความร้ายที่คนอ่านเข้าใจได้เพราะมันจำเป็นกับการหากินในสังคม) ที่โดดเด่นมากคือความเดียวดายและศักดิ์ศรีของอาชีพนักสืบที่มีสกุลรุนช่องไม่แพ้ พจมาน สว่างวงศ์

ส่วนฉบับหนังกระชับจัดเจน ไม่เยิ่นเย้อใช้เสียงและภาพสิ้นเปลืองแบบหนังสมัยใหม่ ทุกฉากเข้าเป้าเข้าประเด็นและเผยเสน่ห์ลูกล่อลูกชนของตัวละคร โดยไม่เหมือนแค่ต้องพึ่งให้พล็อตจูงจมูกไป คราวนี้ มาร์โลว์ ดูมีแนวร่วมและไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป (ก็นอกจากจะสืบคดีชนะแล้วยังจะได้แฟนอีก) ตัวหนังลดความมืดจากในหนังสือให้ดูหดหู่น้อยลง ทุกฉากจัดวางอย่างเท่มีสไตล์ เสริมการเล่นคำทางภาษาที่รุ่มรวยทางความคิดและนัยยะ และปิดบทสรุปอย่างสวยเก๋ ด้วยการขายเสน่ห์การปะทะของสองพระนางซึ่งต่อมากลายเป็นสามีภรรยาในชีวิตจริง