23.4.51

Nicci French's the One

Nicci French's the One Duo you can't miss


ไม่รู้ว่าเพื่อน ๆ สนใจอ่านหนังสือของ Nicci French (นิคคี่ เฟร้นช์) บ้างมั้ย โอเค เราไม่เคยคุยกันเรื่องนิยายอาชญากรรม ยังกับเรื่องแนวรหัสคดีพวกนี้มันต่ำต้อยในสายตาคนชอบหนังคลาสสิคยังงั้นแหละ เอ้า ใครอ่าน เชอร์ล็อค โฮล์มส์, อกาธ่า คริสตี้, อาร์แซน ลูแป็ง บ้างยกมือขึ้น เห็นไหม อายล่ะสิ ข้าน้อยก็ไม่ได้อ่านมานานแล้ว มีอ่าน Ruth Rendell (รูธ เรนเดลล์) กับเรื่องสั้นนักเขียนอาชญากรรมหญิงบ้างนิดหน่อย อ้อ นิยาย Patricia Highsmith(แพตตริเซีย ไฮสมิธ) กับ Georges Simenon (จอร์จส์ ซิเมอนง) ด้วย ชอบทั้งหนังและหนังสือ หนังฝรั่งเศสหลายเรื่องก็เด็ดดวงมาก ๆ โดยเฉพาะเรื่อง The Watchmakers of St. Paul หรือ Red Lights

อ่านนิยาย Nicci French แล้วติดพันยิ่งกว่าอ่าน ดอสโตเยฟสกี้ ล้านเท่า ลุ้นระทึกยิ่งกว่าหนัง อัลเฟรด ฮิทช์ค็อค กับ เรนนี่ ฮาร์ลิน รวมกัน นิยายของ French อาจจะได้เทคนิคอะไรมาบ้างจากหนังของ ฮิทช์ค็อค แต่ต่างกันชัดตรงที่ ฮิทช์ค็อค มันมีมุมมองซาดิสต์ ต่อตัวละครหญิงมาก ๆ แล้วในหนังส่วนใหญ่ก็ชอบสาวไส้ว่าคนดูเองน่ะแหละที่มีบาป แถมยังลากคนดูให้มีส่วนมือเปื้อนเลือดไปพร้อม ๆ กัน (อย่างที่ตา Michael Haneke กลัวเราไม่เก็ทเลยทำให้เห็นโต้ง ๆ โดยการให้ตัวร้ายยักคิ้วหลิ่วตาหาพวกจากพวกเราคนดูใน Funny Games)

ส่วนจุดต่างทีเด็ดที่ Nicci French มีคือมีตัวละครเอกเป็นหญิงสาวที่ใจคอหนักแน่น ต่อให้ดูอ่อนแอ ล้มลุกคลุกคลานบ้าง เธอก็จะลุกขึ้นสู้แล้วก็ถีบผู้ชายชั่ว ๆ อย่าง ฮิทช์ค็อค ให้กระเด็น หนอยชอบทารุณกรรมสาวผมบลอนด์ ไปตายเสียเถอะ ไอ้แก่หัวล้านพุงพลุ้ย

ไม่รู้ว่านิยายของเธอสานต่อพล็อตหนังจำพวก “คำเตือน: หญิงสาวอย่าไว้ใจแฟนหรือคนใกล้ชิด” บ้างหรือเปล่า ยิ่งหนังจำพวกที่ Patrick Bergin แสดงกับ Julia Roberts เรื่อง Sleeping with the Enemy แล้วก็เรื่องที่ Bergin แสดงกับ Sean Young ใน Love Crimes ของ Lizzie Borden คนที่ทำหนังเฟมินิสต์สุดโต่งอย่าง Born in Flames และ Working Girls (คนละเรื่องกับหนังสตูดิโอ) สงสารอีตา Bergin นี่ไม่รู้มีโอกาสเล่นเป็นตัวดีบ้างมั้ย เพราะถูกจัดให้เล่นแต่บทชั่ว ๆ เหมือนดาวร้ายหนังไทย

ตอนแรกอ่านหลังปกนิยาย Beneath the Skin เห็นเขียนทำนองว่า 3 สาว 3 สไตล์มีจุดร่วมเหมือนกันอย่างหนึ่งคือได้จ๊ะเอ๋กับฆาตกรโรคจิต เลยหลงเข้าใจว่า ท้ายเล่ม 3 สาวคงแท็คทีมรุมกระทืบเจ้าหมอนั่นแบบ Death Proof สะใจแหงๆ ที่ไหนได้ 3 สาวไม่ยักกะได้เจอกัน คนแรกก็เดี้ยง คนสองก็ด๋อย เหลือเหยื่อรายสุดท้าย คนที่ทนอดมากที่สุดนี่แหละที่ต้องรับมือกับมันเอาเองเพียงลำพัง

เหลือเธอคนเดียวจริง ๆ ด้วย ตำรวจและเพื่อนฝูงก็พึ่งพาไม่ได้ ต้องใช้สติปัญญากันล้วน ๆ แต่เธอเด็ดเดี่ยวกว่า 2 สาวคนแรกเยอะ เพราะคนแรกที่เป็นครูนั้นแปลกถิ่นและพึ่งพิงแฟนหนุ่มเกินไป คนที่สองก็สลัดบทบาทแม่บ้านเฝ้าคฤหาสน์ไปไม่พ้น สุดท้ายเธอพกพาความกล้าเข้าสู้มันแบบข้ามาคนเดียว สะบะละฮึ่มกันไปทั้งคนเขียนคนอ่าน

Nicci French ไม่ใช่คนหัวเดียวกระเทียมเจียว แต่เป็นนามปากกาของคู่ผัวเมีย Nicci Gerrard และ Sean French ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมอยู่แล้วทั้งคู่ ฝ่ายหญิงพอจบด้านวรรณกรรมมาก็สอนวรรณกรรมแล้วก็เป็นบรรณาธิการด้านนี้ ส่วนฝ่ายชาย Sean ก็คล้ายกัน เคยเป็นบรรณาธิการ Sunday Times เซ็คชั่นวรรณกรรม เขียนวิจารณ์หนังสือ-ละครเวที-ภาพยนตร์แล้วก็เคยเขียนนิยาย หนังสือชีวประวัติดารามาก่อน วันหนึ่ง Sean มาปิ๊งกันกับ Nicci ที่เพิ่งเลิกกับแฟนเก่าก็เลยร่วมหัวจมท้ายเขียนงานอาชญากรรมที่เน้นตัวละครจากมุมมองของผู้หญิง (แปลกดีเหมือนกันที่นักเขียนนิยายอาชญากรรมระดับเซียนจำนวนมากเป็นผู้หญิงอังกฤษ ตัวอย่างเช่น Sarah Walters, Ruth Rendell, Carla Banks, P.D. James หรือ Agatha Christie) ตัวละครเอกแบบ Nicci French ต้องประสบปัญหาความไม่มั่นคงในเรื่องรัก ขาดความเข้าใจจากเพื่อนฝูง พ่อแม่ สังคม ทั้งสับสนในหน้าที่การงาน หาจุดยืนในการจัดวางภาพพจน์แบบผู้หญิงที่เหมาะสม แล้วถ้าเพลินใจไป Sleep กับใครแล้วเจ้าหมอนั่นมันจะถอดรูปเป็น Enemy หรือเปล่า

อีกเรื่องที่ลุ้นระทึกตั้งแต่บรรทัดแรก Land of the Living นางเอกถูกจับมัดขังไว้ในห้องมืด สภาพซกมกรอวันเน่าสลาย โอกาสรอดของเธอริบหรี่เต็มที แต่เธอก็อุตส่าห์หนีออกมาได้ แล้วพบกับความจริงที่ว่า โลกความจริงที่ไม่มีใครเชื่อถือเธอเลยยิ่งน่ากลัวกว่า เพื่อนฝูงก็ไม่ไว้ใจคำพูดเธอ ตำรวจก็ไม่เล่นด้วย แล้วก่อนหน้าที่เธอหายตัวไปไม่กี่วัน เธอก็ทำตัวแปลก ๆ ขนาดตัวเองยังงงว่าทำไปได้ เช่นไป sleep กับ stranger หรือไปนอนในอพาร์ตเมนต์ใครก็ไม่รู้ อย่างเดียวที่แน่ใจได้ก็คือ หากเธออยู่เฉย เจ้าโรคจิตมันต้องกลับมาเล่นงานเธอ หรือมองหาเหยื่อรายต่อไปแน่ ๆ

สรุปแบบสุภาษิตไทย ดูเหมือน Nicci French อาจจะบอกคนอ่านว่า ตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วผู้หญิงนี่เองแหละที่ควรจะดูแลความรู้สึกของกันและกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนกันอยู่แล้วหรอก ก็การที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อเหมือน ๆ กันนี่แหละที่จะทำให้ผู้หญิงซึ้งในคุณค่าของความเป็น Ya Ya Sisterhood มากขึ้น แล้วผู้ชาย หรือคนรักน่ะเรอะ อยู่ห่างๆ ฉันหน่อย ขอเวลาคิด อยู่คนเดียวดีกว่าเฟ้ย

เรื่อง Land of the Living นี้รับรองว่าถ้าเป็นหนังแล้วมือถึงจริงคงไส้บิดเป็นเกลียวแหง ๆ ฉบับแปลไทยก็มีให้พิสูจน์แล้ว รู้สึกจะเป็นของสนพ. มติชน

มหัศจรรย์เหลือเกินที่สองผัวเมียตระกูล French นี่ต่างคนต่างเขียนกันคนละบทแล้วมาช่วยกันเกลา แต่งานที่พิมพ์ออกมาก็ดูกลมกลืนเป็นเนื้อเดียว แปลกชะมัด

4 ความคิดเห็น:

FILMSICK กล่าวว่า...

แหม่ ตาฮาเนเก้เขาจงใจด้วยความสาแก่ใจอยู่หน่อยๆน่ะพี่ เพื่งดูฉบับใหม่ไป(โหลดบิทมาดู )เหมือนกันมากแต่ยังแผ่พลังต่ำช้าม่เปลี่ยนแปลง

อ่านเรื่องย่อแล้วอยากให้มีคนทำ LAND OF THE LIVING ขึ้นมาเป็นหนังจริงๆ เฟรดจะอยากทำไหมนี่ 5555


เอ้อ นอกจากการ์ตูนผมไม่ค่อยได้อ่านนิยายสืบสวนสอบสวนแฮะ ทั้ง ปัวต์โรต์ หรือเชอร์ลอค โฮล์มส ไม่ค่อยได้อ่าน แฮะ

ยกเว้น ชอลิ้วเฮียง (ซึ่งก๊อปมาอีกทีแต่ผมชอบมากกว่าฮ่าฮ่า) / FILMSICK

filmvirus กล่าวว่า...

ไม่รู้ว่าภาษากวนประสาทของพี่มันทำให้คนเข้าใจผิดบ่อย ๆ หรือเปล่า แต่ที่เขียนไปน่ะ จริง ๆ แล้วชอบหรอกนะ Funny Games แล้วก็ Hitchcock ด้วยเหมือนกัน แค่หมั่นไส้ Haneke ที่ซีเรียสเกินเหตุในบางที โดยเฉพาะเวลาให้สัมภาษณ์

เฟรดอยากทำหนังเพลงเรื่อง Suicide Story หนังสืบสวนคงไม่ชอบดูแหง ๆ ทำไมถึงนึกถึงเฟรดล่ะ

อาจฟังทะแม่งหนักเข้าไปอีกที่จะบอกว่าพี่ก็ไม่เอาแล้วอ่าน เชอร์ล็อค โฮลมส์ หรือ ปัวโรต์ (แต่หนังเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ของ Billy Wilder ก็ดีนะ)อยากรู้ใจคนชอบหนังสือตีปริศนารหัสคดีเหมือนกันว่าคนรักชอบแนว whodunnit นี้นิสัยเป็นไง เห็นทั้งชายทั้งหญิงอ่านกันเยอะ ขนาดคุณเรืองเดชไม่ยอมพิมพ์แนวไซ-ไฟที่ตัวเองชอบมากกว่า

ชอลิ้วเฮียง กับ เล็กเซียวหงส์ ก็สนิทกับพี่มากกว่านักสืบฝรั่ง อันนี้ไม่รู้เป็นเรื่องของยุคสมัยหรือเปล่า ทีวีและสังคมยุคนั้น ๆ เป็นตัวกำหนดรสนิยมให้คนในแต่ละยุค

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

5555 บทสัมภาษณื ฮาเนเก้ อ่านทีไร ยอกใจทุกที 5555

ที่นึกถึงเฟรด เพราะนึกถึงหนังเรื่องfrost กับ fallen ครับ ผมชอบฉากตัวละครที่เดินไปภายใต้การกดทับของทัศนียภาพ และ/หรือ การจับจ้องมองของกล้อง

นึกขึ้นได้ว่าเพิ่งได้f^ คินดะอิจิ ฉบับรีเมคตัวเอง ของคอง อิชิกาว่า รู้สึกว่าหนังมันโดนอันเดอรณ์เรทมากๆ

ผมไม่เคยดูฉบับเก่า เลยปรียบเทียบกันไม่ได้ (ว่ากันว่าชอตต่อชอต ) ถ้าได้ดูแล้ว ฝากเล่าด้วยพี่

แต่รู้สึกว่าในหนังฉบับใหม่นี่มันเก๋ามากๆ เพราะแทนที่แม้มันจะเป็นไปตามระเบียบหนังฮู ดันนิท! แต่การวางภาพของมันก็เท่มาก ตลอดทั้งเรื่องในฉากครอบครัว ดูเหมือนมันจะมีขอบดำๆตลอดเวลา เหมือนโอบล้มด้วยเมฆหมอกแห่งความชั่วร้าย ไหนจะภาพมุมมกด (ซึ่งหนังเฉลยไว้เล็กๆว่ามันคือมุมมมองจากรูปของตาเฒ่านั่นเอง) อีก นี่เป้นครั้งแรกของผมกับ คอง อิชกาว่า แต่มันสนุกมากจริงๆครับ

ไม่รู้พี่สนอ่านการ์ตูนมั่งไหม คินดะอิจิฉบับบการ์ตูน(รุ่นหลาน)สนุกมากๆ แม้มุกจะซ้ำๆ แต่ก็อยากอ่านไปเรื่อยๆจนครบทั้งชึด

อ้ะ ผมมันเด็ก รุ่นการ์ตูนนี่นา ฮ่าฮ่า

พูดถึงชอลิ้วเฮียง กบัเลกเสี่ยวหงส์ แทนที่ผมจะนึกถึงหน้าบวมๆของโกวเล้ง ผมดันนึกถึง เหมียวเฉียวเหว่ย (และ เจิ้งเส้าชิว) กับ ว่าจื่อเหลียงแทน หนังทีวีมันมีอิทธิพลจริงๆแฮะ/FILMSICK

filmvirus กล่าวว่า...

อือ คินดะอิจิ ได้ดูแต่ของใหม่เหมือนกัน แล้วก็ไปไม่รอดด้วย เพราะสุขภาพไม่ไหว

พี่ก็รุ่นการ์ตูน แต่คนละรุ่นกันกับคินอิจิ ก็สมัย Touch กับ Cobra พิมพ์ครั้งแรกไง