17.6.54

My Sassy Book ตอน 34: An Empty Room: Stories โดย Mu Xin

หนังสือเล่มเล็ก (ไซ้ส์เดียวกับหนังสือแปล Haruki Murakami ฉบับของญี่ปุ่น) Mu Xin นักเขียนที่จัดได้ว่าโนเนม (แถมยังเป็นคนจีนอีก) กับปกที่อยู่ระหว่างเรียบ จืด หรือเก๋เงียบ ๆ เออ จะซื้อดีไหม พลิก ๆ ดูหน้าปกหลังปกแทบไม่บอกอะไรเลย แต่ชอบรูปเล่มแบบนี้ เอาน่ะ ควักตังค์จ่ายกับอีกเล่มนิยายที่คนฟิลิปปินส์แต่ง (ซึ่งดูเหมือนจะหนักการเมือง) นี่ตูข้าคงบ้าไปแล้วเนี่ย

และอีกครั้งที่โชคดีตีแจ๊คพ็อต อ่านจบเล่มโดยเร็ว และถึงกับคิดแปลด้วยซ้ำ (บ้าไปใหญ่แล้ว) Filmsick น่าจะได้อ่าน หมอนิลน่าจะได้พิมพ์

หมู่ซิ่น ชื่อนักเขียนไม่รู้ว่าอ่านชื่อแบบนี้ไหม จำได้ว่ามีนักเขียนรุ่นเก่าชื่อ หลู่ซวิ่น กับอีกคน เหลาเส่อ แต่ช่างเหอะ ของดีจริงไม่ต้องการคำขยาย แค่ต้องการคำอธิบายดี ๆ ซึ่งเราไม่สามารถพอ (เอาเข้าไป)

แต่ หมู่ซิ่น นี่เข้ากับบล็อกนี้ดีกว่าเขียนถึงคนอื่นอีก เพราะเขาทั้งทำงานวรรณกรรม เป็นกวี เป็นศิลปินวาดรูป แล้วยังเป็นนักดนตรีด้วย อาจดูจับฉ่ายสำหรับบางคน แต่ลำพังเฉพาะงานเขียนที่หาอ่านได้เล่มเดียวในภาษาอังกฤษ ต้องขอบอกว่าที่สุดของที่สุด ส่วนภาพจิตรกรรมนั้นมีตัวอย่างให้ดูในอินเตอร์เน็ต รายละเอียดทางภาพคงบอกได้ยาก เพราะมันคงห่างจากประสบการณ์ชมจริงเยอะ แต่สื่อในอเมริกาเขามองว่ามีความสัมพันธ์สอดรับกับงานวรรณกรรมอย่างสำคัญ

มุมมองของ หมู่ซิ่น นั้นละเอียดอ่อนอย่างเหลือแสน แบบหาตัวเปรียบแทบไม่เจอ โดยเฉพาะงานของฝรั่ง (ส่วนเอเชีย หนังสือของ รพินทรนาถ ฐากูร ที่ใกล้กันบ้างในความเป็นมนุษย์นิยมก็ยังไม่ใกล้เคียงเพราะหนักมือกว่าในตัวสารและวิธีสอน) ทั้ง ๆ ที่เรื่องสั้นส่วนใหญ่ในเล่ม (ซึ่งฉบับแปลอังกฤษนั้นย่อยมาจากฉบับจีน 3 เล่มเหลือเล่มเล็ก ๆ) นั้นแทบทุกเรื่องต้องมีอันเกี่ยวข้องถึงอดีตมืดหม่นช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ขนาดบางเรื่องที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้ยังทิ้งท้ายไปทางนั้นจนได้ ฟังดูเหมือนคำติแต่ที่แท้นี่คือคำชม เพราะเท่าที่เป็นอยู่คือไม่ใช่เรื่องเครียดหดหู่ กดดัน มุ่งสะท้อนสังคมการเมือง แต่เป็นการมองหรือพาดพิงถึงด้วยความไม่จงเกลียดจงแค้น เหมือนการมองอดีตกลับไปอย่างพิศวงกึ่งเข้าอกเข้าใจ คล้ายแค่ทอดถอนใจยาวซึ่งตามมาด้วยการยอมรับ แบบไม่ขื่นขม (bitter) เต็มคำ และแน่นอนไม่ bittersweet

ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ หมู่ซิ่น เกิดขึ้นกับชาวเราแถวนี้ หรือคนอย่าง วสันต์ สิทธิเขตต์ ก็แน่นอนผลจะออกมาโหวกเหวกโวยวายสุด ๆ แบบไม่เหลือร่องรอยให้คงความสงบสยบความเคลื่อนไหว ทำนิ่งทำเซ็นอะไรนั่น เพราะมันคงง่ายกว่าที่เราจะแสดงความจงเกลียดจงแค้น หรือความฉลาดในการแก้ปัญหา หรือความกล้าลวงโลกของเราให้โลกประจักษ์ แต่ไม่เลย โลกเราน้อยนักที่จะมีเวลาให้เราทันแสดงบทฮีโร่คิ๊กแอส หรือต่อให้มีเวลาเราก็คงเลือกไม่แสดงในท้ายสุด ถ้างั้นไม่ง่ายกว่าหรือที่จะยอมรับเสียแต่แรกว่า เราก็คงเป็นอีกคนที่เงียบ ก้มหน้าก้มตายอมรับสิ่งที่อำนาจเบื้องบนกำหนดลงมา

แต่ยอมรับทางกิริยา ไม่ได้หมายความถึงจิตใจและสติในการตั้งคำถามถึงความไร้สาระนานับประการที่เกิดขึ้นรอบตัว กับอัตลักษณ์ของตัวเองที่ต้องตอบโจทย์ดีงามของภาครัฐ และจะหาใครที่ช่างสังเกตเปรียบเปรยความงามหลายสิ่ง ขณะที่ความโกรธกำลังกระหึ่มทั้งในใจและรายรอบ

หมู่ซิ่น เหมือนคนทำหนังเก่ง ๆ อย่าง ริวอิจิ ฮิเดกิ (Ruichi Hideki) ที่มองเห็นท่วงท่าของแสงที่เคลื่อนตัวอยู่รายรอบตัวเรา มาตรว่าบางคนอาจกล่าวหาว่ามันคล้ายการนิ่งดูดายชะตามนุษย์ แต่ท้ายสุดมันฉายให้เห็นความบางเบาไร้สาระและสัจธรรมที่น่าทึ่ง กระทั่งสวยงามในบางมุม หรือกระทั่งขำได้ในบางเรื่อง (โดยเฉพาะในเรื่องสั้นชื่อ Halo ที่เริ่มเรื่องเหมือนบทความวิเคราะห์แนวศิลปะประเพณีที่นิยมวาดรัศมีรอบเศียรสักการะทางศาสนา แต่กลับลงท้ายที่ภาพของกลุ่มคนคุกในมุมมองใหม่)

ที่บอกว่าเป็นเรื่องสั้นเอาเข้าจริงก็ไม่ตรงคำอธิบายซะทีเดียว หน้าปกเขียน stories ไม่ใช่ short stories ส่วนในเล่มเขามีคำนิยามเฉพาะในภาษาจีนว่า sanween ที่เป็นการเขียนซึ่งแกว่งอิสระไปมาระหว่างร้อยแก้วและร้อยกรอง คือในเรื่องเดียวกันสามารถครอบคลุมได้ทั้งรูปแบบของเรื่องสั้น คำปรารภรำพึง บทบันทึก บทพินิจชีวิต บทกวี รำพันนิราศ ว่ากันว่า หมู่ซิ่น รวมลักษณะ sanween ดังว่ารวมเข้ากับลักษณะขนบวรรณกรรมแบบ bildunsroman ที่รับต้นตอมาจากวรรณกรรมเยอรมันซึ่งเน้นการเดินทางค้นพบโลกรอบข้าง ผ่านมุมมองของ “ข้าพเจ้า” (I) ในคำแนะนำท้ายเล่มเขาบอกว่าหมู่ซิ่นรวมความชอบทั้งนักเขียนจีนรุ่นดึกดำบรรพ์เข้ากับความชื่นชอบวัฒนธรรมและศิลปะตะวันตก อย่างงานเขียนของ รุสโซ่, นิทเช่อ, อีเมอร์สัน และ ม็องแตญจ์

เรื่องแบบเขามันไม่ใช่เรื่องที่เล่าพล็อต ไม่ยึดติดกับเนื้อเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการสังเกตการณ์สำแดงรายละเอียดที่ผู้เขียนเคยพบมาหรือจำได้จากอดีต ลีลาเขียนแบบย่างเบาสบายบนพรมหญ้าเหมือนคนกำลังพาเดินชมสวน ที่จริงเรื่อง Tomorrow, I’ll Stroll No More ก็ยิ่งเหมือนการเดินชมสวนอยู่แล้ว เพราะหมู่ซิ่น เขียนตอนที่เขาไปพักอยู่อเมริกาในเขตควีนส์ แต่จากการเดินเล่นละแวกถนนเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่ไม่มีใครรู้จักใคร หน้าบ้านสะอาดเกลี้ยงเกลาแต่ไร้ร่องรอยชีวิต ทำให้เขารู้สึกผิดแปลกที่มาเดินทอดน่อง ขณะเดียวกับที่หวนคิดไปถึงบ้านเกิดในเมืองจีน ฉงนสนเท่ห์ว่าทำไมดอกไม้พันธุ์เดียวกันในคนละถิ่นฐานจึงสามารถแตกต่างกันบ้างทางกลิ่นหรือรูปลักษณ์ การที่คนเราให้ความสำคัญในการไล่ตั้งชื่อพันธุ์ไม้แบบต่าง ๆ และชื่อดอกไม้บางชนิดที่เขานึกออกเฉพาะในภาษาจีนแต่นึกไม่ออกเป็นภาษาฝรั่ง

รูปแบบการเล่าที่เหมือนเรื่อย ๆ เรียง ๆ นี่แหละที่ร้ายนัก เพราะมันน่ากลัวที่มันไม่ได้ซ่อนระเบิดปรมาณู แต่ซ่อนอณูอารมณ์ซึ่งสั่นไหวเพียงน้อย ซึ่งสายตาเปล่าจับไม่ติด และมันมหัศจรรย์นักที่นักเขียนคนหนึ่งนั้นสามารถร่ำรวยทางภาษา และลีลา พอจะทำให้เกิดการเขย่าปลุกอณูใจได้ในความยาวเรื่องละไม่กี่หน้า

บางทีการที่เขาเคยถูกจองจำในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมกระมัง ทำให้เขาค้นพบวิธีพูดน้อยในพื้นที่สั้น ๆ ได้มีประสิทธิภาพ ว่ากันว่าคนพวกนั้นมอบกระดาษให้นักโทษแต่ละคนเขียนคำสารภาพบาปแสดงความสำนึกผิดในสิ่งและวัฒนธรรมนอกรีตที่เขาหรือใครสนใจ ในกรณีของ หมู่ซิ่น สิ่งนั้นก็เป็นการฝักใฝ่สนใจในศิลปะตะวันตกนั่นเอง หมู่ซิ่น เรียก เลโอนาร์โด ดาวินชี่ ว่า “เป็นครูคนแรก ๆ ” เขาแอบซ่อนกระดาษ 60 กว่าแผ่นเพื่อแอบเขียนบันทึกความบอบช้ำในยามค่ำ นั่นทำให้เขาสามารถผ่านเวลานั้นมาอย่างเข้าอกเข้าใจและปล่อยวางได้มากกว่าศิลปินจีนอีกหลายคนที่มักจะพาดพิงถึงอดีตอย่างเคียดแค้น หมู่ซิ่น กล่าวถึงช่วงเวลานั้นว่า “ตอนกลางวันผมเป็นทาส แต่ยามดึกผมเป็นเจ้าชาย”

หากดูเผิน ๆ ลักษณะงานศิลปกรรมของเขาอาจเหมือนภาพจิตรกรรมจีนแบบม้วนขนาดเล็ก ซึ่งศิลปินมักนิยมวาดจิตรกรรมแนวประเพณีรูปทิวทัศน์สวยงาม แต่ของ หมู่ซิ่น กลับเป็นเหมือนภาพนิมิตของศิลปินเองที่เคลือบฉาบด้วยหมอกเมฆครึ้ม ราวกับจะบอกว่าภาพงดงามในอีตจะไม่มีวันกลับมาเป็นเหมือนเดิม และตัวภาพทิวทัศน์ก็ดูไม่เฉพาะเจาะจงดูไม่ออกว่าเป็นที่ไหน แม้ชื่อภาพจะระบุชัดว่าหุบเขาใด ย่านไหน และตั้งใจวาดอ้างอิงถึงแนวทางของศิลปะจีนคนไหน ยุคอะไร ซึ่งมักสะท้อนยุคอุดมคติที่มีชุมชนศิลปินหัวก้าวหน้า รักความยุติธรรม และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติมากกว่าปัจจุบัน ลักษณะภาพเบื้องหน้าอาจดูเป็นจีนหรือเป็นตะวันออกสูง แต่รายละเอียดในการลงสีและรายละเอียดฉากหลังดูเหมือนจะได้รับทางศิลปะตะวันตกมาด้วย ดังที่มีผู้สังเกตโดยเปรียบเทียบกับฉากหลังของภาพ โมนาลิซ่า กับภาพภาพหนึ่งของหมู่ซิ่น ทำให้ชวนคิดว่า เคยมีใครโยงภาพเข้ากับภาพศิลปินเยอรมันยุคนี้อย่าง อันเซล์ม คีเฟอร์ (Anselm Kiefer) บ้างไหม เพราะ คีเฟอร์ ชอบทำภาพให้หมองเก่าโยงใยถึงประวัติศาสตร์ชาติด้วย แต่อาจหนักมือทางใส่ตัวหนังสือ หรือวัสดุ และแฝงความโกรธเกรี้ยวเฉพาะตัวมากกว่า

นี่คือผลงานของคนที่เป็นมนุษย์นิยมในหัวใจ ไม่ใช่แค่เปลือกหรือการทำท่า ลักษณะการเขียนที่ดูกว้างขวางพลิกแพลงจากแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่ง เป็นไปได้ไกลกว่าการตั้งสมการมนุษย์แบบชาญฉลาดของ มิลาน คุนเดอร่า (Milan Kundera) และแม้ว่างานแบบ คุนเดอร่า จะดีเยี่ยมอย่างไม่อาจปฏิเสธ แต่หากเทียบกัน คุนเดอร่า ก็ยังคงยโสอยู่ในหอคอยงาช้างมากกว่าจะยอมเดินรับฝุ่นอย่างที่ หมู่ซิ่น สามารถเป็น

ไม่มีความคิดเห็น: