26.8.51

My Sassy Book ตอน 11 : Summer Blonde

My Sassy Book ตอน 11 : แนะนำหนังสือการ์ตูน Summer Blonde

เล่มนี้ก็ชอบมาก แต่ต้องเขียนให้สั้นที่สุด เดี๋ยวหาว่าเราโม้

เสียดายที่คนไทยไม่คุ้นเคยกับหนังสือการ์ตูนฝรั่งที่ไม่ใช่แนวซูเปอร์ฮีโร่ เพราะการ์ตูนญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคยกันดีนั้นไม่ค่อยมีเรื่องเกี่ยวกับชีวิตประจำวันให้อ่าน (หรือมีคนเขียนแต่ไม่มีคนแปล) เรื่องพื้น ๆ อย่างความประดักประเดิดระหว่างครอบครัว คนรัก หรือคนแปลกหน้าที่ไม่เป็นรูปธรรมมากเท่ารูปสัตว์ประหลาด คนโรคจิต หรือตัวเอกที่มีพรสวรรค์พิเศษ เราอาจอ่านการ์ตูนสยองขวัญ แอ็คชั่น โรมานซ์ หรือแนวรักวัยเรียนมากันค่อนชีวิต แต่น่าแปลกไหมที่น้อยคนจะรู้ว่าการเขียนเรื่องปุถุชนเดินดินนั้นต้องทำยังไง

หนังสือการ์ตูน Summer Blonde ของ Adrian Tomine เล่มนี้ไม่สนใจจะดูแลความรู้สึกคนอ่านทุกคน แต่ก็ละเอียดอ่อนพอที่จะไม่มักง่ายคอยจู่โจมจุดอ่อนเพียงเพื่อหวังบีบอารมณ์ คิดว่าเพื่อนที่ชอบดูหนังหลายคนน่าจะชอบน่ะ

อ่านแนะนำหนังสือการ์ตูนเพิ่มเติม

My Sassy Book ตอน 6 : แนะนำหนังสือการ์ตูน Jimmy Corrigan ของ Chris Ware
http://technicallysweet.blogspot.com/2008/05/my-sassy-book-6-jimmy-corrigan-or.html
My Sassy Book ตอน 2 : แนะนำหนังสือการ์ตูน Black Hole ของ Charles Burns
http://technicallysweet.blogspot.com/2008/05/my-sassy-book-2-charles-burns-black.html

23.8.51

A Western Gem

ชมรมคนรักคาวบอย - Terror in a Texas Town

มีอยู่หลายครั้งที่การสุ่มดูหนังให้ความประหลาดใจเกินคาด

ตั้งใจนั่งหลับชัวร์ แต่ไหงกลายเป็นปากอ้าตาค้างไปได้

Terror in a Texas Town

ทำไมไม่เคยรู้จักหนังเรื่องนี้มาก่อน นี่มันหนังคาวบอยระดับเด็ดดวงเลยนี่หว่า

High Noon หลบ ๆ ไปเลยเพ่ หลีกทางให้ Sterling Hayden ใน Terror in a Texas Town หน่อย

มันเป็นภาพประหลาดมากที่ปรากฏในหนังคาวบอย

พระเอกแบกแท่งอะไรยาว ๆ เดินไปตามถนน ที่เดินตามหลังมาห่าง ๆ คือกลุ่มชาวบ้านแต่งตัวอาวุธครบมือ

ภาพจากรถไฟมองผ่านหน้าต่าง เห็นกระโจมอินเดียนแดง และชีวิตชาวบ้านริมทาง (ภาพขมุกขมัวเหมือนแอบถ่ายมา)

นายอำเภอก้มลงเก็บเงินจากคนตาย พร้อมกับถอดดาวที่หน้าอกของตัวเองออก

รู้สึกว่า High Noon เอาตัวรอดไปได้ด้วยโครงสร้างของบทหนังเพียงอย่างเดียว แต่หนังเรื่องนี้มีตัวละครผู้ร้ายและพระเอกที่ประหลาดดี

Sterling Hayden ที่คนดูหนังคุ้นหน้าจากบทใน The Killing, Dr. Srangelove, The Asphalt Jungle และ The Godfather รับบทหนุ่มเชื้อสวีเดนหน้าซื่อที่ยิงปืนก็คงไม่เป็น เขาท่องทะเลไปไกลถึง 19 ปี ก่อนจะกลับบ้านมาด้วยความหวังที่จะเจอพ่อผู้ชรา แต่แล้วก็พบว่าพ่อของเขาถูกเศรษฐีชั่วสั่งเก็บ เพราะหวังฮุบที่ดินคนทั้งหมู่บ้านเพื่อขุดน้ำมัน

นักฆ่าชุดดำซึ่งกลับมารับงานอีกครั้ง มาบัดนี้ในโลกที่ทันสมัยมือปืนรับจ้างอย่างเขาอาจต้องยอมรับเสียทีว่า ประเทศนี้มีกฏหมายและไม่ใช่แดนเถื่อนอย่างเมื่อก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมือขวาของเขาเองถูกกระสุนเด็ดทิ้งจนต้องใส่มือปลอม แต่ชาวบ้านทุกคนก็ยังกลัวมือซ้ายที่ไวไฟแลบ แล้วเขาล่ะกลัวอย่างไหนมากกว่ากัน กลัวใจตัวเอง หรือกลัวคนซื่อที่กล้ายืนหยัดเพื่อความถูกต้อง

คนรักของนักฆ่าชุดดำ เธอเฝ้าบอกให้เขาเลิกเส้นทางชั่ว ๆ และไปไกล ๆ จากเมืองนี้ แต่เขาก็ไม่ฟัง Sterling Hayden บอกเธอว่าจากประสบการณ์ของเขาท่องโลกมาเยอะ ไม่มีหรอก คนที่ตั้งใจจะเปลี่ยนชีวิตตัวเองแล้วจะทำไม่ได้ เขาถามเธอว่าทำไมถึงเลือกที่จะอยู่กับคนเลว ๆ เธอตอบว่า คงเป็นเพราะมันทำให้เธอรู้สึกดีที่มองเห็นคนที่ต่ำต้อยกว่าตัวเอง

ชายหนุ่มเม็กซิกันที่กลัวลูกเมียจะตกที่นั่งลำบาก หากไปเหยียบเท้าใคร ถึงแม้เขาจะกลัวตายจนตัวสั่นงันงก แต่สุดท้ายก็รู้ว่าศักดิ์ศรีและความถูกต้องสำคัญกว่า

ในฉากไคลแม็กซ์ที่เราได้ดูบางส่วนจากภาพแฟลชฟอร์เวิร์ดล่วงหน้า เราคนดูถึงได้รู้ว่า สิ่งที่พระเอกแบกมาในมือคือ ฉมวกล่าฉลาม

ฝีมือกำกับของ Joseph H. Lewis ก่อนหน้านี้เคยดูแต่ Gun Crazy กับ The Big Combo ซึ่งเป็นหนังดังพอดูทีเดียว แต่เรื่องนี้ชนะใจขาด นี่ขนาดเป็นหนังเกรดบีนะเนี่ย ฉากโคตรกระจอก นักแสดงนอกจาก Sterling Hayden แล้ว หน้าตาดูอาภัพมาก ถ้าหากเทียบกับหนังฮอลลีวู้ดโปรดักชั่นใหญ่ ๆ แต่บทหนังดั้งเดิมของ Dalton Trumbo (ที่ไม่ได้เครดิตเพราะถูกแบล็คลิสต์) นี่เจ๋งจริง เรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่เฉียบคม

น่าสนใจตรงที่พระเอกเป็นคนสวีเดน Sterling Hayden เดินตัวแข็ง ๆ และพุด “ย๋า ย๋า” เหมือนคนเยอรมัน หลายคนรวมทั้งนายอำเภอดูถูกว่าเขาเป็นคนต่างด้าว ไล่ให้ไปไกล ๆ จากอเมริกา ที่นี่ไม่ใช่บ้านคุณ แต่พระเอกเราก็ดื้อรั้นอ้างว่าที่ดินของกู ที่ของพ่อกู พวกอเมริกันที่คอรัปชั่นสุดท้ายก็ต้องยอมให้คนแปลกหน้าต่างถิ่นอ้างสิทธิ์อ้างเสียงในที่สุด หรือนอกจากพูดถึงประวัติศาสตร์ผู้อพยพในอเมริกาแล้วนี่ยังเป็นการพูดอ้อมถึงเรื่องแบล็คลิสต์ หรือนโยบายระแวงภัยต่างชาติแบบชาติอาหรับในยุคนี้

(ภาพประกอบจาก http://www.beaver.com/)

A Corman Surprise

A Corman Surprise

ไหน ๆ หนังเก่าที่อำนวยการสร้างโดย โรเจอร์ คอร์แมน (Roger Corman) อย่าง Death Race 2000 ก็ถูกนำมารีเมคใหมแล้ว เลยต้องบันทึกเสียหน่อยว่า หนังที่ คอร์แมน กำกับ อย่าง The Young Racers กับ Gas! นี้มันเกินคาดเลย ตอนเขียน ฟิล์มไวรัส 5 ฉบับปฏิบัติการหนังทุนน้อย ยังไม่เคยดู 2 เรื่องนี้ คิดไม่ถึงว่าหนังมันจะเข้าท่าทีเดียว

The Young Racers เป็นเรื่องประชันรัก ประชันฝีมือแข่งรถไปทั่วโลก แชมป์รถเพลย์บอยกับหนุ่มคู่แข่งเชือดเฉือนกันตลอดเรื่องด้วยเกมรัก-เกมงาน เรื่องนี้ ฟรานซิส คอปโปล่า ตอนนั้นยังเป็นแค่คนอัดเสียง (แล้ว เมนาแฮม โกลัน กับ โรเบิร์ท ทาวน์ ก็ยังเป็นแค่ลูกทีม) หนังไปแอบถ่ายฉากสนามแข่งได้อารมณ์ดิบเมามันส์มาก ยิ่งเครดิตไตเติ้ลก็พิสดารกิ๊บเก๋คาดไม่ถึง

ส่วน Gas! – Or - It Became Necessary to Destroy the World in Order to Save I (1971) นี่เกินบรรยายจริง ๆ ไม่รู้ได้อะไรจากหนัง Week-End ของ ฌอง-ลุค โกดาร์ มาบ้างเปล่า หนังเป็น Road Movie หนุ่มสาวฮิปปี้เดินทางบ้าบอไปเรื่อย ๆ ทั่วอเมริกา เจอตัวละครจากหนัง จากประวัติศาสตร์ (เจอนักเขียน เอ็ดการ์ อลัน โป ในชุดดำบนมอเตอร์ไซค์ พร้อมสาวลึกลับ) ตัวละครทำอะไรไม่มีเหตุผล บ้าบอดี นอกจากฉายคู่กับ Week-End แล้วต้องประกบกับหนังของ กัลปพฤกษ์ เอ๊ยหนัง Ritwik Ghatak เรื่อง Reason, Argument and a Tale

ไม่รู้ตอน โรเจอร์ คอร์แมน มาเทศกาลหนังเมืองไทยเมื่อ 2 ปีก่อน มีใครสนใจไปดูตัวจริงบ้าง ตอนนี้คงแก่มากเลย

21.8.51

My Sassy Book ตอน 10 : Out Backward

My Sassy Book ตอน 10 : Out Backward

ตอนอ่านก็ไม่ได้ชอบนักหนา แต่ไม่รู้ทำไมผ่านมาเดือนกว่า ๆ แล้วยังลืม Out Backward ไม่ลง

ครอบครัวชาวฟาร์มยากจนในหมู่บ้านแถบมณฑลยอร์คเชียร์ทำมาหากินงก ๆ ไม่มีเวลาหรือความละเอียดอ่อนพอที่จะเข้าใจลูกชายวัยรุ่น ชื่อ Sam Marsdyke ที่วัน ๆ นอกจากช่วยพ่อทำฟาร์ม ต้อนแกะ-ผสมพันธุ์-ทำคลอดวัวแล้วก็แทบไม่ต้องสุงสิงกับใคร ความสุขใจรายวันมีเพียงการพาเจ้าหมาคู่ใจท่องไปในป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ในแถบนั้น

นักท่องเที่ยวเริ่มรุกล้ำสังคมชนบทมากขึ้น มีร้านอาหาร ผับทันสมัยเปิดดักชาวลอนดอน แทนที่ร้านรวงแบบเก่า ทีนี้คนเมืองก็สามารถพูดได้เต็มปากว่า เคยสัมผัสมาแล้วกับชีวิตชนบท

แซม ไม่ใช่ตัวเอกที่ดีเด่อะไร เขาไม่ไช่พวกอนุรักษ์ที่จะออกมาปกป้องชีวิตวัฒนธรรมแบบเก่าที่กำลังจะเปลี่ยนไป ในความมีวินัยขยันทำงานช่วยพ่อแม่ เขาก็ซ่อนความแสบลึกไว้ในตัว เวลาเห็นพวกนักท่องเที่ยวเดินป่าก็ชอบกลั่นแกล้งสะใจ แล้วเขายังมีประวัติเรื่องเพื่อนนักเรียนหญิงเป็นคดีติดหลัง จนกระทั่งถูกอัปเปหิจากโรงเรียน เรื่องนี้ใคร ๆ ในหมู่บ้านก็รู้กันทั่ว แม่เขาเองบอกว่าเป็นเวรกรรมที่ แซม เกิดมาต่างจากชาวบ้าน (ภาษาอังกฤษว่า out backward) ทั้งพ่อและแม่กำชับนักหนาไม่ให้ แซม ไปยุ่มย่ามกับ ครอบครัวคนเมืองบ้านหนึ่งที่เพิ่งอพยพเข้ามาพักไม่ไกลกันนัก เพราะว่าผู้ดีบ้านนั้นเขาพาลูกสาววัยรุ่นคนหนึ่งย้ายมาปักหลักที่นี่ด้วย

เหมือนชะตาลิขิตไว้แล้ว ต่อให้ แซม จะสะดุดการสานความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวนั้นในตอนแรก แต่ท้ายที่สุดสาวเจ้ากลับเป็นฝ่ายเดินหาเขาเอง หนำซ้ำวันหนึ่งพอเธอทะเลาะกับแม่มาก็ยังแบกเป้ชวน แซมหนีไปด้วยกันเสียอีก

บทสรุปเรื่องราวประเภทนี้หาแฮปปี้ไม่ได้อยู่แล้ว แต่รอยแผลที่นิยายทิ้งไว้มันทำให้คนอ่านอดคิดมากไม่ได้ มันทำให้นึกถึงบทพูดตอนหนึ่งในหนังแนว Western ของ Anthony Mann เรื่อง The Last Frontier

ในฉากนี้เพื่อน 2 คนคุยกัน
- “หล่อนมองข้ายังกับข้าเป็นหมีงั้นแหละ”
- “การเป็นหมีในดินแดนหมีมันก็ข้อดีในแบบของมันนะ”
- “เฮ้ย แต่ข้าไม่อยากเป็นหมีนี่หว่า”
- “หล่อนเป็นหญิงเจ้ายศ เธอคู่ควรกับผู้ชายที่มีฐานะ”

ในเรื่อง The Last Frontier นั้น พระเอกคือ Jed Cooper หนุ่มพเนจรที่มีวิญญาณอิสระของสัตว์ป่า ผืนไพร ผืนฟ้า ดวงดาว เป็นเหมือนกับบ้านของเขาที่เขาคุ้นเคยดีที่สุด หลังจากที่พวกอินเดียนแดงปล้นปืนและทรัพย์สินที่เขาเก็บออมไว้ เขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากไปสมัครเป็นทหาร แต่แม้ว่าเขาจะหลงใหลในเครื่องแบบอันทรงเกียรติของกองทัพอย่างมากมาย กฏระเบียบและจริตของคนศิวิไลซ์ก็ทำให้คนพื้นเพบ้านป่าอย่างเขาคับใจอยู่ยาก ยิ่งเมื่อหลงรักภรรยาของผู้บัญชาการ เรื่องก็ยิ่งวุ่น ก็ขนาดเรื่องที่เขาตัดสินใจทำลงไป เพราะคิดว่าดีและเหมาะสมกับคนทุกคนก็กลับกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ของ “ผู้มีอารยธรรม”

พวกอินเดียนแดง ที่ไม่ใช่ผู้มีอารยธรรมยังใกล้เคียงกับ Jed มากกว่าพวกทหารคนขาวในกองทัพด้วยกันเสียอีก เหตุที่พวกอินเดียนแดงต้องกวาดต้อนปืนและม้าของ Jed และเพื่อน ๆ ไปหมด ก็เพราะถูกบีบคั้นให้พร้อมต่อกรกับกองทหารอเมริกัน ซึ่งค่อย ๆ ไล่ที่เข้าไปในอาณาเขตของอินเดียนแดงมากขึ้นทุกที ๆ จนพวกเขาแทบไม่มีที่อยู่อาศัย

หนังและนิยายที่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และมีบทสรุปต่างกันนี้ เหมือนกันอย่างหนึ่งตรงที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อไหร่ที่เราเล่นเกมของใคร (โดยเฉพาะเกม-กติกาของคนมีอารยธรรม “ผู้เจริญแล้ว”) เราต้องเล่นให้เนียน ให้จบ ต้องทันเกม และชนะด้วยกติกาชนิดเดียวกันเท่านั้น ไม่งั้นก็จะไม่มีทางลืมตาอ้าปาก หาไม่แล้วก็อย่าริเริ่ม หายใจ หรือขยับตัว และจงอยู่ในถ้ำของตัวเหมือนเดิม อย่าไปหัดซ่าส์ที่ไหน (เออ สรุปยังไงของมันวะเนี่ย)

สงสัยว่านาย รอสส์ ลูกเกด (Ross Raisin) นักเขียนอังกฤษหน้าใหม่คนแต่งนิยาย Out Backward นี้คงใช้ประสบการณ์ที่ตัวเองเป็นหนุ่มบ้านนาแถบยอร์คเชียร์มาเขียน แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าตอนพิมพ์ครั้งแรกที่อังกฤษชื่อเดิมของนิยายคือ God’s Own Country สงสัยชื่อไปซ้ำกับเล่มอื่น พอพิมพ์ในอเมริกาเลยกลายเป็น Out Backward อย่างที่เห็น

20.8.51

Captain America

Captain America
พี่เอื้อย อเมริกันจอมพลัง

ทำไมอเมริกันถึงไม่รู้จักเบื่อที่จะสอนสั่งชาติอื่น ทั้ง ๆ ที่คนอเมริกันที่พอจะรู้จักวัฒนธรรมของชาติอื่นอยู่บ้างนิด ๆ หน่อย ๆ ก็กระจุกตัวอยู่ในนิวยอร์ค ซาน ฟรานซิสโก แอลเอ เท่านั้น แต่รัฐอื่นแทบไม่รู้เหวหอกหรือสนใจอะไรเลยว่าชาติอื่นเขานับถืออะไร อยู่ยังไง

หนัง Mr. Freedom ของ William Klein สะท้อนภาพของซูเปอร์ฮีโร่อเมริกัน (ในคราบนักอเมริกันฟุตบอล) ที่จิตใจดิบห่ามหยาบกร้าน ขาดรสนิยม ไร้ความละเอียดอ่อน ชอบคุยเขื่องและใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา หลงเข้าใจอยู่ตลอดว่าชนชาติอื่นกำลังเฝ้ารอการชำระล้างทางจิตวิญญาณ

เพราะนี่หรือเปล่าที่ทำให้คนอเมริกันไม่อยากรับสภาพว่าประเทศตัวเองนั้นที่แท้ยากจน กลวงโบ๋ และปรุงแต่งแค่ภาพพจน์ อย่างที่หนัง Taxi Driver และ King of Comedy ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ แสดงให้เห็น อีกทั้งยังไม่ใช่ประเทศที่เป็น “ดินแดนแห่งความพรั่งพร้อม” (Land of Plenty) ได้แต่หวาดระแวงผู้ก่อการร้าย จนหลงลืมความเผื่อแผ่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ (อย่างที่แสดงในหนัง Land of Plenty ของ วิม เวนเดอร์ส)

หนังน่าดูประกบกับ Alphaville ของ Godard เหมือนกัน โดยเฉพาะฉากที่ Mr. Freedom เดินทางมาปารีสเพื่อกำราบลัทธิคอมมิวนิสต์ในปารีส

บทสนทนาตอนหนึ่งจากหนัง Mr. Freedom
(ในฉากนี้หัวหน้ากำลังสั่งงาน Mr. Freedom ให้เตรียมตัวไปทำงานเหมือนสายลับแบบ เจมส์ บอนด์ หลังจากที่ Capatain Formidable เสียท่าไปก่อนหน้านี้)

หัวหน้า - And you know that the world is divided in two parts. On the one side is right and on the other side is wrong. Wrong is red and right is……..
มิสเตอร์ฟรีดอม - Red White and Blue.
หัวหน้า - Yes, and in the middle we have The Maybes and The Don’t Knows. First we have the objectives, make the Reds cry “Uncle”
มิสเตอร์ฟรีดอม - “Uncle Sam!”
หัวหน้า - Yes, then maybe The Maybes and the Don’t Knows will wake up and fight for right, for right is might and might is…..
มิสเตอร์ฟรีดอม - Freedom?
หัวหน้า - Yes, sir. Our Freedom.

ตอนไปเบอร์ลินปี 2004 เคยเกือบได้เจอผู้กำกับ วิลเลี่ยม ไคลน์ (William Klein) นี่อยู่เหมือนกัน แต่ก็พลาดไป เพราะเขาจัดเป็นหนังรอบดึก กลัวหลงทาง กลัวหนาว กลัวไม่สบาย กลัวสารพัด กลับที่พักไม่ถูก ตอนนั้นเขามาที่ Filmmuseum Berlin พูดคุยตอนรอบฉาย Who are You, Polly Magoo? มาตอนนี้ คงไม่มีทางเห็นตัวจริงแล้ว เพราะอายุเขาก็ไม่ใช่น้อย ๆ ราว ๆ 80

ก่อนหน้านี้รู้จัก William Klein ก็แต่ในฐานะช่างภาพผู้โด่งดัง มีชื่อในหนังสือศิลปะภาพถ่ายเล่มสำคัญ ๆ ของโลก รู้สึกเขาจะชอบถ่ายรูปกลุ่มคนในที่สาธารณะ ขณะที่ตัวแบบกำลังเคลื่อนไหวไปมาขณะประกอบกิจกรรมหมู่ หรือหลายทีก็ไม่รู้ตัว พวกภาพปฏิกิริยาตามธรรมชาติของผู้คนขณะชมคอนเสิร์ต หนุ่มสาวเดินเปะปะตามท้องถนน รถไฟฟ้าใต้ดิน ร้านค้า สิ่งเอะอะวุ่นวายอลเวงที่เกิดชั่วพริบตาเดียว เขาจับมาแชะเฟรมจับชีวิตที่ไม่หยุดนิ่งได้ไวมาก และดูเป็นนาทีที่สุดเพอร์เฟ็คท์รวบคอคาแร็คเตอร์ชาวบ้านได้อยู่หมัด ทั้ง ๆ ที่เขาถ่ายเหตุการณ์เดียวกันแค่ไม่กี่ภาพ

แล้วภาพเบื้องหลังวงการแฟชั่น หรือวงการบันเทิงเขาก็ถ่ายทอดออกมาได้เฉียบคมไม่แพ้กัน บางครั้งด้วยการจัดองค์ประกอบภาพกับจังหวะที่ลงตัวทำให้สิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ กลับมีผลออกมาในเชิงนามธรรมที่ให้ความหมายใหม่ต่างจากความสมจริง (รวมถึงในหนังที่เขากำกับอย่าง Who are You, Polly Magoo?)

William Klein เป็นหนึ่งในตากล้องภาพนิ่งระดับโลกเพียงไม่กี่คนที่ใช้กล้องเลนส์ไวด์แองเกิลจับภาพเบลอ ๆ ได้ลงตัว พักหนึ่งเขาวางกล้องภาพนิ่ง หันมาเขียนบท-ทำหนังแทน ซึ่งก็เสียดสีแดกดันสังคมจอมปลอมอลเวงได้แสบสันต์ อย่างเช่น The Model Couple ที่ล้อรายการทีวีแบบเรียลลิตี้โชว์มาตั้งแต่ปี 1977 หนังที่เขาสร้างเป็นหนังฝรั่งเศสเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้เขาจะเป็นคนอเมริกันที่ไปอยู่ในฝรั่งเศสเสียนาน แต่ทั้งฝรั่งเศสและอเมริกาก็โดนเขาเล่นหัวสนุกสนาน อย่างเรื่อง Mr. Freedom (1969) นี่คนฝรั่งเศสถูกด่าว่าเป็นพวกเด็กอ้อแอ้ ต้องให้มีคนอเมริกันมาพยุงคอยดูแล ขนาดคนสำคัญอย่าง Napoleon ยังโดนด่าว่าไม่ใช่ฝรั่งเศส แต่เป็นชาวเกาะ Corsican ซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

ในบรรดาช่างภาพระดับโลกที่หันมากำกับหนัง อยากดูหนังของ Robert Frank มาก ๆ ภาพถ่ายของเขายิ่งเป็นตำนานมากกว่า William Klein เสียอีก ลองรื้อสูจิบัตรโปรแกรมเก่า ๆ ของโรง NFT ลอนดอนเห็นเคยฉายเรื่อง Candy Mountain เรื่องนั้นมี Rudy Wurlitzer เขียนบท มีคนแสดงอย่างนักดนตรี Tom Waits และสาวฝรั่งเศส Bulle Ogier (ทำไมมีแต่ประเทศฝรั่งเศสที่ให้ทุนศิลปินพวกนี้ทำหนัง-แล้วคนลุงแซมเมือง Freedom ล่ะ มัวเอาเงินไปล้างบางประเทศอื่นหรือไง) นี่รอดูมาเป็น 20 ปีแล้วนะเนี่ย

19.8.51

Hiroshi Shimizu is the One

Hiroshi Shimizu is the One

A little tribute to the excellent Hiroshi Shimizu and a few bits on less known Japanese Masters

ถ้าจำไม่ผิดตอนปี 1987 เคยดู Retrospective หนังของ ฮิโรชิ ชิมิสึ (Hiroshi Shimizu) ที่โรงหนัง NFT ลอนดอนซึ่งตอนนั้นจัดฉายประมาณ 10 เรื่อง ตอนนี้นึกไม่ออกว่านอกจากดูเรื่อง Children of the Great Buddha แล้วได้ดูเรื่องอะไรไปอีกบ้าง จำได้แค่ว่าหนังเขามักมีบทเด็กที่มีชีวิตชีวา ภาพเก่า ๆ มีเสน่ห์แบบแปลก ๆ และในเรื่อง Great Buddha นั่นก็มีฉากที่เด็กอยู่บนพระพุทธรูปยักษ์

ไม่น่าเชื่อ ประมาณ 21 ปีผ่านไป ถึงจะมีหนังของเขาให้ดูอีก กระโดดข้ามยุควีดีโอเทป เลเซอร์ดิสค์ ฟิล์ม 16 มม. ไปเลยนะเนี่ย ออกมาทีเดียวเป็นแผ่นดีวีดี

ดูไปทั้ง 4 เรื่อง Japanese Girls at the Harbour, Ornamental Hairpin, The Masseurs and a Woman และ Mr. Thank You แจ๋วจริงทั้ง 4 เรื่อง แม้จะไม่คมคายเท่าหนังแบบ ยาสุจิโร่ โอสุ แต่ก็ชอบมากกว่า โอสุ เพราะดูเนื้อเรื่องหลากหลายกว่า แถมกระจุ๋มกระจิ๋มดีด้วย
หนังส่วนใหญ่ของ ฮิโรชิ ชิมิสึ สร้างจากนิยาย อย่าง Mr. Thank You ก็ทำมาจากนิยายของ ยาสุนาริ คาวาบาตะ (ไม่ยักรู้ว่าเขียนเรื่องเบา ๆ สบาย ๆ แบบนี้ก็เป็น) Mr. Thank You เป็น Road Movie ที่พาคนดูหนังไปนั่งอยู่บนรถกับคนขับ-คนโดยสารแทบทั้งเรื่อง สงสัยต้องเอาไปจัดฉายควบกับ “เมล์นรกหมวยยกล้อ” หรือ “Speed” แต่บังเอิญมันไม่มีขับซิ่งเลยน่ะสิ

ของตายว่าหนังทั้ง 4 เรื่องต้องมีบทเด็กซน ๆ (ใน Mr. Thank You บทบาทน้อยสุด) แล้วก็มีบทหญิงโสเภณีที่ทิ้งงานทิ้งการมาสัมผัสกับธรรมชาติ หรือตระหนักถึงคุณค่าของบริสุทธิ์แห่งรัก (ฟังดูเชย แต่ทำดี๊ดี) เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ค่อนข้างน้อย แต่รายละเอียดน่ารักเหลือเกิน (ยกเว้น Japanese Girls at the Harbour ที่ดูพล็อตรันทดหน่อย) แต่บทสรุปทุกเรื่องก็หวานเศร้า ง่ายงามผสมขำขัน แล้วก็ไม่ดูเชยตกยุคหรือจงใจแบบหนัง “บุญชู” หรือ “วัยอลวน” ซึ่งไม่รู้จะเฉลิมฉลองวันวานไม่หวานกันไปทำไมอีก เพราะมันไม่กิ๊บเก๋พอสำหรับวัยรุ่นไทยยุคนี้ ดูกี่ทีก็รู้ว่าคนทำห่างจากประสบการณ์แบบนักศึกษามานานโลด

ที่จริงอดรู้สึกไม่ได้ว่าการสื่อให้เห็นความรู้สึกละเอียดอ่อน และทางเลือกที่น้อยทางของลูกผู้หญิงญี่ปุ่นในสมัยก่อนนั้น ชิมิสึ ทำได้นุ่มนวล ไม่ฟูมฟายและไม่ชี้นำมากเกินไปหากเทียบกับหนัง เคนจิ มิโซงุจิ (Kenji Mizoguchi) ซึ่งเฟมินิสต์หนักมือไปหน่อย หลายเรื่องของ มิโซงุจิ ที่เป็นคลาสสิคอย่าง Oharu, Sansho หรือ Ugetsu Story นอกจากเรื่องภาพแล้วสาระหนักมือชะมัด การแสดงก็มิติเดียว (แต่มีเรื่องหนึ่งที่มูลนิธิญี่ปุ่นจัดฉายที่ EGV ดิสคัฟเวอรี่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ จำชื่อไม่ได้ มันเป็นหนังไม่ดังเท่าไหร่ แต่ก็ดูกลมกล่อมกว่าเรื่องอื่น)

ผู้กำกับญี่ปุ่นนี่ส่วนใหญ่ทำหนังโคตรแมน ถ้าว่าเรื่องคนที่ถนัดทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิงแล้ว มิกิโอะ นารุเสะ (Mikio Naruse) กับ ชินยิ โซไม (Shinji Somai) สองผู้กำกับที่คนดูหนังมูลนิธิญี่ปุ่นคุ้นเคยดี ทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิงได้เข้าท่า ถ้าเทียบกับ อากิระ คุโรซาว่า แล้ว คุโรซาว่า ไม่เข้าใจผู้หญิงเลย ผู้หญิงในหนัง คุโรซาว่า เป็นแค่ภาพร่างหยาบ ๆ เพราะ คุโรซาว่า ถนัดแต่หนังโครงสร้างและสโคปกว้างขวาง แต่อย่าง โซไม นี่เก่งที่สุดก็เรื่องเด็ก โดยเฉพาะเด็กนักเรียน ดูเจาะลึกในนิสัยใจคอ และจับสภาพชั่วขณะ moment to moment ของเด็ก ๆ ได้ดีกว่าหนังของคนอื่น ๆ (และอาจจะดีกว่าหนังของ ฮิโรชิ ชิมิสึ เสียอีก)

โดยเฉพาะหนัง Taifu Club และ Moving ของ ชินยิ โซไม ที่มหัศจรรย์เหลือเกินในการถ่ายทอดอารมณ์มุมมองเด็กงุ่นง่านเมื่อไม่มีผู้ปกครอง แม้แต่เรื่อง Sailor Suit and the Machine Gun ที่สร้างจากการ์ตูนฮิต และมีป๊อปไอดอลของยุค - ฮิโรโกะ ยากุชิมารุ (เมื่อก่อนเธอดังเหลือเกิน) เรื่องหลังนี้อาจจะดูเป็นการ์ตูนไปหน่อย แต่ก็ยังเห็นได้ว่าความสนใจของคนทำแท้จริงอยู่ที่ไหน ก็ทั้ง 3 เรื่องต่างเป็นเรื่องของเด็ก ๆ ที่ต้องดูแลตนเอง เพราะผิดหวังและพึ่งพาโลกของผู้ใหญ่ไม่ได้อีก พวกเขาต้องรีบโตขึ้นอย่างฉับพลันทันด่วนเพื่อดูแลตัวเองให้รอด แล้วก็ต้องมีลักษณะธรรมชาติเชิง magic hour ที่เกิดอาเพศ พายุ การเคลื่อนไหวของธาตุทั้งสี่มาขับเน้นการตระหนักรู้ของตัวละคร

อ้าว ฟุ้งไปไกลเรื่องหนังของคนอื่น กลับมาที่หนังของ ชิมิสึ อีกทีภาพที่ไม่คมชัดนักทั้งตัวก็อปปี้ฟิล์มเอง และอุปกรณ์กล้อง ฟิล์มและเลนส์สมัยนั้นที่ขาดความชัดลึก ไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับคนดู มันกลับเพิ่มเสน่ห์ให้ธรรมชาติ บ้านเรือน ชีวิตผู้คนดูนุ่มนวลชวนฝันมากขึ้นเสียอีก ฮิโรชิ ชิมิสึ มีอารมณ์ขันที่น่ารักทีเดียว ชอบดอลลี่กล้องทั้งฉากภายนอก-ภายในหลายฉาก ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยนะนั่น สำหรับหนังเก่าขนาดนั้น ตั้งแต่ทศวรรษ 30 นั่นนะ

เกือบลืมอีกอย่างหนึ่ง เรื่อง Ornamental Hairpin (Chishu Ryu คนที่เล่นเป็นพ่อในหนังโอสุเป็นพระเอกเรื่องนี้) กับ The Masseurs and a Woman ดูติดต่อกัน เหมือนมีความต่อเนื่องตรงที่นักแสดงและลักษณะตัวละครมีปรากฏซ้ำ เป็นบทของกลุ่มหมอนวดชายตาบอดที่รับจ้างนวดตามโรงแรมต่าง ๆ ประหลาดดีที่รับนวดทั้งชายทั้งหญิงถึงในห้องหับ แต่มันคงเป็นวัฒนธรรมปกติของญี่ปุ่นมากกว่า เห็นเรื่อง Blind Beast ของ ยาซูโซ่ มาซามูระ ก็เหมือนกัน

Ornamental Hairpin กับ The Masseurs and a Woman หนัง 2 เรื่องนี้สร้างดีเหลือเกิน (โดยเฉพาะเรื่องหลังนี้ ชิมิสึ เขียนบทดั้งเดิมด้วยตัวเองเสียด้วย) เห็นในแผ่นมีหนังสีฉบับรีเมคของ The Masseurs and a Woman ด้วย จำลองถอดฉากเดิมกันแทบทุกฉาก ยิ่งดูตัวอย่างของใหม่ ยิ่งน่าประทับใจ อยากดูฉบับใหม่ต่อทันทีเลยให้ตายเถอะ

(ภาพจาก http://www.dvdbeaver.com/)

18.8.51

เรื่องสั้นหญิงรักหญิง ทำเหตุ

Masculine, Feminine and More!

เดือนกรกฏาคมได้อ่านเรื่องสั้นเลสเบี้ยน 3 เรื่อง คือ The “Sound” of Music ของ Joan M. Drury, Elsie Riley ของ Martha Miller และ Phantoms ของ Ursula Steck ชอบเรื่องแรกและเรื่องที่สามเป็นพิเศษ เรื่องแรกพล็อตหักมุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับสาวหูหนวกที่แฟนเธออยากให้รู้จักรสชาติของเสียงเพลง ส่วนเรื่องที่สามให้บรรยากาศชายคุกคามหญิงทอม-ดี้เดินไพร แบบลึกลับกว่า Boys Don’t Cry

การได้อ่านมุมมองของหญิงรักหญิงในช่วงไล่เลี่ยกับอ่านหนังสือ Queer Cinema ของ กัลปพฤกษ์ พร้อมกับการดูหนังผู้หญิงกำกับ-ผู้หญิงแสดง รวมถึงอ่าน Lives of Girls and Women ของ Alice Munro สลับกับการดูหนังคาวบอยเน้นความเป็นแมน นับเป็นการยืนยันจุดยืนหลากหลายของทุกรูปแบบเพศ ถือเป็นการออกกำลังทางสติที่ให้หลายหลากทางอามณ์
(ภาพประกอบ Ursula Steck)

14.8.51

My Sassy Book ตอน 9 :The Film Club

My Sassy Book ตอน 9 : The Film Club
เดือนก่อน ๆ ไม่มีเวลามาจดว่าอ่านอะไรไปบ้าง จนเกือบลืมไปว่าเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้อ่านเล่มนี้

The Film Club
เล่มนี้ถ้าเรียกเป็นนิยายก็ไม่เชิง ที่จริงเหมือนเป็นบันทึกจากเรื่องจริงของคนแต่งมากกว่า

เดวิด กิลมอร์ (David Gilmour / คนละคนกับนักดนตรีวง Pink Floyd) บันทึกเรื่องจริงระหว่างเขากับ เจสซี่ - ลูกชาย ที่ไม่อยากทนเรียนไฮสกูลอีกต่อไป เดวิด จึงทำตัวเป็นพ่อจอมโอเวอร์ยื่นข้อเสนอให้เจสซี่ไม่ต้องฝืนใจไปโรงเรียนอีก แถมยังไม่ต้องทำงาน ตื่นนอนสาย 5 โมงเย็นก็ยังได้ ขอให้ไม่ข้องเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นพอ

แต่ที่สำคัญทุกสัปดาห์ ต้องหาเวลามานั่งดูหนังกับพ่ออย่างน้อย 3 เรื่อง
(อย่างนี้เรียกว่าเอาใจพ่อหรือลูกกันแน่) ข้อเสนอแบบนี้เด็กบ้าที่ไหนจะไม่รับ

“การเลือกหนังให้คนอื่นดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยง ในทางหนึ่งมันก็เป็นการเปิดเผยตัวเองเหมือนการเขียนจดหมายหาใครสักคน มันสะท้อนว่าคุณคิดอะไรยังไง อะไรที่ทำให้คุณหวั่นไหว ซ้ำบางครั้งมันยังสะท้อนว่าโลกมองคุณในภาพไหนด้วย ถ้างั้นเมื่อไหร่ที่คุณเนื้อเต้นเชียร์หนังสักเรื่องกับใครว่า โหย โคตรเด็ด เธอต้องชอบหนังเรื่องนี้แหง ๆ มันคงเป็นความรู้สึกพะอืดพะอมทีเดียว หากวันรุ่งขึ้นเพื่อนคุณมาขมวดคิ้วใส่ แล้วบอกว่า หนังแบบนี้เหรอที่คุณว่าตลก?”
จาก The Film Club ของ David Gilmour

ความรู้สึกนี้ เดวิด กิลมอร์ บอกว่า เมื่อไหร่ที่แนะนำหนังของ Elaine May (ซึ่งโดนนักวิจารณ์รุมด่าเละตุ้มเป๊ะ) เรื่อง Ishtar ที่มีดาราดังอย่าง วอร์เร็น เบ็ตตี้, ดัสติน ฮอฟฟ์แมน, อิซาแบล อัดจานี่ เขาเป็นต้องถูกเหยียดมองเหมือนตูดแพะ มันสอนข้อคิดให้เขาว่าเวลาที่อยู่ในร้านเช่าวีดีโอ ห้ามทำตัวฉลาด ๆ ไปแนะนำหนังให้ใครชม โดยเฉพาะกับคนแปลกหน้า (เออ คุ้นแฮะ อารมณ์นี้)

แต่ยกเว้นกับหนังบางเรื่องอย่าง The Late Show ที่มี ลิลี่ ทอมลิน (Lily Tomlin) กับ อาร์ต คาร์นี่ย์ (Art Carney) แสดง หรือไม่ก็หนังอย่าง The Friends of Eddy Coyle ที่แสดงโดย โรเบิร์ต มิทชั่ม (Robert Mitchum) สองเรื่องนี้เป็นหนังเล็ก ๆ เก่า ๆ กว่า 30 ปีแล้วที่คนมองข้ามเมื่อแรกออกฉาย ซึ่งพอลองแนะนำให้หลายคนได้ดู ส่วนใหญ่ก็ประทับใจได้ไม่ยาก ตอนหลังยังมาขอบอกขอบใจ เดวิด กันใหญ่ที่ช่วยแนะนำ และที่เซอร์ไพรซ์กว่าคือ หลายคนประเมินตัวเขาดีขึ้นกว่าเดิมก็เพราะเหตุนี้เอง

นาย เดวิด กิลมอร์ ชาวแคนาดานี่นอกจากเคยเขียนนิยายมาแล้ว 6 เล่ม (ข้อมูลว่า William Burroughs ก็เคยชมเชียร์) ยังเคยเป็นนักวิจารณ์หนังมาด้วย แล้วตอนหลังทำรายการทีวี ช่วงที่เขามีเวลามานั่งดูหนังกับลูกก็เป็นช่วงที่เขาตกงาน แล้วก็กินบุญเงินเก็บเก่า ๆ ขณะเดียวกันก็พยายามหางานใหม่ไปด้วย แต่ก็ต้องถูกปฏิเสธหลายครั้ง สงสัยว่าการเขียนนิยายจากประสบการณ์ “เลี้ยงลูกด้วยหนัง” (คนละอย่างกับใช้ลำแข้งเตะลูกหนัง) คงกู้หน้าเขาได้ไม่มากก็น้อย ถึงจะมีเสียงค่อนขอดว่าเป็นประสบการณ์ที่เสี่ยงต่ออนาคตของลูกชาย และบ้าบอเกินไปก็ตาม

เดวิด เลี้ยง เจสซี่ ด้วยหนังทุกรูปแบบ ตั้งแต่ American Graffiti, Scarface (ฉบับปี 1983 ที่ อัล ปาชิโน่ แสดง), Breakfast at Tiffany’s, Dead Ringers, The Bicycle Thief, Le Samourai, High Noon, Night Moves, Jackie Brown, On the Waterfront, Casablanca, The Shining, La Femme Nikita, Reservoir Dogs ไล่ไปถึง Rocky III, Under Siege และหนังสุดห่วยที่หลายคนหลงใหลอย่าง Showgirls

อย่างที่ว่าไว้ อะไรที่เราคิดว่าดี หนังที่คิดว่าเหมาะสำหรับคนคนนั้นคนนี้ย่อมไม่จริงแท้เสมอไป บางทีการฉาย The 400 Blows เพื่อให้เจสซี่ เทียบประสบการณ์กับ อังตวน ดัวเนล - เด็กตัวเอกในเรื่องที่หนีเรียนไปเตร็ดเตร่ ก็อาจจะใช้ไม่ได้ผล หรือการที่พ่อเคยปลื้มในความเท่ของวงสี่เต่าทองในหนังอย่าง A Hard Day’s Night เจ้าลูกชายทันสมัยก็อาจกวาดมองพ่อตัวเองแบบหัวจรดเท้าว่า วงดนตรีแสนเชยวงนั้นมีอะไรให้กรี๊ดกันได้นักหนา หรือไม่หนังมองโลกเศร้าสร้อยแบบ Crimes and Misdemeanors ของ วู้ดดี้ อัลเลน ก็อาจไกลตัวเกินกว่าที่เด็กวัยรุ่นจะรับได้

ในทำนองกลับกัน เจสซี่ รับหนัง Basic Instinct ของ Paul Verhoeven ที่เต็มไปด้วยตัวละครทรามๆ ได้อย่างสนุกสนานไม่คิดมาก เดวิด แนะนำลูกชายว่า ต่อให้ในฉากไม่เกิดเหตุร้ายอะไร มันก็เหมือนมีบรรยากาศสกปรกคุกคามคนดูอยู่ตลอดเวลา ยิ่งบทพูดของ ชารอน สโตน ตอนถูกสอบสวนนั้นก็กวนบรม

ตอนหนึ่งจากบทหนัง Basic Instinct
นักสืบ: คุณคบกับเขามานานเท่าไหร่
ชารอน สโตน: เราไม่ได้คบกัน เราแค่เอากัน
นักสืบ: คุณเสียใจไหมที่เขาตายแล้ว
ชารอน สโตน: แหงล่ะ ฉันชอบเอาเขานี่

บางครั้ง เจสซี่ ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ที่ทำให้คนเป็นพ่อต้องหยุดคิดและทบทวนมุมมองของตัวเองใหม่ มุมมองของ เจสซี่ ดูท่าจะมีแววพัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ เขาเห็นด้วยกับพ่อว่า Lolita ของ Adrien Lyne นั้นเจ๋งและจริงกว่า Lolita ของ Stanley Kubrick และเขาก็ทึ่งกับความกล้าของคนทำหนังอย่าง หลุยส์ มาลล์ (Louis Malle) ที่กล้าทำหนังแบบ Murmur of the Heart โดยไม่ยอมโกงอารมณ์หรือหักหลังจุดยืนของตัวละคร เพียงเพราะหวังแค่กว้านซื้อใจคนดูให้ได้จำนวนมาก ๆ

เด็กแรกหนุ่มยุคใหม่ที่นุ่งกางเกงโกร่งเป้ายานอย่าง เจสซี่ นั้นมีอะไรเหลือเฟือที่จะผูกพันกับหนังของคนหนุ่มสาว (ที่ไม่เก่ามาก) อย่าง True Romance, Chungking Express โดยเฉพาะเมื่อเขาเริ่มมีรักครั้งแรก ซึ่งเป็นรักขมอมทุกข์ หนำซ้ำยังหลงรักกับสาวหมวยลูกครึ่งจีน-อเมริกัน ที่นิสัยสุดเปรี้ยวและหน้าตาเหมือน เฟย์ หว่อง – นางเอก Chingking Express เข้าให้อีกต่างหาก นั่นทำให้คุณพ่อต้องใช้เทคนิคดูหนัง-สอนชีวิต ควบคู่ไปกับการปรึกษาปัญหาหัวใจให้ลูกชายซึ่งต้องมีชั้นเชิงพอควรแบบฝรั่ง คือไกลมากไม่ดี ใกล้มากไม่ได้

เหตุและแผลใจทำนองนี้ทำให้ เจสซี่ ไวกับหนังอย่าง Chungking Express, Last Tango in Paris หรือต่อติดกับหนังอย่าง Annie Hall ของ วู้ดดี้ อัลเลน (แม้จะเป็นเรื่องเล่าของคนที่ผ่านประสบการณ์รักมาแล้ว) จนชอบดูซ้ำ ๆ

ตัว เดวิด เองก็ตั้งข้อสังเกตที่ดีหลายเรื่อง โดยเฉพาะลักษณะการแสดงที่ปฏิวัติการแสดงหนังอเมริกันในยุคต่อ ๆ มาได้อย่างสิ้นเชิง โดยเริ่มจากการจับตาดูวิธีแสดงของ มาร์ลอน แบรนโด (A Streetcar Named Desire, On the Waterfront, Last Tango in Paris), การขยับมือของ เจมส์ ดีน ในเรื่อง Giant รวมถึง ฌอนน์ เพ็นน์ (Sean Penn) ที่เริ่มขโมยซีนคนอื่นมาตั้งแต่ตอนเป็นดาราประกอบในหนังวัยรุ่นฮอร์โมนร้อนผ่าวอย่าง Fast Times at Ridgemont High (ถ้าใครทำนายตอนนั้นว่าอนาคตของหมอนี่จะได้เป็นผู้กำกับหนังหรือประธานกรรมการเมืองคานส์อาจจะเชื่อยากหน่อย)

หรือการที่เดวิด ตั้งข้อสังเกตถึง แครี่ แกรนท์ (Cary Grant) ในหนังที่เขายกให้เป็นสุดหัวกะทิของ อัลเฟรด ฮิทช์ค็อค (Alfred Hitchcock) คือเรื่อง Notorious ว่า แครี่ แกรนท์ เป็นดาราเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถสื่อควบถึงด้านดีและด้านชั่วได้อย่างพร้อมเพรียงในเวลาเดียวกัน

นอกจากนั้น เดวิด ยังอ้างถึงสิ่งที่ พอลลีน เคล นักวิจารณ์หญิงอีโก้จัดที่ทรงอิทธิพลมากในยุคหนึ่งเคยพูดไว้ว่า แครี่ แกรนท์ อาจมีความสามารถทางการแสดงในขอบเขตที่ไม่กว้างนัก แต่สิ่งที่คนอื่นไม่มีทางทำได้ดีเท่าเขาคือ ดูเป็นผู้ดีแบบไม่ก้าวร้าว เวลาทำอะไรโง่ ๆ น่าขันก็กลับกลายเป็นน่าเอ็นดู และดูดีมีสกุลรุนชาติขึ้นมาได้ นั่นก็เพราะว่า คนดูหนังอยากเห็นตัวเองเป็นแบบนั้นถึงได้ชอบ แครี่ แกรนท์ ไง

งานเลี้ยงต้องดำเนินถึงฤกษ์ลา ทุกอย่างต้องมีวันจบลง บางอย่างอาจจบสวย หรือจบแย่ เรื่องราวในชีวิตจริงหลังการดูหนังนอกห้องเรียน 3 ปีของ เจสซี่ จะจบดีเหมือนอย่างที่ เดวิด กิลมอร์ หวังกับลูกชายหรือไม่อันนี้คงไม่สำคัญมากนัก รอให้มีใครเฉลยตอนเล่มแปลแล้วกัน

ที่สำคัญกว่าเรื่องราวคลี่คลายยังไง คือ เจสซี่ มันโชคดีเหลือเกินที่มีพ่อที่รักมันและกล้าเสี่ยงให้อิสระมันแบบนี้ ในโลกนี้จะหาพ่อดี ๆ หรือครูดี ๆ แบบครู คีทติ้ง ใน Daed Poets Society มันดูฝันเฟื่องเกินจริงจนไม่อยากเชื่อ (แต่มีหนังเกี่ยวกับครู 3 เรื่องที่ชอบมากกว่า Dead Poets และอยากให้คนดูกันเยอะ ๆ คือหนังอเมริกันเรื่อง Up the Down Staircase และ Chalk ส่วนเรื่องสุดท้ายคือหนังฝรั่งเศส It All Starts Today)

เล่มนี้ The Film Club ซื้อที่ Asia Books ซื้อเพราะอ่านเรื่องย่อหลังปกแท้ ๆ สำหรับคนบ้าหนังอย่างเราที่ชอบ Flicker (ฉบับภาษาไทยลองหาดูที่สำนักพิมพ์ด็อกโฟร์ / เครือนาคร), Throat Sprockets, Days Between Stations นี่เป็นนิยายเกี่ยวกับหนังอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ ถึงแม้จะแตกต่างจาก 3 เล่มที่เอ่ยนั้นอย่างมากมายก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม:
My Sassy Book ตอน 2 http://technicallysweet.blogspot.com/2008/05/my-sassy-book-2-charles-burns-black.html

My Sassy Book ตอน 3 http://technicallysweet.blogspot.com/2008/05/my-sassy-book-3-brief-history-of-dead.html

My Sassy Book ตอน 6 http://technicallysweet.blogspot.com/2008/05/my-sassy-book-6-jimmy-corrigan-or.html

ค้นพบฟิล์มหนังเก่าที่กำกับโดย Yukio Mishima และเจอฟิล์ม Metropolis ที่หายไปนาน

ยูกิโอะ มิชิม่า ทำหนัง
จำได้ว่าเคยอ่านข่าวสัก 2 ปีก่อนในเว็บ Masters of Cinema ที่มีคนค้นพบฟิล์มหนังสั้น Patriotism ที่ ยูกิโอะ มิชิม่า กำกับ-เขียนบท-แสดงเอง มาวันนี้มีแผ่นดีวีดีออกมาให้ดูแล้ว ที่จริงน่าจะเอาไปเขียนในคอลัมน์ “ศิลปะส่องทางให้กัน” ใน “ช่อการะเกด” เพราะเป็นตัวอย่างที่ดีเวลานักเขียนที่โด่งดังมาก ๆ มาทำหนัง แต่รู้ว่าคงไม่มีกำลังใจเขียนจบแหง ๆ

The Lost Metropolis
อีกข่าวหนึ่งจากเว็บ M o C เหมือนกัน เห็นว่าที่อาร์เจนติน่าเขาค้นพบเจอฟิล์มหนัง Metropolis เพิ่มเติมอีกกว่าครึ่งชั่วโมง ฟิล์มเนกาตีฟ 16 มม. ม้วนนี้จะทำให้หนังครบสมบูรณ์มากขึ้นเพราะมีปูที่มาของความรักสามเส้าระหว่างด็อกเตอร์ Rotwang ที่สร้างหุ่นยนต์มาเรีย, ตัวมาเรีย และตัว Joh Fredersen พ่อของพระเอก และยังมีเรื่องของตัวละครประกอบอื่น ๆ ที่ชื่อ Georgy กับ Slim และ Josaphat
หนัง Metropolis ของ ฟริทซ์ ลัง (Fritz Lang) นี่ก็บูรณะกันมาหลายครั้งแล้ว ฉายในเทศกาลหนังเมืองไทยพร้อมบรรเลงออร์เครสตร้าสดก็เคยมาแล้ว เอามาฉายใหม่ในโรงหนังเมืองไทยตอนทศวรรษ 1980 ก็ยังฉายด้วย ตอนนั้น จิออร์จิโอ้ โมโรเดอร์ เอามาทำเพลงประกอบ แล้วให้ แพ็ต เบนาต้าร์, เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี่ ทำเพลงใหม่ อย่างเพลง Love Kills ของ เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี่ ที่ดังมาก แต่หลายคนไม่รู้ว่าเป็นซาวด์แทร็ค

หัวใจทรนง แปลงร่างเป็น สภาโจ๊ก

หัวใจทรนง กับ สภาโจ๊ก
วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม วันที่เปิดตัวหนังสือแนะนำหนังเกย์+เลสเบี้ยน Queer Cinema ของ กัลปพฤกษ์ วันนั้นกลับบ้านเปิดทีวี เห็น Big Cinema ช่อง 7 สีฉาย “หัวใจทรนง” (The Adventure of Ion Pussy) ของ เจ้ย ได้เห็นหน้า ไมเคิล เชาวนาศัย (ที่ใจดีมาช่วยคำนิยม Queer Cinema) ในหนังเธอแต่งสวยเหลือเกิน พอหนังไปฉายถึงฉากที่มีรวมสมาชิกสภาโจ๊กที่รวมคนหน้าเหมือนนักการเมือง อย่าง ทักษิณ, เฉลิม มาร้องในฉากมิวสิคัลแล้วอดขำไม่ได้ พอกดเปลี่ยนช่อง อ้าว รายการสภาโจ๊กของจริงก็ยังเล่นอยู่ แต่คราวนี้ไม่มีคนหน้าเหมือน ทักษิณ แล้ว ไม่รู้ว่าสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไป จะทำให้คนหน้าเหมือนทักษิณต้องลำบากหรือเปล่า ถ้าเป็นจริงก็แย่หน่อย

13.8.51

บันทึกเรื่องดี

ปกติมักจำได้แต่เรื่องไม่ค่อยดี มาตอนนี้ต้องพยายามบันทึกเรื่องดี ๆ ไว้บ้าง

ต้นเดือน ก. ค. Esquire ออก มีบทความเรื่องหนังสือการ์ตูน graphic novel ของเราลง ที่จริงบทความประวัติศาสตร์การ์ตูนไม่ใช่ประเด็นที่อยากเขียนเลย รู้สึกเขียนได้ไม่ดีนัก แต่ก็เป็นงานในนิตยสารที่ไม่มีโอกาสได้ไปเขียนบ่อย ๆ รวมแล้วก็ต้องขอบคุณที่มีคนเรียกใช้บริการ และคงต้องขอบคุณ filmsick ด้วย เพราะตอนแรกสื่อสารกับกองบรรณาธิการไม่เข้าใจ หลงคิดว่าเขียนให้ High Class กระทั่งหนังสือออก filmsick บอกถึงได้รู้ หลงโง่อยู่ตั้งนาน

อีกอย่างคือ เสียดายมาก ๆ ที่ภาพประกอบการ์ตูนหลาย ๆ ภาพที่ส่งให้เขาไปกลับไม่ได้ลง โดยเฉพาะภาพการ์ตูนฝรั่งเศสของ โมเบียส (Moebius) เขาไม่น่าไปลงแต่ภาพการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่อเมริกันเยอะแยะ แล้วอันที่จริงในบทความก็พูดถึงพวกนั้นน้อยมาก ๆ

16 ก.ค. ได้เอาหนังไปฉายที่ ม. สวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ไม่เคยคิดว่าจะต้องไปฉายหนังแล้วพูดอะไรที่ไหน (เคยไปแต่ ม. สงขลานครินทร์ ปัตตานี แต่คราวนั้นฉายหนังอย่างเดียว ไม่ได้พูด) ไม่เคยคิดเลยว่าตูข้าจะมีปัญญาเป็นอาจารย์ หรือสอนวิชาอะไรกับใครได้ (ขนาดปัจจุบันก็ยังคิดว่าเขียนบทความไม่ค่อยเป็นด้วยซ้ำ) แต่ไม่น่าเชื่อ พอลองบรรยายดู มันสนุกดีแฮะ กลับมาติดใจ อยากสอนเป็นคอร์สมันไปเลย นอนคิดเตรียมการสอน ตระเตรียมวิชาใหญ่จนตื่นเต้นนอนไม่หลับ แต่ก็ได้แค่ฝัน เพราะเอาจริงคงไม่มีใครกล้าชวนไปเปิดคอร์สแน่ ๆ

คณะอาจารย์บอกว่าเราเป็นแขกรับเชิญเจ้าแรก ห้องฉายหนังเขาก็ดี กว้างใหญ่กว่าธรรมศาสตร์ แต่ไม่มีเก้าอี้นั่ง เพราะเขาอยากเคลื่อนย้ายได้ เวลามีแสดงงานประเภทอื่น ๆ นักศึกษาก็เลยต้องนั่งพื้น เมื่อยหน่อย พวกเขาก็สนใจไม่เลวทีเดียว ถึงแม้ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง แต่ก็มีความสนใจใช้ได้ (ยกเว้นบางคนที่คงใจไม่มาแหง ๆ) ส่วนคณะอาจารย์ก็ต้อนรับดีน่ารัก ทางถนนขับรถไปสุพรรณก็ปลอดโปร่งเหมือนโลกเป็นของเราเลยว่ะ

เมื่อวานวันที่ 12 สิงหา เขาว่าเป็นวันแม่ ไม่ได้ทำตัวดีอย่างที่ทีวีสอน แต่มีคนเมสเสจมาหา ตื่นเต้นตกใจ หา เฟรด เคเลเม็น เจ้าชายมืดของเรานี่เอง เซอร์ไพร้ซ์จริง ๆ เลยเล่นสนุกส่งข้อความกลับไปกลับมาตั้ง 4-5 รอบ เหมือนเด็กเล่นของเล่นเลยแฮะ ที่จริงทำไม่เป็นหรอก เซาะส่งให้น่ะ นี่ไม่ได้ติดต่อกับ เฟรด ตั้งแต่เมษา นึกว่าเลิกคบกันเสียแล้ว เลยลองทักว่า ยังจะมาสอนเมืองไทยอีกไหม ยังทำไหมหนังไทย หรือจะมาเที่ยวก็ได้ กะว่าจะพาไปลพบุรีเสียหน่อย เออ ถ้า เฟรด มาจริง คงแปลก ๆ ดี

10.8.51

Inglorious Bastards

ได้ดูหนังตัวอย่าง Inglorious Bastards หนังสงครามของ Enzo G. Castellari ในแผ่นดีวีดีหนังคาวบอยอิตาเลี่ยนเรื่อง Kedma จำได้ว่าชื่อมันเป็นชื่อคล้ายกับโปรเจ็คท์ค้างปีของ Quentin Tarantino พอดูตัวอย่างถึงได้รู้ว่าที่แท้ Quentin ยืมชื่อมาแปลงใหม่ เป็น Inglourious Basterds แน่นอนว่าหนังของ เควนติน ต้องไม่เหมือนของเดิมแน่ เห็นว่าเขียนบทใหม่ยาวเป็น 2 ภาคแบบ Kill Bill

ต่อมาถึงได้รู้ว่าโฆษณาในแผ่นดีวีดี Inglorious Bastards ฉบับเก่ามีบทสนทนาระหว่าง Tatantino กับ Castellari ด้วย

ในข่าวล่าสุดบอกว่าหนังฉบับใหม่อาจมี Natassja Kinski ร่วมแสดงกับ Brad Pitt และ Eli Roth

6.8.51

วิธีเอาตัวรอด

หมอชายถามตาเหลืองตัวเหลืองหรือเปล่า หวังว่าคงไม่น่ะ แต่เมื่อวานต้องจำใจขับรถไปทำงานแถวสองพี่น้อง เกือบหลับคาพวงมาลัย โชคดีที่กลับบ้านได้ครบสภาพ
นอนดึกวันไหนต้องได้โรคใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกเสมอ แต่เมื่อวันเสาร์ที่เปิดตัวหนังสือก็ได้เห็นภาพน้อง ๆ นักเขียนทั้งสามหน้าจอหนัง มองดูแล้วมีความสุข ถึงจะแทบไม่มีคนนอกโผล่มาเลย นอกจากพวกเราคนกันเอง เออ สังคมเรานี่แคบจริง ๆ

สิ่งที่ดีมากในช่วงนี้คือ Red Monkeys ก้าวหน้าขึ้นอีกเล็กน้อย ขอบคุณคุณหมอมาก ๆ ตอนนี้อยากมีเวลาเขียนรายละเอียดเพิ่มเติม แต่ยังต้องทำงานปลีกย่อยอีกหลายอย่าง หนังสือหลายเล่มก็อยากอ่าน หนังก็อยากดู แต่ดูไม่ได้