A little tribute to the excellent Hiroshi Shimizu and a few bits on less known Japanese Masters
ถ้าจำไม่ผิดตอนปี 1987 เคยดู Retrospective หนังของ ฮิโรชิ ชิมิสึ (Hiroshi Shimizu) ที่โรงหนัง NFT ลอนดอนซึ่งตอนนั้นจัดฉายประมาณ 10 เรื่อง ตอนนี้นึกไม่ออกว่านอกจากดูเรื่อง Children of the Great Buddha แล้วได้ดูเรื่องอะไรไปอีกบ้าง จำได้แค่ว่าหนังเขามักมีบทเด็กที่มีชีวิตชีวา ภาพเก่า ๆ มีเสน่ห์แบบแปลก ๆ และในเรื่อง Great Buddha นั่นก็มีฉากที่เด็กอยู่บนพระพุทธรูปยักษ์
ไม่น่าเชื่อ ประมาณ 21 ปีผ่านไป ถึงจะมีหนังของเขาให้ดูอีก กระโดดข้ามยุควีดีโอเทป เลเซอร์ดิสค์ ฟิล์ม 16 มม. ไปเลยนะเนี่ย ออกมาทีเดียวเป็นแผ่นดีวีดี
ดูไปทั้ง 4 เรื่อง Japanese Girls at the Harbour, Ornamental Hairpin, The Masseurs and a Woman และ Mr. Thank You แจ๋วจริงทั้ง 4 เรื่อง แม้จะไม่คมคายเท่าหนังแบบ ยาสุจิโร่ โอสุ แต่ก็ชอบมากกว่า โอสุ เพราะดูเนื้อเรื่องหลากหลายกว่า แถมกระจุ๋มกระจิ๋มดีด้วย
หนังส่วนใหญ่ของ ฮิโรชิ ชิมิสึ สร้างจากนิยาย อย่าง Mr. Thank You ก็ทำมาจากนิยายของ ยาสุนาริ คาวาบาตะ (ไม่ยักรู้ว่าเขียนเรื่องเบา ๆ สบาย ๆ แบบนี้ก็เป็น) Mr. Thank You เป็น Road Movie ที่พาคนดูหนังไปนั่งอยู่บนรถกับคนขับ-คนโดยสารแทบทั้งเรื่อง สงสัยต้องเอาไปจัดฉายควบกับ “เมล์นรกหมวยยกล้อ” หรือ “Speed” แต่บังเอิญมันไม่มีขับซิ่งเลยน่ะสิ
ของตายว่าหนังทั้ง 4 เรื่องต้องมีบทเด็กซน ๆ (ใน Mr. Thank You บทบาทน้อยสุด) แล้วก็มีบทหญิงโสเภณีที่ทิ้งงานทิ้งการมาสัมผัสกับธรรมชาติ หรือตระหนักถึงคุณค่าของบริสุทธิ์แห่งรัก (ฟังดูเชย แต่ทำดี๊ดี) เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ค่อนข้างน้อย แต่รายละเอียดน่ารักเหลือเกิน (ยกเว้น Japanese Girls at the Harbour ที่ดูพล็อตรันทดหน่อย) แต่บทสรุปทุกเรื่องก็หวานเศร้า ง่ายงามผสมขำขัน แล้วก็ไม่ดูเชยตกยุคหรือจงใจแบบหนัง “บุญชู” หรือ “วัยอลวน” ซึ่งไม่รู้จะเฉลิมฉลองวันวานไม่หวานกันไปทำไมอีก เพราะมันไม่กิ๊บเก๋พอสำหรับวัยรุ่นไทยยุคนี้ ดูกี่ทีก็รู้ว่าคนทำห่างจากประสบการณ์แบบนักศึกษามานานโลด
ที่จริงอดรู้สึกไม่ได้ว่าการสื่อให้เห็นความรู้สึกละเอียดอ่อน และทางเลือกที่น้อยทางของลูกผู้หญิงญี่ปุ่นในสมัยก่อนนั้น ชิมิสึ ทำได้นุ่มนวล ไม่ฟูมฟายและไม่ชี้นำมากเกินไปหากเทียบกับหนัง เคนจิ มิโซงุจิ (Kenji Mizoguchi) ซึ่งเฟมินิสต์หนักมือไปหน่อย หลายเรื่องของ มิโซงุจิ ที่เป็นคลาสสิคอย่าง Oharu, Sansho หรือ Ugetsu Story นอกจากเรื่องภาพแล้วสาระหนักมือชะมัด การแสดงก็มิติเดียว (แต่มีเรื่องหนึ่งที่มูลนิธิญี่ปุ่นจัดฉายที่ EGV ดิสคัฟเวอรี่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ จำชื่อไม่ได้ มันเป็นหนังไม่ดังเท่าไหร่ แต่ก็ดูกลมกล่อมกว่าเรื่องอื่น)
ผู้กำกับญี่ปุ่นนี่ส่วนใหญ่ทำหนังโคตรแมน ถ้าว่าเรื่องคนที่ถนัดทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิงแล้ว มิกิโอะ นารุเสะ (Mikio Naruse) กับ ชินยิ โซไม (Shinji Somai) สองผู้กำกับที่คนดูหนังมูลนิธิญี่ปุ่นคุ้นเคยดี ทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิงได้เข้าท่า ถ้าเทียบกับ อากิระ คุโรซาว่า แล้ว คุโรซาว่า ไม่เข้าใจผู้หญิงเลย ผู้หญิงในหนัง คุโรซาว่า เป็นแค่ภาพร่างหยาบ ๆ เพราะ คุโรซาว่า ถนัดแต่หนังโครงสร้างและสโคปกว้างขวาง แต่อย่าง โซไม นี่เก่งที่สุดก็เรื่องเด็ก โดยเฉพาะเด็กนักเรียน ดูเจาะลึกในนิสัยใจคอ และจับสภาพชั่วขณะ moment to moment ของเด็ก ๆ ได้ดีกว่าหนังของคนอื่น ๆ (และอาจจะดีกว่าหนังของ ฮิโรชิ ชิมิสึ เสียอีก)
โดยเฉพาะหนัง Taifu Club และ Moving ของ ชินยิ โซไม ที่มหัศจรรย์เหลือเกินในการถ่ายทอดอารมณ์มุมมองเด็กงุ่นง่านเมื่อไม่มีผู้ปกครอง แม้แต่เรื่อง Sailor Suit and the Machine Gun ที่สร้างจากการ์ตูนฮิต และมีป๊อปไอดอลของยุค - ฮิโรโกะ ยากุชิมารุ (เมื่อก่อนเธอดังเหลือเกิน) เรื่องหลังนี้อาจจะดูเป็นการ์ตูนไปหน่อย แต่ก็ยังเห็นได้ว่าความสนใจของคนทำแท้จริงอยู่ที่ไหน ก็ทั้ง 3 เรื่องต่างเป็นเรื่องของเด็ก ๆ ที่ต้องดูแลตนเอง เพราะผิดหวังและพึ่งพาโลกของผู้ใหญ่ไม่ได้อีก พวกเขาต้องรีบโตขึ้นอย่างฉับพลันทันด่วนเพื่อดูแลตัวเองให้รอด แล้วก็ต้องมีลักษณะธรรมชาติเชิง magic hour ที่เกิดอาเพศ พายุ การเคลื่อนไหวของธาตุทั้งสี่มาขับเน้นการตระหนักรู้ของตัวละคร
อ้าว ฟุ้งไปไกลเรื่องหนังของคนอื่น กลับมาที่หนังของ ชิมิสึ อีกทีภาพที่ไม่คมชัดนักทั้งตัวก็อปปี้ฟิล์มเอง และอุปกรณ์กล้อง ฟิล์มและเลนส์สมัยนั้นที่ขาดความชัดลึก ไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับคนดู มันกลับเพิ่มเสน่ห์ให้ธรรมชาติ บ้านเรือน ชีวิตผู้คนดูนุ่มนวลชวนฝันมากขึ้นเสียอีก ฮิโรชิ ชิมิสึ มีอารมณ์ขันที่น่ารักทีเดียว ชอบดอลลี่กล้องทั้งฉากภายนอก-ภายในหลายฉาก ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยนะนั่น สำหรับหนังเก่าขนาดนั้น ตั้งแต่ทศวรรษ 30 นั่นนะ
เกือบลืมอีกอย่างหนึ่ง เรื่อง Ornamental Hairpin (Chishu Ryu คนที่เล่นเป็นพ่อในหนังโอสุเป็นพระเอกเรื่องนี้) กับ The Masseurs and a Woman ดูติดต่อกัน เหมือนมีความต่อเนื่องตรงที่นักแสดงและลักษณะตัวละครมีปรากฏซ้ำ เป็นบทของกลุ่มหมอนวดชายตาบอดที่รับจ้างนวดตามโรงแรมต่าง ๆ ประหลาดดีที่รับนวดทั้งชายทั้งหญิงถึงในห้องหับ แต่มันคงเป็นวัฒนธรรมปกติของญี่ปุ่นมากกว่า เห็นเรื่อง Blind Beast ของ ยาซูโซ่ มาซามูระ ก็เหมือนกัน
Ornamental Hairpin กับ The Masseurs and a Woman หนัง 2 เรื่องนี้สร้างดีเหลือเกิน (โดยเฉพาะเรื่องหลังนี้ ชิมิสึ เขียนบทดั้งเดิมด้วยตัวเองเสียด้วย) เห็นในแผ่นมีหนังสีฉบับรีเมคของ The Masseurs and a Woman ด้วย จำลองถอดฉากเดิมกันแทบทุกฉาก ยิ่งดูตัวอย่างของใหม่ ยิ่งน่าประทับใจ อยากดูฉบับใหม่ต่อทันทีเลยให้ตายเถอะ
(ภาพจาก http://www.dvdbeaver.com/)
2 ความคิดเห็น:
หนังของมิโซกุชิที่มาฉายช่วงต้นปีคือเรื่อง A GEISHA หรือ GION FESTIVAL MUSIC (1953, A) ครับ รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ออกมากลมกล่อมมากเหมือนกัน แต่น่าเสียดายที่ไม่มีสมาธิดูหนังเรื่องนี้เท่าไหร่นัก เพราะรอบนั้นเป็นรอบแรกที่มีปัญหาเรื่องคนไม่นั่งที่นั่งตามตั๋วหนัง ก็เลยทำให้รู้สึกโมโหทางโรงหนังอยู่เป็นเวลานาน ก็เลยไม่มีสมาธิดูหนัง
พูดถึงชีวิตผู้หญิงแล้ว เรารู้สึกสองจิตสองใจกับหนังอย่าง REPAST (1951, Mikio Naruse, A+) นะ เรารู้สึกว่าถ้าหากเราเป็นนางเอก เราก็คงตัดสินใจเหมือนนางเอกนั่นแหละ นั่นก็คือยอมกลับไปกับผัว เพราะผัวหล่อและนิสัยดี แต่ใจจริงแล้วเรารู้สึกเต็มอิ่มกับหนังอย่าง VALERIE FLAKE, THE LEFT-HANDED WOMAN, LE BLEU DES VILLES และ SHIRLEY VALENTINE ที่นางเอกตัดสินใจทิ้งผัวไปเลยมากกว่า เรารู้สึกว่าตอนจบของ REPAST เป็นตอนจบแบบค่อนข้างสมจริง (มันดูพาฝันก็จริง แต่มันสมจริงในแง่ของการเลือกเส้นทางชีวิตที่จะทำให้อยู่รอดและมีเงินซื้อข้าวกินในแต่ละวัน) แต่มันใช้ได้เฉพาะในกรณีที่ผัวนิสัยดีเท่านั้น ซึ่งนั่นย่อมไม่ครอบคลุมถึงชีวิตของผู้หญิงหลายๆคนที่มีผัว HIA HIA เราก็เลยชอบตอนจบแบบ VALERIE FLAKE มากกว่า เพราะมันเป็นตอนจบที่ตอบสนองแฟนตาซีของเราได้อย่างเต็มที่ในอารมณ์มากๆ
จริงแหละ รู้สึกคล้ายกันเลยกับตอนจบหนังเรื่อง Repast มันคงใช้ไม่ได้แล้วมั้งกับชีวิตสาวสมัยใหม่ที่มีทางเลือกมากกว่าเดิม เดี๋ยวนี้ความรักและอารมณ์คงสำคัญกว่าหน้าที่ความรับผิดชอบ อย่างว่าล่ะ ทางเลือกและกรอบของสังคมมันเปลี่ยนไป หลายครั้งเราอาจจะประเมินตัวละครด้วยมาตรฐานสายตาคนสมัยใหม่ได้ยากเหมือนกัน
ส่วนหนึ่งพี่ว่า Valerie Flake เป็นความจริงนะ สำหรับผู้หญิงสมัยนี้ อาจจะไม่ใช่สำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่ แต่ก็ถือว่าจริงพอที่จะไม่ใช่แฟนตาซีอีกต่อไป ส่วนตอนจบ Thelma and Louise เนื้อหาอาจจะจริงได้เหมือนกัน แต่วิธีการถ่ายฉากนั้น เป็นเชิงอุดมคติ
แสดงความคิดเห็น