นี่คือคำนำที่เขียนไว้แต่ไม่ได้ตีพิมพ์ในหนังสือจดหมายของ วินเซนต์ แวน โกะ (ฟินเซน ฟาน ค๊ก)
“สำหรับตัวพี่แล้วมันเป็นไปได้ว่าอหิวาตกโรค วัณโรค และมะเร็งก็คือวิถีทางจากเบื้องบนในการขับเคลื่อน เหมือนเช่นเรือกลไฟไอน้ำ รถโดยสาร และรางรถไฟก็ไม่ต่างจากวิถีทางของผู้คนเดินดิน ความตายอย่างเงียบสงบในวัยชราจะไปถึงได้ด้วยเท้าแต่เพียงเท่านั้น”
จดหมายจาก วินเซนต์ แวน โกะ ถึง เธโอ, กลางกรกฏาคม 1888
ว่าด้วยนิทานสามเรื่อง
นิทานเรื่องที่หนึ่ง – ภาพข้างนอก
ฟินเซน ฟาน ค๊ก – ใครวะ
วินเซนต์ แวน โกะ – คนส่วนใหญ่คุ้นชื่อนี้มากกว่า แทบจะเรียกได้ว่าเขาเป็นศิลปินคนแรกหรือคนเดียวที่คนไทยคุ้นหูที่สุด หลายคนรู้จักชีวิตอันเต็มไปด้วยสีสันของเขาจากนิยายและหนังเรื่อง “ไฟศิลป์” (Lust for Life) บางคนโดนไฟศิลป์โหมหนักจนหันเหสู่หนทางแห่งศิลปิน แต่หากถามลึกและตอบจริง ชื่อเสียงเงินทองที่ใครต่างฝันใฝ่ย่อมไม่มีใครอยากนำหน้าด้วยเส้นทางขรุขระเยี่ยงที่ แวน โกะ เผชิญ
องค์ประกอบโดดเด้ง
ชายหนุ่มผู้มีจิตใจเมตตา ชอบช่วยเหลือคนอื่น มีความตั้งใจอยากจะสอนศาสนาให้คนยากจน แต่วิธีการเทศน์นั้นไม่แคล่วคล่องโดนใจคนฟัง ซ้ำยังไม่ผ่านเกณฑ์ของคณะศาสนจักร
เขาผู้ขยันเหวี่ยงก้อนความรักชุดใหญ่ให้กับคนอื่น แต่ยิ่งเหวี่ยงหนักขึ้นเท่าไรยิ่งพบแต่ความเฉยชา การพ่ายรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผนวกกับความรู้สึกด้อยค่าของเขาจึงกลายเป็นแผลฝังใจและกลายเป็นระเบิดเวลาทำลายตัวเอง
ยกเว้นก็แต่ เธโอน้องชายและ วิลเฮมมิน่า น้องสาวคนเล็ก คนอื่นในครอบครัวและญาติ ๆ แม้จะรักและห่วงใยเขามากก็ตาม แต่ก็มักสรุปว่าเขาเป็นคนที่อนาคตริบหรี่ ป่วยการเสริมส่ง
กับเพื่อนศิลปินด้วยกันก็ไม่ประสมกลมกลืน อุดมคติการสร้างรังสวรรค์ศิลปินกับ โกแก็ง กลับตัดตอนอย่างกระทันหัน
คนแปลกหน้ามักมองว่าเขาเป็นคนพิลึก เก็บเนื้อเก็บตัว สารรูปสกปรก เขาจึงมักถูกดูหมิ่นและกลั่นแกล้ง
[1] มุ่งมั่นสร้างงานบนทิศทางความเชื่อของตัวเอง มิใช่ยึดหลักทฤษฎีความงามสำเร็จรูปเช่นที่นิยมกันในยุคนั้น เพราะเขาเชื่อว่าสัจจะที่แท้ของศิลปะไม่ได้อยู่ที่การวาดสรีระสัดส่วนที่ถูกต้อง หากแต่อยู่ที่สัมพันธ์ขลุกลึกกับธรรมชาติและผู้คน เฉกเช่นเดียวกับชาวบ้านชาวนาที่เก็บพืชผลจากท้องทุ่งเลี้ยงปากท้อง ซึ่งต่างจบบั้นปลายด้วยการฝังคืนสู่ผืนดิน เป็นตัวอย่างของศิลปินไส้แห้งตามขนบดั้งเดิมโดยแท้ ตายไปทั้ง ๆ ที่เฝ้าฝันจะขายงานเลี้ยงชีวิตตัวเองได้บ้าง เพียงเพื่อตัวเองจะได้รู้สึกมีคุณค่ามากขึ้นและไม่เป็นภาระกับครอบครัวน้องชาย
คนที่อาการทางจิตกำลังกำเริบหนัก แต่ก็ยังดิ้นรนจะแสดงความรักมนุษย์ให้คนประจักษ์ผ่านแปรงพู่กัน เสียงกรีดร้องจากเบื้องลึกของไอ้เพี้ยนตัดหูตัวเองที่สังคมเมินผ่าน จวบกระทั่งการประเมินราคาชิ้นงานสูงลิ่วหลังความตายที่ดุจดั่งเป็นบทสรุปของตลกร้าย
ก็เหล่าคุณสมบัติข้างต้นนี่แหละที่ตอบโจทย์กรรมการได้กว้างขวาง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นนักคิด นักเขียน นักวิจารณ์ ภัณฑารักษ์ ผู้เป็นศิลปินแล้ว หรือผู้ใคร่เป็น ตลอดจนชาวบ้านร้านตลาดที่ชมชอบเรื่องราวตื่นเต้นเร้าใจในเชิงบันเทิงคดี ทุกผู้นามล้วนหาความพึงใจได้ทุกรูปแบบ สามารถขานไขปัญญาหรือกวัดแกว่งสาบอารมณ์กันตามสะดวกทั้งแนวตั้งแนวนอน ตะเคียงตะแคงทั้งทางบกและทางอากาศ หรือหากจะเลือกแนวสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกก็ยังไหว
นิทานเรื่องที่สอง – ภาพข้างใน
เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2006 สถานทูตเนเธอร์แลนด์ได้จัดแสดงภาพพิมพ์ชุดใหญ่ของอภิมหาศิลปินร่วมชาติเดียวกับ แวน โกะ คือ เรมบรันท์ (Rembrandt) ที่ห้องแสดงงานของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม ตั้งชื่ออลังการว่า The First-Ever Rembrandt Exhibition in Thailand นับเป็นงานศิลปะงานใหญ่ที่สุดงานหนึ่งที่เคยจัดในบ้านเราเลยทีเดียว และแม้งานภาพพิมพ์จะมีความเป็นออริจินัลน้อยกว่าภาพจิตรกรรมก็จริง แต่ทุกชิ้นก็ประกันความแท้ในวงเงินหลายล้านบาท งานแสดงคราวนั้นมีผู้สนใจค่อนข้างมาก โรงเรียนบางแห่งจัดคณะนักเรียนมัธยมมาเข้าชมผลงานภาพที่เก่าแก่กว่าสี่ร้อยปี เสียดายเพียงโอกาสการชื่นชมศิลปะที่ครูบาอาจารย์ไม่อาจมอบให้ นอกเหนือจากคำสั่งให้คัดลอกชื่อภาพทั้งหมดลงบนสมุด หวังเพียงสักวันพวกเขาอาจพอรำลึกได้ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีการให้ความสำคัญกับศิลปะในมาตรฐานงานระดับน้องเอ็กซ์โป
ทีมงานผู้จัดตั้งใจดีที่เตรียมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาช่วยอธิบายคุณค่าของภาพ แต่สำหรับผู้ชมส่วนใหญ่แล้วก็แน่นอนว่าราคาค่างวดของชิ้นงานนั้นย่อมสื่อสารกับผู้ชมได้ง่ายกว่าเสมอ เหมือนกับน้ำหนักเสียงของตัวเลขที่ฟังดุดันเหนือกว่าบทบรรยายความหมายพิลาศพิไลของเส้นศิลป์ในทุกกรณี
แวนโกะ นั้นเป็นผู้หนึ่งที่ยกย่องผลงานของเรมบรันท์ดั่งเทพเจ้า และอ้างในจดหมายถึง เธโอ อยู่บ่อยครั้ง ในความแตกต่างทางลายเส้นและการลงสีแปรง เราจะพบการใส่ใจกับชีวิตจริงของศิลปินทั้งสองในระดับที่เหลือเชื่อ ภาพที่ เรมบรันท์ วาดอันไม่ว่าจะเป็นบุคคลสูงศักดิ์ เรื่องราวจากคัมภีร์ไบเบิ้ล หรือชาวบ้านร้านตลาดต่างอาบอุ่นไปด้วยแสงตัดผ่านเงามืดที่สลักลึกถึงริ้วรอยประสบการณ์และแผลอดีต ในแบบฉบับที่ แวน โกะ มองว่ายั่งยืนและจริงแท้กว่าภาพของศิลปินที่วาดภาพผุดผ่องตามต้นแบบสำเร็จรูปในสตูดิโอ
แวน โกะ ยืนยันกับเธโออยู่ตลอดในการยืนกรานค้นหาแนวทางศิลปะของตัวเอง ภาพของเขาอาจขาดความสมบูรณ์แบบก็จริงแต่กลับเปี่ยมชีวิต เสียแต่ว่าภาพในสไตล์ของเขานั้นยังใหม่กว่าแนวทางของตลาดขณะนั้น กระทั่งว่าแปลกใหม่กว่าภาพเขียนของกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสม์ซึ่งเขาเคยร่วมแสดงเสียด้วย แต่ขณะที่สมาชิกกลุ่มนั้นกำลังเริ่มเป็นที่ยอมรับในสังคมด้วยการผลักดันของ เธโอ และรสนิยมสังคมที่คลี่คลายไป ด้าน แวน โกะ นั้นกลับยิ่งเกิดปมด้อยมากขึ้นทุกที เสริมกับการที่เขามีแนวโน้มจะผูกพันตัวเองกับหนังสือที่เขาชอบ ภาพที่เขาชม ข่าวที่เขาอ่าน
[2] ดังนั้นเองจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะลืมเหตุการณ์การประมูลภาพเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ที่ภาพของศิลปินคนโปรดอย่าง ฌอง-ฟรองซัวส์ มิลเลต์ (Jean-Francois Millet) ได้ถูกอัพราคาอีกเท่าทวีหลังมรณกรรมของศิลปิน และแม้ว่าปกติ แวน โกะ จะทดท้อใจอยู่บ่อย ๆ แต่ก็แอบเชื่อมั่นว่าในอนาคตจะมีคนยอมรับศิลปะในแนวทางของเขาได้ ซึ่งสุดท้ายนั่นก็กลายเป็นสิ่งตอบแทนเดียวที่เขาสามารถชดเชยคืนให้น้องชายด้วยการเร่งวาดภาพมากมายในช่วงท้ายของชีวิต แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกอีกครั้ง เพราะว่าเธโอก็ไม่ทันได้มีชีวิตอยู่สำราญสมบัติของพี่ชายอยู่ดี หนำซ้ำกระทั่งความตายก็ไม่อาจแยกสองพี่น้องให้ห่างจากกันได้
นิทานรื่องที่สาม – ภาพตัวเรา
จดหมายของแวนโกะชวนให้นึกถึงศิลปินบ้าพลังอีกคนหนึ่งคือ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ นักเขียนชาวรัสเซียซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญอีกคนของวงวรรณกรรมสากล ในประเด็นคล้ายคลึงกัน เช่น เรื่องโลกยุคใหม่ที่สิ้นไร้ศรัทธา มนุษย์ขาดสะพานเชื่อมโยงกับธรรมชาติและจิตวิญญาณ ปัญหาค่าใช้จ่าย ความแปลกแยกจากสังคมในลักษณะของ “คนต่ำต้อยผู้หยั่งรู้” ความสนิทสนมกับน้องชาย (กรณี ดอสโตเยฟสกี้เป็นการติดต่อทางจดหมายและทำธุรกิจหนังสือกับพี่ชาย) โรคลมชัก
[3] ความดื้อดึงฉุนเฉียว และอื่น ๆ ต่างกันอย่างสำคัญก็คือ ดอสโตเยฟสกี้ เป็นศิลปินที่เรียนรู้ชีวิตครั้งใหญ่ผ่านการกระแทกอีโก้ก้อนโตของตัวเองประทะกับโศกนาฏกรรมในชีวิต ส่วนความเรียบง่ายสมถะ (ที่เกิดจากการสิ้นทางเลือก) แบบแวนโกะน่าจะทำให้คนทั้งสองต่างรู้สึกแปลกหน้าต่อกันพอตัวทีเดียว แต่ท้ายสุดทั้งคู่ต่างค้นพบปลายทางศิลปะในแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน คือด้าน ดอสโตเยฟสกี้ นั้นเป็นในแง่การหยั่งถึงความดิบหยาบเห่อเหิม ความโลภและความวิตกจริตที่เผชิญหน้ากับคุณธรรมและความเสียสละเข้าอย่างจัง ซ้ำยังยืนกรานจะรายงานอย่างเที่ยงตรงไม่มิดเม้น ส่วน แวน โกะ นั้นเป็นการโอนถ่ายศรัทธาทางศาสนามาเป็นพลังทางจิตวิญญาณผ่านงานศิลป์ และเป็นการเรียนรู้ผ่านบททดลองของความเป็นโนบอดี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
การตั้งจิตนอบน้อมถ่อมตน เชื่อมั่นและเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์แบบที่ แวน โกะมี อาจฟังดูเลี่ยนลิ้นเกินเพ้อไปแล้วก็ได้ในสมัยนี้ แต่ลำพังเพียงการอุทิศตัวใฝ่ศิลป์ของเขาอาจจะทำให้ผู้ที่ได้รับ “กระแสเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ในนามแห่งศิลปะ” เดินอวดอหังการรอบแคทวอล์คอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ต้องรีบลงสมัครเป็นศิษย์คณะตลกชวนขื่นไปในทันทีเลยก็ว่าได้
การต่อสู้อันยาวนานบนเส้นทางของศิลปะไม่ใช่เรื่องของการสนองโจทย์ตลาด หรือขยับแข้งตามโปรแกรมเคยชิน ในทำนองเดียวกับที่เวลาและประสบการณ์ของแต่ละคนย่อมตอบรับต่อเสียงแห่งสัจจะคนละชนิด กรณีของแวน โกะ เขาเริ่มต้นช้า ดิบหยาบ และกระวนกระวาย แต่พรแสวงและการทุ่มเทอดทนเพื่อเรียนรู้โลกนั้นมีเหนือเกินกว่าศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อีกหลายท่าน แต่เขาก็ยังมองตัวเองว่าไม่มีทางไปไกลกว่าระดับของ เรมบรันท์ มิลเลต์ เดอลาครัวซ์ และคนอื่น ๆ ได้อยู่ดี
หนังสือและหนังเรื่อง Lust for Life ปั้นแต่งชีวิต แวนโกะราวกับพระเอกแสนดี (เดินธุดงค์เทศนาแบบ ‘พระ’ - เกือบใช่, ‘ตัวเอก’ – แน่นอน, แต่ ‘พระเอกไร้ที่ติ’? - โม้น่า) ยิ่งเรื่องดื้อรั้นไม่ฟังคนหวังดีนั้นยิ่งทำร้ายเขาและครอบครัวมิใช่น้อย ชีวิตหมอนี่หยิบยื่นให้ทั้งดราม่าเข้ม ๆ ทางการศึกษาใจคนพอ ๆ กับเหลี่ยมคมทางศิลปะ จดหมายเหล่านี้ประกอบด้วยเลือดเนื้อ อุดมคติ การให้คุณค่าของสรรพสิ่ง บันทึกประวัติศาสตร์ เกร็ดเรื่องราวคนเมืองคนท้องถิ่นต่างระดับชั้น รวมถึงเทคนิคการวาดภาพและมุมมองการสังเกตธรรมชาติมากมาย ซึ่งเผื่อแผ่แรงบันดาลใจที่ดีกับศิลปินทุกแขนง แลดูเถิดการสืบสานศิลป์ให้รุ่งเรืองด้วยคนอย่าง โมสาร์ท. บ้าค. วาเลนติน ซิลเวสทรอฟ (คีตกวี) , อลิซ มุนโร, เอมี่ เฮมเพล, เอ เแอล เคนเนดี้. เซซาร์ ไอรา, โรแบร์โต โบลาณโญ่ (นักประพันธ์) บาแลนไชน์, พีน่า เบ้าช์ (นาฏศิลป์) อังเดร ทาร์คอฟสกี้, ฟิลิปป์ กรองดิญือซ์, ไมค์ ลีห์ (คนทำหนัง) ต่างคนต่างตระหนักในหน้าที่ ประคองจิตและสติของศิลปินให้แม่นมั่นบนอุดมคติดันทุรัง
ในโลกที่เราคุ้นเคยกับการสัมภาษณ์โต้ตอบให้ร้ายรายวันระหว่างดาราและนักการเมือง จดหมายถึงเธโอ ดูจะเป็นสิ่งเดียวที่พอทดแทนคำให้สัมภาษณ์ของ แวน โกะ เองต่อสิ่งที่เขารู้สึกและมองเห็นได้ดีที่สุด
น่าเสียดายว่าจดหมายโต้ตอบของสองพี่น้องนั้นคงไม่มีวันประสานสมบูรณ์ เนื่องด้วย แวน โกะ เองในขณะนั้นย่อมไม่พร้อมในการจัดเก็บ จดหมายในส่วนของ เธโอ ที่ยังมีหลงเหลือจึงมักเป็นการติดต่อระหว่างสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ เสียมากกว่า นั่นช่วยให้เราได้ฝึกใช้จินตนาการนักสืบคาดเดานิสัยใจคอของ เธโอ ไปพลาง เท่าที่หลายคนน่าจะทำต่อไปก็คือแสวงหาจดหมายระหว่าง แวน โกะ และสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ อ่านต่อ เพราะมีเผยแพร่ให้อ่านแล้วทางอินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังมีจดหมายระหว่าง แวน โกะ และ เอมิล แบร์นาร์ด ศิลปินรุ่นน้อง ซึ่งเล่มนี้ตีพิมพ์เป็นเล่มใหญ่ปกแข็งสวยงามและมีวางจำหน่ายในบ้านเมืองเราด้วย
[4]
เนื่องจากจดหมาย แวน โกะ เคยมีการตีพิมพ์เป็นเล่มในภาษาอังกฤษมากกว่าสามสำนวน ในแต่ละครั้งมีความยาวและเนื้อหาแตกต่างกันไปพอสมควร ฉบับภาษาไทยครั้งนี้ถอดความจาก The Letters of Vincent Van Gogh ซึ่งมี Mark Roskill เป็นบรรณาธิการ ตัวรูปเล่มของหนังสือดั้งเดิมนั้นเป็นเพียงขนาดพ็อคเก็ตบุ๊ค คำอธิบายในส่วนเชิงอรรถและภาพประกอบจึงค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ทางเราชาวคณะผู้จัดทำได้เพิ่มเติมบทบางส่วนให้คนอ่านชาวไทยได้เข้าใจง่ายขึ้น อาทิ เพิ่มเชิงอรรถอธิบายชื่อ-ประวัติย่อของบุคคลต่าง ๆ ที่ แวน โกะ เอ่ยถึง อีกทั้งเพิ่มตัวอย่างงานศิลปะหรือหนังสือที่ แวน โกะ ชื่นชอบ รวมทั้งเพิ่มรายละเอียดประวัติบุคคลสำคัญในครอบครัว
แน่นอนว่างานเหล่านี้จะเสร็จสมบูรณ์ไม่ได้เลย หากขาดซึ่งอาจารย์ บัณฑูร ราชมณี อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดีคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ช่วยทุเลาเบาบางงานบรรณาธิการอย่างมโหฬาร อีกทั้งวิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา (filmsick) ที่ช่วยเสริมงานในส่วนเชิงอรรถ และที่จะลืมวงเล็บไม่ได้เลยคือที่ปรึกษาการออกเสียงชื่อภาษาดัทช์ - คุณปรียา แววหงษ์ และ Pieter Van Gemert
หวังอย่างยิ่งว่าเชื้อไฟของ แวน โกะ จะยังปะทุในใจศิลปินแห่งศตวรรษหน้า
สนธยา ทรัพย์เย็น (บุ๊คไวรัส / ฟิล์มไวรัส)
(หมายเหตุ: ในจดหมายเล่มนี้ชื่อสกุลส่วนใหญ่จะยังคงสะกด แวน โกะ หรือ วินเซนต์ ตามความคุ้นเคยทั่วไป)
[1] จากคำให้การของหนึ่งในกลุ่มวัยรุ่นที่เห็น แวน โกะ เป็นบุคคลท่าทางเพี้ยนที่แบกอุปกรณ์ไปวาดภาพตามสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองอาร์ลส (ข้อมูลจากหนังสือ
The Yellow House: Van Gogh, Gauguin and Nine Turbulent Weeks in Arles ของ Martin Gayford) 2006
[2] ในทำนองเดียวกับที่การตัดหูของตัวเองไปมอบให้โสเภณีมีแนวโน้มที่จะเกิดจากแรงบันดาลใจจากคดีของ แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ซึ่งตีพิมพ์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
ต่างกันที่ความหงุดหงิดขี้น้อยใจของ แวน โกะ ก่อให้เกิดด้านกลับของคดีฆาตกรฆ่าโหดโสเภณี เพราะสุดท้ายแล้ว แวน โกะ ผู้มีพื้นฐานโอนอ่อนก็เลือกที่จะ
ย้อนมาทำร้ายตัวเองมากกว่าไปลงที่คนอื่น
[3] เอกสารปัจจุบันบางแห่งบันทึกว่า แวน โกะ ไม่ได้เป็นโรคลมชัก แต่เป็นโรคทางประสาทโพรงหู
[4] Vincent Van Gogh, Painted with Words: The Letters to Emile Bernard (สำนักพิมพ์ Rizzoli) 2007