10.12.52

A Space that Speaks: Photography by Øyvind Hjelman

A Space that Speaks: Photography by Øyvind Hjelman

2 วันก่อนเข้าร้านเอเชียบุ๊คส์ เปิดนิตยสารถ่ายภาพรายเดือนของฝรั่งเล่มหนึ่ง ในเล่มนั้นมีช่างภาพที่นิตยสารแนะนำหลายคน แต่มีภาพขาวดำของสองคนในนั้นที่ติดตาติดใจจนทำให้อยากซื้อนิตยสารหัวนี้ ทั้งที่ไม่เคยคิดจะซื้อนิตยสารทำนองนี้มาก่อน เลยจำชื่อมาได้คนหนึ่ง (อีกคนเป็นผู้หญิง) นามสกุลแปลกเพราะเป็นช่างภาพชาวนอร์เวย์ชื่อ Oyvind Hjelmen

ที่ชอบทันทีก็เดาได้ไม่ยาก เพราะมันเป็นภาพเกี่ยวกับสถานที่ a space that speaks เหมือนหนัง Michelangelo Antonioni, Fred Kelemen, Chris Marker,Wim Wenders และ Werner Herzog พอมาค้นอ่านในเว็บไซต์ถึงได้รู้ว่า เขาเคยมีแสดงภาพหัวข้อ A House that was Home ซี่งเขาบันทึกภาพบ้านที่เจ้าของบ้านตาย หรือคนอยู่อาศัยขายบ้านแล้วกำลังจะย้ายออก รู้สึกว่าเรื่องเวลาและความทรงจำเป็นเรื่องที่เขาสนใจ ดูจากภาพและชื่อหัวข้องาน (Time and Memory หรือ Memento) ได้ที่เว็บไซต์

รู้จักเขาที่ http://www.lensculture.com/hjelmen.html


และดูภาพที่เว็บไซต์ของ Hjelman เอง http://www.oyvindhjelmen.com/

19.11.52

Matías Piñeiro’s They All Lie (Todos Mienten) -Top Film of World Film Festival of Bangkok 2009

A Telegram from FILMVIRUS to All film Lovers

หนังไฮไลต์ของงานเทศกาลหนังเวิล์ดฟิล์มกรุงเทพ 2552
Saw TODOS MIENTEN -Borges et Moi meets Godard- World Film Bangkok 2009 stop Witness Birth New Cinema stop Not understand context who lied what-when stop Remind Rivette et Jacques Doillon’s L'Amoureuse et Nouvelle Vague intertitles stop Matías Piñeiro’s specific rhythm bring glory stop Remarkable acting ensemble stop Out control laughs stop Guitar singing re-listen YouTube stop Sure surprise Top film WFBKK beat poor Tsai Ming Liang etc. stop Argentines pride with Fernando E Solanas, Luis Puenzo, Lucrecia Martel, Jorge Luis Borges, Julio Cortázar, César Aira stop

19.7.52

My Sassy BookVirus ตอน 18: How I Became a Nun (แต่งโดย César Aira)

My Sassy BookVirus ตอน 18: How I Became a Nun (แต่งโดย César Aira)

อ่านจบถึงได้รู้ How I Became a Nun ไม่มีตอนไหนเกี่ยวกับแม่ชีเลยสักนิด
แล้วเจ้าเด็กที่ชื่อ César Aira (ซึ่งคงไม่บังเอิญชื่อเดียวกับชื่อคนเขียน) ก็ไม่รู้ว่าเป็นเด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิงกันแน่ บัดเดี๋ยวเป็นเด็กชาย เผลอแผล็บเดียวบอกเป็นเด็กหญิงซะแล้ว เอาไงแน่เนี่ย

เอาเข้าจริงคงไม่สำคัญ เอาเป็นว่านี่มันเรื่องเด็กช่างจินตนาการที่ไม่รู้เกิดจริงหรือฝันเฟื่องกันแน่ เรื่องเล่าเป็นตอนสั้น ๆ ไม่ต่อเนื่องกันทีเดียว แต่ชะตาชีวิตเจ้าหนูเนี่ยมันไต่ตั้งแต่ระดับนุ่มนวลไปจนถึงตลกร้ายได้ยังไงไม่ทันตั้งตัว เริ่มจากความเชื่อว่าไอศครีมเป็นของอร่อยที่พ่อของเจ้าหนูฝังหัวมานมนาน จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องเลวร้ายใหญ่โต เหลือแต่เจ้าหนูกับแม่ฟังวิทยุอ้อยอิ่ง จินตนาการฟุ้งกระจายใต้ไอแดดและผงฝุ่น จนกระทั่งบทลงเอยที่พิลึกพิกล ดูท่าเหมือน โรแบร์โต้ โบลาณโญ่ (Roberto Bolaño) หมอนี่ชอบเขียนเรื่องเหมือนค้างคาอารมณ์ เหมือนเขียนไปคิดพล้อตไปหรือเปล่า แต่การบรรยายประหลาดดี จริงหรือเล่น อารมณ์ขันผนวกกับร้ายลึก เทียบกับอีกเรื่อง An Episode in the Life of a Landscape Painter อันนั้นเขียนเรียบเหมือนคล้าย ๆ บันทึก แต่พอบรรยายตอนจิตรกรขี่ม้าแล้วโดนฟ้าผ่าบรรยายได้ถึงภาพ แล้วตอนจบที่ประจันหน้ากับพวกโจรสลัดแล้วเข้าไปเขียนภาพ กลับหยุดเหตุการณ์ค้างไว้อย่างนั้น เป็นวินาทีที่ไฟกำลังปะทุถึงจุดสุดยอดพอดี

10.7.52

My Sassy BookVirus ตอน 17: The Beggar Maid (แต่งโดย Alice Munro)

My Sassy BookVirus ตอน 17: The Beggar Maid (แต่งโดย Alice Munro)

จะมีสักกี่เรื่องที่อ่านแล้ว heartbreaking นึกออกได้ตอนนี้ก็เรื่อง The Kiss ของ Anton Chekhov แล้วก็นิยาย 2 เรื่องของ Brian Morton เรื่อง A Window Across the River กับ Starting out in the Evening (อ้อ แล้วก็เรื่อง A Ghost at Noon ของ Alberto Moravia ที่โคตรเศร้า) เรียกได้ว่า Alice Munro นี่เข้าถึงใจด้านลึกของคนจริง ๆ ทั้งหญิงชาย (โดยเฉพาะผู้หญิง)

Alice Munro เธอแต่งเรื่องผู้หญิงได้ลึกทุกเพศวัย เด็ก เด็กสาว สาวรุ่น สาวใหญ่ หญิงสูงอายุ ว่า Joyce Carol Oates ละเมียดลึกซึ้งแล้ว แต่ อลิซ มุนโร ละเมียดในแบบสมจริง ไม่ตกแต่งสีสัน เหมือนดูหนังฝรั่งเศสของ Claude Sautet หรือ Maurice Pialat ที่เชือดเฉือนหัวใจได้ถึงเนื้อ ต้องกลืนน้ำลายเอื้อก ๆ ด้วยความคุ้น ๆ

คือ Alice Munro เธอเอาใจใส่ตัวละคร เพราะความจริงอาจโหดร้าย แต่ที่จริงเธอก็เห็นใจตัวละคร (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับเอาอกเอาใจตัวละคร) Joyce Carol Oates นั้นดูจะถนัดด้านปมสาววัยรุ่นที่เกี่ยวกับ sex อันตราย แล้วชอบโยงไปหาบรรยากาศอาชญากรรม บางทีก็ไปโน่น Gothic Horror ไปเลย แต่ อลิซ มุนโร ไม่ยักมีกลิ่นนั้น เธอโยงเข้าหาความจริงเรียบง่ายของชาวบ้านที่มีปัญหาชีวิตทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคนที่อยู่ในชนบทมาจากเมืองเล็ก ๆ ในแคนาดา หรือก้าวมาจากชนบทมาอยู่เมือง

เรื่อง The Beggar Maid นี่ดูจะพิเศษกว่าเรื่องอื่น ๆ (เพิ่งมารู้ตอนหลังที่อ่านจบนี่แหละว่ามันมีส่วนขยายที่มาของ Rose ตัวละครเอกด้วยในเล่มที่ชื่อ The Beggar Maid: Stories of Flo and Rose แต่เฉพาะใน Beggar นี่จะเป็นชีวิตช่วงที่สาว Rose เข้ามาทำงานในเมืองแล้วเจอหนุ่มฐานะดีชื่อ Patrick ฐานะของทั้งคู่ต่างกันมาก แต่เมื่อแรกพบในห้องสมุด ดูเหมือนว่า แพทริค จะมองเห็น โรส เป็นสาวในอุดมคติที่ไม่ใช่คนจริง ๆ เป็นเหมือนสาวในภาพ The Beggar Maid ตามตำนานโบราณ แล้วก็คอยเฝ้าเอาอกเอาใจเธอ จนทั้ง Rose และตัวใคร ๆ มองว่าเป็นชายหนุ่มใจอ่อนโยนน่าสงสาร จนมองไม่เห็นว่า แพททริคก็มีดาร์คไซด์และถูกกดดันจากอิทธิพลของครอบครัวตัวเอง ซึ่ง โรส เข้ากันไม่ได้เลย

ขนาด โรส เธอรู้ตัวว่าไม่ควรจะเออออห่อหมกเล่นด้วย เพราะเธอนิสัยแตกต่างกันมาก และไม่ใช่คนแบบที่ แพรทริค จะชอบจริง ๆ แต่เธอก็ปล่อยใจไปเป็นอุดมคติของภาพสาวที่ว่านั่นเข้าจนได้ อาจเป็นได้ด้วยความอ่อนแอ ความชอบการถูกดูแลทะนุถนอม ลึก ๆ ก็พอใจในการเป็น image ของ beggar maid หรือการต้องการยกระดับฐานะ การแคร์สายตาของเพื่อนฝูงคนรู้จัก ทำให้ดันทุรังอยู่ด้วยกันจนชีวิตคู่ของคนทั้งสองต้องมีปัญหากันไม่จบ
อลิซ มุนโร บรรยายความจริงที่น่ากลัวนั้นได้จริงจนน่าขนลุก ทำให้คนอ่านที่มีคู่แล้วหลายคนคงสะอึก โชคดีที่ข้าพเจ้าไม่คิดอยากหาห่วงผูกคอในตอนนี้เลยโล่งอกไป
ถ้าไม่งั้นต้องมาเจอตอนจบ ที่ความเกรี้ยวกราดอัปลักษณ์ของความรักกลายพันธุ์ที่ทนทุกข์มา ต้องกลายเป็นความชังพิกลพิการเข้าเส้นมันคงสุดทานทนเป็นแน่แท้ นั่นล่ะนรกแท้ ๆ เชียว นี่ล่ะที่ทำให้ขนาดอ่านไปตั้งแต่ปีที่แล้วยังลืมไม่ลง นั่งสยองถึงตอนนี้

9.7.52

My Sassy BookVirus ตอน 16: เงาฝันของผีเสื้อ (แต่งโดย เอื้อ อัญชลี)

My Sassy BookVirus ตอน 16: เงาฝันของผีเสื้อ ของ เอื้อ อัญชลี

อ่านเล่มนี้แล้วทำให้อดคิดไม่ได้ว่าห่างจากการแตะนิยายจีนมานานกว่า 20 ปี แทบลืมไปแล้วกับอารมณ์อ่านได้อ่านดี 10 เล่มจบภายในสองสามคืน มาคราวนี้ชื่อตัวละครจีนที่เคยจำได้ง่ายกลายเป็นยากเข็ญ อ่านไปพลางต้องเปิดเช็คดูชื่อพลาง พลางทอดถอนใจ โอ้ ชะตานี่หนอ ไหงเรามานั่งอ่านสามก๊ก นี่ตอนดูหนังสามก๊กฉบับอาหลิว ดูจนจบยังจำชื่อไม่ค่อยได้ แต่คราวนี้แตกฉานแน่แท้เรา

อีกอย่างที่ไม่คุ้นมานานมากคือ วลีเปรียบเปรยโบราณ เมื่อก่อนเคยนั่งจดสำนวนนิยายจีนกำลังภายในพวกนี้ลงสมุด แต่พอไปอ่านนิยายฝรั่ง ดูหนังอาร์ทที่ละเลียดกับตัวละคร ทำให้ไม่ชินลิ้นกับการตวัดแปรงพู่กันฉวับเดียวแบบนี้อีก มันต่างกันเหมือนอย่างหนึ่งเป็นการทำ “ใน-ออกนอก” แต่อีกอย่างเป็น “นอก-เข้าใน” ยิ่งนิยาย “เงาฝันของผีเสื้อ” นี่มันเป็นนิยายที่เด่นในเชิงโครงสร้างมากกว่าพวกหนังยุโรปหลายเรื่อง ที่เน้นเรื่องง่าย ๆ พื้น ๆ ชนิดซึมซับละเมียดตามตับไตไส้พุงตัวละคร

แต่พออ่านไปนาน ๆ ก็คุ้นชิน ที่น่าประทับใจมากคือ ตอนที่ จูหยวนจาง สำรอกอาหารที่กินเพราะนึกถึงหน้าตาดูแคลนของ หลอกว้านจง (ซึ่งกลายร่างจากพี่น้องร่วมสาบานกลายเป็นยืนคนละฟากฝั่งเพียงชั่วไม่กี่นาที) กับตอนที่ หลอกว้านจง ช็อคเรื่องข่าวร้ายของพี่ชายร่วมสาบานสองคน หรือตอนที่ หม่าหลง เสียเชิงกลยุทธ แล้วเดินจากไปอย่างคนหมดอาลัยตายอยาก ก็บรรยายได้ดีมากถึงอารมณ์

นิยายเรื่องนี้มันไม่ใช่แค่ตำนานกำเนิดสามก๊กนี่หว่า นี่มันแทบจะเป็นตำนานชาติจีนเลยนี่นะ แค่นั้นไม่พอยังรวบเอามาถึงไทยอีกด้วย เอื้อ อัญชลี แกเล่นโยงประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์สามก๊ก มาถึงตำนานอพยพชนชาติจีนให้อยู่ในเล่มหนาเกือบ 400 หน้า ที่อ่านเพลิน เผลอแผลบเดียว เดินหน้าเร็วปานสายฟ้ารุ่นเยาว์ หลายทีเลยแหละที่ อ้าว อะไรฟะ ภายในประโยคเดียว ตีทัพได้แล้ว ไปกันมาไง อ่านกันมาเป็นร้อย ๆ หน้า ผ่านไปอีกสองประโยค อ้าวตายเสียแล้ว

ตกลง หลอกว้างจง กับพรรคพวก นี่โม้เกือบหมดเลยใช่มั้ย เอื้อ อัญชลี เธอโม้ได้ใจจริง ๆ ตั้งแต่อ่านนิยายโม้ประวัติศาสตร์หนังจริง-ลวงเรื่อง Flicker ของ Theodore Roszak มาเนิ่นนาน ก็มีเรื่องนี้แหละที่แหลจนได้เรื่อง อย่างนี้ต้องซูฮกสถานเดียวครับท่าน

3.7.52

My Sassy BookVirus ตอน 16: Sloth (แต่งโดย Gilbert Hernandez)

My Sassy BookVirus ตอน 16: Sloth (แต่งโดย Gilbert Hernandez)

สุ่มซื้อ Sloth กับ Speak of the Devil โดย Gilbert Hernandez มาพร้อมกันเมื่อตอนปีที่แล้วตอนที่มันยังไม่ลดราคา เล่มหลังเลือกซื้อผิดอย่างมหันต์ แต่เล่มแรกนี่ฟลุ้คแท้ได้ทอง เป็นการ์ตูนที่ประหลาดดีมากไม่เคยเห็นการ์ตูนแบบนี้มาก่อน เล่าเรื่องได้ประหลาดยังกับดูหนังอาร์ต เสียดายเทคนิคการวาดหยาบกระด้างไปหน่อย

หนุ่มน้อย Miguel Serra เบื่อสภาพของตัวเองเสียเต็มประดา จนกระทั่งสามารถกำหนดให้ตัวเองกลายเป็นเจ้าชายนิทราหนีหายไปจากโลกความจริงได้ ช่วงที่เขาอยู่ในโคม่า เขายังรับรู้ได้ถึงสิ่งที่ตายาย หมอ หรือคนรอบข้างคุยกับเขา เพียงแต่เขาสุขใจที่ได้อยู่ในโลกเร้นลับเดียวดายเช่นนั้น

ผ่านไปปีนึงเต็ม ๆ Miguel สะดุ้งตื่นขึ้นจากโลกนิทราด้วยเสียงขลุกขลักบนหลังคา ภาพแรกหลังจากลืมตาคือภาพของมะนาวนับแสนที่ตกร่วงจากฟากฟ้า

ตายายพาเขากลับไปบ้าน หลานรักได้รับความดูแลเอาใจใส่อย่างดีเหมือนเดิม ต่างจากตัวพ่อแม่ของ Miguel ที่ขาดความรับผิดชอบทิ้งลูก ซึ่งตายายยังพร่ำบ่นถึงทุกวันนี้

Miguel กลับไปมีชีวิตเป็นปกติกับแฟนสาว-Lita และเพื่อนซี้ - Romano ซึ่งทั้งหมดเป็นสมาชิกของวงดนตรีสมัครเล่นในเมืองเล็ก ๆ แห่งนั้น Miguel เกือบเป็นปกติทุกอย่าง ยกเว้นการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้าแบบ Sloth (ชื่อเรื่อง)
จากนั้นก็มีตัวละครแปลก ๆ มากมายอย่างครูสาวใหญ่โรคประสาทของ Miguel เพื่อน ๆ ในเมืองที่เดี๋ยวดูเป็นอันธพาล เดี๋ยวดูเป็นมิตร แล้วก็มีกิจกรรมไปตามล่าพิสูจน์ตำนานผีในสวนมะนาวที่ลือลั่นของถิ่นนั้น



เรื่องมันชักประหลาดหนักเมื่อหลังจากไปพิสูจน์ผีเสร็จ Miguel กลับบ้านนอนแล้วมีทีท่าจะจิตหลุดกลับไปโคม่าอีก พอเช้ามากลับกลายเป็นว่าเขากลายมาเป็น Lita ที่ใช้ชีวิตกับตายายในบ้านหลังเดิม แล้วเธอกับกลุ่มสหายชายล้วนก็เป็นสาวกร็อคเกอร์หนุ่ม –Romeo X วัน ๆ ได้แต่เฝ้าฝันหาตั๋วคอนเสิร์ต ถึงขั้นอาจจะยอมทุกวิถีทางเพื่อทอดสะพานตัวเองกับเจ้านายบริษัทให้ได้ตั๋ว ที่พิลึกคือ เธอแอบชอบ Miguel อยู่ แต่เขาไม่เคยสนใจเธอเลย

พอ Miguel กับ Lita ได้เป็นแฟนกันจริง ๆ Romeo X ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของแพ็คสามนี้ไปแล้ว Lita คบหาพร้อมกันกับสองหนุ่ม Miguel คนที่เธอเคยเฝ้าฝันหา กับ Romeo X ที่ตัวจริงเป็นหนุ่มขี้อาย จนกระทั่งรักสามเศร้าเริ่มอับเฉา แล้วโลกของ Lita ก็เริ่มปริแตกแบบเดียวกับโลกของ Miguel ก่อนหน้านี้ แถมยังไปเชื่อมกันแบบประหลาดกับ Romano เพื่อนซี้

ใครว่าหนัง สัตว์ประหลาด! ของเจ้ย งงเต้ก น่าจะลองเรื่องนี้ มีการแบ่งภาคที่น่าทึ่งพอกัน ดูคลุมเครือพอประมาณ แต่พอจบแล้วคิดว่าเชื่อมโยงความฝันกับความจริงได้ดีมาก หายากมาก ๆ งานศิลปะระดับนี้

1.7.52

My Sassy BookVirus ตอน 15: Last Evenings on Earth (by Roberto Bolaño)

Last Evenings on Earth
แต่งโดย Roberto Bolaño

Roberto Bolaño มาแรงเหลือเกินในช่วงนี้ เห็นที่คิโนะสั่งมาขายตั้งหลายเรื่อง ทั้งเล่มเล็กเล่มใหญ่อย่าง The Savage Detectives และ 2466 เราก็เลยบ้าซื้อตามมาหลายเล่ม ที่อ่านไปจริง ๆ ก็เล่มรวมเรื่องสั้น Last Evenings on Earth อันนี้ อ่านไป 5 เรื่องตอนเมษา ที่จดจำได้จริง ๆ ก็คือเรื่องที่ขึ้นปกนี่แหละ


หมอนี่เป็นนักเขียนชาวชิลีที่ไปปักหลักในเม็กซิโก แล้วก็เดินทางไปยุโรป ดูแกจะมีความรู้ทางวรรณกรรมลาตินอเมริกันและวรรณกรรมยุโรปพอตัวทีเดียว ในเรื่อง Last Evenings นี่ก็ให้ตัวลูกชายอ่านบทกวีเซอร์เรียลลิสต์ฝรั่งเศสด้วย ลำพังโครงเรื่องก็คงประมาณ Road Movie ที่เก็บความพิพักพิพ่วนของคนต่างวัยคือสองพ่อลูก คนวัย 22 กับคนวัย 49 ที่อุปนิสัยต่างกันมาก พ่อมีทัศนคติแบบแมน ๆ ที่ลุย ๆ ท่องเที่ยวแสวงหาความสุข อยากหลีสาว ส่วนเจ้าลูกชาย ในเรื่องใช้ชื่อ B. กลับต่างกับพ่อมาก ช่างคิดช่างฝัน ไม่ยอมไปเที่ยวผู้หญิงอย่างพ่อ ชอบนั่ง ๆ นอน ๆ อ่านหนังสือ ว่ายน้ำ ไม่เร่งร้อนต้องเที่ยวเป็นเที่ยวแบบพ่อ

B ติดอกติดใจในประวัติชีวิตน่าเศร้าของกวีฝรั่งเศสคนที่ชื่อ Gui Rosey กวีหน้าตาอัปลักษณ์ที่หายตัวไปลึกลับ ระหว่างกำลังรอขอวีซ่าไปอเมริกากับเพื่อน ๆ

การเล่าเรื่องจะว่าธรรมดาก็ธรรมดา จะว่าประหลาดก็ประหลาด คงเป็นเพราะสไตล์หมอนี่เขียนแบบไม่มีเครื่องหมายคำพูด แค่มีว่าคำพูดลอยมา ตามด้วยใครพูด พ่อพูด ลูกพูด เล่าเรื่องไปแบบช้า ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นช้า ๆ มันก็เหมือนไอร้อน ความนัยที่สองคนเก็บไว้ไม่พูดออกมาค่อย ๆ ระอุขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้รู้สึกว่าเรื่องมันน่าตื่นเต้นระทึกใจแบบประหลาด ๆ เหมือนกับกำลังจะฉิบหายแล้วโว้ย จะเอาเรื่องแล้วว่ะ แต่ก็ยื้อไว้ให้ค้างคาอย่างได้จังหวะ ประมาณอารมณ์ลอย ๆ แบบ ambient music แบบหนัง Claire Denis ยุคหลัง ๆ มั้ง (หรือหนัง Olivier Assayas บางเรื่องก็ว่าได้)

ที่เด็ดสุดนี่ประโยคสุดท้าย เป็นประโยคที่ง่ายสั้น และเก๋าที่สุดในการจบเรื่องแบบที่ยากจะเห็นบ่อย ๆ มันเหมือนกับเพลงเก้าอี้ดนตรีที่วนลูปอลเวงแบบหนัง Emir Kusturica กำลังจะจบลงแล้ว ตะหงิด ๆ ว่า เพลงจบเมื่อไหร่ เอาวะ ถ้าจบนะ เก้าอี้ล้มระเนระนาด ความอลเวงสนั่นเมืองแหง ๆ แล้วมันก็คงจะเป็นอย่างงั้นจริง ๆ เพียงแต่เราต้องคิดต่อไปเอง ฮ้าไฮ้ โคตระโป้ง ๆ ชึ่ง

30.6.52

My Sassy BookVirus ตอน 14: The Mayor’s Tongue (by Nathaniel Rich)

The Mayor’s Tongue
แต่งโดย Nathaniel Rich

ตอนแรกนึกว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยการเขียนบทหนังของเราได้ แต่แล้วก็ไม่ หรือที่จริงคงช่วยทางอ้อม อย่างน้อยก็ทำให้ได้รู้ว่า ต้องเปลี่ยนการเล่าเรื่องใหม่จะใช้โครงสร้างเดิมไม่ได้แล้ว

นิยายเรื่องนี้มีโคงสร้างสองเรื่องเล่าสลับกันไป ประมาณตัวละครสองชุดที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยเล่าเรื่อง ในชุดที่หนึ่งเล่าเรื่อง ยูจีน หนุ่มอเมริกันเชื้ออิตาเลี่ยนที่มีความผูกพันกับครอบครัว แต่ก็เลือกที่จะอยู่ห่างจากพ่อ ทั้งๆ ที่พ่อก็รักและเขียนจดหมายหาตลอด แต่เขาก็หลอกพ่อว่าไปทำงานที่ฟลอริด้า ยูจีน ทำงานขนของไม่ได้ไกลจากบ้านเท่าที่พ่อคิด เพื่อนคนสนิทคือ อัลวาโร่ หนุ่มชาวโดมินิกันที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้แม้แต่คำเดียว แต่สุดท้ายก็สื่อสารกับเขารู้เรื่องโดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด อัลวาโร่ มีเมียแล้วแต่ก็มีเสน่ห์ทางเพศกับพวกผู้หญิง ชอบพามานอนที่พักเดียวกับยูจีนบ่อย ๆ วันหนึ่ง อัลวาโร่ บอกให้ยูจีน ช่วยแปลหนังสือที่เขาแต่งเป็นภาษาอังกฤษให้หน่อย ทำไปทำมาน่าประหลาด ยูจีนแปลได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ศัพท์โดมินิกันซักคำ

ยูจีน ชอบผลงานนักประพันธ์ชื่อ คอนแสตนซ์ อีกิ้นส์ มาก วันดีคืนดีไปยกของที่บ้านชายแก่คนหนึ่งซึ่งบังเอิญเป็นเพื่อนซี้ของอีกิ้นส์ มีผลงานของอีกิ้นส์ทุกเล่ม รวมทั้งเล่มที่หายาก หมอนี่กำลังแต่งชีวประวัติและบทวิเคราะห์ผลงานของอีกิ้นส์อยู่ แถมยังมีลูกสาวทรงเสน่ห์ชื่อ แอลิสัน ต่อไปคงเดาไม่ยาก boy meets girl แอลิสันเดินทางไปหา อีกิ้นส์ ที่คนเข้าใจว่าตายไปแล้วที่อิตาลี่ พระเอกของเราก็เลยต้องออกตามหาตัว ระหว่างทางก็เจอแต่คนแปลก ๆ ที่ไม่รู้ว่ามีจริงไหม

อีกเรื่องหนึ่ง เพื่อนสองคนคือ นายชมิทซ์ กับนายรัทเธอร์ฟอร์ด ฝ่ายหลังเป็นกระโถนรับฟังคนแรกมานานวัน โดยคนแรกไม่ได้รู้เลยว่าคนฟังมันก็มีปัญหากับเขาเหมือนกัน วันหนึ่งเพื่อนขอลาไปย้อนอิตาลี่ นายชมิทซ์ ถึงกับเคว้ง ไม่มีเพื่อนให้คุยด้วยทุกวันเหมือนเมื่อก่อน อันที่จริง เมียเขานี่สิก็อยากจะสื่อสารกับเขา แต่เขาก็ใจห่าง ติดเพื่อนเหมือนตังเม มาตอนหลังเมียตาย แต่ก่อนตายเมียเลี้ยงม้าน้ำ (ม้าน้ำนี่เวลาคู่มันตายนี่ ตัวที่เหลือมันมีแต่ตายด้วยสถานเดียว) พอลำพังโหวงเหวง นายชมิทซ์ เลยออกตามหาเพื่อนดีกว่า

เรื่องราวมันพัลวันพัลตูเหลือเกิน ทำให้นึกถึงนิยาย Peter Carey เรื่อง My Life as a Fake ที่ตัวละครจริงและตัวละครเรื่องแต่งมีบทบาทซ้อนกันไปหมด (แต่ของ ปีเตอร์ แครี่ย์ ไม่ชอบเลย) ขนาดตัวนางเอกเอง มีทั้งชื่อ แอลิสัน อกาธ โซเนีย และชื่ออะไรอีกชื่อหนึ่ง ส่วนตัว คอนแสตนซ์ อีกิ้นส์ ก็เป็นตัวละครอุปโลกน์ขึ้นมา ไม่มีนักเขียนคนนี้อยู่จริง การเผชิญหน้าของตัวละครแต่ละชุดในตอนท้ายก็เลยเหมือนการได้พบกับปัญหาในอดีตบางอย่างที่ตัวละครแต่ละฝ่ายซ่อนไว้นานมาก โชคดีด้วยที่ตัวละครในสองเรื่องไม่ได้เจอกันหรือแม้แต่รู้จักกัน อันนี้เป็นอันเดียวที่ตรงกับความตั้งใจของบทหนังเรา

Nathaniel Rich เขียนนิยายเล่มนี้เป็นเล่มแรก การใช้ภาษาและโครงสร้างดีมาก เสียแต่เรื่องซับซ้อนขนาดนี้ แต่มันก็ยังไม่ได้ให้ความใหม่เสียทีเดียว ดูรูปนักเขียนแล้วยังหนุ่มมากหรือหน้าเด็กก็ไม่รู้ เล่มหน้าตัวละครอาจจะคมคายกว่านี้อีกก็เป็นไปได้

25.6.52

My Sassy BookVirus ตอน 13 : รวมเรื่องสั้น Fever ของ J. M. G. Le Clezio

BookVirus หนังสือชวนอ่านตอน 13

Fever ของ J. M. G. Le Clezio ลื้อทำอั๊วไข้ขึ้น

อ่านเรื่องสั้น Fever ของ J. M. G. Le Clezio แล้วก็อดคิดถึง L'Étranger ของ Albert Camus ขึ้นมาตระหงิด ๆ แนวการบรรยายความร้อนระอุที่ทำให้ภูเขาอารมณ์ทะลักทะลาย มนุษย์มนาตาลายนี่ไปกันได้ทีเดียว แต่ของ J. M. G. Le Clezio นี่หลายๆ ตอนเหมือนเสริมด้วยแว่นขยายที่ส่องไปบนพื้นผิวจิ๋ว ๆ ทุกชนิด ขยายกันขึ้นมาเหมือนโบลว์ซีร็อกซ์นับล้านเท่า พาตัวหนังสือไปจากความสมจริงละเอียดลึกเข้าไปสู่ภาพฝันฟุ้งได้ในชั่วพริบตา แถมด้วยเลนส์ไวด์แองเกิลแบบฟิชอายเข้าไปอีก แต่ไม่ใช่ว่าจะเหมาะทำเป็นหนังหรอกนะ ตรงข้ามเลยต่างหาก

อันที่จริงเนื้อเรื่องก็มีนิดเดียวเหมือนความจำเจในชีวิตของสองผัวเมียที่เหมือนชีวิตเรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละ เพียงแต่ใครจะล่วงหน้าไปสู่ความทะลักล้น หรือเน่าเปื่อยผุพังไปก่อนเท่านั้น พี่แกเล่นบรรยายละเอียดกว่าเทคนิคสโลว์โมชั่นหรือสต็อปโมชั่นสียอีก ขนาดเล่นอธิบายความเป็นไปของเหรียญ ของธนบัตร ฟุตบาธทุกอย่างที่เท้าคนผ่านทาง สายตากวาดถึง แถมขยายตูมมันเหมือนระเบิดฮิโรชิม่า มันเป็นความวิปริตใต้พื้นผิวที่แสน ordinary แสน surreal บรรยายความอย่างพิลาศพิไลอลังการเหลือเกินพับเผ่ย บางทีอิทธิพลพวกฝรั่งเศสแบบที่เน้นรายละเอียดนี้คงจะมาจากพวก Marcel Proust กระมัง ยกตัวอย่างให้มันโก้ ๆ ไปยังงั้นแหละ ไม่คิดจะอ่านหรอก In Search of Lost Time ระหว่างนี้ขอ wasted time กับวรรณกรรมร่วมสมัยก่อนล่ะพะยะค่ะ บางทีชีวิตนี้ ขอแค่มีความสุขกับหนังสือแบบ Theory of Clouds ของ Stéphane Audeguy หรือ Last Evenings on Earth ของ Roberto Bolaño ก็พอ แต่ถ้าแบบ Cloud Atlas ที่สุดเสแสร้งทำตัวเป็นโมเดิร์นเก๊ๆ ของ David Mitchell น่ะ พอกันที

15.4.52

My Sassy Book ตอน 12: Cloud Atlas ปะทะ The Theory of Clouds

Cloud Atlas VS The Theory of Clouds
การประทะของสองหมู่เมฆา

บอกเล่าโดย filmvirus

เมฆาสัญจร
Cloud Atlas

สำนักพิมพ์มติชน
แปลโดย จุฑามาศ แอนเนียน

แน่แท้ว่า เดวิด มิทเชลล์ (David Mitchell) เป็นนักเขียนที่มีฝีมือ เต็มไปด้วยความอุตสาหะในการแสวงหาข้อมูลในแต่ละสมัย ไหนจะฝีมือการแปลไทยของผู้แปล รวมถึงการจัดทำเชิงอรรถลายเซียนซึ่งน่ายกย่องมาก แต่ท้ายสุดแล้วดูเหมือนว่านิยาย เรื่อง “เมฆาสัญจร” หรือ Cloud Atlas จะเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตนเสียมากกว่า จำเป็นนักหรือที่ต้องมีตัวละครแออัดยัดทะนานเหล่านั้น (ว่ากระทั่งมนุษย์เทียมในโลกไซ-ไฟเกาหลี) ฝูงปฏิบัติการดาวกระจายที่ไม่ได้มีความลึกซึ้งในตัวเองมากมายเกินกว่าความขัดแย้งพื้นฐานทางหน้าที่ และ สำนึกชอบธรรม

ว่าไปแล้วมีอะไรบ้างในหนังสือปี 2004 เล่มนี้ที่หนังอย่าง Intolerance, Pulp Fiction และ La Jetée ไม่ได้ทำไปนานแล้ว และคิดดูเถอะว่าหนังเรื่องแรกเป็นหนังเงียบตั้งแต่ปี 1916 ที่ถ่ายทอดเรื่องเล่าความเสื่อมของมนุษย์ 4 ยุคสมัย 4 แผ่นดินที่มีความสอดคล้องกัน ส่วนหนังโคตระป๊อปปี 1994 อย่าง Pulp Fiction ก็ส่งเหล่ากุ๊ยข้างถนนให้รับส่งประเด็น (ที่ดูเหมือนไม่มีสาระหรือไร้จุดหมายได้อย่างแนบเนียนเหนือชั้น) ซ้ำยังไม่ act art เท่า “เมฆาสัญจร” เสียอีก แปลกไหม ทั้ง ๆ ที่ต้นกำเนิดของ Pulp Fiction ก็มีที่มาจากหนังสือขยะแนว pulp ไม่ใช่ Literature หรือ “วรรณกรรม” ชิงรางวัล Man Booker Prize

ส่วน La Jetée (ปี 1962) นั้นเล่าก็มีความยาวแค่ 28 นาทีเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ใช้สมองทำประหยัดใช้เพียงภาพนิ่งขาวดำเกือบทั้งเรื่อง แต่ก็ยังกลายเป็นต้นแบบของหนังไซ-ไฟอย่าง 12 Monkeys และ “คนเหล็ก” The Terminator ให้คนทึ่งได้ถึงทุกวันนี้

ก็นะ ทั้ง ๆ ที่หนังได้รับศักดิ์ศรีเป็นรองวรรณกรรมอยู่ตลอดไม่ใช่ฤา แต่คุณ David Mitchell ก็ไม่ลังเลเลยที่จะยัดเยียดเรื่องเจ้าปานรูปดาวหางของ “เหล่าคนกลับชาติมาเกิด” เหล่านั้นมาเป็นระยะ ๆ หนำซ้ำยังพร่ำสอนศีลธรรมกระป๋องห่วงใยโลกเพื่อเรียกคะแนนกรรมการอีก

The Theory of Clouds
Stéphane Audeguy ประพันธ์
Timothy Bent แปลสำนวนอังกฤษ
สำนักพิมพ์ Harcourt

บางทีคงมีแต่คนยุโรปมั้งที่จะเขียนหนังสือแบบนี้ได้ และที่จริงอาจต้องเจาะจงไปอีกว่าต้องเป็นคนฝรั่งเศสเท่านั้น ถึงจะได้ผลงานที่ชอบโชว์ความเท่ของเท่ชนิดนี้ ก็จริงอยู่แหละที่วรรณคดีอย่าง The Canterbury Tales ของ Geoffrey Chaucer หรือ Don Quixote น่าจะเป็นต้นสายปลายธารของหนังสือซ้อนหนังสือพวกนี้ (เราจะลืมงานของ Italo Calvino, Jorge Luis Borges, Julio Cortazar, Paul Auster ไปได้ไง / อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับชื่อเหล่านี้ได้จากหนังสือ BookVirus เล่ม 1 และ 2)

ลักษณะลูกเล่นหลายอย่างใน The Theory of Clouds อดทำให้นึกถึง Jacques the Fatalist ของ Denis Diderot ไม่ได้ ยิ่งงานโชว์ฉลาดของ Milan Kundera ที่เขียนในฝรั่งเศส แล้วไหนจะวรรณกรรมของ Claude Mauriac, Georges Perec, Raymond Queneau, Alain Robbe-Grillet อีกล่ะ ที่ใกล้ตัวก็รายละเอียดในหนังลูกกวาดอย่าง Amélie ของ Jean-Pierre Jeunet ซึ่งดูจะทำให้ The Theory of Clouds นิยายของ Stéphane Audeguy นั้นมีกลุ่มญาติที่ค่อนข้างหลากหลายทีเดียว

หาใช่ว่า The Theory of Clouds จะเป็นงานคมขำแบบหนัง Amélie ก็หาไม่ ในการเป็นงานที่ผูกชะตากับผู้เล่าเรื่องที่ไม่ใช่ตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง ผู้บรรยายเรื่อง (คนแต่ง) น่ะแหละ ออกจะเฉยชากับชะตากรรมของตัวละครด้วยซ้ำ เป็นการสงวนท่าทีที่หมิ่นเหม่อยู่กับการเย้ยเยาะชะตาตัวละครอยู่รำไร แต่ขณะเดียวกันก็ไม่หนักมือขนาดใช้ตัวละครเป็นตัวอย่างหมากกลเพื่อพิสูจน์วงกตทางปัญญาของตัวเองแบบงานเขียนในฝรั่งเศส (ยุคหลังจากอพยพไปจากประเทศเชก) ของ Milan Kundera

นาย Stéphane Audeguy ออกจะทำตัวเป็นเพียงผู้บันทึกข้อมูลประวัติศาสตร์จริง (และประวัติศาสตร์เก๊) อย่างไม่แสดงอารมณ์ร่วม แต่บังเอิ้ญ เจ้าเอกสารประวัติศาสตร์ที่เขาเรียบเรียงนั้นช่างเต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่ประหลาดล้ำ คาดเดาไม่ออก แถมนำคนอ่านไปตระเวนทั่วโลก ท่องขั้วเขตยะเยือก สุดแอกความเจริญ ตราบป่าร้อนชื้น ย่ำดิบดงมนุษย์

เทคโนโลยีและความรู้ของมนุษย์นั้นไม่ได้บ่งรากผลเพียงวันพรุ่ง หากแต่หยอดเมล็ดบ่มร่องตลอดระยะทางยาวนาน เฉกเช่นเดียวกับยานอวกาศหรือโคมไฟต้องเรียบเรียงสานต่อจากคนหลายชั่วรุ่น ความรู้เรื่องธรรมชาติอันลึกลับและงานศึกษาทางอุตุนิยมวิทยาย่อมไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ เพียงในรอบ 50 ปี หากเป็นพรั่งพวงของนักฝันต่างวัย ต่างรุ่น ต่างชนชาติที่พิศวงครุ่นคิด ฝันใฝ่ที่จะหยั่งถึงหมู่เมฆลึกลับจับต้องไม่ได้เหล่านั้น แล้วมันก็กลายเป็นความรัก ความผูกพัน (ซึ่งเป็นมากกว่าหน้าที่) ที่ขับเคลื่อนจินตนาการและความเจริญไปข้างหน้า

ในนิยายเล่มนี้เราจะได้พบต่างชีวิตต่างพันธุ์ที่หมกมุ่นกับการเฝ้ามองเมฆา มองหาความหมาย พยายามตั้งชื่อ- นิยามความ- บันทึกความแปรปรวนอันไม่แน่นอนของเหล่าเมฆาด้วยพู่กันและแคนวาส เพ่งส่องความสำคัญของสิ่งที่พระเจ้าและฟ้าประทานให้ เพื่อปรากฏในภาพฝัน ศิลปะและเอกสารทางวิทยาศาสตร์ (เหตุที่นโปเลียนต้องพ่ายแพ้สงครามเพราะละเลยดินฟ้าอากาศ) ความพยายามหมกมุ่นศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ของคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเศรษฐีนักสะสมชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่อ Akira Kumo และผู้ช่วยสาวชาวฝรั่งเศส Virginie Latour ความลุ่มหลงที่กลบเกลื่อนและปลอบประโลมปมอดีตของตัวเองจนเกือบมืดมิด

แม้ว่าตัวละครใน The Theory of Clouds จะคงความเป็นตัวละครมากกว่าตัวละครที่มีเลือดเนื้ออย่างแท้จริง แต่ในความยาวของหนังสือเพียง 266 หน้า (ภาษาอังกฤษ) เทียบกับตัวละครแบน ๆ ที่ความยาว 574 หน้า (ภาษาไทย) ของ “เมฆาสัญจร” เท่านี้ก็น่าจะอนุโลมแล้วกระมัง

เฉพาะในด้านโครงสร้างของเรื่อง และภาษาการบรรยายเรื่อง The Theory of Clouds ก็กินขาดเสียแล้ว
ดูแค่บทแรก The Study of the Skies

All Children become sad in the late afternoon, for they begin to comprehend the passage of time. The Light starts to change. Soon they will have to head home, and to behave, and to pretend.

หมายเหตุ
อ่านเกี่ยวกับนิยาย New York Trilogy ของ Paul Auster ได้ในบทความ “คู่สัมพัทธ์ คู่วินาศ" ที่เว็บ onopen: http://www.onopen.com/2006/02/1247

อ่าน BookVirus - บันทึกเรื่องนิยายและการ์ตูน ตอน 4 ในเว็บ onopen: http://onopen.com/2008/02/3342

อ่าน BookVirus - บันทึกเรื่องนิยายและการ์ตูน ตอน 3 ในเว็บ onopen:
http://onopen.com/2008/02/3227

อ่าน BookVirus - บันทึกเรื่องนิยายและการ์ตูน ตอน 2 ในเว็บ onopen:
http://onopen.com/2008/02/2963

อ่าน BookVirus - บันทึกเรื่องนิยายและการ์ตูน ตอน 1 ในเว็บ onopen:
http://onopen.com/2008/02/2941

27.3.52

Cloud Atlas ของ David Mitchell ฉบับภาษาไทย

Cloud Atlas ฉบับแปลไทย

เดือนนี้เริ่มอ่าน Cloud Atlas ของ David Mitchell
เดือนที่แล้วอ่าน Theory of Clouds ของ Stephane Audeguy

เหมือนบังเอิญที่ช่วงไล่เลี่ยกันอ่านเรื่องที่มีชื่อเกี่ยวกับ clouds

เรื่องของ David Mitchell แต่ก่อนเคยซื้อไว้สองเล่มคือ Ghostwritten กับ Number 9 Dream (ซื้อเพราะชอบเรื่องย่อ) อ่านไปได้แค่หน้าแรก ๆ จนมาเห็นฉบับแปลไทยของ Cloud Atlas เออ ดีเหมือนกัน ไม่ต้องซื้อภาษาอังกฤษเล่มแพง แถมอ่านง่ายกว่าด้วย

คนแปลแปลได้ดีทีเดียว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในเล่มมีพูดถึง Alfred Hitchcock แปลกที่คนแปลกลับแปลประโยคหนึ่งว่า - ฮิทช์ค็อค เป็นนักเขียน - "ฉันตั้งคำถามกับนักเขียนยิ่งใหญ่คนนี้ว่า..." (หน้า 114) สงสัยจะแปลมาจากคำว่า author หรือ auteur ซึ่งในที่นี้ต้องหมายความว่าเป็นผู้กำกับที่มีสไตล์และแนวงานเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต่างจากนักเขียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ / แต่อย่างไรก็ตาม อัลเฟรด ฮิทช์ค็อค ไม่ใช่คนลงมือเขียนบทหนังเอง แบบเดียวกับที่ Woody Allen, Atom Egoyan หรือ Wim Wenders เป็น)

Cloud Atlas ฉบับแปลไทยของสนพ. มติชน ใช้ชื่อว่า "เมฆาสัญจร" แปลโดย จุฑามาศ แอนเนียน

15.3.52

เที่ยวนรก

หลังจากดูงานอาจารย์อารยาที่ Ardel Gallery เมื่อวันที่ 10 มีนา วันรุ่งขึ้นก็ไปเที่ยวเมืองนรกกับอาจารย์ เบน และ เจ้ย ที่วัดไผ่โรงวัว สุพรรณบุรี

บางทีดูรูปแล้วขำ คนปั้นผู้ชายน้อยเนื้อต่ำใจผู้หญิงอะไรนักหนาเลยเขียนป้าย เขียนรูปเปรตอย่างที่ว่านี้ คงคล้ายกับที่บอกเจ้ยกับอาจารย์เบนไป น่าจะมีบาปรูปตัวเปรตงอนผู้หญิงอีกสักตัวนะ