5.12.55

ครอบครัวและญาติสกุล แวน โกะ

เบื้องหลังการทำงานจดหมายแวนโก๊ะ อันนี้คือข้อมูลที่จัดทำไว้แต่ไม่ได้ใช้



ครอบครัวและญาติสกุล วินเซนต์ แวน โกะ (ฟินเซน ฟาน ค๊ก)
(หมายเหตุ: ชื่อสกุลของตระกูล ฟินเซน ฟาน ค๊ก ในที่นี้จะเขียน วินเซนต์ แวน โกะ เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจสำหรับคนส่วนใหญ่ อีกทั้งกรุณาสังเกตชื่อบรรพบุรุษและทายาทในครอบครัวนั้นจงใจตั้งให้คล้ายกัน)

พ่อ – เธโอดอรัส แวน โกะ (Theodorus Van Gogh) เป็นนักบวชสอนศาสนาเช่นเดียวกับบิดาของเขาและบรรพบุรุษหลายคนก่อนหน้านี้ สันนิษฐานว่านามสกุล โกะ น่าจะมาจากชื่อของเมืองเล็ก ๆ ริมชายแดนเยอรมนี มีบันทึกเกี่ยวกับต้นตระกูล แวน โกะ มาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบหก พ่อและแม่ของ เธโอดอรัส แวน โกะ มีทายาทจำนวนสิบเอ็ดคน ครึ่งหนึ่งเป็นบุตรชาย เธโอดอรัส (1822-1885) เป็นลูกชายคนเดียวในตระกูลที่เลือกอาชีพสอนศาสนาเช่นเดียวกับบิดา กล่าวกันว่าเขาเป็นคนรูปร่างหน้าตาดี อีกทั้งเป็นคนอ่อนโยนและเป็นที่รักของลู กเต้า แต่ตัวเขาเองไม่ใช่คนที่มีความสามารถพิเศษในการสอนศาสนาแต่อย่างใด

(เในเวลาต่อมา เธโอดอรัส แวน โกะ ผิดหวังกับ วินเซนต์ ลูกชายคนโตอย่างใหญ่หลวง การหัวใจวายตายของเขาในวัย 63 ปีน่าจะมีเหตุจากการดำเนินชีวิตของ วินเซนต์ ไม่น้อย เพราะทั้งคู่มักมีเหตุให้กระทบกระทั่งและไม่เข้าใจกันได้ในแทบทุกเรื่อง ก่อนเสียชีวิตหนึ่งวันเขาเขียนจดหมายถึง เธโอ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน เพื่อระบายความจากอก เดิมสมาชิกส่วนใหญ่ในครอบครัว แวน โกะ รวมทั้งคนในหมู่บ้านก็มอง วินเซนต์ แวน โกะ แย่อยู่แล้ว ต่อแต่นี้ไปจึงยิ่งเลวร้ายลงไปอีก)

แม่ – อันนา คอร์เนเลีย คาร์เบนทุส (Anna CorneliaCarbentus) เกิดปี 1819 เธอแต่งงานกับ เธโอดอรัส แวน โกะในปี 1851 พ่อของเธอเป็นนักเข้าเล่มหนังสือที่มีฝีมือซึ่งได้รับทั้งเกียรติยศและความไว้วางใจจากกษัตริย์ เธอเป็นคนอบอุ่นอ่อนโยน โดยเป็นที่รักของสามีดูแลทั้งงานบ้านและช่วยงานด้านการสอนศาสนา เธออายุยืนนานถึง 87 ปี น้องสาวอีกคนของเธอนาม คอร์เนเลีย ก็แต่งงานกับ วินเซนต์ แวน โกะ (พี่ชายของ เธโอดอรัส – เรียกกันว่า ลุงวินเซนต์) ซึ่งประกอบอาชีพนักค้างานศิลปะที่จะมีบทบาทสำคัญถึง วินเซนต์ และ เธโอ รุ่นหลานดังที่จะกล่าวถึงต่อไปด้วย

ณ วันที่ 30 มีนาคม 1852 เธอให้กำเนิดบุตรชายที่ตายตั้งแต่ในครรภ์ นาม วินเซนต์ วิลเลม แวน โกะ (Vincent Willem Van Gogh) แต่ในปีถัดมาในวันเดียวกันเธอให้กำเนิดบุตรชายคนโตที่แข็งแรงดีแล้วมอบนามเดียวกันให้ นั่นก็คือ วินเซนต์ แวน โกะ ว่าที่ศิลปินเอกของโลก ตามท้องเรื่องของเรานั่นเอง

วินเซนต์ วิลเลม แวน โกะ (Vincent Willem Van Gogh) เด็กชายที่แข็งแรงที่สุดในบรรดาเด็กทั้งหมดในครอบครัวได้รับนามเดียวกับปู่ทวดก่อนหน้านั้นรวมถึงชื่อของบุตรชายคนแรกในตระกูลที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ในครรภ์ ตัว วินเซนต์ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 1853 นั้นได้ลักษณะของความเด็ดเดี่ยวเหมือนแม่มากกว่าพ่อ สีผมบลอนด์ของเขาเจือสีอมแดง รูปร่างของเขาปานกลางและมีไหล่กว้าง ตั้งแต่เด็กเขาดื้อรั้นเป็นตัวของตัวเองสูงและมีอารมณ์ร้อนแรง วินเซนต์ น้อยเป็นคนที่มีความรักให้สัตว์เลี้ยงและดอกไม้ พรสวรรค์ทางการวาดภาพในตอนเด็กนั้นยังไม่ส่อแวว นอกจากการปั้นโคลนเป็นรูปช้างตัวน้อย อีกทั้งยังเป็นหัวแรงแข็งขันในการคิดเกมสนุกเล่นระหว่างกลุ่มพี่น้อง ในครั้งหนึ่งพี่น้องทุกคนยังซาบซึ้งในตัว วินเซนต์ มากจนรวบรวมดอกกุหลาบเป็นช่อมอบให้พี่ชายด้วย รวมความแล้ววัยเด็กของครอบครัว แวน โกะ เต็มไปด้วยสีสันร่าเริง

วินเซนต์ ขาดประสบการณ์เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ กับผู้หญิง การผิดหวังในรักครั้งแรกที่มีต่อ ยูจีนี โลเยอร์ ลูกสาวเจ้าของบ้านเช่าในลอนดอนระหว่างที่เขาทำงานในแกลเลอรี่ของบริษัทกูปิลหุ้นส่วนลุงวินเซนต์ ทำให้เขาเปลี่ยนจากคนร่าเริงกลายเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว อ่านหนังสือและท่องไบเบิ้ล เขาเริ่มให้คำแนะนำแก่ลูกค้าซื้อขายภาพในทางที่ไม่เป็นผลประโยชน์แก่บริษัท ต่อมาครอบครัวของเขาปรึกษากันทางจดหมายและพากันเห็นดีเห็นงามย้ายเขาจากสำนักงานลอนดอนไปที่สำนักงานในปารีส แต่ความประพฤติของเขาก็ยิ่งนอกคอกขึ้นเรื่อย ๆ จึงถูกปลดออกจากงาน ถูกส่งกลับมาที่อังกฤษทำงานเป็นผู้ช่วยครูและทำงานในร้านหนังสือ ช่วงนี้เขานำพรสวรรค์ทางภาษาต่าง ๆ ของเขามาถอดความพระคัมภีร์จากภาษาดัทช์ไปเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน ช่วงหลังนี้เขาหันมายึดบิดาของตนเป็นต้นแบบและตั้งใจว่าจะเป็นนักสอนศาสนา โดยช่วงหนึ่งเขาไปอาศัยกับลุง ยัน ที่อัมสเตอร์ดัม และติวเข้มด้านภาษาลาติน กรีก และคณิตศาสตร์ แต่สุดท้ายเขาก็ล้มเลิกการเรียนและหันเหเข็มชีวิตเป็นจิตรกรแทน แต่อย่างน้อยช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่เขาตีความคำสอนของนักบุญปอลให้เป็นในแบบฉบับของเขาเอง โดยเฉพาะด้านการละเลยภาพพจน์ภายนอก เน้นความถ่อมตน ละทิ้งสมบัติทางกายเพื่อค้นพบความบริสุทธิ์ที่แท้จริง ซึ่งทั้งหมดยังคงเต็มเปี่ยมในงานศิลปะของเขา

อันนา คอร์เนเลีย แวน โกะ (Anna Cornelia Van Gogh) น้องสาวคนแรกของจิตรกร วินเซนต์ แวน โกะ เธอเกิดปี 1855

เธโอกอรัส แวน โกะ (Theodorus Van Gogh) เรียกสั้น ๆว่า “เธโอ” (Theo) - น้องชายของ วินเซนต์ เกิด 1 พฤษภาคม 1857 อายุอ่อนกว่าพี่ชายสี่ปี เขาเป็นคนที่สนิทกับ วินเซนต์ ที่สุดและมีบทบาทสำคัญในชีวิตศิลปิน นิสัยใจคอของ เธโอ เป็นคนอ่อนโยนนุ่มนวลต่างจากพี่ชาย และเขายังเป็นที่รักของทุกคนในครอบครัว อีกทั้งยังเป็นที่พึ่งและความหวังของทุกคนในบ้าน ทั้งพี่และน้องชายผูกพันกันมากตั้งแต่เด็ก ๆ บรรยากาศของท้องถิ่น การเดินเลียบชายน้ำ ทุ่งข้าวโพด และป่าไพน์ในชนบทที่บราบันท์ โกรท ซุนเดอร์ท จะกลายเป็นความหวนหาอาลัยอันใหญ่หลวงระหว่างสองพี่น้องไปตลอดชีวิต

เธโอ แวน โกะ โศกเศร้าและตายตามพี่ชายไปในเวลาห่างกันไม่เกินครึ่งปี ศพของสองพี่น้องถูกจัดวางเคียงกันที่สุสานเมือง ออแวร์ส ประเทศฝรั่งเศส

เอลิซาเบธา ฮิวเบอร์ตา แวน โกะ (Elizabetha Huberta Van Gogh) น้องสาวคนถัดมาของ วินเซนต์ แวน โกะ เธอเกิดปี 1859 วินเซนต์ แวน โกะ เอ่ยเรียกเธอในจดหมายว่า “ลิสเบธ” (Lizabeth)

วิลเลมมิน่า ยาโคบา แวน โกะ (Willemina Jacoba Van Gogh) น้องสาวคนเล็กของ วินเซนต์ แวน โกะ เธอเกิดปี 1862 นอกจาก เธโอ แล้ว น้องสาวคนนี้เป็นอีกคนเดียวในบรรดาพี่น้องทั้งหมด ที่ วินเซนต์ สนิทสนมและเขียนจดหมายติดต่อโดยตลอด ในจดหมายเขามักเรียกเธอว่า “วิล” (Wil) น้องสาวคนนี้ครองตนเป็นโสดอยู่อาศัยที่บ้านกับแม่วัยชรา เธอเป็นโรคซึมเศร้าและมักมีอาการเจ็บท้อง บางข้อมูลกล่าวว่าเธอกับ วินเซนต์ และเธโอ เป็นโรคลมชัก เช่นเดียวกับบรรพบุรุษตระกูล แวน โกะ บางคนก่อนหน้านี้ ต่อมา วิล เข้ารับการบำบัดจิตตลอดจนบั้นปลายชีวิต ความตายของเธอในปี 1941 นับเป็นบทสรุปสุดท้ายในสกุล แวน โกะ ดั้งเดิม

(ในจดหมายฉบับหนึ่งของ วินเซนต์ แวน โกะ เขาเคยเอ่ยว่าแม้แต่ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด รวมทั้ง “วิล” ซึ่งเป็นคนน่ารักนั้น บางคราวในรูปถ่ายก็ยังออกอาการวิปริตให้เห็นได้ชัด ที่พิเศษคือจดหมายที่เขาเขียนถึงเธอจะแฝงความอบอุ่นนุ่มนวลยิ่งกว่าฉบับที่เขียนถึง เธโอ เสียอีก นอกจากนั้น วินเซนต์ ยังชอบเขียนจดหมายแนะนำรายชื่อหนังสือให้น้องสาวซึ่งเป็นคนชอบอ่านหนังสือด้วย)

น้องชายคนสุดท้องของตระกูล - คอร์เนลิส วินเซนต์ (Cornelis Vincent Van Gogh) เขาเกิดปี 1867 และมีบทบาทในชีวิตพี่ชายน้อยที่สุด เขาอพยพไปอัฟริกาและฆ่าตัวตายในปี 1900

ลุงสี่คนที่มีบทบาทในชีวิตของ วินเซนต์ และ เธโอ

ลุงยัน (Uncle Jan) โยฮันเนส วินเซนต์ แวน โกะ (Johannes Van Gogh) พี่ชายของ เธโอดอรัส แวน โกะ มีเกียรติยศสูงสุดในครอบครัว คือเป็นพลเรือโทผู้บังคับบัญชากองราชนาวีแก่งกรุงอัมสเตอร์ดัม ต่อมา วินเซนต์ แวน โกะ เคยไปพักกับเขาช่วงหนึ่งระหว่างเตรียมตัวสอบเข้าคณะสงฆ์

ลุงไฮน์ (Uncle Hein) – เฮนดริค วินเซนต์ แวน โกะ (Hendrik Vincent Van Gogh) พี่ชายของ เธโอดอรัส แวน โกะ มีธุรกิจการค้าศิลปะที่ร็อตเตอร์ดัม แต่ต่อมาย้ายไปที่บรัสเซลล์ ลุงไฮน์ เป็นคนที่ช่วยปูทางให้ เธโอ ก้าวไปสู่ความสำเร็จในตลาดศิลปะ

ลุงคอร์ (Uncle Cor) – คอร์เนเลียส มารินุส แวน โกะ (Cornelius Marinus Van Gogh) พี่ชายอีกคนของ เธโอดอรัส แวน โกะ เป็นเจ้าของบริษัท C.M. Van Gogh ซึ่งโด่งดังในอัมสเตอร์ดัม สองพี่น้อง วินเซนต์ และ เธโอ มักจะเรียกชื่อย่อของลุงคนนี้ว่า C.M. ครั้งหนึ่งในจดหมายฉบับต้นเดือนมีนาคม 1882 ลุงคอร์ เคยว่าจ้างให้ วินเซนต์ วาดภาพเมืองเฮก อันเป็นโอกาสเพียงน้อยครั้งในชีวิตของ แวน โกะ ที่มีโอกาสทำงานรับจ้างขายผลงานภาพของตัวเอง

ลุงวินเซนต์ (Uncle Cent) – วินเซนต์ แวน โกะ (Vincent Van Gogh) ลุงเซนต์ ของหลาน ๆ นั้นเป็นพี่ชายที่อายุห่างจากพ่อของ วินเซนต์และเธโอ เพียงปีเดียว รวมทั้งต่างมีภรรยาที่มาจากครอบครัวเดียวกันด้วย นอกจากมีชื่อต้นเหมือนกันกับวินเซนต์ว่าที่ศิลปินเอกของเราแล้ว เขาคนนี้ยังมีตำแหน่งเป็นพ่อบุญธรรมของ วินเซนต์ อีกทั้งยังเป็นทั้งพ่อบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในชีวิตของสองพี่น้องด้วย เดิมทีนั้นลุง วินเซนต์ เป็นเด็กสุขภาพไม่ดีจึงไม่มีโอกาสเข้าเรียนหนังสือ เป็นที่น่าเสียดายแก่บิดาผู้ตั้งความหวังไว้สูง แต่ต่อมาเขาเปิดร้านขายวัสดุอุปกรณ์วาดภาพแล้วขยายกิจการเป็นแกลเลอรี่แสดงภาพที่โด่งดังในเวลาต่อมา ด้วยความที่เขาเป็นบุคคลที่ชาญฉลาดและมีพรสวรรค์สูงเขาจึงกลายเป็นบุคคลผู้มีอิทธิพลในแวดวงศิลปะ จากนั้นบริษัทกูปิลซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจด้านศิลปะขนาดใหญ่ในปารีสจึงเสนอร่วมทุนเป็นหุ้นส่วน ทำให้กิจการเติบโตไม่หยุดต้องขยายสาขามากกว่าเจ็ดสาขาทั้งในปารีส เดอะ เนเธอร์แลนด์ และอเมริกา ต่อมาเนื่องด้วยปัญหาด้านสุขภาพ ลุงเซนต์ จึงวางมือจากการต่อสู้ทางธุรกิจที่ยุ่งเหยิงในปารีส และหันกลับมาใช้ชีวิตสงบที่เนเธอร์แลนด์และเขตภาคใต้ของฝรั่งเศส แต่ตัวเขาเองก็ยังถือผลประโยชน์จากบริษัทอยู่ และได้แต่งตั้งให้ เทียร์สเต็กก์ เป็นผู้จัดการบริหารงานแกลเลอรี่ที่เดอะเฮกแทนเขา ด้วยอิทธิพลบารมีของแกลเลอรี่ลุงวินเซนต์นี่เองที่กลายเป็นแหล่งที่ทั้ง วินเซนต์ และ เธโอ ได้ค้นพบความรักทางศิลปะในวัยเด็ก ทั้งนี้ในเวลาต่อมาทั้งสองพี่น้องก็ได้ฝึกงานด้านธุรกิจศิลปะที่บริษัทกูปิลในเมืองเฮกนั่นเอง โดยเฉพาะตัว เธโอ นั้นก็ได้ได้ทำงานยาวกระทั่งย้ายไปดูแลร้านที่ปารีสและแต่งงานมีครอบครัวกับ โยฮานนา ส่วน วินเซนต์ แวน โกะ เองนั้นก็เคยทำงานที่นั่นถึงหกปีด้วยการเริ่มงานตั้งแต่อายุสิบหกซึ่งนับเป็นพนักงานอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น

เมื่อครั้งที่ วินเซนต์ เปลี่ยนใจจากการทำงานในแกลเลอรี่มาทำงานด้านสอนศาสนา ลุงวินเซนต์ เป็นคนที่ไม่เชื่อมั่นว่าหลานวัยยี่สิบสี่ปีของตนจะสามารถอดทนพอที่จะผ่านหลักสูตรการศึกษาตามระบบก่อนจะสอบเข้าทำงานด้านศาสนาได้ และลุงวินเซนต์ ก็คาดเดาถูกจริงในที่สุด ภายหลังเมื่อลุงวินเซนต์ ถึงแก่กรรม เขาระบุในมรดกอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการยกให้หลานคนโตแม้สักแดงเดียว ส่วนเธโอเป็นคนที่ได้รับมรดกของลุง

โยฮานนา - ภรรยาของ เธโอ (Johanna Bonger เรียกย่อ ๆ ว่า โย) น้องสาวของ อังเดร เพื่อนสนิท เธโอที่ปารีส หลังแต่งงานเธอคลอดบุตรชายให้ เธโอ และตั้งชื่อลูกชายตามชื่อลุง ว่า วินเซนต์ วิลเลม (Vincent Willem) เธอเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการคัดลอกและเผยแพร่จดหมายของ แวน โกะจำนวนไม่ต่ำกว่า 670 ฉบับในเวลาไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี และได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่หลายครั้งมาตั้งแต่ปี 1914 แต่ปัจจุบันได้มีการค้นพบจดหมายของ แวน โกะ ถึงบุคคลอื่น ๆ รวมแล้วอย่างน้อย 902 ฉบับ

เรียบเรียงโดย สนธยา ทรัพย์เย็น

ข้อมูลจากหนังสือ Van Gogh: The Complete Paintings Volume 1, Volume 2
เขียนโดย Ingo F. Walther และ Rainer Metzger, 1993
และ Memoir of Vincent Van Gogh by His Sister-In Law (Johanna Van Gogh Bonger) จากหนังสือ The Letters of Vincent Van Gogh, บรรณาธิการโดย Mark Roskill, 2008
รวมถึง The Yellow House: Van Gogh, Gauguin and Nine Turbulent Weeks in Arles โดย Martin Gayford) 2006

ไม่มีความคิดเห็น: