My Sassy Book ตอน 9 : The Film Club
เดือนก่อน ๆ ไม่มีเวลามาจดว่าอ่านอะไรไปบ้าง จนเกือบลืมไปว่าเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้อ่านเล่มนี้
The Film Club
เล่มนี้ถ้าเรียกเป็นนิยายก็ไม่เชิง ที่จริงเหมือนเป็นบันทึกจากเรื่องจริงของคนแต่งมากกว่า
เดวิด กิลมอร์ (David Gilmour / คนละคนกับนักดนตรีวง Pink Floyd) บันทึกเรื่องจริงระหว่างเขากับ เจสซี่ - ลูกชาย ที่ไม่อยากทนเรียนไฮสกูลอีกต่อไป เดวิด จึงทำตัวเป็นพ่อจอมโอเวอร์ยื่นข้อเสนอให้เจสซี่ไม่ต้องฝืนใจไปโรงเรียนอีก แถมยังไม่ต้องทำงาน ตื่นนอนสาย 5 โมงเย็นก็ยังได้ ขอให้ไม่ข้องเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นพอ
แต่ที่สำคัญทุกสัปดาห์ ต้องหาเวลามานั่งดูหนังกับพ่ออย่างน้อย 3 เรื่อง
(อย่างนี้เรียกว่าเอาใจพ่อหรือลูกกันแน่) ข้อเสนอแบบนี้เด็กบ้าที่ไหนจะไม่รับ
“การเลือกหนังให้คนอื่นดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยง ในทางหนึ่งมันก็เป็นการเปิดเผยตัวเองเหมือนการเขียนจดหมายหาใครสักคน มันสะท้อนว่าคุณคิดอะไรยังไง อะไรที่ทำให้คุณหวั่นไหว ซ้ำบางครั้งมันยังสะท้อนว่าโลกมองคุณในภาพไหนด้วย ถ้างั้นเมื่อไหร่ที่คุณเนื้อเต้นเชียร์หนังสักเรื่องกับใครว่า โหย โคตรเด็ด เธอต้องชอบหนังเรื่องนี้แหง ๆ มันคงเป็นความรู้สึกพะอืดพะอมทีเดียว หากวันรุ่งขึ้นเพื่อนคุณมาขมวดคิ้วใส่ แล้วบอกว่า หนังแบบนี้เหรอที่คุณว่าตลก?”
จาก The Film Club ของ David Gilmour
ความรู้สึกนี้ เดวิด กิลมอร์ บอกว่า เมื่อไหร่ที่แนะนำหนังของ Elaine May (ซึ่งโดนนักวิจารณ์รุมด่าเละตุ้มเป๊ะ) เรื่อง Ishtar ที่มีดาราดังอย่าง วอร์เร็น เบ็ตตี้, ดัสติน ฮอฟฟ์แมน, อิซาแบล อัดจานี่ เขาเป็นต้องถูกเหยียดมองเหมือนตูดแพะ มันสอนข้อคิดให้เขาว่าเวลาที่อยู่ในร้านเช่าวีดีโอ ห้ามทำตัวฉลาด ๆ ไปแนะนำหนังให้ใครชม โดยเฉพาะกับคนแปลกหน้า (เออ คุ้นแฮะ อารมณ์นี้)
แต่ยกเว้นกับหนังบางเรื่องอย่าง The Late Show ที่มี ลิลี่ ทอมลิน (Lily Tomlin) กับ อาร์ต คาร์นี่ย์ (Art Carney) แสดง หรือไม่ก็หนังอย่าง The Friends of Eddy Coyle ที่แสดงโดย โรเบิร์ต มิทชั่ม (Robert Mitchum) สองเรื่องนี้เป็นหนังเล็ก ๆ เก่า ๆ กว่า 30 ปีแล้วที่คนมองข้ามเมื่อแรกออกฉาย ซึ่งพอลองแนะนำให้หลายคนได้ดู ส่วนใหญ่ก็ประทับใจได้ไม่ยาก ตอนหลังยังมาขอบอกขอบใจ เดวิด กันใหญ่ที่ช่วยแนะนำ และที่เซอร์ไพรซ์กว่าคือ หลายคนประเมินตัวเขาดีขึ้นกว่าเดิมก็เพราะเหตุนี้เอง
นาย เดวิด กิลมอร์ ชาวแคนาดานี่นอกจากเคยเขียนนิยายมาแล้ว 6 เล่ม (ข้อมูลว่า William Burroughs ก็เคยชมเชียร์) ยังเคยเป็นนักวิจารณ์หนังมาด้วย แล้วตอนหลังทำรายการทีวี ช่วงที่เขามีเวลามานั่งดูหนังกับลูกก็เป็นช่วงที่เขาตกงาน แล้วก็กินบุญเงินเก็บเก่า ๆ ขณะเดียวกันก็พยายามหางานใหม่ไปด้วย แต่ก็ต้องถูกปฏิเสธหลายครั้ง สงสัยว่าการเขียนนิยายจากประสบการณ์ “เลี้ยงลูกด้วยหนัง” (คนละอย่างกับใช้ลำแข้งเตะลูกหนัง) คงกู้หน้าเขาได้ไม่มากก็น้อย ถึงจะมีเสียงค่อนขอดว่าเป็นประสบการณ์ที่เสี่ยงต่ออนาคตของลูกชาย และบ้าบอเกินไปก็ตาม
เดวิด เลี้ยง เจสซี่ ด้วยหนังทุกรูปแบบ ตั้งแต่ American Graffiti, Scarface (ฉบับปี 1983 ที่ อัล ปาชิโน่ แสดง), Breakfast at Tiffany’s, Dead Ringers, The Bicycle Thief, Le Samourai, High Noon, Night Moves, Jackie Brown, On the Waterfront, Casablanca, The Shining, La Femme Nikita, Reservoir Dogs ไล่ไปถึง Rocky III, Under Siege และหนังสุดห่วยที่หลายคนหลงใหลอย่าง Showgirls
อย่างที่ว่าไว้ อะไรที่เราคิดว่าดี หนังที่คิดว่าเหมาะสำหรับคนคนนั้นคนนี้ย่อมไม่จริงแท้เสมอไป บางทีการฉาย The 400 Blows เพื่อให้เจสซี่ เทียบประสบการณ์กับ อังตวน ดัวเนล - เด็กตัวเอกในเรื่องที่หนีเรียนไปเตร็ดเตร่ ก็อาจจะใช้ไม่ได้ผล หรือการที่พ่อเคยปลื้มในความเท่ของวงสี่เต่าทองในหนังอย่าง A Hard Day’s Night เจ้าลูกชายทันสมัยก็อาจกวาดมองพ่อตัวเองแบบหัวจรดเท้าว่า วงดนตรีแสนเชยวงนั้นมีอะไรให้กรี๊ดกันได้นักหนา หรือไม่หนังมองโลกเศร้าสร้อยแบบ Crimes and Misdemeanors ของ วู้ดดี้ อัลเลน ก็อาจไกลตัวเกินกว่าที่เด็กวัยรุ่นจะรับได้
ในทำนองกลับกัน เจสซี่ รับหนัง Basic Instinct ของ Paul Verhoeven ที่เต็มไปด้วยตัวละครทรามๆ ได้อย่างสนุกสนานไม่คิดมาก เดวิด แนะนำลูกชายว่า ต่อให้ในฉากไม่เกิดเหตุร้ายอะไร มันก็เหมือนมีบรรยากาศสกปรกคุกคามคนดูอยู่ตลอดเวลา ยิ่งบทพูดของ ชารอน สโตน ตอนถูกสอบสวนนั้นก็กวนบรม
ตอนหนึ่งจากบทหนัง Basic Instinct
นักสืบ: คุณคบกับเขามานานเท่าไหร่
ชารอน สโตน: เราไม่ได้คบกัน เราแค่เอากัน
นักสืบ: คุณเสียใจไหมที่เขาตายแล้ว
ชารอน สโตน: แหงล่ะ ฉันชอบเอาเขานี่
บางครั้ง เจสซี่ ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ที่ทำให้คนเป็นพ่อต้องหยุดคิดและทบทวนมุมมองของตัวเองใหม่ มุมมองของ เจสซี่ ดูท่าจะมีแววพัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ เขาเห็นด้วยกับพ่อว่า Lolita ของ Adrien Lyne นั้นเจ๋งและจริงกว่า Lolita ของ Stanley Kubrick และเขาก็ทึ่งกับความกล้าของคนทำหนังอย่าง หลุยส์ มาลล์ (Louis Malle) ที่กล้าทำหนังแบบ Murmur of the Heart โดยไม่ยอมโกงอารมณ์หรือหักหลังจุดยืนของตัวละคร เพียงเพราะหวังแค่กว้านซื้อใจคนดูให้ได้จำนวนมาก ๆ
เด็กแรกหนุ่มยุคใหม่ที่นุ่งกางเกงโกร่งเป้ายานอย่าง เจสซี่ นั้นมีอะไรเหลือเฟือที่จะผูกพันกับหนังของคนหนุ่มสาว (ที่ไม่เก่ามาก) อย่าง True Romance, Chungking Express โดยเฉพาะเมื่อเขาเริ่มมีรักครั้งแรก ซึ่งเป็นรักขมอมทุกข์ หนำซ้ำยังหลงรักกับสาวหมวยลูกครึ่งจีน-อเมริกัน ที่นิสัยสุดเปรี้ยวและหน้าตาเหมือน เฟย์ หว่อง – นางเอก Chingking Express เข้าให้อีกต่างหาก นั่นทำให้คุณพ่อต้องใช้เทคนิคดูหนัง-สอนชีวิต ควบคู่ไปกับการปรึกษาปัญหาหัวใจให้ลูกชายซึ่งต้องมีชั้นเชิงพอควรแบบฝรั่ง คือไกลมากไม่ดี ใกล้มากไม่ได้
เหตุและแผลใจทำนองนี้ทำให้ เจสซี่ ไวกับหนังอย่าง Chungking Express, Last Tango in Paris หรือต่อติดกับหนังอย่าง Annie Hall ของ วู้ดดี้ อัลเลน (แม้จะเป็นเรื่องเล่าของคนที่ผ่านประสบการณ์รักมาแล้ว) จนชอบดูซ้ำ ๆ
ตัว เดวิด เองก็ตั้งข้อสังเกตที่ดีหลายเรื่อง โดยเฉพาะลักษณะการแสดงที่ปฏิวัติการแสดงหนังอเมริกันในยุคต่อ ๆ มาได้อย่างสิ้นเชิง โดยเริ่มจากการจับตาดูวิธีแสดงของ มาร์ลอน แบรนโด (A Streetcar Named Desire, On the Waterfront, Last Tango in Paris), การขยับมือของ เจมส์ ดีน ในเรื่อง Giant รวมถึง ฌอนน์ เพ็นน์ (Sean Penn) ที่เริ่มขโมยซีนคนอื่นมาตั้งแต่ตอนเป็นดาราประกอบในหนังวัยรุ่นฮอร์โมนร้อนผ่าวอย่าง Fast Times at Ridgemont High (ถ้าใครทำนายตอนนั้นว่าอนาคตของหมอนี่จะได้เป็นผู้กำกับหนังหรือประธานกรรมการเมืองคานส์อาจจะเชื่อยากหน่อย)
หรือการที่เดวิด ตั้งข้อสังเกตถึง แครี่ แกรนท์ (Cary Grant) ในหนังที่เขายกให้เป็นสุดหัวกะทิของ อัลเฟรด ฮิทช์ค็อค (Alfred Hitchcock) คือเรื่อง Notorious ว่า แครี่ แกรนท์ เป็นดาราเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถสื่อควบถึงด้านดีและด้านชั่วได้อย่างพร้อมเพรียงในเวลาเดียวกัน
นอกจากนั้น เดวิด ยังอ้างถึงสิ่งที่ พอลลีน เคล นักวิจารณ์หญิงอีโก้จัดที่ทรงอิทธิพลมากในยุคหนึ่งเคยพูดไว้ว่า แครี่ แกรนท์ อาจมีความสามารถทางการแสดงในขอบเขตที่ไม่กว้างนัก แต่สิ่งที่คนอื่นไม่มีทางทำได้ดีเท่าเขาคือ ดูเป็นผู้ดีแบบไม่ก้าวร้าว เวลาทำอะไรโง่ ๆ น่าขันก็กลับกลายเป็นน่าเอ็นดู และดูดีมีสกุลรุนชาติขึ้นมาได้ นั่นก็เพราะว่า คนดูหนังอยากเห็นตัวเองเป็นแบบนั้นถึงได้ชอบ แครี่ แกรนท์ ไง
งานเลี้ยงต้องดำเนินถึงฤกษ์ลา ทุกอย่างต้องมีวันจบลง บางอย่างอาจจบสวย หรือจบแย่ เรื่องราวในชีวิตจริงหลังการดูหนังนอกห้องเรียน 3 ปีของ เจสซี่ จะจบดีเหมือนอย่างที่ เดวิด กิลมอร์ หวังกับลูกชายหรือไม่อันนี้คงไม่สำคัญมากนัก รอให้มีใครเฉลยตอนเล่มแปลแล้วกัน
ที่สำคัญกว่าเรื่องราวคลี่คลายยังไง คือ เจสซี่ มันโชคดีเหลือเกินที่มีพ่อที่รักมันและกล้าเสี่ยงให้อิสระมันแบบนี้ ในโลกนี้จะหาพ่อดี ๆ หรือครูดี ๆ แบบครู คีทติ้ง ใน Daed Poets Society มันดูฝันเฟื่องเกินจริงจนไม่อยากเชื่อ (แต่มีหนังเกี่ยวกับครู 3 เรื่องที่ชอบมากกว่า Dead Poets และอยากให้คนดูกันเยอะ ๆ คือหนังอเมริกันเรื่อง Up the Down Staircase และ Chalk ส่วนเรื่องสุดท้ายคือหนังฝรั่งเศส It All Starts Today)
เล่มนี้ The Film Club ซื้อที่ Asia Books ซื้อเพราะอ่านเรื่องย่อหลังปกแท้ ๆ สำหรับคนบ้าหนังอย่างเราที่ชอบ Flicker (ฉบับภาษาไทยลองหาดูที่สำนักพิมพ์ด็อกโฟร์ / เครือนาคร), Throat Sprockets, Days Between Stations นี่เป็นนิยายเกี่ยวกับหนังอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ ถึงแม้จะแตกต่างจาก 3 เล่มที่เอ่ยนั้นอย่างมากมายก็ตาม
อ่านเพิ่มเติม:
My Sassy Book ตอน 2 http://technicallysweet.blogspot.com/2008/05/my-sassy-book-2-charles-burns-black.html
My Sassy Book ตอน 3 http://technicallysweet.blogspot.com/2008/05/my-sassy-book-3-brief-history-of-dead.html
My Sassy Book ตอน 6 http://technicallysweet.blogspot.com/2008/05/my-sassy-book-6-jimmy-corrigan-or.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
2 ความคิดเห็น:
พี่เขียนเชียร์หนังสือซะจนอยากจะไปสั่งซื้อมาอ่านวันนี้เลยนะเนี่ย พ่อแบบนี้ก็เจ๋งดีนะ น่าอิจฉาลูกชายมากๆ พ่อไม่เคี่ยวเข็ญให้ต้องไปเรียนหนังสือ แค่มานั่งดูหนังกับพ่อ (วันละสามเรื่องเลยเหรอ งั้นขอไปเรียนหนังสือดีกว่า) แล้วในเรื่องพ่อเป็นคนเลือกหนัง หรือว่าสลับกันเลือกกับลูกคะ
อ่านเนื้อเรื่องแล้วก็คิดถึงพ่อจอย จำได้ตอนเด็กๆ ให้เราดูแต่หนังดัสติน ฮอฟแมน อย่างเดียวเลย โตขึ้นมาหน่อยก็สตีเวน ซีกัล ชาร์ล บรอนสัน และแวน แดม ฮ่าๆๆ แต่พอเราเปิดหนังที่เราชอบให้พ่อดูบ้าง ปรากฏว่าผ่านไปสิบนาที พ่อหลับ ฮิๆๆ รู้สึกไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่ พี่สนเคยนั่งดูหนังกับพ่อไหมจ๊ะ
จริงแหละ ดูวันละ 3 เรื่องก็เวอร์ไปหน่อย พี่เคยดูหนังกับพ่อตอนพ่อพาไปดู Superman แล้วก็ดูวีดีโอ The Godfather ภาคแรก
แสดงความคิดเห็น