7.10.54

หอสมุดบาเบล รวมเรื่องสั้น 8 เรื่องของ บอรเฆส ที่งานมหกรรมหนังสือ 2544

หอสมุดบาเบล bookvirus ฟุ้ง 08 - รวมเรื่องสั้น 8 เรื่องของ บอรเฆส วางขายแล้ว


หอสมุดบาเบล สวนแห่งทางแพร่ง และเรื่องสั้นอื่นๆ

Jorge Luis Borges
สิงห์ สุวรรณกิจ แปล

คำนิยมโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา

“มากกว่าใครๆ ทั้งหมด บอรเฆส ได้พลิกฟื้นภาษาแห่งวรรณกรรมเสียใหม่ จนเป็นผู้เปิดทางให้กับกลุ่มนักเขียนภาษาสเปน-อเมริกันที่พิเศษล้ำรุ่นหนึ่ง” – J. M. Coetzee นักเขียนรางวัลโนเบล 2003

“นับแต่ แซร์บันเตส ผู้ประพันธ์ ดอนกิโฆเต้ เป็นต้นมา ในบรรดานักเขียนที่สร้างงานในภาษาสเปน มีเพียง บอร์เกส เท่านั้นที่เป็นนักเขียนคนสำคัญที่สุด” - มาริโอ บาร์กัส โญซ่า นักเขียนรางวัลโนเบลปี 2010

"ในยุคสมัยของเรานั้นมีนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดอยู่ 2 ท่าน คือ เจมส์ จอยซ์ และ บอรเกส แม้ทั้งสองจะฝากผลงานเอาไว้ก่อนเวลาอันควร หากต่างก็ฝากคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อวรรณกรรมโลกในศตวรรษที่ 20 อย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ความแตกต่างระหว่างทั้งสองนั้นอยู่ที่ จอยซ์ ได้มอบมรดกทางภาษาแก่เรา แต่สำหรับ บอรเกส นั้น สิ่งที่เขามอบให้แก่เรา คือความคิดและจินตนาการ" - อุมแบร์โต เอโก ผู้แต่ง ‘สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ’ (The Name of the Rose)



ถ้าไม่มีนักเขียนอย่าง ฆอรเฆ ลูอิส บอรเฆส คงไม่มี Post-Modern

Jorge Luis Borges เปรียบได้ดั่งรากเหง้าอิทธิพลงานเขียนของ Italo Calvino, Umberto Eco, Orhan Pamuk, Julio Cortazar, Alain Robbe-Grillet และคนสำคัญอีกหลาย ๆ คน


หอสมุดบาเบล สวนแห่งทางแพร่ง และเรื่องสั้นอื่นๆ - bookvirus ฟุ้ง 08 รวมเรื่องที่ยังไม่เคยแปลซึ่งเป็นแนวคิดเชิงเขาวงกตวรรณกรรมตามแบบฉบับที่นักอ่านทั่วโลกคุ้นเคย - ซึ่งไม่ใช่เรื่องชุดเดียวกับที่ แดนอรัญ แสงทอง (aka เชน จรัสเวียง) เคยแปลลงใน bookvirus 2 และ เพชฌฆาตข้างถนน

(อย่าลืมอ่านบทสัมภาษณ์ของ บอรเฆส ใน bookvirus เล่ม 2)

หอสมุดบาเบล bookvirus ฟุ้ง 08 ซื้อได้ที่

งานมหกรรมหนังสือ ศูนย์ประชุมสิริกิติต์ ตามบูธเหล่านี้:

ระหว่างบรรทัด W 13
อัลเทอร์เนทีฟไรเตอร์ O 06
บ้านหนังสือ P 37
ไต้ฝุ่น P 15
Freeform E 10
Openbooks K 06
สามัญชน X 03
นาคร

6.9.54

วิมุตติคีตา อานุภาพแห่งอนุสาสนีปาฏิหาริย์ งานใหม่ของ แดนอรัญ แสงทอง



วิมุตติคีตา อานุภาพแห่งอนุสาสนีปาฏิหาริย์ นิยายเล่มใหม่ของ แดนอรัญ แสงทอง จัดจ้าน ดุเดือด โลกุตรศิลป์ของจริง และไม่ได้โม้

1.9.54

มีตาหามีแววไม่ - คำคมจาก วอลแตร์ (Voltaire)

การที่เรามีตาสองข้าง ไม่ได้ช่วยให้สภาพของเราดีขึ้นเลยในชีวิตนี้ เราใช้ตาข้างหนึ่งสำหรับดูสิ่งดี และอีกข้างหนึ่งสำหรับดูสิ่งเลว คนส่วนใหญ่นิสัยเสียชอบหลับตาข้างแรก และคนส่วนน้อยหลับตาข้างที่สอง ด้วยเหตุนี้เอง คนจำนวนมากจึงอยากจะตาบอดทั้งสองข้างให้รู้แล้วรู้รอดไป จะได้ไม่ต้องมองเห็นสิ่งชั่วร้ายทั้งหมดทั้งปวง และบรรดาคนตาเดียวที่ปราศจากตาข้างที่มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในแง่ร้ายไปหมด คงจะมีความสุขดีกันพิลึก

ปรัชญาวอลแตร์
ดารณี เมืองมา แปล
สำนักพิมพ์ดวงกมล

15.8.54

My Sassy Book ตอน 36: “กระโดดโลดเต้น” ประดุจดาวดวงนั้น Dance Movement Twinkling

ประดุจดาววับวาว

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เธอเป็นทั้งนักแสดง ผู้กำกับ และ นักศิลปะบำบัด ที่รู้จักการใช้ร่างกายให้สัมพันธ์กับจิตใจของเธอมากที่สุดคนหนึ่งที่หาได้น้อยนักในเมืองไทย เธอได้บอกเล่าประสบการณ์การสอนบำบัดปลดล็อคความเครียด ด้วยวิธี Dance Movement Therapy จนทั้งเด็ก ทั้งผู้ป่วย และนักพยาบาลหลงรักเธอเกรียว และถ้าคุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้คุณก็จะรู้จักความใส่ใจคนอื่น หรืออาจจะเข้าใจความรักในการแสวงหาความรู้ และอิสระของความเป็นไปได้ในศาสตร์และศิลป์ของการ รู้เต้น รู้ตื่น

บางส่วนจากหนังสือ “กระโดดโลดเต้น” With Dance Movement Psychotherapist ของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์, สำนักพิมพ์ มันดา บุ๊คส์

ปรับบุคลิกภาพแบบระยะยาวด้วยการเรียนเต้น

คนเถรตรง ขวานผ่าซาก พูดจามะนาวไม่มีน้ำ เส้นโค้งในรำไทยคงช่วยให้วิธีคิดดูนุ่มนวล ประนีประนอม

คนไม่ค่อยระวังตัวเอง ปล่อยปละ ไม่รักษาระเบียบวินัย ไม่เคารพกฎ การเต้นคลาสสิก เช่น บัลเล่ต์ หรือโขน ก็จะช่วยส่งเสริมให้อยู่ในรูปในรอยขึ้น

คนไม่มีความมั่นใจ ขี้อาย ไม่แน่ใจถึงอัตลักษณ์ของตัวเองน่าจะไปเรียนเต้นอัฟริกัน

คนที่อยากหัดเรื่องมนุษยสัมพันธ์ การปรับตัว อ่อนด้วยเรื่องของชีวิตคู่ และการรับฟังผู้อื่น เรียนการเต้นลีลาศคงช่วยได้เยอะ

คนที่ใช้ชีวิตซ้ำๆ เหมือนกันทุกวัน เป๊ะทุกอย่าง น่าจะลองซัลซ่า เต้นไจฟว์ ไม่ก็แดนซ์คอนเทมเพื่อเพิ่มสีสันและอารมณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิตบ้าง

ชีวิตที่มีสุขภาพดี คือชีวิตที่สมดุล

(จาก “กระโดดโลดเต้น” ของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์, สำนักพิมพ์ มันดา บุ๊คส์)

11.8.54

My Sassy Book ตอน 35: อ่านอย่างเจ้าผู้สามัญ - ราชินีนักอ่าน (The Uncommon Reader)

My Sassy Book ตอน 35: อ่านอย่างเจ้าที่สามัญ

- ราชินีนักอ่าน (The Uncommon Reader)

อลัน เบ็นเน็ตต์ แต่ง (Alan Bennett)
รสวรรณ พึ่งสุจริต ถอดความ
สำนักพิมพ์ โฟร์ เล็ตเตอร์ เวิร์ด 4-leter word

ภายในช่วงเวลาประมาณ 3 อาทิตย์ ซื้อหนังสือวรรณกรรม / ชีวประวัติ ภาษาอังกฤษมาไม่ต่ำกว่า 60 เล่ม เหลือเงินกลับบ้านไม่ถึงร้อยบาท เสร็จแล้วกลับมาอ่านเล่มที่ค้างไว้ต่อ คือ “ราชินีนักอ่าน”

“ราชินีนักอ่าน” อ่านคู่กับเล่มเรื่องสั้นซีไรต์ลาว “กู้หน้า กู้หนวด”ที่ตลกดี อย่างที่คนแปล คุณ รสวรรณ พึ่งสุจริต ว่าไว้ คนอ่านหนังสือบางคนชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับคนรักการอ่านหนังสือด้วยกัน ปกติเจอเล่มแนวนี้ทีไรต้องหาอ่านทุกที นี่ว่าไว้ควรจะจดไว้เป็นลิสต์เหมือนกัน เพราะทำไปทำมานิยายแนวนี้ชักจะมีเยอะ และเราคงพอเป็นแนวร่วมกันได้ เพราะเลือกอ่านเองโดยไม่ได้มีปูมหลังการเรียนหรือครอบครัวรักอ่าน ที่หาอ่านหาซื้อก็สุ่มไปเรื่อยเปื่อย ไม่ชอบตามลิสต์ตามโพย แล้วมันสนุกได้รสชาติดีกว่าเชื่อใคร

นิยายเล่มบาง ๆ นี้เป็นเกี่ยวกับพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษที่ตกหลุมรักในการอ่านหนังสืออย่างไม่คาดฝันมาก่อน ทรงพัฒนาจากการอ่านเบื้องต้น ไปสู่การอ่านหนังสือเล่มยาก ๆ ของ มาร์แซล พรูสต์ (พระองค์มองว่าการจุ่มเค้ก-ขนมมาดเดอแลง-ในน้ำชา-ฉากคลาสสิกในเรื่องนั้นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจมาก) และหนังสือของ คอมป์ตัน เบอร์เน็ตต์ ทรงอ่านซ้ำจึงชอบ (ซื้อดองไว้ชาติที่แล้วยังไม่ถึงคิวอ่านเสียที) แต่ที่สำคัญที่ตัดสินใจซื้อเล่มนี้ เพราะเอ่ยถึง ฌอง เฌเน่ต์ (Jean Genet) นักเขียนเกย์หัวแรงที่เคยทำหนังด้วย (เคยดูหนังเงียบเรื่อง Un Chant d’ Amour โจ่งแจ้งอย่างเหลือเชื่อว่าทำออกมาได้ตั้งแต่สมัยหนังเงียบขาวดำ) แต่ดูเหมือน อลัน เบ็นเน็ตต์ คนแต่งก็น่าจะเป็นเกย์เหมือนกัน เคยดูหนังที่เขาเขียนบทคือเรื่อง Prick Up Your ears ส่วน Madness of King George ไม่ได้ดู แต่เคยซื้อบทหนัง A Private Function (รูปแรงมากเป็นแนวตลกร้ายผสมมาโซคิสม์) กับแผ่นดีวีดี Talking Heads ที่เขาว่าเป็นโมโนล็อกยาว ๆ ของนักแสดงละคร ก็เลยยังไม่ได้ดูเสียที

คือราชินีในเรื่องถูกกีดกันจากการอ่าน อิสระเสรีเพียงอย่างเดียวของพระองค์ที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นผู้เป็นคน จนข้าราชบริพารรู้สึกว่าทรงละเลยงานการ มัวแต่ทรงพระอักษร พอถามนายก ถามผู้บริหารประเทศที่เข้าเฝ้าแทบทุกคนไม่รู้จักงานเขียนของนักเขียนระดับตำนานเหล่านี้ สถานะของนักเขียนศิลปินที่น่าเศร้าซึ่งถูกมองข้ามเสมอจากผู้บริหารงานใหญ่

ข้อความในหนังสือที่น่าสนใจมีมากมายตามต่อไปนี้:

เสน่ห์ของการอ่านอยู่ที่ความเป็นกลางของมัน มีบางอย่างที่สูงส่งในเนื้อวรรณกรรม แต่หนังสือไม่ได้สนใจว่าใครอ่านมันอยู่ หรือว่าเราอ่านมันหรือไม่ นักอ่านทุกคนเท่าเทียมกัน รวมทั้งพระองค์ด้วย พระองค์ทรงคิดว่าวรรณกรรมคือเครือจักรภพอังกฤษ แต่งานเขียนคือสาธารณรัฐ......สาธารณรัฐแห่งงานเขียน

หนังสือไม่มีการโอนอ่อนผ่อนตาม นักอ่านทุกคนเท่าเทียมกัน

ตอนที่ยังทรงพระเยาว์ เรื่องที่ทำให้พระองค์ทรงตื่นเต้นมากที่สุดก็คือ คืนวันฉลองชัยชนะของฝ่ายพันธมิตร ตอนนั้นพระองค์และพระขนิษฐาต่างทรงชักชวนกันหนีออกจากประตูพะราชวัง เพื่อไปร่วมฉลองกับฝูงชนโดยที่ไม่มีใครจำได้ เหตุการณ์นั้นมีอะไรบางอย่างที่คล้ายกับการอ่านหนังสือ มันไร้ซึ่งชื่อเสียงเรียงนาม มันถูกแบ่งปัน มันเป็นของร่วมกัน พระองค์ผู้ทรงมีพระชนม์ชีพแยกจากมันมาโดยตลอด กลับพบในตอนนี้ว่าทรงโหยหามันเหลือเกิน ตรงนี้เอง ในหน้าหนังสือพวกนี้ ที่อยู่ระหว่างปกหนังสือเหล่านี้ที่พระองค์สามารถเสด็จท่องไปโดยไม่มีใครจำได้

ความสงสัยและการตั้งคำถามกับพระองค์เองเช่นนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เมื่อใดที่พระองค์ทรงก้าวข้ามจุดนี้ไปได้ นั่นเองจะเป็นจุดสิ้นสุดที่ทำให้เห็นว่าความอยากทรงพระอักษรจะไม่เป็นเรื่องแปลกอีก และหนังสือที่พระองค์ทรงเคยหยิบขึ้นมาทรงพระอักษรอย่างระมัดระวังนั้นก็จะค่อย ๆ กลายเป็นส่วนสำคัญของพระองค์ไปในที่สุด

มีมุขตลกเกี่ยวกับหนังสือที่ราชินียืมห้องสมุดมาอ่านแล้วหมาในวังชอบกัด อย่างหนังสือของ เอียน แม็คอีวาน (Atonement) หรือ เอ เอส ไบแอ็ต (Posession)

และหนังสือที่คนสนิทซึ่งเป็นเกย์แนะนำให้ท่านอ่าน

“ฝ่าพระบาทน่าจะทรงพระอักษรงานเขียนของ คิลเวิร์ท พระพุทธเจ้าข้า” นอร์มัน กราบทูล
“เขาคือใครรึ”
“บาทหลวงในศตวรรษที่สิบเก้าพระพุทธเจ้าข้า เขาอาศัยอยู่บริเวณชายแดนที่ติดกับเวลส์ ชอบเขียนไดอารี่ ทั้งยังชอบเด็กผู้หญิงด้วยพระพุทธเจ้าข้า”
“อ้อ” องค์ราชินีรับสั่ง “อย่างนี้ก็เหมือนกับ ลิววิส แครอล สิ”
“แย่กว่าพระพุทธเจ้าข้า”
“ตายจริง อย่างนั้นเธอช่วยหาไดอารี่พวกนี้มาให้เราอ่านหน่อยได้ไหม”

* (เป็นที่รู้กันว่า ลิววิส แครอล คนแต่ง Alice in Wonderland เป็นคนขี้อาย ชอบสนิทสนมคลุกคลีกับ เด็กผู้หญิง และถ่ายรูปพวกเธอด้วย) *

แล้วในเล่มที่บอกว่าฝ่าพระบาททรงโปรดงานเขียนของชนกลุ่มน้อย เช่นใครบ้าง
วิกรัม เสธ กับ ซาลมัน รัชดี

เซอร์เควิน ข้าราชบริพารคนสำคัญ ทูลแย้งพระองค์ว่า
“การอ่านคือการตีตัวห่างออกจากสังคม คือการทำให้ตนเองไม่มีเวลาว่าง คนเราน่าจะรู้สึกคุ้นเคยกับมัน ถ้างานอดิเรกนั้นมีความเห็นแก่ตัว......น้อยกว่านี้

“วรรณกรรมในความคิดของเรา คือประเทศอันแสนกว้างใหญ่ ที่เราไม่เคยเดินทางไปถึงพรมแดนของมัน”

“การอ่านทำให้คนเรานุ่มนวลขึ้น ในขณะที่การเขียนส่งผลในทางตรงกันข้าม การจะเขียนหนังสือได้นั้น คุณต้องทั้งแกร่งและอดทน”

“ข้าพระพุทธเจ้าเคยได้แต่คิดว่า” นายกรัฐมนตรีทรงกราบทูล “ฝ่าพระบาททรงอยู่เหนือวรรณกรรม”
“เหนือวรรณกรรมรึ” องค์ราชินีตรัส “มีใครอยู่เหนือวรรณกรรมบ้าง ท่านก็อาจจะพูดได้เหมือนกันว่าเราอยู่เหนือมนุษยชาติ แต่อย่างที่เราพูดไว้นั่นล่ะว่า วัตถุประสงค์ของเรามิใช่งานวรรณกรรมเป็นหลัก มันคือการวิเคราะห์และใคร่ครวญว่าท่านนายกรัฐมนตรีทั้งสิบท่านพวกนั้นเป็นอย่างไร”

“..บางครั้งเราคิดว่าตัวเองเป็นเทียนหอม มีหน้าที่ส่งกลิ่นหอมให้กับระบบการปกครอง หรือไม่ก็ระบายอากาศให้กับนโยบายต่าง ๆ ระบอบกษัตริย์ในสมัยนี้ก็เป็นเพียงแค่น้ำหอมปรับอากาศที่ได้รับการรับรองโดยคณะรัฐบาลเท่านั้น”

แต่ประโยคในเล่ม ‘ราชินีนักอ่าน’ ที่โดนสุด ๆ คือ
“เราแน่ใจว่า ท่านรู้ว่า ยากนักที่หนังสือจะก่อให้เกิดการกระทำใด ๆ ขึ้นมา โดยทั่วไปหนังสือแค่ช่วยยืนยันในสิ่งที่ท่านตัดสินใจไปแล้วเท่านั้น ถึงท่านจะไม่รู้ตัวก็ตาม ท่านหันไปหาหนังสือก็เพราะมันเหมือนเป็นสิ่งที่สนับสนุนความตั้งใจของท่านเท่านั้น ถ้าจะพูดกันตามเนื้อผ้า หนังสือคือสิ่งที่ปิดหนังสือด้วยกันเอง”

17.6.54

My Sassy Book ตอน 34: An Empty Room: Stories โดย Mu Xin

หนังสือเล่มเล็ก (ไซ้ส์เดียวกับหนังสือแปล Haruki Murakami ฉบับของญี่ปุ่น) Mu Xin นักเขียนที่จัดได้ว่าโนเนม (แถมยังเป็นคนจีนอีก) กับปกที่อยู่ระหว่างเรียบ จืด หรือเก๋เงียบ ๆ เออ จะซื้อดีไหม พลิก ๆ ดูหน้าปกหลังปกแทบไม่บอกอะไรเลย แต่ชอบรูปเล่มแบบนี้ เอาน่ะ ควักตังค์จ่ายกับอีกเล่มนิยายที่คนฟิลิปปินส์แต่ง (ซึ่งดูเหมือนจะหนักการเมือง) นี่ตูข้าคงบ้าไปแล้วเนี่ย

และอีกครั้งที่โชคดีตีแจ๊คพ็อต อ่านจบเล่มโดยเร็ว และถึงกับคิดแปลด้วยซ้ำ (บ้าไปใหญ่แล้ว) Filmsick น่าจะได้อ่าน หมอนิลน่าจะได้พิมพ์

หมู่ซิ่น ชื่อนักเขียนไม่รู้ว่าอ่านชื่อแบบนี้ไหม จำได้ว่ามีนักเขียนรุ่นเก่าชื่อ หลู่ซวิ่น กับอีกคน เหลาเส่อ แต่ช่างเหอะ ของดีจริงไม่ต้องการคำขยาย แค่ต้องการคำอธิบายดี ๆ ซึ่งเราไม่สามารถพอ (เอาเข้าไป)

แต่ หมู่ซิ่น นี่เข้ากับบล็อกนี้ดีกว่าเขียนถึงคนอื่นอีก เพราะเขาทั้งทำงานวรรณกรรม เป็นกวี เป็นศิลปินวาดรูป แล้วยังเป็นนักดนตรีด้วย อาจดูจับฉ่ายสำหรับบางคน แต่ลำพังเฉพาะงานเขียนที่หาอ่านได้เล่มเดียวในภาษาอังกฤษ ต้องขอบอกว่าที่สุดของที่สุด ส่วนภาพจิตรกรรมนั้นมีตัวอย่างให้ดูในอินเตอร์เน็ต รายละเอียดทางภาพคงบอกได้ยาก เพราะมันคงห่างจากประสบการณ์ชมจริงเยอะ แต่สื่อในอเมริกาเขามองว่ามีความสัมพันธ์สอดรับกับงานวรรณกรรมอย่างสำคัญ

มุมมองของ หมู่ซิ่น นั้นละเอียดอ่อนอย่างเหลือแสน แบบหาตัวเปรียบแทบไม่เจอ โดยเฉพาะงานของฝรั่ง (ส่วนเอเชีย หนังสือของ รพินทรนาถ ฐากูร ที่ใกล้กันบ้างในความเป็นมนุษย์นิยมก็ยังไม่ใกล้เคียงเพราะหนักมือกว่าในตัวสารและวิธีสอน) ทั้ง ๆ ที่เรื่องสั้นส่วนใหญ่ในเล่ม (ซึ่งฉบับแปลอังกฤษนั้นย่อยมาจากฉบับจีน 3 เล่มเหลือเล่มเล็ก ๆ) นั้นแทบทุกเรื่องต้องมีอันเกี่ยวข้องถึงอดีตมืดหม่นช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ขนาดบางเรื่องที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้ยังทิ้งท้ายไปทางนั้นจนได้ ฟังดูเหมือนคำติแต่ที่แท้นี่คือคำชม เพราะเท่าที่เป็นอยู่คือไม่ใช่เรื่องเครียดหดหู่ กดดัน มุ่งสะท้อนสังคมการเมือง แต่เป็นการมองหรือพาดพิงถึงด้วยความไม่จงเกลียดจงแค้น เหมือนการมองอดีตกลับไปอย่างพิศวงกึ่งเข้าอกเข้าใจ คล้ายแค่ทอดถอนใจยาวซึ่งตามมาด้วยการยอมรับ แบบไม่ขื่นขม (bitter) เต็มคำ และแน่นอนไม่ bittersweet

ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ หมู่ซิ่น เกิดขึ้นกับชาวเราแถวนี้ หรือคนอย่าง วสันต์ สิทธิเขตต์ ก็แน่นอนผลจะออกมาโหวกเหวกโวยวายสุด ๆ แบบไม่เหลือร่องรอยให้คงความสงบสยบความเคลื่อนไหว ทำนิ่งทำเซ็นอะไรนั่น เพราะมันคงง่ายกว่าที่เราจะแสดงความจงเกลียดจงแค้น หรือความฉลาดในการแก้ปัญหา หรือความกล้าลวงโลกของเราให้โลกประจักษ์ แต่ไม่เลย โลกเราน้อยนักที่จะมีเวลาให้เราทันแสดงบทฮีโร่คิ๊กแอส หรือต่อให้มีเวลาเราก็คงเลือกไม่แสดงในท้ายสุด ถ้างั้นไม่ง่ายกว่าหรือที่จะยอมรับเสียแต่แรกว่า เราก็คงเป็นอีกคนที่เงียบ ก้มหน้าก้มตายอมรับสิ่งที่อำนาจเบื้องบนกำหนดลงมา

แต่ยอมรับทางกิริยา ไม่ได้หมายความถึงจิตใจและสติในการตั้งคำถามถึงความไร้สาระนานับประการที่เกิดขึ้นรอบตัว กับอัตลักษณ์ของตัวเองที่ต้องตอบโจทย์ดีงามของภาครัฐ และจะหาใครที่ช่างสังเกตเปรียบเปรยความงามหลายสิ่ง ขณะที่ความโกรธกำลังกระหึ่มทั้งในใจและรายรอบ

หมู่ซิ่น เหมือนคนทำหนังเก่ง ๆ อย่าง ริวอิจิ ฮิเดกิ (Ruichi Hideki) ที่มองเห็นท่วงท่าของแสงที่เคลื่อนตัวอยู่รายรอบตัวเรา มาตรว่าบางคนอาจกล่าวหาว่ามันคล้ายการนิ่งดูดายชะตามนุษย์ แต่ท้ายสุดมันฉายให้เห็นความบางเบาไร้สาระและสัจธรรมที่น่าทึ่ง กระทั่งสวยงามในบางมุม หรือกระทั่งขำได้ในบางเรื่อง (โดยเฉพาะในเรื่องสั้นชื่อ Halo ที่เริ่มเรื่องเหมือนบทความวิเคราะห์แนวศิลปะประเพณีที่นิยมวาดรัศมีรอบเศียรสักการะทางศาสนา แต่กลับลงท้ายที่ภาพของกลุ่มคนคุกในมุมมองใหม่)

ที่บอกว่าเป็นเรื่องสั้นเอาเข้าจริงก็ไม่ตรงคำอธิบายซะทีเดียว หน้าปกเขียน stories ไม่ใช่ short stories ส่วนในเล่มเขามีคำนิยามเฉพาะในภาษาจีนว่า sanween ที่เป็นการเขียนซึ่งแกว่งอิสระไปมาระหว่างร้อยแก้วและร้อยกรอง คือในเรื่องเดียวกันสามารถครอบคลุมได้ทั้งรูปแบบของเรื่องสั้น คำปรารภรำพึง บทบันทึก บทพินิจชีวิต บทกวี รำพันนิราศ ว่ากันว่า หมู่ซิ่น รวมลักษณะ sanween ดังว่ารวมเข้ากับลักษณะขนบวรรณกรรมแบบ bildunsroman ที่รับต้นตอมาจากวรรณกรรมเยอรมันซึ่งเน้นการเดินทางค้นพบโลกรอบข้าง ผ่านมุมมองของ “ข้าพเจ้า” (I) ในคำแนะนำท้ายเล่มเขาบอกว่าหมู่ซิ่นรวมความชอบทั้งนักเขียนจีนรุ่นดึกดำบรรพ์เข้ากับความชื่นชอบวัฒนธรรมและศิลปะตะวันตก อย่างงานเขียนของ รุสโซ่, นิทเช่อ, อีเมอร์สัน และ ม็องแตญจ์

เรื่องแบบเขามันไม่ใช่เรื่องที่เล่าพล็อต ไม่ยึดติดกับเนื้อเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการสังเกตการณ์สำแดงรายละเอียดที่ผู้เขียนเคยพบมาหรือจำได้จากอดีต ลีลาเขียนแบบย่างเบาสบายบนพรมหญ้าเหมือนคนกำลังพาเดินชมสวน ที่จริงเรื่อง Tomorrow, I’ll Stroll No More ก็ยิ่งเหมือนการเดินชมสวนอยู่แล้ว เพราะหมู่ซิ่น เขียนตอนที่เขาไปพักอยู่อเมริกาในเขตควีนส์ แต่จากการเดินเล่นละแวกถนนเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่ไม่มีใครรู้จักใคร หน้าบ้านสะอาดเกลี้ยงเกลาแต่ไร้ร่องรอยชีวิต ทำให้เขารู้สึกผิดแปลกที่มาเดินทอดน่อง ขณะเดียวกับที่หวนคิดไปถึงบ้านเกิดในเมืองจีน ฉงนสนเท่ห์ว่าทำไมดอกไม้พันธุ์เดียวกันในคนละถิ่นฐานจึงสามารถแตกต่างกันบ้างทางกลิ่นหรือรูปลักษณ์ การที่คนเราให้ความสำคัญในการไล่ตั้งชื่อพันธุ์ไม้แบบต่าง ๆ และชื่อดอกไม้บางชนิดที่เขานึกออกเฉพาะในภาษาจีนแต่นึกไม่ออกเป็นภาษาฝรั่ง

รูปแบบการเล่าที่เหมือนเรื่อย ๆ เรียง ๆ นี่แหละที่ร้ายนัก เพราะมันน่ากลัวที่มันไม่ได้ซ่อนระเบิดปรมาณู แต่ซ่อนอณูอารมณ์ซึ่งสั่นไหวเพียงน้อย ซึ่งสายตาเปล่าจับไม่ติด และมันมหัศจรรย์นักที่นักเขียนคนหนึ่งนั้นสามารถร่ำรวยทางภาษา และลีลา พอจะทำให้เกิดการเขย่าปลุกอณูใจได้ในความยาวเรื่องละไม่กี่หน้า

บางทีการที่เขาเคยถูกจองจำในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมกระมัง ทำให้เขาค้นพบวิธีพูดน้อยในพื้นที่สั้น ๆ ได้มีประสิทธิภาพ ว่ากันว่าคนพวกนั้นมอบกระดาษให้นักโทษแต่ละคนเขียนคำสารภาพบาปแสดงความสำนึกผิดในสิ่งและวัฒนธรรมนอกรีตที่เขาหรือใครสนใจ ในกรณีของ หมู่ซิ่น สิ่งนั้นก็เป็นการฝักใฝ่สนใจในศิลปะตะวันตกนั่นเอง หมู่ซิ่น เรียก เลโอนาร์โด ดาวินชี่ ว่า “เป็นครูคนแรก ๆ ” เขาแอบซ่อนกระดาษ 60 กว่าแผ่นเพื่อแอบเขียนบันทึกความบอบช้ำในยามค่ำ นั่นทำให้เขาสามารถผ่านเวลานั้นมาอย่างเข้าอกเข้าใจและปล่อยวางได้มากกว่าศิลปินจีนอีกหลายคนที่มักจะพาดพิงถึงอดีตอย่างเคียดแค้น หมู่ซิ่น กล่าวถึงช่วงเวลานั้นว่า “ตอนกลางวันผมเป็นทาส แต่ยามดึกผมเป็นเจ้าชาย”

หากดูเผิน ๆ ลักษณะงานศิลปกรรมของเขาอาจเหมือนภาพจิตรกรรมจีนแบบม้วนขนาดเล็ก ซึ่งศิลปินมักนิยมวาดจิตรกรรมแนวประเพณีรูปทิวทัศน์สวยงาม แต่ของ หมู่ซิ่น กลับเป็นเหมือนภาพนิมิตของศิลปินเองที่เคลือบฉาบด้วยหมอกเมฆครึ้ม ราวกับจะบอกว่าภาพงดงามในอีตจะไม่มีวันกลับมาเป็นเหมือนเดิม และตัวภาพทิวทัศน์ก็ดูไม่เฉพาะเจาะจงดูไม่ออกว่าเป็นที่ไหน แม้ชื่อภาพจะระบุชัดว่าหุบเขาใด ย่านไหน และตั้งใจวาดอ้างอิงถึงแนวทางของศิลปะจีนคนไหน ยุคอะไร ซึ่งมักสะท้อนยุคอุดมคติที่มีชุมชนศิลปินหัวก้าวหน้า รักความยุติธรรม และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติมากกว่าปัจจุบัน ลักษณะภาพเบื้องหน้าอาจดูเป็นจีนหรือเป็นตะวันออกสูง แต่รายละเอียดในการลงสีและรายละเอียดฉากหลังดูเหมือนจะได้รับทางศิลปะตะวันตกมาด้วย ดังที่มีผู้สังเกตโดยเปรียบเทียบกับฉากหลังของภาพ โมนาลิซ่า กับภาพภาพหนึ่งของหมู่ซิ่น ทำให้ชวนคิดว่า เคยมีใครโยงภาพเข้ากับภาพศิลปินเยอรมันยุคนี้อย่าง อันเซล์ม คีเฟอร์ (Anselm Kiefer) บ้างไหม เพราะ คีเฟอร์ ชอบทำภาพให้หมองเก่าโยงใยถึงประวัติศาสตร์ชาติด้วย แต่อาจหนักมือทางใส่ตัวหนังสือ หรือวัสดุ และแฝงความโกรธเกรี้ยวเฉพาะตัวมากกว่า

นี่คือผลงานของคนที่เป็นมนุษย์นิยมในหัวใจ ไม่ใช่แค่เปลือกหรือการทำท่า ลักษณะการเขียนที่ดูกว้างขวางพลิกแพลงจากแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่ง เป็นไปได้ไกลกว่าการตั้งสมการมนุษย์แบบชาญฉลาดของ มิลาน คุนเดอร่า (Milan Kundera) และแม้ว่างานแบบ คุนเดอร่า จะดีเยี่ยมอย่างไม่อาจปฏิเสธ แต่หากเทียบกัน คุนเดอร่า ก็ยังคงยโสอยู่ในหอคอยงาช้างมากกว่าจะยอมเดินรับฝุ่นอย่างที่ หมู่ซิ่น สามารถเป็น

My First Mister

เรื่องนี้คงเป็นหนังเชย ๆ สำหรับหลายคน แต่ข้าพเจ้าดูแล้วน้ำตาตก My First Mister (ชื่อไทยของบริษัทวีซีดี : สองวัยดวงใจเป็นหนึ่ง) หนังปี 2001 ของผู้กำกับ Christine Lahti (คนที่เคยเล่นบทคุณป้าคิดต่างใน Housekeeping ของ Bill Forsyth) เสียดายว่า คริสตีนทำหนังใหญ่เรื่องนี้เรื่องเดียว (อีกเรื่องเป็นหนังสั้นและหนังทีวี 1 ตอน) เรื่องนี้มี Albert Brooks แสดงกับ Leelee Sobieski เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างวัยที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศหรือผลประโยชน์ หนูลีลี่เล่นเป็นสาว Goth แต่งดำ เจาะรูทั้งลิ้น หน้า จมูก (แต่ไม่เจาะหู) พล็อตเรื่องไม่หนีสูตรสำเร็จ แต่ดูบรรจงประณีตและจริงใจ หนังแบบนี้เสียดายที่ถูกมองข้ามอยู่เรื่อย ๆ เพราะไม่ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ แล้วก็ไม่ได้ดูกระตุ้นต่อมปัญญาอะไร

Triple Bill หนังควบสาม

X-Men First Class, Super 8 และ Insidious

ตะลอนดูหนัง 3 เรื่องในวันเดียว ไม่ได้ทำแบบนี้มานานแล้ว แต่ทำเพราะประหยัดราคาตั๋ว และผลออกมาก็ค่อนข้างคุ้มค่า (มีแต่ ซุเปอร์ 8 ที่ยื้ออดีตได้ไม่รอด) ดีกว่าไปเข้าคิวรอดู sex and zen 3 มิติ

3.6.54

ผู้หญิงในหนังของ ริวอิจิ ฮิโรกิ (Ryuichi Hiroki)

เลือกแผ่นดีวีดีมาเพราะปก ไม่นึกว่าจะได้เจอของดี หนัง 3 เรื่องนี้แหละที่อยากให้เป็นต้นแบบของหนังร่วมสมัยซึ่งแทบสัมผัสได้ในการเคลื่อนตัวของแสง และเส้นรุ้นเส้นแวงแห่งอารมณ์เร้นที่เกินเอื้อนเอ่ย

เรียกว่าจะไม่แลกโอกาสได้ดูหนังแบบนี้ หรือหนังแบบ "ที่รัก" ของ ศิวโรจณ์ คงสกุล กับหนังแบบ อากิระ คุโรซาว่า, คิทาโน่ หรือ มิอิเกะ เด็ดขาด แม้ว่าเราจะชอบหนัง คุโรซาว่า บ้างบางเรื่องก็เถอะ

ตอนแรกได้ดูเรื่องนี้ก่อน Kimi no Yubisaki (きみのゆびさき / เพียงปลายนิ้วของเธอ) ของ Hiroshi Ishikawa ตอนแรกดูก็ไม่รู้ว่าเป็นหนังสั้น เห็นมีแต่สองสาวเดินไปเดินมาบนดาดฟ้าตึก ฝนตกพรำ ๆ ก็หิ้วร่มวิ่งไปที่ทะเล คุยกันจุ๊กจิ๊กริมหาด เหมือนกับว่าอีกคนกำลังจะย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่น แต่ดูมีนัยยะอะไรผูกพันอะไรที่ยังพูดไม่ออกบอกไม่ถูก แต่ละมุนละไมโคตร


อ้าว กำลังดูเพลิน ๆ ดันจบเสียได้ เรื่องนี้มีสองสาวดาราวัยรุ่นยอดนิยม คือ Maki Horikita กับ Meisa Kuroki (สาวผิวคล้ำจากโอกินาว่าคนนี้เล่นหนังแอ็คชั่นเรื่อง Assault Girls ของ Mamoru Oshii (Ghost in the Shell) ในดีวีดีมีเบื้องหลังถ่ายทำ มีบทสัมภาษณ์สองสาว เสียดายฟังไม่ออก ไม่มีซับอังกฤษ แต่ทำเก๋ตรงที่มานั่งเก้าอี้แบบในห้องเรียนอยู่หน้าห้อง หันหลังให้กระดานดำ และหันหน้าตรงเข้าหากล้อง มีช่วงหนึ่งในการสัมภาษณ์ที่ Maki ลุกมาเขียนชอล์คบนกระดาน น่ารักดี


ถัดจากนั้นไม่กี่วัน จากดีวีดีที่ซื้อในวันเดียวกัน ดูเรื่อง Love on Sunday: Last Word (หนังปี 2006) มี Maki Horikita นางเอกจากเรื่องนั้นมาเล่น


เธอเล่นเป็นสาวที่ใกล้จะตายเลยเขียนจดหมายทิ้งไว้ ขอพ่อกลับไปหวนหาอดีตที่บ้านเก่า กลับไปหาผู้ชายที่เธอเคยรัก ผู้ชายคนนี้ก็ต้อนรับขับสู้เธอดี แต่หัวใจเขาไม่คิดอะไรอื่นไกล เพราะไปอยู่กับคนที่ใกล้กว่าคือผู้หญิงมีลูกมีผัวแล้ว หนังเด่นมากตรงที่สะท้อนชีวิตเรียบ ๆ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมากนักที่บ้านนอก แล้วก็ให้ภาพนางเอกที่ไม่ใช่คนดีนักหนา เพราะเธอเริ่มออกลายร้ายเงียบ เพราะเธอไม่ได้ดั่งใจหวัง หนังอาจจะดราม่ารุนแรงกว่านี้ได้ แต่สุดท้ายนางเอกก็เป็นคนธรรมดาไม่ได้ดีชั่วอะไรพิเศษ สุดท้ายเธอก็ไม่ได้ตีโพยตีพายบอกใครด้วยซ้ำว่าใกล้จะตายอยู่รอมร่อ แต่ฉากบนรถเมล์ที่เธอไล่ยาวโมโนล็อกนั่นแหละ คนดูหลายคนขอตายแทน


เรื่องนี้จิ้งหรีดญี่ปุ่นที่ปกติทำงานดีแล้ว ยิ่งร้องดีเข้าไปอีก เหมาะกับหนังมากขึ้นกว่าหนังญี่ปุ่นทั่วไป


ดูแล้วทึ่งกับการกำกับนักแสดงและบรรยากาศ ทำให้สะดุดชื่อผู้กำกับขึ้นมา คือ ริวอิจิ ฮิโรกิ (Ryuichi Hiroki - 廣木 隆) โชคดีเหลือเกินว่าจากดีวีดีที่ซื้อมาในล็อตเดียวกันมีหนังของคนนี้อีกเรื่อง เลยรีบดูซะ

Girlfriend: Someone Please Stop the World (หนังปี 2004) หนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสองสาว สาวคนหนึ่งมีพรสวรรค์ทางถ่ายภาพแต่ชอบเมาเละ และมักตื่นมาพบตัวเองนอนกับชายแปลกหน้า อีกคนหนึ่งติดใจว่าพ่อของเธอทิ้งเธอไปตอนเด็ก จนเธอได้พบเขาอีกและลังเลว่าจะเผชิญหน้าคุยกับเขาดีไหม หนังง่ามแง่อยู่ระหว่างความสัมพันธ์ของคนถ่ายกับคนถูกถ่ายที่เกือบจะเป็นคู่เลสเบี้ยน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสัมพันธ์ที่งดงามในแสงเงาเกินกว่าจะนิยามขอบเขต


เหมือนชีวิตสองสาวนี้ก็มีความสุขดี ไม่ได้ลำเค็ญเหลือแสน การอยู่โดยไม่มีพ่อมันก็อยู่ได้ มันไม่ทำใครตายสักกะหน่อย ส่วนสาวตากล้องก็ไม่ได้ถูกทารุณหรือกดขี่ชีวิต อย่างน้อยคนก็รับรู้ในฝีมือและได้ทำงานในแบบที่อยากทำ (หรือใกล้เคียง) มันก็แค่คนสองคนที่พบคนที่ถูกคอถูกใจช่วยถมถางความโหวงเหวงในใจ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะต้องเกี่ยวกับเซ็กส์เสมอไปอย่างที่คนดูหนังเราจะคุ้นเคย แม้แต่ในฉากถ่ายแบบเปลือยของช่างภาพ-โมเดล (ที่ชวนนึกถึงฉากของ Juliet Binoche กับ Lena Olin ใน Unbearable Lightness of Being - แต่เรื่องนี้คนละอารมณ์กัน) มันก็ให้เข้าใจอุณหภูมิอารมณ์ของสองสาวที่เปิดเผยสีสันในใจใต้ผิวหนังได้ดีขึ้น ละเอียดอ่อนดีเหลือเกินทำหนังแบบนี้ ถึงแม้ตอนดูจะงงนิดหน่อย เหมือนมีทั้งแฟลชแบ็คและแฟลชฟอร์เวิร์ด ปรับสมองตามไม่ทันในช่วงแรก แต่เรื่องอารมณ์คนแสดงและการกำกับมือหนึ่งเลยแหละ


หนังสองเรื่องนี้ทำให้รู้สึกว่าผู้กำกับ ริวอิจิ ฮิโรกิ ทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิงเก่ง วางมือละเมียดละไมแบบชีวิตธรรมดาที่ดูจริงซึ่งหาได้ยากในหนังญี่ปุ่น เพราะส่วนใหญ่จะละเมียดแบบบีบซึ้งเสียมากกว่า


พอค้นข้อมูลดูยิ่งทึ่งว่า ริวอิจิ เคยทำหนัง Pink Film มาก่อน (เพิ่งเห็นว่าเคยทำ 1 ในหนังสั้นอีโรติกผู้หญิงปี 2005 ชุด Female – หนังชุดนี้เคยดู แต่ไม่รู้ว่าเขาทำตอนไหน?) แล้วเขาก็ทำหนังหลายแนว ตั้งแต่ April Bride, Vibrator, Tokyo Trash Baby, M (I Am an S+M Writer), New Type: Just for your Love หรือกระทั่งหนังสารคดี ออกจะมีหนังหลายเรื่องที่รุนแรงพอสมควร แต่ไม่ว่าจะเป็นหนังแนวแรงสุดโต่ง หวานเย็น หรือเรียบง่าย ดูเหมือนเขาพอจะเข้าใจสิ่งแวดล้อมที่กดผู้หญิง และถ่ายทอดได้ถึง ไม่ขนาดเจาะลึกแบบหนัง Eric Rohmer, R.W. Fassbinder หรือ Ingmar Bergman หรอก แต่ก็นับว่าเหนือชั้นมาก พูดจริง ๆ แล้วชอบแบบนี้มากกว่า คนส่วนใหญ่เขาไม่ถกจิตวิญญาณหรือดราม่าเกลียดกันลึก 34 ชั้นแบบหนังฟาสบินเดอร์ หรือ เบิร์กแมน หรอก


เจอบทสัมภาษณ์ Ryuichi Hiroki น่าสนใจที่นี่ http://www.vertigomagazine.co.uk/showarticle.php?sel=bac&siz=1&id=649

เห็นในบทสัมภาษณ์นี้เขาบอกว่า เขาปล่อยตัวเองไปตามสถานการณ์ โอกาสทำหนังเรื่องไหน แนวอะไรก็เข้ามา ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังเล็ก หนังใหญ่ หรือเป็นหนังส่วนตัวเขียนบทเอง เขาชอบท้าทายตัวเองชอบทำหนังที่ต่างไปจากแนวเดิม ๆ ไม่อยากซ้ำรอยตัวเอง แล้วต้องรอทำหนัง 3 ปีเรื่อง

ในเรื่อง Love on Sunday: Last Word ริวอิจิ บอกว่า Maki Horikita นางเอกทีนไอดอลคนดังมีตารางเวลาให้ถ่ายหนังแค่ 1 อาทิตย์ เขาก็เลยรีบทำหนังแบบเรียบง่ายที่สุด ใช้โลเกชั่นเดียว ตอนหลัง มากิ สบายใจในการทำงานมาก เลยเพิ่มเวลาให้ถ่ายได้อีก 3 วัน

1.6.54

My Sassy Book ตอน 33: Our Tragic Universe โดย Scarlett Thomas

Death has to be what define life, since living things are those things that will die but are not yet dead. (Our Tragic Universe หน้า 209)

สิ่งที่คนซี่งไม่ใช่แฟนหนังของ Wim Wenders รับไม่ได้มากที่สุดน่าจะอยู่ที่ ลักษณะเยิ่นเย้อ ยืดยาด อ้อมโลก และบ่อยครั้งมันก็คงจะเป็นเรื่องยากแก่การจินตนาการว่าอาการเหล่านั้นจะกลายเป็นเสน่ห์สำคัญอย่างหนึ่งได้อย่างไร แต่บางทีมันก็เป็นไปได้และเป็นไปแล้ว บ่อยเสียด้วย

ด้วยความที่ Our Tragic Universe เป็นนิยายซึ่งผู้หญิงแต่ง มีตัวละครนำเป็นผู้หญิง (กึ่งแม่บ้าน) ยิ่งดูเหมือนเอื้อให้ตัวละครขยับแอ็คชั่นได้อืดอ่อยน้อยลงตามไปด้วย ฉากส่วนใหญ่ก็ไม่มีอะไรนอกจากชีวิตประจำวันของผู้หญิงบ้านนอกริมชายฝั่งดาร์ธเม้าท์ของอังกฤษ ตัว เม็ก (Meg) ซึ่งใฝ่ฝันจะเขียนงานวรรณกรรมสร้างสรรค์จริงจังชั้นแนวหน้า แต่กลับต้องมาอยู่เบื้องหลังการเป็น “นักเขียนผี” ของนิยายเยาวชนจำพวกแฟนตาซีคิดบวก กับนั่งรับจ๊อบนั่งรีวิวหนังสือแนวนิวเอจที่พูดถึงชีวิตอมตะในโลกหน้าซึ่งโปรแกรมโดยพระเจ้าคอมพิวเตอร์นาม โอเมก้า พ้อยท์ วัน ๆ เม็กจึงปล่อยให้จินตนาการหนังสือในฝันจมดินเป็นสิบปี ขณะที่ชีวิตรักของเธอก็ไม่ดีไปกว่างาน ต้องติดแหง็กอยู่กับ คริสโตเฟอร์ ผู้ชายที่อ่อนแอที่ดูคล้ายกับจะรักเธอ แต่ก็เช่นเดียวกับผู้หญิงในโลกนี้อีกหลายคนที่จมปลักอยู่กับคนที่รักและสงสารตัวเองมากกว่า ส่วน ลิบบี้ เพื่อนหญิงคนสนิทของเธอ และ โรแวน ชายสูงอายุที่เธอแอบปิ๊งก็เช่นกัน ทุกคนแปะกาวตัวเองไว้กับชีวิตคู่ที่เดินหน้าไม่ไป ถอยไม่ได้ในทำนองไม่ต่างกันมากนัก

มันเป็นหนังสือที่ฟังพล็อตไม่น่าจะรอด ด้วยความหนา 425 หน้า ฟ้อนต์ 12 ยิ่งดูเหมือนจะไม่มีเนื้อเรื่องให้เล่นหลบอะไรได้มากมาย และนั่นแหละการตั้งคำถามกับนิยายที่มีเนื้อเรื่อง กับนิยายที่ไร้เรื่อง (storyless) หรือการสังเกตที่ว่าแม้แต่เรื่องที่ storyless ก็ยังมีเรื่องอยู่ดี ทั้งหมดนั่นแหละก็คือจุดสำคัญของนิยายเล่มนี้ด้วย  

“Sometimes I wish life could be more storyless,” I said.
“I know,” Vi said. “Well, in some ways it is. You just have to let go of the plot when it gets too much. Do something else.”

สการ์เล็ตต์ โธมัส (Scarlett Thomas) คนแต่งเรื่องใช้บทสนทนานั่งถกวรรณกรรม ชีวิต โลก ตั้งแต่เรื่อง นิทานเซ็น, นิทเช่อ, อันตอน เชคอฟ, อาร์เธอร์ โคแนน ดอยล์, ตอลสตอย - Anna Karenina, ภูตนางฟ้า, มนต์มายา สัตว์ประหลาดลึกลับแห่งดาร์ธมัวร์, เขาวงกต, มังกร, ชาร์ลส์ ดาร์วิน, เรือจำลองในขวดแก้ว, การทำกับข้าว, การผสมสูตรยาสมุนไพร, การปักไหมพรม, ความประหลาดของไพ่ทาโรต์, วิทยาศาสตร์ สิ่งเหนือธรรมชาติ และจักรวาลบรรจบ ทุกอย่างมาสมคบรวมกันได้โดยไม่ดูเสแสร้ง ไม่ดูปัญญาชนลวงโลก ไร้หัวใจแม้แต่น้อย ทั้ง ๆ ที่มันควรจะดูเฟคได้ง่าย ด้วยซ้ำ (เพราะมันไม่คุ้มถ้าเธอหรือใครจะพยายามเขียน meta fiction แข่งกับ Borges, Orhan Pamuk หรือ New York Trilogy ของ Paul Auster) ต้องทึ่งในฝีมือของ สการ์เล็ตต์ ที่เธอทำให้ทุกอย่างร้อยรวมกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเราเข้าใจในความมีมิติของตัวละครที่ถกความคิดต่างกันได้แบบหลากหลาย โดยไม่ตัดสินข้างฝ่าย ซ้ำยังเปิดให้คนอ่านหัวเราะและอึ้งไปกับอารมณ์ขึ้นลงของตัวละคร (ที่มากันเป็นโขลงและทุกคนมีรายละเอียดชีวิตแท้ของตัวเอง) 

มุกนี้เรียกว่าล้อคนในวงการหนังสือได้เจ็บแสบ 
You can identify someone who works in publishing because they tell every anecdote as if for the first time, with the same expression as someone giving you a tissue that they have just realised has probably already been used.

เล่มนี้เป็นเล่มพิเศษและประหลาดมาก มันกลับทำให้มองเห็นความเจ็บปวดของชีวิตและความสว่างของจิตใจได้ราวกับว่าคนอ่านคนนี้ไม่เคยพบสิ่งเหล่านี้ในหนังสือเล่มอื่น (เหมือนว่าไม่เคยอ่านการบรรยายในลักษณะนี้มาก่อน) และถึงแม้ว่าคนเขียนจะแทรกเรื่องราวที่ดูไม่เกี่ยวข้องมาตลอด ทำให้อ่านเหนื่อยในการติดตามอยู่บ้าง แต่โดยท้ายสุด เราก็กลับเป็นฝ่ายต้องอึ้งทึ่งไปแทน ก่อนที่จะหาเรื่องโทษคนแต่งเสีย ๆ หาย ๆ

ที่ถูกเราไม่ควรเรียกงานอะไรว่า เยิ่นเย้อ ยืดยาด อ้อมโลก แต่จะเรียกใหม่ว่า แบบ 2 ล. และ 1 ร. 

“ลัดเลาะ-ล่องไหล-เรื่อยเรียง”

เล่มนี้ซื้อที่คิโนะคุนิยะ ตรงแผนกหนังสือใหม่ พออ่านแล้ว สัญญาจะไม่ใช่แฟนขาจรของเธออีกต่อไป ต้องรีบไปสมัครเป็นสมาชิกถาวรกันเลยทีเดียว 

กอดกูที ให้กำลังใจกูบ้าง

ได้ไปดู ละครเวทีหน้ากากเปลือย (Naked Masks Theatre) เรื่อง "กอดฉันที" ที่โรงละครบ้านราชเทวี เรื่องนี้มีคนแสดงนำคือ วีรชัย กอหลวง, รังสิมันต์ กิจชัยเจริญ และ นวลปณต เขียนภักดี (เธอแสดงตั้ง 3 บทและฉายพลังได้ดีมาก) ส่วนบทก็เขียนโดย ธัญญานันต์ คูอนุพงศ์ และกำกับ โดย นินาท บุญโพธิ์ทอง (คนเก่งที่ไว้ใจได้เสมอ) 

แต่น่าเสียดายละคร 2 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งนักแสดงหลายคนแสดงอย่างตั้งใจ กลับได้รับเสียงตอบรับเพียงน้อยนิด รอบทุ่มครึ่งอาจมีคนดูมากกว่านี้ก็จริง แต่รอบบ่ายสองวันเสาร์-อาทิตย์กลับมีคนดูเพียง 1 หรือ 2 คน (เท่าที่รู้จากอีกรอบที่จุ๋มดู)

นี่มันเกินไปแล้ว กิจกรรมศิลปะวัฒนธรรมบ้านเราช่างอ่อนแอจนน่าใจหาย ไม่ใช่เฉพาะคณะละครนี้ เวที Democrazy Theater หรือที่อื่นๆ ก็ด้วย หนังสือหรือกิจกรรมของ ฟิล์มไวรัส / บุ๊คไวรัส ก็เลวร้ายพอกัน ช่างน่าหดหู่สิ้นดี เพราะอย่าว่าแต่ออกเงินสนับสนุนเลย แม้แต่สุ้มเสียงให้กำลังใจก็ไม่เคยมีให้

ติดตามข่าวละครเวทีของหน้ากากเปลือย : http://nakedmasksnetwork.blogspot.com/

28.5.54

My Sassy Book ตอน 32: Mythago Wood โดย Robert Holdstock

เล่มนี้อ่านจบตั้งแต่ต้นปี จำได้ว่าหาอ่านเล่มนี้อยู่นานหลายปี แล้วก็เป็นหนังสือแนวแฟนตาซีเล่มแรกที่อ่านจบ ก็ขนาด Lord of the Rings ยังไม่อยากอ่านต่อเลย แต่เล่มนี้มันลึกลับ งามแล้วก็สนุกด้วย น่าแปลกที่ยังไม่มีคนเอามาทำหนัง ทั้ง ๆ ที่คนแต่งเคยแปลงหนังเรื่อง The Emerald Forest ของ จอห์น บัวร์แมน (ผู้กำกับคนแรกที่ข้าพเจ้าเคยขอลายเซ็น) ให้เป็นฉบับหนังสือ

นิยายโดดเด่นมากในแง่ที่บรรยายถึงป่าลึกลับไรโฮปวู้ดที่มีผลกับครอบครัวฮักซ์ลี่ย์ ผ่านต่อจากรุ่นพ่อไปยังลูก (และต่อไปยังลูกหลานในเล่มภาคต่อ) พลังของป่าโบราณนี้ทำให้เกิดร่างจำแลงที่เป็นผลจากนิทานปรัมปราและเรื่องเล่า (เมอร์ลิน โรบินฮู้ด และกษัตริย์อาร์เธอร์) รวมทั้งปูมปมทางจิตใต้สำนึก โดยเฉพาะนางจำแลงที่เป็นนักรบ ซึ่งกลายมาเป็นเป้าปรารถนาของทั้งพ่อและลูกทั้งสอง การสืบค้นของที่มาที่ไป ซึ่งทำให้เกิดการหักล้างและพลังอำนาจราวกับโศกนาฏกรรมกรีก

ชอบตอนที่บรรยายถึงป่าที่ค่อย ๆ ขยายมาผนึกรวมกับตัวบ้าน คล้าย ๆ ว่าบ้านกำลังจะสลายรวมไปกับป่าและตำนาน แล้วตอนที่พูดถึงการสืบค้นป่าทางเครื่องบินก็วิเศษสุด มันเย้ายวนน่าค้นหาเหลือเกิน

หนังโปรตุเกสของ António Reis กับ Margarida Cordeiro

หนังของ 2 ผัวเมียชาวโปรตุเกสคู่นี้ดูน่าสนใจ ดูชื่อคนเชียร์ อย่าง João César Montiero,  Jean Rouch, Serge Daney (อดีตบรรณาธิการ Cahiers du Cinema), Manoel de Oliveira, Pedro Costa และ Jean-Marie Straub แล้วน่าจะยิ่งเสียกว่าคำว่าไว้ใจได้  

เขาว่าเพิ่งไปมินิเรโทรกันมาที่เกาหลี Jeonju International Film Festival 3 เรื่อง http://www.movingimagesource.us/articles/disquieting-objects-20110503

Daney กล่าวว่า Reis กับ Cordeiro เป็นคนทำหนังเพียงไม่กี่คนในโลกที่นำเอาแนวคิดของคนทำหนังญี่ปุ่น Kenji Mizoguchi (Ugetsu Story, Street of Shame) ไปใช้ นั่นคือแนวคิดที่ว่า "ก่อนถ่ายหนังแต่ละช็อต จำเป็นต้องล้างตาก่อนทุกครั้ง"

21.5.54

Bangkok International Student Film Festival 2011 - เทศกาลหนังนักเรียนนานาชาติกรุงเทพ ฯ ครั้งที่ 2 ที่หอศิลป์กรุงเทพ ฯ


เทศกาลหนังนักเรียนนานาชาติกรุงเทพ ฯ ครั้งที่ 2 ที่หอศิลป์กรุงเทพ ฯ
11-20 พฤษภา 2554

Donald, Duck! โดย Bhargav CHATTERJEE

หนังสั้นเรื่องนี้จาก Australian Film School มีอารมณ์ขันและมีจังหวะสไตล์แปลก ๆ เหมือนผสม Roy Andersson เข้ากับหนังฮากวนของพี่น้องตระกูล Coen

*************************************************************************************

อีกเรื่องที่เด่นของหนังสั้นปีนี้ หนังโปแลนด์ MC. Man of Vinyl (MC. Człowiek z winylu)
ฮีโร่ของโปแลนด์ฉบับเพลงแร็ป ถ้าไม่มีเขา กำแพงเบอร์ลินไม่มีร่วง อีกทั้งม่านเหล็กก็คงไม่ขาดผึง

หนังเล่นล้อหนังโปแลนด์คลาสสิกอย่าง Man of Marble และ Man of Iron และทำ mockumentary สัมภาษณ์ผู้กำกับดัง Krzysztof Zanussi (ตอนมาเมืองไทยเคยสัมภาษณ์ลง Filmvirus เล่ม 2) ซึ่งมาร่วมแสดงให้นักศึกษาฟิล์มสกูลเขาเอง

หนังสั้นไทยได้ดูแค่ 2 เรื่อง จังหวะไม่เหมาะ เข้าโรงทีไร หนังจบชุดทุกที

19.5.54

My Sassy Book ตอน 31:The Library of Shadows โดย Mikkel Birkegaard

อ่านเล่มนี้จบเป็นเดือนแล้ว ยังไม่ได้บันทึก

เคยหลงเชื่อ สตีเฟ่น คิง เชียร์หนังสือเรื่อง The Shadow of the Wind (La sombra del viento) ของ Carlos Ruiz Zafón และจากนั้นมาก็ปวารณาตัวเองจะไม่เชื่อพวกเบสท์เซลเลอร์อีกต่อไป แต่ก็นั่นล่ะหนาด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างจากเล่มนั้น เป็นโรคแพ้นิยายหรือเรื่องสั้นที่เกี่ยวกับคนหลง (ไม่ใช่แค่รัก) การอ่าน ทั้ง Jorge Luis Borges, Orhan Pamuk อะไรเทือกนั้น (นั่นไงถึงได้ทำ บุ๊คไวรัส เล่ม 3 “กาจับโลง” เรื่อง “สารานุกรมคนตาย” Danilo Kis' The Encyclopedia of the Dead) สุดท้ายหลังจากหยิบ ๆ วาง ๆ หลายทีก็ต้องซื้อจนได้  

และโชคดีไม่ผิดหวัง นิยายเรื่องแรกจากนักเขียนเดนมาร์คชื่อ Mikkel Birkegaard ต่อให้พล็อตมันจะช้ำทางแล้วก็ตามที คงประมาณ The Da Vinci Code อะไรก็ตาม แต่เปลี่ยนเป็นเรื่องของกลุ่มคนรักหนังสือที่มีลัทธิเก่าแก่ที่มีพลังพิเศษทางการอ่าน (Lectors) ทางการรุกและการรับ เป็น 2 กลุ่ม Transmitters และ Receivers ซึ่งสามารถกระตุ้นให้การอ่านเป็นพลังด้านบวกหรือลบที่อันตรายมาก ๆ คือ ถ้าไม่หวังนิยายลึกซึ้งขนาด Umberto Eco’s The Name of the Rose ก็เรียกได้ว่าอ่านเพลิน ไม่อยากวางเลยว่างั้น เหมือนดูหนังฮอลลีวู้ดสูตรสำเร็จสนุก ๆ มาก ๆ ซักเรื่อง (ซึ่งไม่ได้มีบ่อย ๆ) แม้ว่าเรื่องมันจะเดินเส้นตรงแก้คลี่คลายคดี ใครฆ่า ใครบงการ แต่หาทางออกได้ดีทีเดียว คนอ่านหนังสือเยอะ ๆ จะสนุกมากว่าคนอ่านในเรื่องกำลังพูดถึงหนังสือเล่มไหน ด้วยการเจาะลงไปในมโนภาพของนักอ่านที่ทำให้ภาพจากตัวหนังสือกลายเป็นภาพจริงที่เฉพาะเจาะจงไม่เหมือนกันของคนอ่านแต่ละคน (แบบตอนอ่าน ดอน กิโฆเต้) แล้วตอนที่อธิบายว่าการอ่านของคนอื่นเข้ามาอาละวาดในหัวของคนพวกนี้ แล้วเฉลยว่าเป็นเด็กกำลังอ่านเรื่อง “ปิปปี้ถุงน่องแดง” ทำได้สนุกมาก ๆ เรียกว่าเป็นการบรรยายที่วิเศษสุด ๆ เลยล่ะ

เทียบกับ The Shadow of the Wind แล้วชอบเรื่องนี้มากกว่าล้านเท่า เรื่องนั้นดังมีคนเชียร์มากมายได้ยังไง สงสัยเพราะพล็อตมันเยอะ เรื่องซับซ้อนหลายตลบ แต่มันช่างฟุ้งฝันรักสลบเสียจริง ๆ คงเหมือนคนที่ชื่นชม Inception ย่อมมีมากกว่า Source Code เสมอไปละมั้ง

18.5.54

My Sassy Book ตอน 30: 51 มหาวิบัติวันสิ้นโลก

51 มหาวิบัติวันสิ้นโลก

(51 Ways to protect a girl)

Usamaru Furuya แต่ง
5 เล่มจบ

ไม่ได้อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นนาน มาอ่านอีกทีก็เพลินดี แม้จะเทียบกันไม่ได้กับวรรณกรมแนวสูงศักดิ์ 

หนังสือและหนังประเภทภัยวิบัติหลายเรื่องอย่าง Lord of The Flies, Dragon Head หรือ Battle Royale เน้นสันดานมืดของคนได้อย่างใจร้ายใจดำ แต่เรื่องนี้ไม่หนักขนาดนั้น เพราะคนเขียนลึก ๆ ใจดี แฝงศรัทธาในมนุษยธรรมอยู่ ต่อให้มีช็อคบ้างเล็กน้อย อ่านตอนนี้หลังจากแผ่นดินไหวญี่ปุ่นหนักหมาด ๆ ก็ดูจะจังหวะเหมาะ  

ทั้ง ๆ ที่พล็อตแบบนี้มันก็มีทางเลือกได้ไม่กี่ทาง แต่คนเขียนหาทางออกให้พล็อตได้ดีมากอย่างคาดไม่ถึง ที่น่าสนใจคือมีคำลงท้ายของคนแต่งบอกที่มาที่ไปว่าบรรณาธิการเป็นคนเสนอไอเดียให้เขาแต่งเรื่องแนวภัยวิบัติ ตอนแรกเขาก็ไม่สนใจ แต่พอค้นคว้ากลับชอบ แล้วเอามาเขียนให้เรื่องดูหนักแน่นน่าเชื่อถือ แล้วในแต่ละเล่มช่วงท้ายก็มีคำแนะนำประสบการณ์จริงของการรับมือกับแผ่นดินไหวด้วย 

17.5.54

My Sassy Book ตอน 29: Never Let Me Go กับ แว่วเสียงรายา



Never Let Me Go กับ แว่วเสียงรายา

แว่วเสียงรายา เรื่องสั้นของ พนมเทียน ภาษาสนุก อ่านเพลิน เป็นเรื่องสั้นหนึ่งในไม่กี่เรื่องของ พนมเทียน ที่ลูกชายคุณ ผาด พาสิกรณ์ รื้อเอามาพิมพ์ใหม่ เป็นเรื่องที่สมวัยนักเขียนวัย 22 ซึ่งอาจจะดูพล็อตคล้ายโน่นนี่นั่นไปตามเรื่อง ผสม ไรเดอร์ แฮ็กการ์ด อะไรแบบ King Solomon’s Mines หรือพล็อต “แดนสนธยา” ประมาณนั้น ผสมกับชื่อไทยใส่กลิ่นไทยอะไรไป ถ้าไม่เรียกร้องสาระอะไรมากนักก็น่าสะสมไว้ โดยเฉพาะปกคลาสสิกที่สวยเหลือเกินของ เหม เวชกร

Never Let Me Go ของ Kazuo Ishiguro ฉบับนิยายตอนแรกอ่านแล้วงง ๆ อยู่นาน เพราะมันไม่ได้พูดชัดตั้งแต่แรกว่ามันโลกแบบไซ-ไฟหรืออะไรแน่ พูดถึง carers กับ donors แต่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร กว่าจะรู้ว่ามันเป็นโรงเรียนแบบไหน หรือว่าเป็นมนุษย์อะไหล่ก็ครึ่งเล่มไปแล้ว (ในหนังบอกตั้งแต่เปิดเรื่องว่าเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์) แต่ความหนาของนิยายบรรยายรายละเอียดได้เยอะ มีตัวอย่างหลายตอนที่เห็นมิติยากแท้หยั่งถึงของ “เพื่อนรัก” รูธ และ ทอมมี่ ( Andrew Garfield ว่าที่ สไปเดอร์แมน คนใหม่) รวมทั้ง เคธี่ เอช (Carey Mulligan) นางเอก พอเป็นฉบับหนังมันเล่าเรื่องกระชับดีได้ใจความ แต่ก็สรุปเรื่องชัดไป รูธ (Keira Knightley) เลยดูขาดมิติเป็นตัวร้ายชัดมากไปหน่อย แต่ก็ถือว่าเล่าเรื่องดีกว่าหนัง มูรากามิ เรื่อง Norwegian Wood มาก ๆ เพราะยังเก็บความได้ไม่น่าเกลียด และหนังก็ถ่ายสวย คุมโทนสีได้ดีมาก ๆ เอาคนดัง ๆ อังกฤษมาเล่นเพียบอย่าง Chralotte Rampling กับ Sally Hawkins

Mark Romanek ดังทางทำมิวสิควีดีโอและเคยทำเรื่อง One Hour Photo ที่ โรบิน วิลเลี่ยมส์ แสดง ซึ่งคล้ายกับ Never Let Me Go อย่างหนึ่งคือเกี่ยวกับคนเหงาที่อยากเป็นส่วนหนึ่งกับคนอื่น (ครอบครัวหรือสังคมใหญ่) แต่โชคร้ายต้องถูกสาปให้จบชีวิตที่เหลือแบบเดียวดาย

ตอนดูหนังตกใจมาก เห็นหน้า นาตาลี ริชาร์ด ที่เล่นเป็นมาดาม นึกว่า แคลร์ เดอนีส์ มาเอง 

คุยกับ ก้อง ฤทธิ์ดี เขาบอกว่าฉบับหนังสือนั้นเศร้า แต่ฉบับหนังนั้นหดหู่ คงจะจริง

11.5.54

My Sassy Book ตอน 28: ลักษณ์อาลัย โดย อุทิศ เหมะมูล และ Japan and I

ลักษณ์อาลัย 

นิยายเรื่องล่าสุดของ อุทิศ เหมะมูล เปิดบริสุทธิ์แล้วที่นิตยสาร ขวัญเรือน เล่มล่าสุด ปกแพนเค้ก ต้นเดือนพฤษภาคม มาบทแรกก็เริ่มบทอัศจรรย์พันลึกชวนติดตามกันทีเดียว ฟังดูติดเรทอย่างเดียวเหรอ ก็ไม่ใช่หรอก ตัวละครต่างหากที่สำคัญ หลังจากโชว์ภาษาและคำถามเชิงปรัชญากาแล็กซี่เรื่องความตายของท่านพ่อที่เอื้ออำนวยของขวัญชั้นดีให้ลูกชาย “ร่วมรักกับความตาย” แล้ว น่าจะไม่ยากเลยที่คนอ่านจะสะดุดตากับตัวละครนำชายหญิงที่เปิดเรื่องซึ่งปูมิติชวนค้นหา ขณะเดียวที่ใกล้ตัวแต่ขณะเดียวกันก็คงความเร้นลับ มีทั้งความโบราณและความร่วมสมัยปลายเท่ที่รวยรินอย่างบรรจง 

ยิ่ง อุทิศ เคยเปรยไว้กับเราด้วยแล้วว่านี่มันนิยายของสองโลก สองยุคสมัยที่ ลับแล แก่งคอย จะเป็นแค่นิยายเด็ก ๆ ทวิภพคงต้องมีหลบสก้อยเตอร์แว้นซิ่งก็คราวนี้

“ลักษณ์อาลัย” เรื่องใหม่เพิ่งเผยโฉม แต่เจ้าตัวบอกว่าเขียนนิยายเรื่องใหม่ไปได้เยอะแล้วด้วย


Japan and I

บันทึกการเดินทางไปญี่ปุ่น ของ อุทิศ เหมะมูล นักเขียนซีไรต์ปี 2552 จาก “ลับแล แก่งคอย” 

ตอนแรกกลัวว่าคนเขียนจะต้องเชียร์ญี่ปุ่นทั้งเล่มหรือเปล่า แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ต้องห่วง เพราะเป็นบทสังเกตการณ์ของ อุทิศ ที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้โลกกว้างทุกนาทีของเขาได้อย่างละเอียดอ่อน มีบทหยิกแกมหยอก และบททึ่งกับวิถีทางแห่งญี่ปุ่นที่น่าประทับใจหลายอย่าง คนอ่านก็จะได้รู้หลายอย่างในการอ่านโลกของ อุทิศ เชื่อมโยงวัฒนธรรมยำใหญ่ของไทยที่รวมฝรั่งกับเอเชียเข้าด้วยกัน ใช่ว่าอ่านหนังสือเที่ยวญี่ปุ่นแล้วจะรู้เรื่อง นากิป มาร์ฟูซ วรรณกรรมอียิปต์ไม่ได้นี่นะ

เสียดายตอนผจญภัยในญี่ปุ่นเจอ ปราบดา หยุ่น เล่าให้ฟังนิดเดียวว่าคุยอะไร ตลกดีที่ตอนอยู่เมืองไทยสองคนนี้ไม่เคยคุยกันมาก่อน

Japan and I เป็นหนังสือจากสำนักพิมพ์อัมรินทร์ หาซื้อได้ที่ร้านนายอินทร์ ขอกระซิบบอกว่า อุทิศ เป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีคาถาทางภาษาที่งดงาม ที่เด็ดกว่าหนังสือท่องเที่ยวทั่วไปอีกอย่างคือ อ่านแล้วรู้ถึงอารมณ์ขัน ความช่างคิด และความอ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมเรียนรู้โลกของผู้เขียน และนี่คือคะแนนสำคัญของการเขียนชั้นแนวหน้า อ่านแล้วรู้ได้เลยว่าที่ข้าน้อยเคยเขียนเรื่องเที่ยวมันน์ไฮม์ในเว็บโอเพ่นนั้นมันเด็ก ๆ 

2.5.54

My Sassy Book ตอน 27: หลับไม่ตื่น Chandler's The Big Sleept

หลับไม่ตื่น

โดย filmvirus

เกือบลืมไปเลยว่ามีหนังสือของ เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ (Raymond Chandler) อยู่ที่บ้าน 4 เล่ม แต่แทบไม่เคยหยิบมาอ่านจริงจัง ยกเว้นเล่ม Poodle Springs ที่เขาแต่งไม่จบเพราะตายก่อน แล้วได้ โรเบิร์ต บี. ปาร์คเกอร์ มาแต่งต่อให้ จำเรื่องราวไม่ได้ อ่านมา 25 ปีแล้ว จำได้อย่างเดียวว่าให้บรรยากาศการเชือดเฉือนหักหลังแบบหนังแนวฟิล์มนัวร์ดี และที่สำคัญให้รายละเอียดชีวิตจิตใจและความมีศักดิ์ศรีของนักสืบแบบลูกผู้ชายได้ดีมาก 

จากโน่นเป็นต้นมา ก็นั่นแหละ ไม่ได้อ่านอีกเลย แต่ได้ดูหนัง The Big Sleep กับ The Long Goodbye (ฉบับ โรเบิร์ต อัลท์แมน กำกับ) ซึ่งเป็นหนังดีมากทั้งคู่ แต่เรื่องหลังทำเป็นบรรยากาศร่วมสมัยยุค 70 หลังยุคบุปผาชนและสงครามเวียดนาม เลยได้บรรยากาศหนังปฏิรูปขนบหนังดั้งเดิมแบบ Revisionist Film Noir อารมณ์ระโหยระเหี่ยแบบไม่รู้จะสืบหาความจริงไปทำไม เพราะมีแต่จะพบความจริงที่เจ็บปวด ก็นอกจากมนุษยธรรมระหว่างคนจะร่อยหรอแล้ว คุณธรรมน้ำมิตรแบบโกวเล้งก็ยังไม่เหลือให้พึ่งพิงเสียอีก เวอร์ชั่นนักสืบ ฟิลิป มาร์โลว์ ของผู้กำกับ อัลท์แมน (Gosford Park, M.A.S.H, Nashville, Short Cuts, The Player) อันนี้เจ็บปวดนัก เมื่อเพื่อนเล่นเพื่อนกันเอง !

เวลาผ่านไปนานมาก ถึงเพิ่งได้อ่าน “หลับไม่ตื่น” (The Big Sleep) เป็นครั้งแรก แถมยังเป็นฉบับแปลไทยซะด้วย หนำซ้ำยังเป็นคุณ ภัควดี มีนามสกุล วีระภาสพงษ์ แปลอีกต่างหาก ได้อรรถรสมาก แปลกใจอยู่แต่แรกเห็นตัวเล่มที่งานหนังสือ เพราะเคยถาม คุณ เรืองเดช จันทรคีรี ป๋าใหญ่แห่ง รหัสคดี เมื่อหลายปีก่อนว่าเมื่อไรจะถึงคิวนักสืบบู๊ (Hard-Boiled) ของ เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ (Raymond Chandler) และ แดชเชียล แฮมเม็ตต์ (Dashiell Hammett)เสียที แต่แกเคยบอกว่ายังอีกนาน เอาน่ะ มาช้าดีกว่าไม่มา แถมมาแล้วก็มาครบยศ สมศักดิ์ศรีเสียอีกด้วย 

“หลับไม่ตื่น” (The Big Sleep) ฉบับภาพยนตร์เป็นหนังที่สมคำคลาสสิกโดยแท้ นี่ล่ะต้นฉบับหนังคลาสสิกฮฮลลีวู้ดที่ปรุงรสได้ถูกใจคนดู นั่นคือทำไมหนังฮอลลีวู้ดถึงครองโลก สามารถรักษาอรรถรสของบทประพันธ์ไว้ได้ค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันก็มีแบบฉบับแห่งความเท่ และดัดแปลงให้มีรสโรมานซ์พอหอมปากหอมคอ เรียกว่าหาทางออกให้ได้ทุกคนพอใจว่างั้นเถอะ โครงเรื่องและฉากในนิยายก็เดินตามรอยหลักเป็นส่วนใหญ่ ที่ปรับแล้วน่าสนใจมาก ๆ ก็คือให้ วิเวียน เสติร์นวู้ด ลูกสาวเศรษฐีซึ่งเดิมเป็นนางตัวแสบ กลายเป็นมีคุณสมบัติเสริมแบบนางเอก (เขี้ยวคม) ขึ้นมา ซึ่งดูดีมีสกุล ไม่น่าเกลียดดูยัดเยียดเพียงเพื่อเอาใจคนดูหนังอย่างที่บางคนอาจหวั่นระแวง และก็ตามสไตล์หนังของ ฮาวเวิร์ด ฮอว์คส์ (ผู้กำกับหนังคลาสสิกอย่าง Hatari, Red River, Rio Bravo, Only Angels Have Wings, Scarface, Balls of Fire, El Dorado) ที่ต้องมีบทดวลปากคอของตัวแสดงแต่ละราย โดยเฉพาะบทตีฝีปากของพระนาง ที่คงไว้ซึ่งลายเซ็นของ ฮอว์คส์ ได้อย่างเฉียบคม กลมกลืนทำให้เรื่องราวเดินหน้าแล้วไม่รู้สึกว่ากำลังถูกป้อนพล็อต เพราะแค่รายละเอียดพระเอกนางเอกและตัวประกอบก็มีสีสันเอาอยู่  

บทรุกรับระหว่าง ฟิลิป มาร์โลว์ ที่เป็นชายแกร่งพร้อมรับมือกับหญิงสาวพราวเกม อย่าง วิเวียน ในหนังนี่แค่บทฉะปากก่อนหลังการต่อบุหรี่ของพระนาง และการแลกจุมพิตแบบ “ฉันชอบนะ ฉันขออีก” และการรวมหัวกันเล่นสนุกคุยโทรศัพท์แกล้งตำรวจก็เผ็ดแสบซ่านไปอีกแบบที่หนังสือไม่มี  

ที่เห็นได้ชัด และเป็นเสน่ห์การเขียนของ แชนด์เลอร์ คือการปูให้คนรู้สึกยอมรับตัวเอก ฟิลิป มาร์โลว์ ซึ่งเป็นต้นแบบความเท่แบบหนุ่มห้าวที่มีสปิริต มีหลักการ อาจจะปากคอร้ายไปบ้าง เจ้าเล่ห์ก็ไม่น้อย แต่ก็เป็นไปตามความจำเป็นของเนื้ออาชีพ ลึก ๆ แล้วคนอ่านทุกคนเข้าใจได้ว่าการอยู่ในสังคมกักขฬะไม่ใช่เรื่องง่าย คนอ่านรู้สึกเหนื่อยแทน เพราะสัมผัสได้กับความจริงโหดร้ายที่น่าเหนื่อยหน่าย อย่างตอนหนึ่งที่สารวัตรเกรกอรี่ พูด ซึ่งดูเป็นคำทำนายให้นิยายและหนังรางวัลออสการ์อย่าง No Country for Old Men (Cormac McCarthy แต่ง) อีกที

“ผมเป็นตำรวจ ตำรวจธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ซื่อสัตย์ใช้ได้ ซื่อสัตย์เท่าที่คุณจะคาดหวังได้จากคนที่อยู่ในโลกที่ตกยุคไปแล้ว” 

แล้วก็ตามด้วยประโยคอื่นๆ ที่สะท้อนความระอามลทินในวงจรบาป (หน้า 214)

ที่น่าประทับใจในแบบง่าย ๆ ก็คือบทที่ มาร์โลว์ รำคาญยายน้องของ วิเวียน คือ คาร์เมน ไล่เธออกจากห้องพักของเขา เพราะหนึ่งในสวรรค์น้อย ๆ ไม่กี่อย่างที่เขามีและหวงแหน ก็คือห้องพักและสมบัติน้อย ๆ ของเขาเอง ซึ่งมันเป็นสุดถวิลหาของเขาหลังจากการรับมือกับปัญหานานับประการ ถึงตัวห้องเล็กเท่ารูหนู หรือข้าวของในห้องมันจะเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีค่า หากเทียบกับสมบัติของพวกลูกเศรษฐีเอาแต่ใจ ที่คอยใช้เงินฟาดหัวคนอื่น แต่เขาก็ภูมิใจในศักดิ์ศรีของการหาเลี้ยงตัวเอง 

“ผมไม่สน ผมไม่สนว่าเธอจะด่าผมยังไง.......แต่นี่คือห้องพักที่ผมต้องซุกหัว มันคือทุกอย่างที่ผมพอจะเรียกได้ว่าบ้าน” (หน้า 168) 

พูดง่าย ๆ คือคนอ่านสัมผัสได้ถึง “ตัวตนคนทำงาน” ที่ว่ายวนวงเวียนกรรมในย่านแอลแอ แหล่งเสื่อมโทรม ธุรกิจบาร์เหล้า การพนัน ค้าภาพโป๊ ดังนั้น ต่อให้เป็นแค่ตัวละครกระจอกจิ๊บจ๊อย อย่างไอ้ตัวจ้อย แฮรี่ “หนุ่มตัวเล็ก” ที่ไม่มีพิษสง ซึ่งตามสะกดรอย มาร์โลว์ เพราะเงินแค่สองร้อยเหรียญ เพื่อหวังจะไปตั้งตัวสักแห่งอยู่กินกับผู้หญิงที่ตัวเองรัก แต่สุดท้าย แฮรี่ ก็ถูกฆ่าปิดปาก แม้กระนั้นก่อนตายก็ไม่ยอมเปิดปากบอกที่ซ่อนเธอ ซึ่งจะทำให้คนรักพลอยเดือดร้อนไปด้วย และมุมอีกอย่างที่พิเศษมาก แฮรี่ในหนังจะโผล่มาครั้งแรกตอนที่ มาร์โลว์ เสียทีถูกตัวร้ายซ้อม แล้วเขาก็ยังย้อน มาร์โลว์ กลับหลายครั้งว่าไม่อายบ้างเหรอที่มาเอาเปรียบเขา อันนี้ฉบับหนังเพิ่มรายละเอียดให้ตัวละครประกอบในนิยายได้ไม่เบา

มาร์โลว์ เองก็เช่นกัน เขาอาจดิบ เถื่อน แต่ลึก ๆ ใจเขายืนข้างคนพวกนี้ คนที่อ่อนแอ กลัวเป็น แต่ใจสู้ และเขาเข้าใจได้ถึงศักดิ์ศรีของคนที่มีอุดมการณ์ ตัวเขาเองก็มีอุดมการณ์ มีคุณธรรมเฉพาะแบบในใจ ไม่รับจ๊อบเพียงเพื่อเอาเงิน ถ้าทำได้ไม่ถึงคุณภาพมาตรฐานของตัวเอง เขาก็ไม่อยากรับเงินมานอนตีพุงเอาสบาย ตัวละครแบบนี้แหละที่มักจะปรากฏในหนังของ ฮาวเวิร์ด ฮอว์คส์ ศักดิ์ศรีและการทำงานในหมู่คนทำงาน (ในหนังของ ฮอว์คส์ ส่วนใหญ่มักจะต้องสละตัวเองเพื่อมาเน้นงานกลุ่ม) ผู้หญิงที่อยากจะเข้ามาร่วม หรือหลงรักผู้ชายแบบนี้ ก็ต้องขยับตัวให้เก่งและตีคู่ประมาณกัน และนั่นเป็นที่มาของอารณ์ขัน และการเชือดเฉือนเกมกลที่คู่ชายหญิงจะปะทะกันตลอดเรื่อง อันเป็นเอกลักษณ์หนัง ฮอว์คส์ ที่เขาทำถนัดไม่เลิก แล้วก็คงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม เขาจึงชอบลากนักเขียนแมนแมน อย่าง เฮมมิงเวย์, วิลเลี่ยม โฟล์คเนอร์ หรือ แชนด์เลอร์ (พากันได้ดิบได้ดีกับรางวัลโนเบลกันในเวลาต่อมา) เข้ามามีส่วนร่วมทำหนังกับเขา (แต่แน่อน นักเขียนบท จูลส์ เฟิร์ทแมน กับ ลีห์ แบร็คเก็ตต์ ก็มีชื่อร่วมเขียนบทด้วยกับพวกคนดังเหล่านี้ และน่าจะเป็นคนที่เสริมบทพูดเด็ด ๆ) 

ที่เพิ่งสังเกตเห็น ในหนังของ ฮอว์คส์ จำเป็นจะต้องมีฉากนางเอกร้องเพลง ในเรื่องให้ วิเวียน (ลอเรน เบคอลล์) มาร้องเพลงเสียงห้าวทุ้มลึกอีกแล้ว แบบที่เธอร้องในเรื่องก่อน To Have and Have Not ในหนังเรื่องอื่น ๆ ของ ฮอว์คส์ ก็มี เป็นฉากประเภทร้องเพลงหมู่ คือ ให้นางเอกยืนร้องนำกลางวง มีหนุ่ม ๆ รายล้อม ซึ่งแน่นอนว่าฉบับนิยายไม่มีตอนนี้ แต่ที่คนดูหนังทุกคนลืมไม่ลงแน่ ๆ ก็คือฉากที่พระนางประปากกันแล้วต่อบุหรี่ ซึ่งเป็นภาพเวียนซ้ำอย่างน้อยสามครั้งตั้งแต่เครดิตเปิดเรื่อง อันนี้ถือเป็นสัญญาณความร่วมมือของพระนางได้ดีกว่าฉากคุยหรือฉากแอ็คชั่นแบบอื่น ๆ  

พอเอา ฮัมฟรี่ย์ โบการ์ต มาเล่นเป็น มาร์โลว์ ผู้กำกับ ฮอว์คส์ ก็ดัดแปลงเรื่องให้ใกล้เคียงกับตัวคนแสดง ไม่รู้เป็นมุขตลกของคนทำหนังหรือเปล่า ในนิยายฉากแรก ที่คาร์เมน น้องสาว วิเวียน โผล่ออกมาเจอ มาร์โลว์ เธอทักว่า “สูงนะคุณน่ะ” อันนี้เป็นประโยคที่เธอยิงใส่เขาทั้งเรื่อง แต่ในหนังเปลี่ยนคำพูดให้เข้ากับความสูงของ โบการ์ต ซึ่งเตี้ยกว่าสองดาราสาวที่เล่นประกบกับเขาเสียอีก “ไม่ค่อยจะสูงเท่าไรนะคุณ” ส่วนทาง โบการ์ต (มาร์โลว์) ตอบว่า “ผมก็พยายามอยู่” (เพิ่งรู้ตอนหลังว่า โบการ์ต ต้องใส่รองเท้าเสริมส้นเวลาเข้าฉากกับสาว ๆ)

ก็นั่นแหละ โบการ์ต นั้นออกจะเตี้ยไปหน่อย แถมยังไม่หล่อ แต่เขาก็มีมุมโปรยเสน่ห์แบบแมนแมนที่น่าเชื่อถือได้ ในเรื่องหนังจะเห็นชัดกว่านิยาย เพิ่มมุมให้สาว ๆ ในเรื่องปลื้มได้หลายคน (นี่หรือเปล่าที่ เอียน เฟลมมิ่ง ชอบแล้วไปเน้นบทเจ้าชู้ของ เจมส์ บอนด์) ทั้งสาวที่ร้านขายหนังสือ สาวที่บาร์ หรือสาวขับแท็กซี่ ซึ่งอย่างหลังนี้สอดรับดีกับลักษณะหนังของ ฮอว์คส์ ที่ให้ผู้หญิงเก่งฉกาจใกล้เคียงกับผู้ชาย และอีกอย่างคือ ปีที่หนังสร้างซึ่งค่อนมาทางช่วงสงครามโลกครั้งที่สองใกล้เลิก บทบาทผู้หญิงจึงก้าวมาข้างหน้า ออกมาทำงานนอกบ้านกันเยอะต่างจากสมัยปีที่ยังเป็นนิยาย

ที่อยากให้มีในหนังคือบทพูดของ วิเวียน ในหนังสือ เมื่อแรกเจอ มาร์โลว์ กวนตีน
“พระเจ้า คุณนี่ช่างเถื่อนหล่อล่ำได้ใจ! ฉันน่าจะเอารถบูอิคฟาดหัวคุณ”

แต่บทพูดที่เพิ่มเข้ามาในหนังหลาย ๆ ฉากแสบกว่านิยายอีก อย่างตอนที่ ฟิลิป มาร์โลว์ ทำ วิเวียน ฉุน แล้วเดินผละมา 

วิเวียน “คุณล้ำเส้นไปแล้วนะ มาร์โลว์”
มาร์โลว์ “ทำเป็นปากเก่งกับผู้ชาย นี่ขนาดเขากำลังเดินออกจากห้องนอนคุณเนี่ยนะ”

และการเล่นโต้ปากคำแบบหนังฟิล์มนัวร์แบบนี้ บทพูดระหว่าง มาร์โลว์ กับ เอ็ดดี้ มาร์ส เจ้าของบาร์ที่มีเงื่อนงำ ถ้าแปลอาจไม่สนุกเท่าภาษาเดิม

Eddie Mars: Convenient, the door being open when you didn't have a key, eh? 
Philip Marlowe: Yeah, wasn't it. By the way, how'd you happen to have one? 
Eddie Mars: Is that any of your business? 
Philip Marlowe: I could make it my business. 
Eddie Mars: I could make your business mine. 
Philip Marlowe: Oh, you wouldn't like it. The pay's too small.

แล้วในหนังก็มีประโยคที่ มาร์โลว์ คุยกับ วิเวียน แบบยอกย้อน ตอนที่เธอคุยกับเขาเรื่องพนันม้า แต่เปรียบเปรยเป็นเงื่อนงำแฝงนัยยะทางเพศ

Vivian: Speaking of horses, I like to play them myself. But I like to see them workout a little first, see if they're front runners or comefrom behind, find out what their whole card is, what makes them run. 
Marlowe: Find out mine? 
Vivian: I think so. 
Marlowe: Go ahead. 
Vivian: I'd say you don't like to be rated. You like to get out in front, open up a little lead, take a little breather in the backstretch, and then come home free. 
Marlowe: You don't like to be rated yourself. 
Vivian: I haven't met anyone yet that can do it. Any suggestions? 
Marlowe: Well, I can't tell till I've seen you over a distance of ground. You've got a touch of class, but I don't know how, how far you can go. 
Vivian: A lot depends on who's in the saddle.

ที่เด็ดอีกอันคือภาพตอนจบ หลังจากพระนางวางแผนซ้อนหมากจัดการกับตัวร้ายเสร็จ ดูยังไงก็เป็นหนังที่ทันสมัยไม่เหมือนหนังที่เก่า กว่า 50-60 ปีแล้ว

Vivian: You've forgotten one thing - me. 
Philip Marlowe: What's wrong with you? 
Vivian: Nothing you can't fix.


“หลับไม่ตื่น” เป็นงานที่แฟนนิยายนักสืบทุกคนควรจะลองอ่าน แฟนหนังสือ ฮารูกิ มูรากามิ ก็ควรจะอ่านด้วย เพราะนิยาย A Wild Sheep Chase กับ Hard-Boiled Wonderland and The End of the Worldของเขาก็เหมือนการปรุงเรื่องนักสืบแบบสมัยใหม่ (ผสมผีและไซ-ไฟ เข้าไป) และตัว มูรากามิ เอง ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเป็นแฟนนิยายของ แชนด์เลอร์ และ แฮมเม็ตต์ ด้วย ไม่เชื่อไปพลิกดูหนังสือชื่อ Haruki Murakami And The Music Of Words ของ เจย์ รูบิ้น

อย่าลืมอุดหนุน “หลับไม่ตื่น” ของสำนักพิมพ์รหัสคดี หากอยากจะให้คุณ ภัควดี และ รหัสคดี พิมพ์นิยายเรื่องอื่น ๆ ของ แชนด์เลอร์ และ แฮมเม็ตต์ ก็ถ้าแฟนนักอ่านไม่สนับสนุนหนังสือดี ๆ กันเอง ก็รับรอง ไม่ต้องหวังเจ้าอื่นมาทำให้แล้วล่ะคราวนี้

24.3.54

รสหญิงปรุงแกงเผ็ด

นี่เพิ่งไปดูละคร “รสแกง” (Taste of Curry) ของ จารุนันท์ พันธชาติ ที่ เดโมเครซี่ เธีร์เตอร์ มา 2 รอบ รอบสองดูกับ 4 หนุ่มนักทำหนังโดมิโน่ฟิล์ม และพี่ สมเกียรติ์ วิทุรานิช (October Sonata) เยี่ยมยอดตามมาตรฐาน บี-ฟลอร์อีกเช่นเคย และคราวนี้ได้ดูกลุ่มนี้แสดงในลีลาเบาสบายแปลกตา เสียดายถ้าคนมีความสามารถแบบชาวคณะละคร บี-ฟลอร์ จะไม่ได้มีโอกาสเป็นที่รู้จักของคนดูละครเวที-ละครทีวี-หนังจอเงิน ให้มากกว่านี้อีก โดยเฉพาะกับนักแสดงแบบ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ และ อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ ต่อให้ใครบอกว่า สินจัย เยี่ยมยอดเท่าไรก็เหอะ แต่ถ้ามีคนไทยคนไหนทำหนังเน้นการแสดงขั้นเทพของ John Cassavetes ล่ะก็ 2 สาวไทยนี่เท่านั้นที่จะรับมือไหว เรื่องพลังการแสดงเข้ม ๆ นั้นหายห่วง ดุจดาว คงจะเล่นบทเจ้าแม่ไฟแรงสูงประมาณ Isabelle Huppert ของฝรั่งเศส และถ้าประกบ กับ และ อรอนงค์ ในบทหักขั้วเฉือนคมหญิงแบบ Petra Von Kant (ซึ่ง จุ๋ม สุมณฑา สวนผลรัตน์ เคยแสดง) ก็คงแม่นมั่น 

ว่าไปแล้วน่ามีใครนำ 3 สาวนี่มาเล่นหนังโดยเอามาเล่นเป็นพี่น้องแบบ Three Sisters ของ Chekhov (เคยดูฉบับหนังปี 88 ชื่อ Love and Fear ของ มาเกอเร็ตเต้ ฟอน ทร็อตต้า ที่ Fanny Ardant, Valeria Golino กับ Greta Scacchi แสดงเป็น 3 ใบเถา)

อยากให้มีคนนำความ intimate ของหนังมารวมกับการแสดงขั้นเทพของคนละครเวที (ยังไม่เคยมีหนังแบบนี้เลยนี่นะ) ต้องคิดเขียนบทให้สาว ๆ พวกนี้ได้แสดง เป็นเรื่องแบบวงชีวิตผู้หญิงจริง ๆ ไม่ต้องมีตัวแสดงชายเลยก็ได้ในเรื่อง พระเอกจำเป็นเหรอ ชีวิตพระเอกผู้ชายก็มีในหนังทั่วไปมากอยู่แล้ว คอนเสิร์ตบอยแบนด์ อคาเดมี่ก็ดูไปสิ โปสเตอร์หนังก็ขายแต่หนุ่ม ๆ หรือ แมน ๆ ขายได้จนแก่ บรูซ วิลลิส, คลิ้นท์ อีสต์วู้ด น่าเบื่อจริง ๆ แล้วผู้หญิงแท้กับหญิงรักหญิงก็ต้องดูหนังแอ็คชั่นตามแฟน ชิมิ ชิมิ

ไม่ต้องกลัวเรื่องการแสดงใหญ่ของคนละคร เพราะคนแสดงเขามีเซ้นส์ สามารถเพิ่ม-ลดให้เล็กลงได้ อยากให้หนังของพี่ สมเกียรติ์ เป็นจริง เผื่อจะได้เชิญ ดุจดาว มาเล่น

6.3.54

“นักเรียนหญิง” และ "ภูเขาไฟฟูจิ" ของ ดะสะอิ โอะซะมุ (Dazai Osamu)


จาก “นักเรียนหญิง” กาญจนา ประสพเนตร แปลจาก Josei to ของ ดะสะอิ โอะซะมุ (Dazai Osamu)



ที่ว่าเวลาตื่นแล้วลืมตาแป๋วขึ้นมาทันทีนั้นโกหกชัด ๆ มันต้องมีขุ่นโคลนขึ้นมาก่อนแล้ว ในช่วงนั้นตะกอนจะค่อย ๆ นอนก้นทำให้ส่วนบนค่อย ๆ ใสขึ้น ในที่สุดเมื่อรู้สึกเหนื่อยนั่นแหละ เปลือกตาจึงได้เผยอขึ้น เช้าขึ้นทีไรก็มีแต่เรื่องน่าอับอายและความทุกข์ประดังกันเข้ามาในหัวอกมากมายจนทนไม่ได้ ไม่ไหว ไม่ไหว สารรูปเราตอนเช้า ๆ นี่น่าเกลียดที่สุด ท่อนขาทั้งสองอ่อนล้าไปหมดจนไม่อยากทำอะไรเลย คงเป็นเพราะนอนไม่เต็มอิ่มกระมัง ที่ว่ายามเช้าช่วยให้สุขภาพดีนั้นไม่จริงเลย มันเป็นสีเทาต่างหาก วันไหน ๆ ก็เหมือนกัน เป็นที่สุดแห่งความว่างเปล่า ฉันมักรู้สึกเบื่อชีวิตทุกครั้งเมื่อลืมตาตื่นมาบนที่นอนในตอนเช้า เซ็งเหลือเกิน มีแต่เรื่องน่าเกลียดที่ต้องสำนึกผิดหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งเมื่อมันรวมตัวขึ้นมาเป็นกลุ่มก้อนครั้งใดก็ทำให้จิตใจหดหู่จนต้องดิ้นพราดทุกที

ยามเช้าช่างโหดร้าย

จาก “ร้อยมุมมองภูเขาไฟฟูจิ” ลัดดา แก้วฤทธิเดช แปลจาก Fugakuhyakkei ของ ดะสะอิ โอะซะมุ (Dazai Osamu)

ภูเขาฟูจิที่มองจากหน้าต่างอพาร์ทเมนท์ที่โตเกียวนั้นช่างดูซึมเศร้า ในช่วงฤดูหนาวจะมองเห็นได้ชัดเจน รูปสามเหลี่ยมเล็ก ๆ สีขาวโพลนที่โผล่พ้นเส้นขอบฟ้าออกมาอย่างเงียบ ๆ ก็คือ ฟูจิ ไม่ใช่สิ่งยิ่งใหญ่อะไรเลย มันเป็นเพียงแค่ขนมคริสต์มาสชิ้นหนึ่ง นอกจากนี้ไหล่เขายังเอียงลาดไปทางซ้ายดูไม่มั่นคงเหมือนกับเรือรบซึ่งส่วนท้ายเรือกำลังจมหายไปเรื่อย ๆ ในฤดูหนาวเมื่อสามปีก่อน มีคน ๆ หนึ่งได้เปิดเผยความจริงที่ไม่คาดฝันให้ฟัง ข้าพเจ้าจึงเกิดความรู้สึกสับสนวุ่นวายใจ และในคืนนั้นเอง ข้าพเจ้าได้ดื่มเหล้าอย่างหัวราน้ำตามลำพังที่ห้องพักในอพาร์ทเมนท์ ดื่มไปโดยไม่ได้หลับแม้แต่สักงีบเดียว พอรุ่งสางข้าพเจ้าลุกไปเข้าห้องน้ำ มองเห็นภูเขาฟูจิจากหน้าต่างมุ้งลวดสี่เหลี่ยมในห้องน้ำ ข้าพเจ้าจะไม่มีวันลืมภูเขาฟูจิในวันนั้นเลย เล็ก ขาวโพลน และเอียงลาดในทางซ้ายเล็กน้อย คนขายปลาที่กำลังถีบจักรยานไปตามถนนราดยางมะตอยเบื้องล่างหน้าต่างนั้นพึมพำออกมาได้ความว่า “โอ้โฮ เช้านี้เห็นฟูจิได้ชัดเจนเลย หนาวจัง” ข้าพเจ้ายืนอยู่ในห้องน้ำที่มืดนั้น เอามือลูบมุ้งลวดที่หน้าต่างไปพลางก็ร้องไห้น้ำตาซึม ข้าพเจ้าไม่อยากจะหวนคิดถึงความทรงจำอย่างนั้นอีก

5.3.54

Matsu ของ ดะสะอิ โอะซะมุ (Dazai Osamu)


จาก “คอย” มณฑา พิมพ์ทอง แปลจาก Matsu ของ ดะสะอิ โอะซะมุ (Dazai Osamu)

นี่ฉันมานั่งที่นี่ทุกวันเพื่อคอยใครกันนะ ฉันคอยคนชนิดไหน ไม่ใช่.....คนที่ฉันคอยอาจจะไม่ใช่มนุษย์ก็ได้ ฉันเกลียดมนุษย์ ไม่...ฉันกลัวต่างหาก เวลาที่ฉันต้องทักทายผู้คนไปตามแกนเพื่อพบหน้ากันว่า สบายดีหรือคะ อากาศหนาวขึ้นแล้วนะคะ ฉันรู้สึกขมขื่นอย่างไรบอกไม่ถูก ราวกับว่าในโลกนี้ไม่มีใครจะพูดโกหกได้เท่าฉันอีกแล้ว และฉันจะเกิดความรู้สึกอยากตายขึ้นมา นอกจากนั้น อีกฝ่ายหนึ่งยังพูดอะไรอย่างอื่นอีก เช่น พูดเตือนให้ฉันระวังตัว หรือพูดสรรเสริญเยินยอจนเกินความจริง แสดงความรู้สึกที่ฟังดูน่าเลื่อมใส ฉันฟังแล้วก็ให้รู้สึกเศร้าใจกับความระแวดระวังของอีกฝ่ายหนึ่ง และในที่สุด ก็เกิดเป็นความเบื่อหน่ายโลกจนทนไม่ไหว

*************************************************************************************

Takako Matsu กับ Tadanobu Asano นำแสดงใน The Villon's Wife (Viyon No Tsuma) ที่สร้างจากเรื่องสั้นของ ดะสะอิ โอะซะมุ (Dazai Osamu)

ฉันรู้สึกขันขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก จึงหัวเราะออกมาดัง ๆ ฝ่ายภรรยานั้นหน้าแดงออกมานิดหนึ่ง ฉันรู้สึกว่ากำลังเสียมารยาทกับฝ่ายเจ้าของร้านผู้ชาย แต่ทำอย่างไรก็ไม่สามารถจะหยุดหัวเราะได้ ช่างน่าขันเหลือเกิน ฉันหัวเราะจนน้ำตาไหล นึกถึงสิ่งที่สามีเขียนเอาไว้ในกวีนิพนธ์บทหนึ่งที่บอกว่า “การหัวเราะครั้งใหญ่ตอนสิ้นโลก” ขึ้นมาทันที มันคงจะหมายถึงความรู้สึกทำนองนี้กระมัง

จาก “เมียชายโฉด” มณฑา พิมพ์ทองแปลจาก Viyon no Tsuma ของ ดะสะอิ โอะซะมุ (Dazai Osamu)

6.1.54

My Sassy Book ตอน 26: ขบวนการนักสืบ Neet

Kamisama no memo chou โดย Hikaru Sujii 

นี่สินะคือไลต์โนเวล หรือ J-Light หนังสือที่วัยรุ่นเขาอ่านกัน เป็นหนังสือสมกับวัยที่ตัวเอกอายุ 15, 16 หรือไม่เกิน 20 ปี ของสำนักพิมพ์ Bliss ทำไมซื้อมาอ่านทั้งๆ ที่ แทบไม่ได้อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมานานมาก (มียกเว้นอยู่ 3-4 เล่มเองมั้ง) ที่หยิบมานั่นคงเป็นเพราะหนังสือเล่มเล็กน่ารัก เห็นเชิงอรรถที่พูดถึง เจมส์ ทิปทรี The Only Neat Thing To Do, ดอสโตเยฟสกี้, อีวาน ตูร์เจเนฟ และ มูรากามิ (คนแต่งสุงิอิ ฮิคารุ คงเป็นหนอนหนังสือที่เข้าท่าคนหนึ่ง) ด้วยพล็อตแบบวัยรุ่นญี่ปุ่นที่ไม่ต่างกันกับเรื่องอื่น ๆ นัก ประเภทวัยรุ่นแปลกแยก เนิร์ด ๆ หน่อย ๆ อัจฉริยะคอมพิวเตอร์ที่เป็นเด็กผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มกระป๋องด็อกเตอร์เป็ปเปอร์เป็นลัง ๆ ไม่ออกจากห้อง แต่เป็นนักสืบโคตรเก่ง ดุและอารมณ์ร้ายขนาดแก๊งผู้ชายอันธพาลยังกลัว บรรดาคนแปลกหน้าที่ดูอันตรายร้ายนิด ๆ ที่กลายมาเป็นเพื่อน วัยรุ่นที่เจ็บป่วยด้วยโรค ยา อาชญากรรมอันตราย ทำให้คิดสั้นฆ่าตัวตาย การมารวมตัวกันสร้างสิ่งที่มีคุณค่าต่อคนอื่น มองข้ามความเจ็บปวด เลิกเก็บตัวและหันเข้าหาแสงสว่าง 

พล็อตแบบนี้ที่เจอซ้ำ ๆ กันจนเฝือ แต่พออ่านพ้นร้อยกว่าหน้าไปแล้ว รู้สึกว่ามันมีหัวใจจริงแอบอยู่ และการบรรยายที่ดูเพ้อฟุ้งแบบเด็ก ๆ หน่อย ๆ ก็กลายเป็นยอมรับได้ ยอมรับได้ดีมากเสียด้วย จนต่อมาตอนท้ายกลายเป็นบรรยายดี นี่ถ้าอ่านตอนวัยรุ่นคงจะชอบมากมายทีเดียว แต่เท่าที่เป็นก็ถือว่าเซอร์ไพรซ์ตัวเองน่าดู

Room in Rome ในห้องรักโรมรำลึก – การเยือนตลาดโคมแดงไทยโดยยินยอมของ Julio Medem


ใครจะไปคิดว่าจะมีหนังของ Julio Medem ออกขายอย่างถูกลิขสิทธิ์ !!!

ผู้หญิงสองคนตัวเปล่าเปลือยนัวเนียกันตลอดคืนในห้องนอน พล็อตหนังที่เกิดและจบลงในครบรอบหนึ่งวัน

นี่คงใกล้เคียงกับ ฆูลิโอ เมเด็ม (คนทำหนังจากสเปนแต่ใช้ภาษาชนกลุ่มน้อย-ภาษา Basque) ทำหนังโป๊ pink film แล้วมั้งเนี่ย ขณะที่ผู้ชายคาดหวังที่จะตะโบมเรือนกายของผู้หญิง (อย่าเพิ่งยิ้มกระหยิ่มใจเร็วไป) ส่วนสาวหญิงรักหญิงก็คาดว่าจะได้ชิ้นส่วนที่ตัวเองหวังและควรจะได้ แต่นี่มันหนัง เมเด็ม ที่อาจจะลดดราม่าลง แล้วโป๊มากขึ้น (นานกว่าเดิม) แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะฮ็อตมากขึ้น (ในทางหนึ่งหนังดราม่าเรื่องก่อน ๆ อาจจะอีโรติกหรือเร่าร้อนกว่า โดยเฉพาะเรื่อง Sex and Lucia) แต่ความลุ่มหลงของ เมเด็ม ดูจะยังอยู่ครบ ทั้งเรื่องของโชคชะตาความรักที่ฟ้าดลบันดาล แต่อาจกลับตารปัตร เรื่องคู่เสมือน คนรัก / พี่น้อง (รวมทั้งการขันแข่งระหว่างพี่น้อง / คนรัก) หรือเรื่อง ชื่อผวน Natasha / Sacha เรื่องอดีต ฝัน จินตนาการที่ปนเปกับประวัติศาสตร์และจักรวาลกันไปหมด (โยงกับภาพเขียนกรีกโรมันบนผนังห้องและภาพโลกและสุริยจักรวาลในคอม ฯ) 

แต่ในด้านกลับสำหรับชายกลัดมันที่คาดว่าจะเอาแต่ฉึกฉักขัดถู อาจจะต้องลดระดับตามันวาวลง แล้วด่า เชี่ย จะถกอะไรนอกเรื่องวะ รีบชกเสียที

ชวนนึกถึงหนังของ เมเด็ม เรื่อง Tierra (Earth) เอามาก ๆ ด้ว ยิ่งช็อตที่ทิ้งคนบนพื้นไปไกลเหลือแต่รายละเอียดเป็นจุดเล็ก ๆ บนพื้นโลก และนี่ยิ่งทำให้นานวันการใช้อินเตอร์เน็ตดูเหมือนจะถูกสร้างให้เกิดมาเพื่อกลมกลืนกับหนังของ เมเด็ม โดยแท้

ยังคงเห็นดาราจากหนังเรื่องก่อน ๆ ของ เมเด็ม มาเล่นในหนังเรื่องนี้ 1 ในนั้นเป็นบทแสดงนำ

หนังเมเด็ม เรื่อง Vacas หรือ Cows เป็นเรื่องหนึ่งที่ดีมาก ๆ 

ในยุค 90 นอกจาก แล้วจะหาใครสไตล์หนังโฉบเฉี่ยวเท่า Julio Medem และ Leos Carax นั้นหายากมาก (โดยเฉพาะการเล่นภาพมุมแปลก ๆ การตัดต่อและ อีโรติก้าแผลง ๆ ของ เมเด็ม) 

ย้อนไปอ่านเกี่ยวกับ Julio Medem ได้ในหนังสือ Filmvirus 02 (2544)