30.4.51

ให้โห่ ให้ ไฮ-อาร์ต (Hi Ho to Hi-Art)

ให้โห่ ให้ ไฮ-อาร์ต (Hi Ho to Hi-Art)

“I’d always wanted to know the difference between a mark that was art and the one that wasn’t”
Roy Lichtenstein

แกลเลอรี่กับพิพิธภัณฑ์ทำให้คนไทยใส่รองเท้าแตะรู้สึกแปลกแยกมันก็ใช่ แต่มันก็เป็นเรื่องของท่าทีสังคมบวกกับสภาพแวดล้อม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกจ้างมาให้เฝ้าทรัพย์มากกว่าจะเป็นความผิดของตัวงานศิลปะเอง ขณะเดียวกันมันก็เป็นความจริงที่น่าเสียดาย ถ้ามันทำให้เราขยาดที่จะเข้าหาโลกใบนั้น โลกที่ถือเป็น high art หรือของสูงทั้งหลายพวกนั้น จริง ๆ แล้วมันก็เชื่อมต่อกับดนตรี นาฏกรรม วรรณกรรม จนมาถึงหนัง (ที่ถูกเหยียดจากปัญญาชนระดับสูงอีกทีว่าเป็นเศษเดน หรือศิลปะที่มีเทือกเถาเหล่ากอจากละครสัตว์ ตลกจำอวดซึ่งยังไงก็เป็นได้แค่ความบันเทิง) ซึ่งหากเรารวบศิลปะหลากหลายพวกนี้ไว้ในระนาบเดียวกันได้ มันจะทำให้เรามองภาพศิลปะในองค์รวมได้ดีกว่าที่จะเลือกเสพเพียงบางชนิด (ตามเงื่อนไขจำกัดของสังคม)

เมื่อก่อนนี้เคยไปดูงานของ Julian Schnabel (ตอนนั้นเพิ่งทำหนังเรื่องแรก Basquiat) รู้สึกตะเกียกตะกายหาแกลเลอรี่ได้ยากมาก เป็นแกลเลอรี่ชื่อ Kyoko Gallery อยู่ในซอยต้นสน ตรงข้ามเซ็นทรัลชิดลม แถวเพลินจิต (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นอะไรสักอย่าง CelineJulie คงรู้จักดี) การเข้าไปดูแกลเลอรี่สมัยนั้น (โดยเฉพาะอันที่เป็นของฝรั่งหรือคนต่างชาติเปิด) หรือกระทั่งในสมัยนี้ ถ้าเป็นคนไทยก็คงมีแต่คนจำพวกคนชั้นสูง หรือไม่ก็นักข่าว แต่ถ้าเป็นพวกลักปิดลักเปิด ไม่ระบุพันธุ์แบบเราเรา มันก็ยังเป็นสิ่งแปลกปลอมเสมอมา ไม่เปลี่ยนแปลง

มาเดี๋ยวนี้ ถึงไม่เดินในแกลเลอรี่เลย เราก็ยังมีหนังสือศิลปะกับอินเตอร์เน็ตให้ขัดตาทัพได้บ้าง งานศิลปะจำพวก Pop Art ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการเชื่อมต่อข้ามวรรณะ โดยเฉพาะงานของ Roy Lichtenstein (รอย ลิคช์เต้นชไตน์) ศิลปินอเมริกันที่จำลองภาพสาธารณ์จำพวก ภาพโฆษณา, ธนบัตร, มิคกี้ เม้าส์, โดนัลด์ ดั๊ค หรือการ์ตูนโรมานซ์เล่มละไม่กี่สตางค์มาให้เราตั้งคำถามกับการเสพสื่อแบบ mass products

อย่างที่เคยคุยกับ filmsick ไว้เรื่องการตีความโจทย์สูตรสำเร็จจำพวก “นางแมวบ้าน” ในหัวข้อ “นรกแห่งการอธิบายตัวเอง” Lichtenstein เป็นศิลปิน Pop Art อีกคน (แนวทางใกล้ Andy Warhol) ที่น่าสนใจศึกษาควบคู่กับหนังพี่น้องตระกูล Coen, Quentin Tarantino, หัวใจทรนง (The Adventures of Iron Pussy) บ้านผีสิง หรือ แม่ย่านางของ เจ้ย – อภิชาติพงศ์ เพราะ Lichtenstein หยิบเอาธรรมชาติพื้นฐานและการเข้าถึงชนวงกว้างของวัตถุดิบในชีวิตประจำวันมาเล่นอย่างยั่วเย้าและเอ็นดู

ตัวละครประเภทชายหนุ่มหญิงสาวที่ต้องมนต์รัก ห้วงคิดคนึงหาของเจ้าหล่อนที่ปวดร้าวจากความรักเจียนตายในการ์ตูนดาษดื่นได้ถูกนำมาจำลองสีใหม่ เพิ่มจุดตารางแบบ Benday Dots ในกระบวนการพิมพ์การ์ตูนให้เน้นสถานะการพิมพ์เชิงปริมาณ (ซึ่งตรงข้ามกับชิ้นงานศิลปะที่ส่วนใหญ่ต้องเน้นตัวตนและความเป็นชิ้นงานเดียวในโลก) ภาพที่ขาดจิตใจส่วนตัวแบบนี้ถูกขยายยักษ์เป็นเฟรมใหญ่ ติดฝาผนังแกลเลอรี่ คำพูดและความคิดที่แสนน้ำเน่าซึ่งหลุดจากปากของตัวละครที่กำลังอินกับโชคชะตาของตัวเองอย่างสุดแสน “ฉันไม่สนหรอก ฉันยอมจมน้ำตายเสียดีกว่าที่จะไปง้อแบร้ด ให้มาช่วย” รวมทั้งสัญลักษณ์รูประเบิด-เสียงปืนตูมตามของฝรั่งประมาณ “Wham!”, “Takka Takka!”, “Varoom!”, “Blam!” จากการ์ตูนก็ชวนให้เรารู้สึกคุ้นเคยและปลอดภัยในธรรมชาติของตัวการ์ตูนเอง แต่ขณะเดียวกันเมื่อรหัสหรือภาพลักษณ์ชนิดอันนั้นถูกแยกออกจากเนื้อหาดั้งเดิม มันก็ยิ่งเน้นรูปฟอร์มที่กลวงเปล่าของตัวมันเองมากขึ้น

5 ความคิดเห็น:

FILMSICK กล่าวว่า...

ชอบคำของลุงรอย มากๆ (ผู้กำกับเรื่องTEETH เป็นอะไรกะแกหรอเปล่าครับ)

สิ่งที่ผมสงสัยมาตลอด คือ ท่าที และ การจำกัดทางสังคม สถานที่ นี้หรือเปล่าที่ทำให้ -วัตถุ- กลายเป็นงาน - ศิลปะ - ขึ้นมาได้

เราไม่สามารถแบ่งงานศิลปะในแกลลเลอรี่ ออกจาการร้อยมาลัยของคุณป้าข้างถนนได้ ฉันใดก็ฉันนั้น การพยายามยกตนของงานศิลปะก็สร้าง ความหมั่นไส้ไปได้

บางทีการทำซ้ำ อุตสาหกรรม คือการก่อการร้ายที่แสนหวานก็ได้นะพี่ /FILMSICK

celinejulie กล่าวว่า...

เข้าใจว่าแกลเลอรี่ที่พูดถึงคือ 100 TONSON GALLERY มั้ง ซึ่งจัดเป็นแกลเลอรี่ที่น่าสนใจมากๆอันนึง เพราะที่นี่ชอบฉายงานวิดีโอของ ARAYA RASDJARMREARNSOOK

แกลเลอรี่หลายๆที่ในกรุงเทพทำให้กลับมาเชื่อในประโยคที่ว่า THE BEST THINGS IN LIFE ARE FREE อีกครั้ง เพราะแกลเลอรี่เหล่านี้ชอบจัดแสดงงานดีๆ โดยเฉพาะวิดีโอดีๆให้ดูกันฟรีๆ (ถ้าหากไม่นับค่าเดินทางไปแกลเลอรี่) ดูงานฟรีๆพวกนี้แล้วคุ้มกว่าเสียค่าตั๋วดูหนัง 140 บาท/เรื่องหลายเท่านัก

filmvirus กล่าวว่า...

ขอบคุณ CelineJulie ที่มาให้คำอธิบายความหมายดี ๆ ของศิลปะฟรี ๆ ในแกลเลอรี่ ที่ไม่ต้องจ่ายค่าตั๋วแพง แถมต้องรอโฆษณายาว ๆ จบ เสียเวลาชีวิต

มีนิยาย / เรื่องสั้นของ อารยา ขาย รวมทั้งหนังสือศิลปะอีก 2 เล่มของสนพ. มติชน (เล่มพ็อคเก็ตบุ๊คกับเล่มใหญ่) ไม่รู้ CelineJulie ซื้อเก็บไหม

นึกอยู่นานว่า เคียวโกะ แกลเลอรี่ มันเปลี่ยนชื่อเป็นอะไร

celinejulie กล่าวว่า...

ได้ซื้อแค่หนังสือ ART AND WORDS ของอารยาเก็บไว้ค่ะ ส่วนหนังสือ "ผมเป็นศิลปิน" ของอารยา เห็นมีขายอยู่ในเว็บไซท์ MATICHONBOOK.COM แต่ยังไม่ได้ซื้อเก็บไว้ค่ะ

รู้สึกว่าซอยต้นสน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ 100 TONSON GALLERY เป็นซอยที่ให้ความรู้สึกลักลั่นดี เพราะซอยนี้สวยมาก มีต้นสนเรียงรายสองข้างทาง ถนนดูสงบดี แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความลักลั่นก็คือ มี "คลองน้ำเน่าส่งกลิ่นเหม็น" อยู่ในซอยนี้ :-)

filmvirus กล่าวว่า...

ฝากชมงานศิลป์แทนด้วยเน้อ สภาพของพี่ตะลอนไปไหนไม่ได้ไกล