15.5.51

My Sassy Book (8) ไหมอีสาน ธุรการแบบไทย ๆ (ที่ไม่ใช่ธุระของชาติอื่น)

My Sassy Book (8) ไหมอีสาน ธุรการแบบไทย ๆ (ที่ไม่ใช่ธุระของชาติอื่น)

ไหมอีสาน
The Silk Project
แต่งโดย Geraldine Halls, พิมพ์ภาษาอังกฤษครั้งแรกปี 1965
แปลเป็นภาษาไทยโดย รัตนา
สำนักพิมพ์ศึกษิตสยาม 2511

“พวกเธอควรจะต้องหัดระแวงสงสัยในของขวัญที่เรานำมามอบให้ ต้องหัดระแวงผม ระแวงพวกฝรั่งทุกคนที่อยู่ที่นี่ พวกเรามีงานที่จะต้องทำ และคนที่ทำงานวุ่น ๆ ทุกคนมักจะเป็นโรคเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือโรคจำใจทำ”

หลายปีก่อน เดินไปร้านหนังสือท่าช้างใกล้ท่าเรือ เจอนิยายแปลเล่มนี้ พลิกอ่านข้างในเห็นเขียนเกี่ยวกับคนไทยและเมืองไทยด้วยมุมมองฝรั่ง ลองซื้อไปอ่านดูแล้วแน่ใจว่าเลือกไม่ผิด

เรื่องก็ง่าย ๆ ว่าด้วยกลุ่มฝรั่งหลายเผ่าพันธุ์ที่ถูกสหประชาชาติส่งมาพัฒนาชนบทในเมืองไทย โดยในเรื่องสมมติเป็นแดนบ้านนอกชื่อ ‘ถนัดนคร’ ว่ากันว่าอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ฯ สักเท่าไร แต่เส้นทางรถไฟก็ยังเข้าไปไม่ถึงตัวเมือง ต้องนั่งเรือข้ามฟากไปอีกที ที่นั่นและอำเภอใกล้เคียงเปิดเป็นโรงเรียนสอนการพัฒนาชนบท รวมทั้งมีโครงการส่งเสริมทำผ้าไหมด้วย

ดอกเตอร์ แครมม์ นักวิชาการชาวอเมริกันที่เป็นผู้บริหารสถาบันคนปัจจุบันนั้นเป็นคนที่มีวิชาความรู้เยอะ แต่ทำงานร่วมกับคนไทยไม่เป็น เขาชอบเน้นไปที่เรื่องยาก ๆ หรือทฤษฎีไกลตัวที่ใช้ในทางปฏิบัติกับวิถีไทยไม่ได้ ถึงเขาจะมีความตั้งใจดี แต่ข้อเสียสำคัญคือ ชอบมองว่ามีแต่วิธีทำงานของตัวเองเท่านั้นที่ถูกต้อง ลักษณะนิสัยของไทยที่เรื่อย ๆ เรียง ๆ รักสนุก ไม่ชอบวางแผนการอนาคตจึงมักถูก ดอกเตอร์ แครมม์ มองว่าไม่มีหัวสมอง

ดอกเตอร์ แครมม์ บ่นว่า “เรื่องปวดหัวเกี่ยวกับคนไทยก็คือ ถ้าลงบอกว่า เรามาช่วยกันคิดซิ ละก็ พวกเขาก็จะช่วยกันคิดเสร็จสรรพเสียเองทุกครั้ง แล้วผลที่ออกมา ถ้าไม่ผิดอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ก็มักจะออกมาห้าแต้มเสียทุกคราวไป”

กลุ่มคณะผู้บริการระดับสูงที่มีคนอินเดียหนึ่งคน และที่เหลือเป็นฝรั่งแทบทั้งหมด (มีคนไทยในองค์ประชุม ชื่อ สุพัฒน์ เพียงคนเดียว) ก็ทำงานกันไปตามแต่ที่ตนเองเห็นดี หรือไม่ก็พยายามสร้างภาพสวย ๆ ใส่ไปในรายงานประจำเดือน เว้นก็แต่ผู้ชายเพียงคนเดียว ชื่อ ลอว์เรนซ์ เฟรียร์ ที่เป็นคนอังกฤษซึ่งเคยทำงานในอินเดียมาก่อน หนุ่ม ลอว์เรนซ์ เป็นคนเพียงคนเดียวที่ขลุกกับคนไทยมากที่สุด พยายามจะเข้าใจคนไทย พร้อม ๆ กันนั้น เขาก็เป็นหัวแรงสำคัญที่ก่อตั้งโครงการไหมไทยประจำหมู่บ้านขึ้นมา และที่สำคัญโครงการนี้ทำท่าว่ารุ่งวันรุ่งคืนมากกว่าโครงการอื่นๆ ของชาวคณะ

ลอว์เรนซ์ ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะเขาเป็นคนตรงขวานผ่าซาก ชนิดที่ว่าคงมีคนเดียวที่กล้าประกาศออกไมโครโฟนเตือนทั้งคนฝรั่งและคนไทยให้ระวัง (ย้อนอ่านคำโปรยข้างบนสุด รวมทั้งอ่านย่อหน้าต่อไปนี้)

“ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงจะต้องมีขึ้นตามกาลเวลา เพราะทุก ๆ ครั้งที่เราคิดว่าได้ผลที่แท้จริงนั้น เราก็ต้องยอมเสียอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนด้วยทุก ๆ ก้าว เราควรจะต้องถามตัวเองเพื่อให้แน่ใจเสียก่อนว่า การที่เราเอามรดกตกทอดจากปู่ ย่า ตา ยาย ของเราเข้าเสี่ยงนั้น คุ้มค่ากับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นละหรือ”

ไม่ใช่ว่า ลอว์เรนซ์ มองเห็นแต่ด้านสวยหรูของคนไทย แต่เพราะเขามองว่าระบบเหลาะแหละของคนไทยที่แอบตอดเล็กตอดน้อยใต้โต๊ะบ้างนั้นอาจไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัส ถ้างานหลักยังเดินไปข้างหน้าก็ถือว่าได้การ คนไทยไม่ชอบการปะทะกันซึ่ง ๆ หน้าแบบฝรั่ง ถ้าคนไทยไม่พอใจก็เงียบไม่แสดงออก แล้วแอบทำ ขอแค่ไม่มากดดันกันเกินไป คนไทยก็จะยิ้มได้ตลอด การที่ ลอว์เรนซ์ เข้าใจคนไทยดีพอ เขาจึงเถียงกับ ดอกเตอร์ แครมม์ เมื่อ ดอกเตอร์ บ่นว่า คนไทยชอบโกงใบเสร็จรับเงิน

“ผมก็รู้ว่าเขาต้องเอาไปแน่” ลอเร็นซ์ ตอบอย่างแห้งแล้ง “ไม่เอาก็โง่เต็มทีละ แต่ว่ามันจะได้ประโยชน์อะไรล่ะถ้าเราจะขุดกันขึ้นมาว่าใส่หน้าเขา ทำอย่างนั้นยิ่งจะก่อให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์กันมากขึ้นเท่านั้น แล้วคุณก็ไม่มีทางจะทำอะไรได้ด้วย”
“เราก็ต้องหยุดยั้งไว้ไม่ให้เรื่องยังงี้เกิดขึ้นได้อีกน่ะซี”


“คุณทำได้งั้นรึ ? พวกเขาจะกลมกลิ้งหลบหลีกคุณสักแค่ไหนเขาก็ย่อมทำได้ คุณพูดภาษาของเขาก็ไม่ได้ อ่านใบอินวอยซ์ของเขาก็ไม่รู้เรื่อง นอกจากเสียว่าเขาอยากจะให้คุณเข้าใจเมื่อไรเขาก็แปลให้คุณฟัง นี่แน่ะครับ ดอกเตอร์แครมม์ พวกคนไทยน่ะมีความดีหลายอย่างอยู่ในตัวเหมือนกันนะ เขามีไหวพริบ มีความอุตสาหะ มีเหตุมีผลและรู้หลักรู้เกณฑ์ เขารู้ดีหรอกว่าเมื่อใดถึงเวลาที่ควรจะหยุด นอกจากเสียว่าเขาจะไม่ทำเพราะคุณไปบังคับให้เขาทำเท่านั้น.......... เราลองมาพิจารณาดูในแง่ของเขาบ้างซิ ว่าในที่สุดพวกเขานี่แหละต้องเป็นคนลงมือทำงานเอง พวกเราก็ได้แต่อยู่ห่างๆ คอยบอกเขาว่าควรจะทำนั่นทำนี่ ปัญหาของพวกเขามากมายก่ายกองนั้นพวกเรารู้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่เขารู้ และต่อให้คุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามแต่มันก็เป็นวิธีการที่ได้ผล ในส่วนตัวของผมนั้น ผมพร้อมที่จะไว้ใจเขาอยู่บ้างเหมือนกัน”

ท่ามกลางฉากหลังของเรื่องที่ทีมงานฝรั่งต่างขัดขากันเองเพื่อเอาหน้า แต่ตัวเรื่องฉากหน้าที่แท้จริงคือการเดินทางมาถึงของ โอลิเวีย สาวชาวออสเตรเลียที่ติดตาม นีล – สามีของเธอซึ่งกำลังจะมาประจำตำแหน่งระดับสูงที่ถนัดนคร โดยในระหว่างการเดินทางของเธอ ทำให้เธอสะดุดใจกับชนบทไทยที่สงบร่มรื่น คนไทยที่หน้าตาแจ่มใสยิ้มง่าย (แต่อ่านใจยาก) เธอก็เริ่มคิดได้ว่า นีล ไม่ใช่ผู้ชายคนเดิมที่เธอเคยรักอีกต่อไปแล้ว เขากลายเป็นคนไร้จุดยืนที่เลียแข้งเจ้านายเพื่อจะได้ยืนในตำแหน่งที่สูงขึ้น ส่วนชายแปลกหน้าที่เอาใจใส่กับความรู้สึกของคนทำงานอย่าง ลอว์เรนซ์ จึงกลายเป็นภาพเปรียบเทียบที่ทำให้เธอตระหนักได้ถึงความต้องการแท้ ๆ ในชีวิต

ย่อหน้าที่ผ่านมาคงไม่ทำให้เข้าใจผิดเห็นภาพเป็นนิยายพาฝันเกี่ยวกับเมืองไทย เพราะคนแต่งคือ Geraldine Halls ซึ่งคงใส่ประสบการณ์ส่วนตัวของเธอมาบ้างไม่มากก็น้อย (ในฐานะคนออสเตรเลียที่เคยแต่งงานกับคนอังกฤษ และเคยอาศัยที่อุบลราชธานี) ดูเธอเป็นนักเขียนที่ละเอียดอ่อนต่อตัวละครและมีทักษะการเขียนที่ดีทีเดียว แม้แต่ตัวละคร ลอว์เรนซ์ เอง ก็สารภาพกับ โอลิเวีย ว่าบางทีก็หงุดหงิดกับลักษณะเงียบ ๆ เก็บอารมณ์ของคนไทย ซึ่งทำให้บางครั้งเขาต้องทุ่มเทพลังทำงานหนักมากขึ้น ก็ถ้าคนไทยละเอียดอ่อนน้อยกว่านี้หัดโผงผางเอะอะบ้างคงดีกว่า แล้วบางทีเรื่องที่เขาเป็นปากเสียงกับฝรั่งด้วยกันเพื่อปกป้องคนไทย ก็ยิ่งทำให้เขาตกในฐานะลำบาก

แม้ตัวนิยายจะแค่ร่างภาพสเก๊ตช์นิสัยใจคอคนไทยแบบคร่าว ๆ ไม่ได้ระบายสีลึกซึ้งถึงนิสัยใจคอเฉพาะคน อีกทั้งบทพูดที่เอ่ยจากปากคนไทยก็มีเพียงไม่กี่ประโยค แต่นิยายก็แสดงท่าทีข้ามวัฒนธรรมที่ฝรั่งแต่ละคนมีต่อคนไทยได้ดี ยิ่งในด้านของความจริงใจที่จะอ่านใจคนฝรั่งด้วยกันเองนั้น ทำได้เห็นเหตุผล ข้ออ้างและความชอบธรรมที่รอบด้าน เพราะทุกตัวละครไม่มีใครเป็นคนชั่วหาดีไม่เจอ ทุกคนเพียงทำตามที่ตัวเห็นว่าดีมีประโยชน์ แม้อาจเพื่อประจบนายเอาตัวรอดบ้างก็ตามที รวมกระทั่งตัว สุพัฒน์ คนไทยคนเดียวที่ทำงานกับ ลอว์เรนซ์ มาตลอด ซึ่งเมื่อ ลอว์เรนซ์ ถูกบีบให้ออกจากงาน สุพัฒน์ ก็เลือกที่จะเห็นโครงการไหมพังพาบลงมา มากกว่าที่จะยอมเปลืองตัวถูกเด้งตามไปด้วย

ทั้งฉบับภาษาอังกฤษและฉบับแปลไทยท่าทางจะขาดตลาดไปนานมาก ๆ ไม่เห็นมีคนพูดถึงอีกเลย ตัว The Silk Project หรือ “ไหมอีสาน” อาจจะไม่ใช่วรรณกรรมที่มีคุณค่าระดับสูงก็จริงอยู่ แต่สำหรับคนไทยเองน่าสนใจดี ถ้าใครอยากจะย้อนมองตัวเองและสังคมไทยในยุคที่คูคลอง วัดวา แต่กาลก่อนคงเรียบง่าย ไม่มีเรื่องวอกแวกมากมาย เรื่องนี้ก็น่าลองหาอ่าน ตามห้องสมุดเก่า ๆ ยังพอเห็นมีอยู่บ้าง

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ว่ากันเฉพาะชื่อ - ถนัดนคร - แค่นี้ก็ทำให้กรี๊ดสลบไปสามสิบตลบแล้ว

ประเทศเราใช้คำนี้ได้นะพี่
ถนัดนคร 55555 / FILMSICK