พี่เอื้อย อเมริกันจอมพลัง
ทำไมอเมริกันถึงไม่รู้จักเบื่อที่จะสอนสั่งชาติอื่น ทั้ง ๆ ที่คนอเมริกันที่พอจะรู้จักวัฒนธรรมของชาติอื่นอยู่บ้างนิด ๆ หน่อย ๆ ก็กระจุกตัวอยู่ในนิวยอร์ค ซาน ฟรานซิสโก แอลเอ เท่านั้น แต่รัฐอื่นแทบไม่รู้เหวหอกหรือสนใจอะไรเลยว่าชาติอื่นเขานับถืออะไร อยู่ยังไง
หนัง Mr. Freedom ของ William Klein สะท้อนภาพของซูเปอร์ฮีโร่อเมริกัน (ในคราบนักอเมริกันฟุตบอล) ที่จิตใจดิบห่ามหยาบกร้าน ขาดรสนิยม ไร้ความละเอียดอ่อน ชอบคุยเขื่องและใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา หลงเข้าใจอยู่ตลอดว่าชนชาติอื่นกำลังเฝ้ารอการชำระล้างทางจิตวิญญาณ
เพราะนี่หรือเปล่าที่ทำให้คนอเมริกันไม่อยากรับสภาพว่าประเทศตัวเองนั้นที่แท้ยากจน กลวงโบ๋ และปรุงแต่งแค่ภาพพจน์ อย่างที่หนัง Taxi Driver และ King of Comedy ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ แสดงให้เห็น อีกทั้งยังไม่ใช่ประเทศที่เป็น “ดินแดนแห่งความพรั่งพร้อม” (Land of Plenty) ได้แต่หวาดระแวงผู้ก่อการร้าย จนหลงลืมความเผื่อแผ่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ (อย่างที่แสดงในหนัง Land of Plenty ของ วิม เวนเดอร์ส)
หนังน่าดูประกบกับ Alphaville ของ Godard เหมือนกัน โดยเฉพาะฉากที่ Mr. Freedom เดินทางมาปารีสเพื่อกำราบลัทธิคอมมิวนิสต์ในปารีส
บทสนทนาตอนหนึ่งจากหนัง Mr. Freedom
(ในฉากนี้หัวหน้ากำลังสั่งงาน Mr. Freedom ให้เตรียมตัวไปทำงานเหมือนสายลับแบบ เจมส์ บอนด์ หลังจากที่ Capatain Formidable เสียท่าไปก่อนหน้านี้)
หัวหน้า - And you know that the world is divided in two parts. On the one side is right and on the other side is wrong. Wrong is red and right is……..
มิสเตอร์ฟรีดอม - Red White and Blue.
หัวหน้า - Yes, and in the middle we have The Maybes and The Don’t Knows. First we have the objectives, make the Reds cry “Uncle”
มิสเตอร์ฟรีดอม - “Uncle Sam!”
หัวหน้า - Yes, then maybe The Maybes and the Don’t Knows will wake up and fight for right, for right is might and might is…..
มิสเตอร์ฟรีดอม - Freedom?
หัวหน้า - Yes, sir. Our Freedom.
ตอนไปเบอร์ลินปี 2004 เคยเกือบได้เจอผู้กำกับ วิลเลี่ยม ไคลน์ (William Klein) นี่อยู่เหมือนกัน แต่ก็พลาดไป เพราะเขาจัดเป็นหนังรอบดึก กลัวหลงทาง กลัวหนาว กลัวไม่สบาย กลัวสารพัด กลับที่พักไม่ถูก ตอนนั้นเขามาที่ Filmmuseum Berlin พูดคุยตอนรอบฉาย Who are You, Polly Magoo? มาตอนนี้ คงไม่มีทางเห็นตัวจริงแล้ว เพราะอายุเขาก็ไม่ใช่น้อย ๆ ราว ๆ 80
ก่อนหน้านี้รู้จัก William Klein ก็แต่ในฐานะช่างภาพผู้โด่งดัง มีชื่อในหนังสือศิลปะภาพถ่ายเล่มสำคัญ ๆ ของโลก รู้สึกเขาจะชอบถ่ายรูปกลุ่มคนในที่สาธารณะ ขณะที่ตัวแบบกำลังเคลื่อนไหวไปมาขณะประกอบกิจกรรมหมู่ หรือหลายทีก็ไม่รู้ตัว พวกภาพปฏิกิริยาตามธรรมชาติของผู้คนขณะชมคอนเสิร์ต หนุ่มสาวเดินเปะปะตามท้องถนน รถไฟฟ้าใต้ดิน ร้านค้า สิ่งเอะอะวุ่นวายอลเวงที่เกิดชั่วพริบตาเดียว เขาจับมาแชะเฟรมจับชีวิตที่ไม่หยุดนิ่งได้ไวมาก และดูเป็นนาทีที่สุดเพอร์เฟ็คท์รวบคอคาแร็คเตอร์ชาวบ้านได้อยู่หมัด ทั้ง ๆ ที่เขาถ่ายเหตุการณ์เดียวกันแค่ไม่กี่ภาพ
แล้วภาพเบื้องหลังวงการแฟชั่น หรือวงการบันเทิงเขาก็ถ่ายทอดออกมาได้เฉียบคมไม่แพ้กัน บางครั้งด้วยการจัดองค์ประกอบภาพกับจังหวะที่ลงตัวทำให้สิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ กลับมีผลออกมาในเชิงนามธรรมที่ให้ความหมายใหม่ต่างจากความสมจริง (รวมถึงในหนังที่เขากำกับอย่าง Who are You, Polly Magoo?)
William Klein เป็นหนึ่งในตากล้องภาพนิ่งระดับโลกเพียงไม่กี่คนที่ใช้กล้องเลนส์ไวด์แองเกิลจับภาพเบลอ ๆ ได้ลงตัว พักหนึ่งเขาวางกล้องภาพนิ่ง หันมาเขียนบท-ทำหนังแทน ซึ่งก็เสียดสีแดกดันสังคมจอมปลอมอลเวงได้แสบสันต์ อย่างเช่น The Model Couple ที่ล้อรายการทีวีแบบเรียลลิตี้โชว์มาตั้งแต่ปี 1977 หนังที่เขาสร้างเป็นหนังฝรั่งเศสเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้เขาจะเป็นคนอเมริกันที่ไปอยู่ในฝรั่งเศสเสียนาน แต่ทั้งฝรั่งเศสและอเมริกาก็โดนเขาเล่นหัวสนุกสนาน อย่างเรื่อง Mr. Freedom (1969) นี่คนฝรั่งเศสถูกด่าว่าเป็นพวกเด็กอ้อแอ้ ต้องให้มีคนอเมริกันมาพยุงคอยดูแล ขนาดคนสำคัญอย่าง Napoleon ยังโดนด่าว่าไม่ใช่ฝรั่งเศส แต่เป็นชาวเกาะ Corsican ซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
ในบรรดาช่างภาพระดับโลกที่หันมากำกับหนัง อยากดูหนังของ Robert Frank มาก ๆ ภาพถ่ายของเขายิ่งเป็นตำนานมากกว่า William Klein เสียอีก ลองรื้อสูจิบัตรโปรแกรมเก่า ๆ ของโรง NFT ลอนดอนเห็นเคยฉายเรื่อง Candy Mountain เรื่องนั้นมี Rudy Wurlitzer เขียนบท มีคนแสดงอย่างนักดนตรี Tom Waits และสาวฝรั่งเศส Bulle Ogier (ทำไมมีแต่ประเทศฝรั่งเศสที่ให้ทุนศิลปินพวกนี้ทำหนัง-แล้วคนลุงแซมเมือง Freedom ล่ะ มัวเอาเงินไปล้างบางประเทศอื่นหรือไง) นี่รอดูมาเป็น 20 ปีแล้วนะเนี่ย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น